ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | ไมเคิล ไรท |
เผยแพร่ |
ความนำ
เรื่องนี้ซับซ้อนมาก ดังนั้นในบทความนี้ผมขอมองเฉพาะโปรตุเกส, วิลันดา, อังกฤษและฝรั่งเศส เฉพาะในเอเชีย โดยมองข้ามแอฟริกาและทวีปอเมริกาทั้งเหนือ-ใต้
ก่อนจะพูดถึงประวัติศาสตร์จักรวรรดินิยมในทะเลอันดามันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการล่าเมืองขึ้นของชาวยุโรปในเอเชียอย่างน้อยสองสามเรื่องเสียก่อน :-
ประการแรก มีจักรวรรดินิยมอย่างน้อยสองแบบคือ 1. จักรวรรดิที่ยึดเฉพาะเมืองท่าริมฝั่งสมุทรตามจุดยุทธศาสตร์เพื่อคุมการค้าทางทะเล และ 2. จักรวรรดิที่เข้าไปยึดและปกครองแผ่นดินใหญ่ บางประเทศนิยมอย่างหนึ่งอย่างใด (เช่น โปรตุเกสมักยึดเฉพาะเมืองท่า Goa-Colombo-Malacca-Macau) แต่โดยมากจะใช้นโยบายประสม, คือยึดเมืองท่าแล้วหากได้โอกาสก็ยึดแผ่นดิน (แผนที่จักรวรรดิโปรตุเกส, ดัตช์, อังกฤษ, ฝรั่งเศส)
ประการที่สอง จักรวรรดิยุโรปในเอเชียไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะระหว่างประเทศหนึ่งในยุโรปกับประเทศหนึ่งในเอเชีย แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ดีร้ายระหว่างประเทศในยุโรป เช่น ใน ค.ศ. 1661 เจ้าฟ้าหญิงแห่งโปรตุเกสเสกสมรสกับพระเจ้าชารลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ, อังกฤษจึงได้รับเมือง Bombay เป็นสินสอด ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดศึกสงครามระหว่างดัตช์กับอังกฤษ (ในยุโรป) ชาวอังกฤษ (ในเอเชีย) จึงฉวยโอกาสยึดเกาะชวาจากดัตช์ แต่พอตกลงสงบศึก (ในยุโรป) อังกฤษต้องคืนชวากลับเป็นของดัตช์ตามเดิม
ดังนี้จะเห็นได้ชัดว่า ประวัติศาสตร์ฝั่งทะเลอันดามันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบ 2+2 = 4 เป็นแน่
ประการที่สาม แหลมอุษาคเนย์ฝั่งตะวันตก (ทะเลอันดามัน) มีอู่เรืองามมากมายตั้งแต่เมาะตะมะทางเหนือ ผ่านทะวาย, มะริด, อ่าวพังงา, ปากน้ำตรัง, เกาะหมาก ตลอดจนมะละกาทางใต้สุด แต่แดนอันงดงามนี้มีปัญหามากเพราะเทือกเขาบรรทัดตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งจึงมีอู่ข้าวน้อย ไม่พอที่จะเลี้ยงพลเมืองจำนวนมาก ฝั่งอันดามันยังเคยเป็นแดนป่าร้อนชื้นที่ไม่อำนวยต่อสุขภาพ และในฤดูฝนมักรับพายุร้ายแรงจากมหาสมุทรอินเดีย
ดังนั้นชุมชนฝั่งทะเลอันดามันมักเป็นชุมชนเล็กตามปากน้ำ ซึ่งหากพัฒนาเป็นเมืองท่ามั่งคั่งได้ ก็ปล้นได้ง่าย ไม่ว่าจะโดยโจรสลัดหรือโดยรัฐใหญ่ เช่น มัชปาหิต, หงสาวดี, อยุธยา หรือฝรั่ง ฝั่งตะวันออกของแหลมค่อยยังชั่วเพราะพอมีที่ราบเป็นอู่ข้าว แต่พัฒนาเมืองใหญ่ได้ไม่กี่แห่ง และเมืองเหล่านี้มักล้มลุกอาจจะเพราะโรคระบาด, พายุร้ายจากทะเลจีนใต้, หรือเพราะถูกรุกรานได้ง่าย
