ผลการวอล์คเอาท์ในอดีต ผู้คนลุกเดินปลีกตัวออกจากที่หนึ่ง มารวมตัวจริงจังเพื่อสังคม

ภาพประกอบเนื้อหา - การชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิ ไม่ปรากฏสถานที่ ไม่ปรากฏวันที่ถ่าย ภาพจาก pixabay/StockSnap (สิทธิใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้)

การกระทำที่เรียกว่า “วอล์คเอาท์” (walkout) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนของคนรุ่นใหม่ หรือการเดินขบวนของแรงงานเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน

พจนานุกรมฉบับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge Advanced Learner’s Dictionary & Thesaurus) ให้ความหมายของคำว่า “วอลค์เอาท์” (walkout) ว่า “การกระทำในลักษณะปลีกออกมาจากการรวมตัวกันแบบเป็นกลุ่มเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วย หรือปลีกออกจากสถานที่ทำงานเพื่อหยุดงานประท้วง (strike)”

หรืออีกฉบับหนึ่ง (Cambridge Academic Content Dictionary) ให้ความหมายว่า “การกระทำในลักษณะปลีกออกมาจากสถานที่หนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นความรู้สึกว่าไม่มีความสุข หรือการกระทำของ(คนงาน)เป็นการหยุดงานเพราะไม่เห็นด้วยกับการบริหารจัดการ”

ในอดีตเคยเกิดการวอล์คเอาท์มากมาย สำหรับการวอล์คเอาท์ของคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันมากและยังเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาอีกครั้งคือการวอล์คเอาท์ของนักเรียนในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 2018

เวลา 10.00 น. ของวันดังกล่าว นักเรียนในโรงเรียนทั่วสหรัฐอเมริกาประกาศวอล์คเอาท์จากห้องเรียน/โรงเรียนเป็นเวลา 17 นาที เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต 17 รายจากเหตุกราดยิงในโรงเรียนมาร์จอรีย์ สโตนแมน ดักลาส ไฮสคูล (Marjory Stoneman Douglas High School) ในพาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์

การเคลื่อนไหวดังกล่าวยังเป็นการแสดงออกเพื่อส่งเสียงไปถึงรัฐสภาและทางการรัฐให้ปรับเปลี่ยนกฎหมายการครอบครองอาวุธปืนให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเรียกร้องให้พรรคการเมืองยุติข้อถกเถียงเรื่องกฎหมายอาวุธปืนโดยมีวาระแฝงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง หันมาร่างและผ่านกฎหมายภายใต้แนวคิดพื้นฐานเรื่องการรักษาความปลอดภัย เช่น ตรวจสอบประวัติก่อนการซื้ออาวุธปืน ห้ามขายอาวุธปืนมีพลังทำลายร้ายแรงบางชนิดอย่างเช่นไรเฟิลจู่โจม (assault riffles) ไปจนถึงเรื่องให้อำนาจศาลสามารถสั่งยึดหรือปลดอาวุธปัจเจกบุคคลที่มีสัญญาณให้เห็นถึงพฤติกรรมรุนแรงได้

ทั้งนี้ กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในวาระดังกล่าวส่วนใหญ่ยังอายุไม่ถึงและไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงทางการเมืองด้วยซ้ำ แต่การกระทำของพวกเขาคือการส่งเสียงให้ดังไปถึงนอกพื้นที่โรงเรียน

การเคลื่อนไหวครั้งนั้นกลายเป็นหัวข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวเมื่อปี 2018 การวอล์คเอาท์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง บางครั้งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมจนส่งผลต่อมา

ตัวอย่างหนึ่งคือการเคลื่อนไหวของนักเรียนในฟิลาเดลเฟียเมื่อ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1967 นักเรียนในโรงเรียนรัฐกว่า 3,000 คน เดินออกจากห้องเรียนมารวมตัวกันที่อาคารบอร์ดด้านการศึกษา (Board of Education) ที่ถนนสายที่ 21 และบริเวณเบนจามิน แฟรงคลิน พาร์คเวย์ (Benjamin Franklin Parkway) เพื่อแสดงออกและประท้วงเรื่องสภาพการเรียนที่นักเรียนผิวดำต้องพบเจอ

