“กลุ่มเจตจำนงประชาชน” ลอบปลงพระชนม์ “พระเจ้าซาร์” ด้วยระเบิดถึง 3 ครั้ง!

สมาชิกขบวนการ เจตจำนงประชาชน ถ่ายในปี 1883 และพระเจ้า ซาร์ อะเล็กซานเดอร์ที่ 2 เหยื่อการสังหารของกลุ่ม (เครดิตจาก Wikimedia Commons)

กลุ่มเจตจำนงประชาชน หรือชื่อในภาษารัสเซียว่า “นารอดนายา วอลยา” (Narodnaya Volya) เป็นกลุ่มปฏิวัติที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายต่อต้านอำนาจรัฐ และปฏิวัติประเทศเพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ไร้ซึ่งการกดขี่ ตามแนวคิดสังคมนิยมและอนาธิปไตย โดยใช้วิธีก่อการร้ายในการต่อสู้กับรัฐบาลของราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซีย นำสู่การลอบปลงพระชนม์ พระเจ้าซาร์ อะเล็กซานเดอร์ ที่ 2 ในที่สุด

ในศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิรัสเซีย เป็นหนึ่งในมหาอำนาจชั้นนำของโลก แต่สังคมรัสเซียกลับมีสภาพล้าหลังอย่างมากหากเทียบกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ

รัสเซียเป็นสังคมศักดินาที่มีลำดับชั้นทางสังคมอย่างเคร่งครัด ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะเป็นทาสติดที่ดิน มีความเป็นอยู่ที่ยากจนข้นแค้นอย่างมาก ขณะที่ชนชั้นสูง เช่น ขุนนาง เจ้าที่ดิน ซึ่งมีจำนวนเพียงน้อยนิด มีอำนาจควบคุมสังคมภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นำโดยพระเจ้าซาร์

อย่างไรก็ตาม ช่วงทศวรรษ 1860 พระเจ้าซาร์ อะเล็กซานเดอร์ ที่ 2 (Tsar Alexander II) มีความพยายามปฏิรูปรัสเซียให้ทันสมัยมากขึ้น พระองค์ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาปลดปล่อยทาสติดที่ดิน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1861 ส่งผลให้ทาสติดที่ดินกว่า 10 ล้านคนเป็นอิสระ แม้ใช้ชีวิตได้อย่างเสรี แต่ทาสติดที่ดินเหล่านี้ซึ่งโดยมากเป็นชาวนาหรือกรรมกร กลับยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากไม่ต่างจากเดิมนัก โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือดูแลแต่อย่างใด

กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่เห็นปัญหา จึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านพระเจ้าซาร์ เกิดการตั้งองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นมากมาย

ทศวรรษ 1860-1870 เกิดขบวนการปฏิวัติหลายกลุ่มในรัสเซีย เช่น ขบวนการนารอดนิค (Narodnik) มีชาวนาเป็นฐานมวลชน แต่ก็ถูกปราบปราม จับกุม และกวาดล้างอย่างหนัก กลุ่มปัญญาชนต้องปรับแนวทางการเคลื่อนไหวใหม่

โดยเน้นการสร้างฐานมวลชนในหมู่กรรมกรในเมืองให้มากขึ้น มีการจัดตั้งองค์การนำในการต่อสู้ขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อว่า “กลุ่มที่ดินและเสรีภาพ” (Land and Liberty) ในปี 1876

กลุ่มที่ดินและเสรีภาพ สร้างองค์การที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแกนนำเป็นกลุ่มนักโทษการเมืองที่มีประสบการณ์เคลื่อนไหวใต้ดิน มีองค์การนำเป็นศูนย์กลาง ทำหน้าที่กำหนดแนวนโยบาย และมีองค์การย่อยรองรับอีก 5 หน่วย แต่ละหน่วยมีองค์การย่อยรองรับอีกเป็นลำดับชั้น ซึ่งการจัดองค์การในลักษณะนี้เป็นพื้นฐานการจัดการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา

กลุ่มที่ดินและเสรีภาพ ใช้ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ เพื่อขยายจำนวนสมาชิกและเผยแพร่อุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำจุลสาร ใบปลิว และวารสารทางการเมือง เพื่อเผยแพร่ความคิดและประชาสัมพันธ์นโยบาย การเคลื่อนไหวของกลุ่มประสบความสำเร็จอย่างมาก และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อรัฐบาลรู้เข้า ก็จับกุมปราบปรามอย่างหนักอีกครั้ง กลุ่มที่ดินและเสรีภาพเริ่มระส่ำระสาย เพราะภายในเองก็เกิดความขัดแย้งเรื่องวิธีการเคลื่อนไหว สมาชิกส่วนหนึ่งเห็นว่าควรตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่อีกส่วนเห็นว่าควรดำเนินการอย่างสันติ เคลื่อนไหวแบบค่อยเป็นค่อยไปในการดึงชาวนาและกรรมกรมาเข้าร่วม

ปี 1878 สมาชิกกลุ่มที่ดินและเสรีภาพที่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง จึงแยกออกมาตั้งเป็นกลุ่มชื่อ “กลุ่มเจตจำนงประชาชน”