ในสมัยอยุธยาชาวสยามคงสนใจฝั่งทะเลอันดามันมากเพราะเป็นปากประตูสู่การค้ากับตะวันตก ชาวพม่า (กรุงอังวะและหงสาวดี) มีทางออกสู่ทะเลตะวันตกที่เมืองยะไข่ (Arakan) และปากน้ำอิรวดี (แถวย่างกุ้ง) เขาจะสนใจโจมตีเมืองท่าในแหลมใต้เฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้สยามแย่งการถ้าค้ากับตะวันตกไป
แหลมอุษาคเนย์ก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม
สมัยนั้น (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 3-13) มีเอกสารกำกับน้อยมาก หากอาศัยซากโบราณสถานเท่าที่เหลือให้เห็นเป็นหลักฐาน จะเห็นว่าศูนย์วัฒนธรรมใหญ่ๆ อยู่ที่ชวาตอนกลาง (ที่ราบสูง “เตียง”, โบโรบุดูร์ ปรัมบานัน), อู่ทอง-นครปฐม ศรีเทพ-ลพบุรี-ศรีมโหสถ ลุ่มน้ำมูน และฝั่งเหนือทะเลสาบหลวงในเขมร
ในแหลมใต้นั้น โบราณสถานเท่าที่เหลือชวนให้เข้าใจว่าเป็นเมืองคุมปากน้ำที่เป็นต้น/ปลายทางค้าขายข้ามคอคอด
หัวเมืองเหล่านี้จะเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมในสมัยโบราณนั้นยังไม่มีหลักฐานผูกมัด แต่ไม่ต้องสงสัยว่าหัวเมืองเหล่านี้เป็นจุดรวบรวมและกระจายวัฒนธรรมสูงจากนอกอุษาคเนย์เข้าไปข้างใน
ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 วัฒนธรรมชวากลาง “ศรีวิชัย” และ “ทวารวดี” หายไปจากประวัติศาสตร์ทั้งบนพื้นแผ่นดินและจากบันทึกของจีน และวัฒนธรรมสูงของเขมรที่พระนครธมกำลังบานปลาย ไม่มีใครทราบว่าทำไม ในขณะเดียวกันศาสนาอิสลามกำลังเริ่มเข้ามาโดยสันติวิธีในหมู่เกาะอินโดนีเซียพร้อมกับพ่อค้าจากตะวันออกกลางผ่านอินเดีย
น่าเสียดายที่เรื่องนี้ไม่มีเอกสารร่วมสมัยรับรอง
แหลมอุษาคเนย์ ภายหลังการเข้ามาของศาสนาอิสลาม
ในเรื่องนี้ผมไม่กล้าสันนิษฐาน เพราะบรรดาตำนาน “ฮิกายัต” ภาษามลายู ล้วนทำขึ้นมาภายหลัง และต่างไม่อธิบายว่า ทำไม “ราชา” (ฮินดู) องค์ใดสมัครรับเป็นมุสลิมจึงกลายเป็น “สุลต่าน”
หลักฐานเท่าที่เหลืออยู่ปรากฏตามตำนานฮิกายัตภาษามลายู ใครสนใจเรื่องนี้ควรศึกษา
1. จากตำนานสะจารามลายู นักปราชญ์ตีความได้ว่า เจ้าตรีภูวนะยกจากชวา (หรือปาเล็มบัง) มาตั้งเมืองสิงหปอร์บนเกาะตุมาสิกราว ค.ศ. 1300 มีเจ้าเมืองล้วนทรงพระนามภาษาสันสกฤตอีกสี่พระองค์สืบสันตติวงศ์จนถึงเจ้าศรีบรเมศวระที่ย้ายไปตั้งเมืองมะละการาว ค.ศ. 1402 ได้เจ้าหญิงมุสลิมเป็นมเหสีจึงกลับใจเข้าศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนพระนามเป็นศรีสุลตาน อิสกันดาร์ ชาห์
