พระราชวิเทโศบายในรัชกาลที่ 5 เรื่องการรักษาเอกราชจากจักรวรรดินิยมตะวันตก

เจ้านายไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉาย กับ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉายกับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

พระราชวิเทโศบาย รัชกาลที่ 5 เรื่องการรักษาเอกราชจากจักรวรรดินิยมตะวันตก

“—ความทุกข์ร้อนอันใดของเราที่จะพึ่งปากผู้อื่นให้ช่วยพูด พึ่งความคิดผู้อื่นให้ช่วยคิดนั้นอย่าได้ฝันเห็นเลยว่าใครจะเปนธุระ—”

เป็นข้อความในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.. 2440 แสดงถึงพระราชดำริในการรักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก ด้วยพระราชวิเทโศบายพึ่งตนเองทั้งความคิดและการเจรจาเป็นหลักสำคัญ

Advertisement

การเปิดประเทศคบค้าสมาคมกับชาวยุโรป นับเป็นพระราชวิเทโศบายสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะทรงเห็นผลเสียที่ประเทศเพื่อนบ้านได้รับจากการปิดประเทศ ไม่ยอมคบค้าทำความรู้จักกับประเทศที่กำลังมุ่งคุกคามอธิปไตยของชาติจนต้องสูญเสียเอกราชไป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินพระราชวิเทโศบายนี้อย่างต่อเนื่อง ในรัชสมัยของพระองค์การบีบคั้นกดดันจากจักรวรรดินิยมตะวันตกเพิ่มขึ้น การคบค้าสมาคมหรือมีสัมพันธไมตรีกันจึงมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงมากขึ้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำริว่าอังกฤษน่าจะมีความเป็นมิตรกับสยามดีกว่าฝรั่งเศส ซึ่งมีทีท่าคุกคามสยามอย่างเปิดเผยและรุนแรง แต่ภายหลังทรงพบว่าอังกฤษก็มีแนวคิดและความประสงค์ที่จะได้สยามเป็นอาณานิคมเช่นกัน แต่เป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่เปิดเผยเหมือนฝรั่งเศส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรู้ และเข้าพระทัยถึงสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี ยิ่งทรงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีมหาอำนาจที่ไว้ใจได้เป็นมิตรประเทศ เพื่อคานอำนาจซึ่งกันและกันหรือมีส่วนทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกรงใจ

ในรัชสมัยนี้ อังกฤษและฝรั่งเศสได้ยึดครองประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างสยามไปเป็นอาณานิคมจนหมดสิ้นและต่างก็พยายามที่จะชิงกันเข้าครอบครองสยาม ขณะที่ทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจยังคงคุมเชิงรอโอกาสเหมาะสมที่จะเข้ายึดครองสยาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้โอกาสนี้พยายามหาวิธีปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างเต็มความสามารถ ทรงมองปัญหาและวิธีการด้วยหลัก 3 ประการ ดังปรากฏเรื่องนี้ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า

“—การซึ่งจะรักษามิให้มีอันตรายทั้งภายใน ภายนอกได้มีอยู่ 3 ประการ คือ พูดจากันทางไมตรีอย่างหนึ่ง มีกำลังพอจะรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้อย่างหนึ่ง การปกครองให้เสมอกันอย่างหนึ่ง—”

วิธีการเพื่อให้เป็นไปตามหลัก 3 ประการ เริ่มจากการปรับปรุงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการปกครอง การทหาร เศรษฐกิจ กฎหมายการศาล ขนบธรรมเนียมประเพณีบางประการ ตลอดจนการพัฒนาบ้านเมืองด้านสาธารณูปโภคความสะดวกสบายและความสวยงามของบ้านเมือง ทั้งนี้เพื่อมิให้ต่างชาติดูหมิ่นว่าสยามเป็นชาติป่าเถื่อนล้าหลัง ซึ่งจะมีผลทางการเจรจากันอย่างประเทศที่มีสัมพันธไมตรีอันดีและเสมอภาคกัน

นอกจากการปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศดังกล่าวแล้ว พระราชวิเทโศบายสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือปฏิบัติในระยะเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับกระแสและอิทธิพลการคุกคามของอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างรุนแรง คือ การที่จะต้องแสวงหามิตรประเทศ โดยมีพระราชประสงค์สำคัญให้กษัตริย์ประเทศต่างๆ ในยุโรปรู้จักและเข้าใจถึงความเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาติ ที่ดำรงรักษาเอกราชมานานนับร้อยปี มีภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง อันจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้มีการเจรจากันอย่างประเทศที่มีความเสมอภาค

ด้วยเหตุดังกล่าว การเสด็จประพาสยุโรป พ.. 2440 จึงต้องทรงเตรียมพระองค์ให้พร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อจะได้ปฏิบัติพระองค์อย่างสมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์สยาม ในสังคมชาวยุโรปที่เป็นแบบแผนก็ทรงวางพระองค์ได้อย่างภาคภูมิและงามสง่า แต่ก็ไม่ทรงทิ้งลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ นั่นคือความนุ่มนวลอ่อนโยน ทรงผสานลักษณะทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะ

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ทรงได้รับการยอมรับจากชาวตะวันตกก็คือพระปรีชาสามารถ ซึ่งถึงพร้อมด้วยความรอบรู้ ความเฉลียวฉลาด ตลอดจนพระปฏิภาณไหวพริบซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนจากการเจรจาตอบโต้ที่คมคายลุ่มลึกและทันกับเล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง จนเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เพราะเหตุว่าทรงตระหนักพระทัยเป็นอย่างดีแล้วว่าประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสมีวัตถุประสงค์แน่ชัดในการที่จะยึดครองสยาม ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งว่า

“—ด้วยการมาครั้งนี้ที่อื่นก็ไม่พอเปนไร วิตกอยู่แต่อังกฤษกับฝรั่งเศส ที่มันเตรียมจะเปนนายเราอยู่ทั้ง 2 ฝ่าย—”

จึงทรงพยายามมองหามหามิตรที่จะมาคานอำนาจของทั้ง 2 ประเทศนี้

ประเทศที่ทรงหมายพระทัยว่าจะได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดขณะนั้นคือประเทศรัสเซีย ซึ่งน่าจะเป็นมหาอำนาจที่ฝรั่งเศสเกรงใจ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉายภาพกับ พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายกับพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซียเมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2440

นอกจากนี้พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์ที่พระองค์ทรงคุ้นเคยมาก่อนตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นซาเรวิชมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย แต่การณ์กลับปรากฏว่า รัสเซียกับฝรั่งเศสมีข้อสัญญาผูกมัดกันชนิดที่รัสเซียต้อง

เป็นฝ่ายเกรงใจฝรั่งเศส จึงไม่สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือสยามได้อย่างเต็มที่ และเมื่อได้ทรงพบปะสนทนากับประมุขประเทศต่างๆ ก็ยิ่งทรงพบว่าผู้นำของยุโรปแทบจะทุกประเทศต่างก็กำลังตกอยู่ในวังวนของการปกป้องผลประโยชน์ของตนแทบทั้งสิ้น มีการหลอกล่อดำเนินวิเทโศบายลับหลังอย่างหนึ่ง ต่อหน้าอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ให้ตนเสียเปรียบ และเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประเทศของตนมากที่สุด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงปรับเปลี่ยนพระราชวิเทโศบายตามสถานการณ์ที่ผันผวนและเหตุการณ์เฉพาะหน้า อีกทั้งทรงตระหนักพระทัยในบัดนั้นว่า

“—ความทุกข์ร้อนอันใดของเราที่จะพึ่งปากผู้อื่นให้ช่วยพูด พึ่งความคิดผู้อื่นให้ช่วยคิดนั้นอย่าได้ฝันเห็นเลยว่าใครจะเปนธุระ—”

การดำเนินพระราชวิเทโศบายในเวลาต่อมา จึงเป็นการพึ่งความคิดและปากของตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยทรงใช้ประเทศต่างๆ ในยุโรปทั้งประเทศเล็กประเทศใหญ่ให้ถ่วงดุลอำนาจกันเอง

การปรับเปลี่ยนพระราชวิเทโศบายใหม่นี้ ทรงต้องศึกษาถึงเครือข่ายและปัญหาทั้งความขัดแย้งและความเกี่ยวข้องกันของประเทศต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อแต่ละประเทศอย่างถูกต้องและเหมาะสม ด้วยการทรงเลือกชาวยุโรปชาติต่างๆ มาร่วมดำเนินการตามนโยบายสร้างความเจริญและความมั่นคงให้แก่สยาม

แต่บุคคลและชาติที่ทรงคัดเลือกล้วนมีนัยยะทางการเมืองทั้งสิ้น เช่น ไม่ทรงว่าจ้างทั้งชาวอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามารับราชการฝ่ายทหาร แต่กลับทรงจ้างชาวยุโรปประเทศเล็กๆ ที่ไม่หวังผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น เดนมาร์ก อิตาลี เข้ามารับราชการทางทหารแทน

โดยเฉพาะประเทศอิตาลี เป็นประเทศที่เคยมีคดีแค้นเคืองกับฝรั่งเศส เมื่อครั้งฝรั่งเศสแย่งดินแดนแคว้นตูนิเซีย เป็นเหตุให้อิตาลีต้องหมดอำนาจในแอฟริกา ทรงว่าจ้างชาวเบลเยียมและอเมริกัน ซึ่งมีนโยบายเป็นกลาง เข้ามาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงว่าจ้างชาวเยอรมันซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งในยุโรปเข้ามาดำเนินกิจการรถไฟซึ่งถือเป็นกิจการทางยุทธศาสตร์สำคัญเพราะเยอรมนีเป็น ทั้งคู่แข่งของรัสเซียและยังเป็นศัตรูของฝรั่งเศส

อันเป็นเหตุให้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสกังวลใจกับพระราชวิเทโศบายนี้ ไม่อาจที่จะทำการคุกคามเร่งรัดอย่างเดิม เป็นแต่เพียงต่างคุมเชิงยอมให้สยามเป็นรัฐกันชนอันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “พระราชวิเทโศบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : การรักษาเอกราชจากจักรวรรดินิยมตะวันตก” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2555


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 19 มกราคม 2562 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