กลุ่มนี้เริ่มก่อวินาศกรรมสังหารบุคคลสำคัญในรัฐบาลหลายครั้ง เริ่มจากลอบทำร้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กช่วงต้นปี 1878 ตามด้วยการลอบยิงผู้พิพากษาแห่งเมืองเคียฟจนบาดเจ็บสาหัสในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นหัวหน้าตำรวจลับแห่งเคียฟถูกลอบยิงเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม ข้ามมาเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1879 ข้าหลวงแห่งเมืองคราคอฟถูกลอบทำร้ายบาดเจ็บสาหัส ไม่นับการลอบสังหารอีกหลายครั้ง ทำให้หมู่ชนชั้นนำรัสเซียเกิดอาการหวาดผวา

แต่เป้าหมายใหญ่สุดของกลุ่มก็คือ พระเจ้าซาร์ อะเล็กซานเดอร์ ที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจรัฐทั้งหมด

กลุ่มเจตจำนงประชาชนพยายามลอบปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์หลายครั้ง เช่น วันที่ 18 พฤศจิกายน ปี 1879 ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าซาร์เสด็จฯ ไปพักผ่อนที่ไครเมีย และกำลังจะเสด็จฯ กลับพระราชวัง

กลุ่มเจตจำนงประชาชนได้ลอบวางระเบิดรถไฟพระที่นั่ง แต่ระเบิดกลับไม่ทำงาน ทำให้พระเจ้าซาร์รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด

ต้นปี 1880 สมาชิกกลุ่มปลอมตัวเป็นช่างไม้เข้าไปทำงานในพระราชวังฤดูหนาว และลอบวางระเบิดห้องประชุม แต่พระเจ้าซาร์ไม่ได้อยู่ที่นั่น พระองค์เสด็จฯ ออกจากพระราชวังก่อนเกิดเหตุระเบิดไม่นาน เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บกว่า 50 คน

ความพยายามลอบปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์ประสบความสำเร็จในที่สุด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 1881 โดยกลุ่มผู้ลอบปลงพระชนม์จำนวน 5 คน มี โซเฟีย เปรอฟสกายา (Sophia Perovskaya) เป็นผู้ส่งสัญญาณให้สหายโยนระเบิดใส่รถม้าพระที่นั่งที่พระเจ้าซาร์ประทับขณะเสด็จฯ กลับพระราชวัง หลังจากเสด็จฯ ออกเพื่อทอดพระเนตรพิธีสวนสนาม

ระเบิดลูกแรกถูกสารถีบาดเจ็บ ขณะที่พระเจ้าซาร์ทรงลงจากรถม้าพระที่นั่งเพื่อดูอาการสารถีรวมถึงเหล่าองครักษ์ วินาทีนั้นสมาชิกกลุ่มเจตจำนงประชาชนก็โยนระเบิดลูกที่สองใส่พระองค์ พระเจ้าซาร์ทรงบาดเจ็บสาหัส พระเพลา (ขา) ข้างหนึ่งขาด และพระกุญชะ (ลำไส้) ไหลออกมา

แม้เหล่าแพทย์หลวงจะถวายการรักษาสุดความสามารถ ก็ไม่ช่วยให้พระอาการดีขึ้น พระเจ้าซาร์ อะเล็กซานเดอร์ ที่ 2 สวรรคตในวันถัดมา

หลังจากนั้นรัฐบาลภายใต้การนำของ พระเจ้าซาร์ อะเล็กซานเดอร์ ที่ 3 (Tsar Alexander III) พระราชโอรสของพระเจ้าซาร์ อะเล็กซานเดอร์ ที่ 2 จึงดำเนินการกวาดล้างนักปฏิวัติอย่างเด็ดขาด กลุ่มผู้ลอบสังหารทั้งหมดถูกจับกุม และถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในที่สาธารณะ เมื่อวันที่ 15 เมษายน ปี 1881

การกวาดล้างครั้งใหญ่นี้ ทำให้สมาชิกกลุ่มที่รอดมาได้ต้องกบดานใต้ดิน และกลุ่มก็สลายตัวไปช่วงปลายทศวรรษ 1880 สมาชิกกลุ่มที่ยังคงมีจิตวิญญาณการต่อสู้ได้ปรับยุทธวิธีใหม่ ใช้แนวทางที่ลดความรุนแรงลง เน้นการประนีประนอมกับอำนาจรัฐมากขึ้น แต่ยังคงสร้างมวลชนในกลุ่มกรรมกรและชนชั้นล่างเช่นเดิม ซึ่งการปรับทิศทางการต่อสู้ครั้งใหม่จะเป็นพื้นฐานการจัดตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ในภายหลัง

ควบคู่กับการปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างหนัก รัฐบาลรัสเซียก็ดำเนินนโยบายที่เข้มงวดในการปกครองอีกครั้ง มีการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมือง เซ็นเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์อย่างเข้มงวด เพื่อให้อำนาจสูงสุดยังคงอยู่ในมือราชวงศ์โรมานอฟ กระทั่งราชวงศ์ล่มสลายในการปฏิวัติรัสเซีย ปี 1917

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สัญชัย สุวังบุตร และ อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม.นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557.

Lynne Ann Hartnett, “Russia’s ‘Narodnaya Volya’ and Revolutionary Terrorism”  Access 8 March 2023, from https://www.wondriumdaily.com/revolutionary-terrorism-how-it-all-began/

W.E. Mosse,” Alexander II emperor of Russia” Access 8 March 2023, from  https://www.britannica.com/biography/Alexander-II-emperor-of-Russia


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2566