2. ฮิกายัตมะโรงมหาวงศ์ (ตำนานเมืองไทร) ขึ้นต้นแปลกมาก ฟังคล้ายคัมภีร์มหาวงศ์ (ตำนานลังกา) คัมภีร์ธาตุวงศ์ (ตำนานพระธาตุเขี้ยวแก้ว) และคัมภีร์สิหลพุทธรูปนิทาน (ตำนานพระพุทธสิหิงค์) ราชามะโรงมหาวงศ์ ที่มีเมียเป็นยักษิณี ได้คุมกองเรือข้ามสมุทร (อ่าวเบงกอล?) มา แต่ถูกพญาครุฑโจมตีจนเรืออับปาง ด้วยอภินิหารมะโรงมหาวงศ์ลอยมาถึงฝั่งจึงตั้งเมืองเคดะห์ (ไทรบุรี) เป็นบ้านเป็นเมือง ต่อมาพระบุตรชื่อมะโรงมหาโพธิสัตว์ (!) ให้โอรสองค์โตไปสร้างกรุงสยาม และให้ธิดาไปสร้างเมืองปัตตานี กษัตริย์เมืองไทรบุรีองค์ที่ 7 ชื่อราชาองค์พระมหาวงศ์ รับนับถือศาสนาอิสลามจึงเปลี่ยนชื่อเป็นสุลต่านมุสซาฟา ชาห์
ตำนานเหล่านี้ตีความได้ยาก แต่ดูคล้ายกับว่า บรรดา “ราชา” ใหญ่น้อยในโลกที่พูดภาษามลายูต่างมีความขัดแย้งกันสูงจึงยอมรับอิสลามเป็น “คำตอบ” โดยสมัครใจ ไม่ใช่ถูกรุกรานหรือบังคับ
อย่างไรก็ตามการเข้ามาในอุษาคเนย์ของศาสนาอิสลามยังคลุมเครืออยู่มาก จึงควรได้รับการศึกษาต่อไปโดยผู้ที่มีความรู้ลึกๆ ด้านภาษา วรรณคดีและประวัติศาสตร์โลกอิสลาม ซึ่งผมไม่มี
แหลมในยุคฝรั่งเข้ามา
ใน ค.ศ. 1503 โปรตุเกสได้เดินเรืออ้อมแหลมแอฟริกาใต้มาแวะสำรวจชายฝั่งอินเดียใต้และลังกา เพียง 8 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 1511) เข้าข้ามอ่าวเบงกอลมายึดเมืองมะละกาจากสุลต่าน และในปีเดียวกันก็ส่งทูตเข้ามาเจรจาที่กรุงศรีอยุธยา แต่โปรตุเกส (และฝรั่งชาติอื่นที่ตามมา) ต่างมุ่งหมายจะ 1. เข้าถึงหมู่เกาะเครื่องเทศในอินโดนีเซีย และ 2. บุกเบิกการค้ากับเมืองจีน ถึงราวกลาง ค.ศ. ที่ 17 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์) บรรดาบริษัทค้าตะวันออก (East India Companies) ต่างได้ฐานมั่นตามเมืองท่าต่างๆ ตามชายฝั่งอินเดีย (เช่น อังกฤษตั้งที่ Madras, ฝรั่งเศสตั้งที่ Pondicherry, โปรตุเกสตั้งที่ Porto Novo และเดนมาร์กตั้งที่ Tranquebar) แล้วส่งเรือไปค้าขาย หาเสบียงและซ่อมลำตามเมืองท่าต่างๆ บนฝั่งตะวันตกของแหลมอุษาคเนย์ตั้งแต่ปากน้ำยะไข่ไล่ลงมาตามหงสาวดี, เมาะตะมะ, ทะวาย, มะริด, ภูเก็ต, เคดะห์
แต่ใครๆ อยากหลีกมะละกาที่คุมช่องแคบทางจะไปหมู่เกาะเครื่องเทศหรือเมืองจีน เพราะใครครองมะละกา (โปรตุเกสก่อน ดัตช์ภายหลัง) มักเรียกค่าผ่านด่านสูงหรือปล้นเรือเสียเลย การเดินเรือถ้าสมัยนั้นยังเป็น “ทางการ” (ของบริษัท) ราวครึ่งหนึ่งและ “งานอิสระ” (เชิงโจรสลัด) ราวครึ่งหนึ่ง เช่น Samuel White เป็นพนักงานบริษัทอังกฤษแต่รับจ้างกรุงศรีอยุธยาให้คุมเมืองมะริด เขาใช้อำนาจให้ปล้นเรือมุสลิม, เรือฮินดูและเรืออังกฤษในอ่าวเบงกอล จนบริษัทอังกฤษต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปจับกุมเสีย และฝ่ายกรุงศรีฯ ก็เลิกจ้างเพราะกลัวว่า White จะชักศึกเข้าเมือง ชาวดัตช์ได้ปล้นมะละกาจากโปรตุเกสใน ค.ศ. 1641 แล้วคุมช่องแคบต่อไป