พวกเขาร่างข้อเรียกร้อง 25 ข้อ มีตั้งแต่เพิ่มการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์คนผิวดำในหลักสูตร เพิ่มการจ้างงานชาวแอฟริกันอเมริกันในตำแหน่งด้านบริหารจัดการมากขึ้น ไปจนถึงเรื่องสิทธิเรื่องทรงผมในการไว้ผมทรงแอฟโร (Afros)

รายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นในฟิลาเดเฟียอย่างฟิลาเดลเฟีย อินไควเรอร์ (The Philadelphia Inquirer) อธิบายบริบททางสังคมในช่วงเวลานั้นว่า นักเรียนผิวดำมีอัตราส่วนเป็นนักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนรัฐแล้ว แต่คนผิวดำยังไม่เข้าไปอยู่ในบทบาทที่มีสิทธิตัดสินใจ

ขณะที่ภายนอกอาคารมีนักเรียนออกมารวมตัวกัน ภายในอาคารก็มีผู้นำนักเรียนเป็นตัวแทนเข้าไปพบประธานบอร์ดด้านการศึกษา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 100 นายในชุดเครื่องแบบควบคุมฝูงชนเต็มอัตราออกมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ โดยใช้อุปกรณ์อย่างกระบอง รายงานข่าวระบุว่า นำสุนัขตำรวจมาใช้งานด้วย

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีนักเรียน 42 ราย และผู้ใหญ่อีก 15 รายถูกควบคุมตัว มีผู้บาดเจ็บอีกนับสิบราย บางรายได้รับบาดเจ็บเกินกว่าบาดเจ็บทั่วไป

แมทธิว คันทรีแมน (Matthew Countryman) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน นิยามการเคลื่อนไหววอลค์เอาท์ในฟิลาเดลเฟียเมื่อปี 1967 ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อเมือง มีผลทำให้เกิดการเรียนการสอนเรื่องคนผิวดำในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

จากการเคลื่อนไหวเมื่อกว่า 50 ปีก่อนมาจนถึงยุคปัจจุบัน เหตุการณ์ “วอล์คเอาท์” เกิดขึ้นมากมายตลอดเส้นทางในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ มาจนถึงแรงงานของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล (Google) ความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวในอดีตกับปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร

คนในอดีตไม่ได้มีเครื่องมือทันสมัยอย่างอุปกรณ์ดิจิทัล ช่องทางการสื่อสารที่ทรงพลังอย่างสื่อสังคมออนไลน์ ในอดีตผู้เคลื่อนไหวใช้แจกเอกสารสิ่งพิมพ์ลักษณะสื่อใต้ดินเพื่อให้ข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่ในปัจจุบันมีช่องทางทันสมัยที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการสื่อสารถึงได้มากกว่า

แต่สิ่งที่นักเคลื่อนไหวในอดีตเห็นว่ามีสิ่งหนึ่งที่อาจคล้ายคลึงกันคือ หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มันต้องใช้เวลา แม้ว่าจะหลายปีหรืออาจนานถึงทศวรรษ พวกเขารับรู้ว่า ไม่ว่าจะนานเท่าไหร่การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Kristen A. Graham. “These Philly schoolkids marched against injustice 50 years ago, and police responded with nightsticks. Today, they inspire a new generation”. The Philadelphia Inquirer. Online. Published 18 NOV 2017. Access 31 JAN 2022. <https://www.inquirer.com/philly/education/philly-schools-1967-walkout-racial-injustice-police-riot-20171117.html>

OLIVIA B. WAXMAN. “Student Walkouts Have Changed American History Before. Here’s How”. Time. Online. Published 14 MAR 2018. Access 31 JAN 2022. <https://time.com/5185819/student-walkouts-history/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2565