ดังนั้นมีแต่เรือลำใหญ่กล้าใช้ช่องแคบอ้อมเข้ามาในทะเลจีนใต้และอ่าวสยาม (เช่น เรือราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์) เรือค้าธรรมดาโดยมากจะเข้ามาถ่ายสินค้าที่เมืองท่าต่างๆ บนฝั่งตะวันตก ที่สำคัญที่สุดคือเมืองมะริด-ตะนาวศรีซึ่งมีทางเดินบกข้ามมายังกุยบุรีบนฝั่งตะวันออก จากนั้นก็เดินได้ถึงกรุงศรีอยุธยา ทั้งโดยทางน้ำหรือทางบกได้โดยสะดวกปลอดภัย
ดูเหมือนกับว่าใน ค.ศ. ที่ 17 การค้าระหว่างสยามกับโลกตะวันตกคงผ่านเมืองท่าบนฝั่งทะเลอันดามัน ไม่ว่าจะเป็นการค้ากับ “แขก” ต่างๆ หรือฝรั่งมั่งค่า : -เมืองพัน (เมาะตะมะ) ถ่ายสินค้ากับเมืองเหนือ; เมืองทะวายติดต่อกับเมืองเพชร – เมืองกาญจน์; ปากน้ำจันติดต่อกับปากน้ำตาปี; ปากน้ำตรังติดต่อกับเมืองนครฯ และเมืองเคดะห์ติดต่อกับปัตตานี
อย่างไรก็ตามเรามีหลักฐานมากที่สุดเกี่ยวกับเส้นทางผ่านเมืองกุย- เมืองมะริด (ฝรั่งเเรียกเมืองมะริดว่า Merigui/Mergui คงเกิดจากการประสมคำ “มะริด” กับ “กุย (บุรี)” กระมั้ง?) เราทราบว่าชาวเปอร์เซียและบาทหลวงฝรั่งเศสโดยมากเข้ามาทางนี้ สมเด็จพระนารายณ์ตลอดจนถึงพระบรมโกษฐ์ส่งช้างไปขายอินเดียผ่านเมืองมะริด (บางปีถึง 300 เชือก!) และอย่าลืมว่า ขุนแผนลงไปคัดเลือกม้าโปรด (สีหมอก) ที่เมืองมะริด คงเป็นม้าพันธุ์อาหรับอย่างดีที่นำเข้ามาจากอินเดียแลกเปลี่ยนกับช้างดีของสยาม
จากหลักฐานเหล่านี้ท่านผู้อ่านคงเห็นได้ชัดว่า ในสมัยก่อนฝั่งตะวันตกของแหลมเคยมีความสำคัญมากเพียงใด
ยุควุ่นวาย, อังกฤษเข้าเป็นใหญ่
หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ใน ค.ศ. 1767 สยามคุมเมืองทะวายเมืองมะริดไม่ได้ และตลอดจนถึงรัชกาลที่ 3 ทั้งสยามและพม่าต่างส่งทัพไปแย่งชิงหัวเมืองฝั่งทะเลอันดามันและปักษ์ใต้ ดังเห็นได้ในแผนที่ (แผนที่จาก Thailand a Short History หน้า 150)
ในเมื่อทั้งสองรัฐมีนโยบายจับเชลยศึกเทครัวไปเป็นแรงงานในภาคกลางของตน, ฝั่งตะวันตกและปักษ์ใต้จึงน่าจะวุ่นวาย, มีพลเมืองน้อยลง, และบ้านเมืองหลายแห่งคงร้างในชั่วระยะนั้น บนฝั่งตะวันตกดูเหมือนจะมีแต่เมืองถลางเท่านั้นที่พอรั้งเมืองได้ด้วยความช่วยเหลือของ “ท่านราชกะปิตัน” Francis Light
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ฝรั่งเศสและดัตช์กำลังวุ่นวายทางบ้าน เพราะมีสงครามระหว่างกันและการปฏิวัติฝรั่งเศสกำลังก่อตัว ดังนั้นอ่าวเบงกอลกลายเป็นแดนเฉพาะของอังกฤษ Francis Light เป็นพ่อค้ากัปตันเรือ มีฐานที่เมือง Madras บนฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ในทศวรรษ 1780s เขาเดินเรือมาขายปืนนกสับ (และฝิ่น) แลกเปลี่ยนกับดีบุกของท่านหญิง?ที่เมืองถลาง Light ไม่ขอตั้งฐานที่เมืองถลางเพราะเห็นภัยที่ทัพพม่าและทัพสยามยังไม่แพ้ชนะกัน จึงแล่นเรือลงไปทางใต้ไปขอเช่าเกาะหมาก (Penang) จากราชาแห่งเคดะห์ (ไทรบุรี) ที่ขึ้นกับสยาม
ใน ค.ศ. 1785 ราชาเมืองทรายยกเกาะหมากให้อังกฤษและขอความคุ้มครองเพราะไม่อยากให้สยามบังคับไปช่วยรบพม่า ท่านคิดไม่ผิดเพราะในปีต่อมา (1786) รัฐปัตตานีถูกทัพสยามย่ำยี เทครัวจำนวนมากไปพร้อมปืนใหญ่ “พญาตานี” ซึ่งยังหันกระบอกเข้าหาวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนทุกวันนี้
ต่อมารัฐอื่นๆ ในแหลมมลายูที่เคยสวามิภักดีต่อสยาม (เช่น ตรังกานูและกะลันตัน) ต่างหันเข้าหาอังกฤษด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน
ต่อมาใน ค.ศ. 1795 อังกฤษฉวยโอกาสแย่งเมืองมะละกาจากดัตช์ และตั้งฐานใหม่ที่สิงคโปร์ใน ค.ศ. 1819 แต่นั้นมาฝั่งตะวันตกของแหลมอุษาคเนย์ตกเป็นของอังกฤษโดยพฤตินัย เพราะอังกฤษคุมทั้งฝั่งตะวันออกของอินเดียและช่องแคบ (Staights) ทางเข้าสู่ทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก
ใน ค.ศ. 1825 พระเจ้ากรุงอังวะส่งทัพไปรุกรานรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (อัสสัมและมณิปุระ) ใน ค.ศ. ๑๘๒๖ อังกฤษจึงโต้ตอบโดยการส่งทัพเรือจากอินเดียไปยึดฝั่งแหลมใต้ของพม่า ซึ่งทำได้ง่ายเพราะแทบไม่มีใครเหลือจะต่อต้าน ยิ่งกว่านั้นชาวมอญ, กะเหรี่ยง, ไทย ตามหัวเมืองใต้ (เมาะตะมะ, ทะวาย, มะริด-ตะนาวศรี) เท่าที่เหลือก็ยินดีต้อนรับอังกฤษ จะได้ป้องกันไม่ให้กรุงอังวะรุกรานอีกต่อไป
ฝ่ายชนชั้นปกครองสยามน่าจะสะใจที่พม่าถูกรังแกบ้าง แต่เมื่ออังกฤษขอความสนับสนุนจากกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 ทรงไม่เอาด้วย
เรื่องนี้น่าเห็นใจเพราะการจะช่วยอังกฤษตีพม่าอาจจะเข้าลักษณะ “หนีเสือปะจระเข้” ที่รัชกาลที่ 3 ทรงวางเฉย (ไม่สนับสนุน, ไม่ขัดขวาง) คงช่วยให้สยามรักษาดินแดนฝั่งอันดามันตั้งแต่ปากน้ำจีนลงไปถึงสตูล เป็นไปได้ไหมว่าหากรัชกาลที่ 3 ทรงเข้าข้างอังกฤษครั้งนั้น (และหากอังกฤษไม่ขี้โกง) สยามคงได้หัวเมืองฝั่งอันดามันกลับคืนมาส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด? เราไม่อาจจะทราบได้
ต่อมาใน ค.ศ. 1852 อังกฤษกับกรุงอังวะเกิดขัดแย้งกันอีก อังกฤษจึงขึ้นไปยึดปากน้ำพม่าทั้งหมดตั้งแต่ยะไข่ถึงหงสาวดี (พะโค หรือ Pegu) ใน ค.ศ. 1862 อังกฤษส่งทัพขึ้นไปยึดกรุงอังวะ (ที่ย้ายมาอยู่มัณฑะเลย์) แล้วครองพม่าทั้งหมด
บัดนั้นอุษาคเนย์แผ่นดินใหญ่เข้ารูปกรอบเหล็ก ที่มีอังกฤษครองด้านตะวันตก (พม่าและทะเลอันดามันลงไปถึงช่องแคบมะละกา) และฝรั่งเศสครองอินโดจีน (เวียดนาม, เขมร, ลาว) โดยสยามเป็นรัฐเอกราชที่ตกอยู่ตรงกลาง แล้วเราจะไม่เรียกสยามว่า “รัฐกันชน” (Buffer State) ได้อย่างไร? อังกฤษกับฝรั่งเศสสมัยนั้นเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีความขัดแย้งกันสูง ในอุษาคเนย์เขากำลังเผชิญหน้ากันตาต่อตา อังกฤษกับฝรั่งเศสมีข้อตกลงกันว่า “มึงไม่ล้ำแดนสยามด้านตะวันออก กูก็ไม่ล้ำด้านตะวันตก” ชนชั้นปกครองสยามน่าจะมีบทบาทในการเจรจานี้ แต่เป็นคนละเรื่อเดียวกันที่ต้องรับการศึกษาต่างหาก
ฝั่งอันดามันยุคปลายและหลังจักรวรรดินิยม
ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดินิยมยุโรปกำลัง “บ่าย” (คือไม่ขยายอาณาเขตอีกต่อไป) แต่ตลอดช่วงนั้นชายแดนสยามเปิดให้ชาวบ้านข้ามไปมาสู่กันอย่างเสรี แม่น้ำโขงไม่กั้นให้ชาวอีสาน-ชาวลาวสัมพันธ์กัน ชาวล้านนาไปมาค้าและไหว้พระธาตุรวมกับชาวรัฐฉานและชาวมอญในพม่า ชาวปักษ์ใต้ไปมาสู่กันอย่างสะดวกกับพม่าตอนใต้และมลายูตอนหนือ เสรีภาพและความสะดวกเหล่านี้สิ้นสุดลงในสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังสงครามแล้วอุษาคเนย์น่าจะกลับเป็นดินแดนแห่งสันติภาพ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสถูกบังคับให้ม้วนเสื่อกลับบ้าน ชาวอุษาคเนย์ประเทศต่างๆ น่าจะหันมาสู่กันเป็นมิตรเพื่อช่วยกันสร้างความมั่งคั่ง แต่ไม่เป็นเช่นนั้น หลังสงครามชายแดนต่างๆ (ที่ฝรั่งเคยวาดเป็นเส้นบนแผนที่) กลายเป็น “ม่านเหล็ก” บนผืนแผ่นดิน และชาติต่างๆ ในอุษาคเนย์กลายเป็น “คนแปลกหน้า” ต่อกัน จะโทษใครเล่าในเรื่องนี้? ฝรั่งมังค่าที่เข้ามาสร้างความแตกแยกระหว่างชาวอุษาคเนย์? (ใช่ว่าจะไม่มีความแตกแยกกันเองมาแต่ไหนแต่ไร) หรือนักเผด็จการคลั่งชาติที่โฆษณาชวนเชื่อว่า “ชาติเราดี เพราะชาติเขาชั่ว”?
บทสรุป
ผมโชคดีที่ไม่อยู่ในฐานะผู้พิพากษาว่าใครผิดใครถูกในเรื่องนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดกันเอง
ผมได้แต่หวังว่า รัฐบาลปัจจุบัน (บทความเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2547 – กองบรรณาธิการ) คงมีปัญญาพอที่จะแยกแยะระหว่างประวัติศาสตร์จริงกับประวัติศาสตร์คลั่งชาติ ชะรอยท่านจะได้ดำเนินการต่อปัญหาชายแดนตะวันตกและปัญหาปักษ์ใต้ด้วยความเข้าใจเที่ยงแท้ ไม่ใช่ด้วยความหลง
หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดจากบทความ “จักรวรรดินิยม ทะเลอันดามันและสยามในคริสต์ศตวรรษ์ที่ 19” เขียนโดย ไมเคิล ไรท เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2547
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2560