เพลิงไหม้โรงงานนรก! สู่การเรียกร้องสิทธิสตรีและสิทธิแรงงานในสหรัฐอเมริกา

ไฟไหม้บริษัท Triangle วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1911 ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คน (ภาพจาก wikipedia)

สตรีชาวอเมริกันคือหนึ่งในกลุ่มคนใช้แรงงานที่มีส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมอเมริกา แต่พวกเธอกลับถูกนายจ้างใช้งานหนัก บางโรงงานต้องทำงานถึงวันละ 12 ชั่วโมง แลกกับค่าแรงจำนวนน้อย และไม่มีการประกันหรือการดูแลที่ดีจากนายจ้าง ซ้ำสภาพการทำงานในโรงงานก็ย่ำแย่ เสี่ยงอันตราย รัฐบาลกลางและท้องถิ่นไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ บรรดาสตรีเหล่านี้จึงมักร่วมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการปฏิรูปคุณภาพชีวิตของแรงงาน รวมไปถึงสิทธิของสตรีในสังคมที่ยังไม่ทัดเทียมกับเพศชาย

มีการจัดการชุมนุมเรื่อยมาตลอดแต่ยังไม่ได้จัดตั้งวันสตรีขึ้นอย่างเป็นทางการ  กระทั่งในปี ค.ศ. 1909 มีการจัดการชุมนุมเนื่องใน “วันสตรีแห่งชาติ” เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา สนับสนุนโดยกลุ่มสตรีสังคมนิยมและพรรคสังคมนิยมแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งสืบเนื่องมาจากการชุมนุมในปีก่อนที่มีสตรีกว่า 15,000 คน เดินขบวนทั่วนครนิวยอร์กเพื่อเรียกร้องชั่วโมงการทำงานน้อยลง เรียกร้องค่าแรงที่เหมาะสม และสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

จุดเริ่มต้นของวันสตรีแห่งชาติและสากล มีที่มาจากแรงงานสตรีอเมริกันในโรงงานสิ่งทอนับพันคนออกมาเดินประท้วงบนท้องถนนในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 พวกเธอประท้วงค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สมเหตุสมผล ชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน และสภาพในการทำงานที่ไร้มนุษยธรรม จากนั้นมาก็มีการชุมนุมมาโดยตลอด และนับตั้งแต่ ค.ศ. 1910 เป็นต้นมาได้มีการจัดประชุมสตรีในระดับสากลมากยิ่งขึ้น และในที่สุด เมื่อ ค.ศ. 1913 ได้มีมติให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) นับตั้งแต่นั้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้สิทธิสตรีและสิทธิแรงงานได้รับความสนใจจากคนทุกส่วนในสังคมให้สนใจเรื่องสิทธิเหล่านี้ คือเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1911 ที่ อาคาร Asch เขตแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก ในตึกนั้นมีบริษัทชื่อว่า Triangle ที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำหรับสตรี มีพนักงานมากกว่า 500 คน เจ้าของบริษัทคือ Max Blanck และ Isaac Harris

ไฟไหม้ครั้งนั้นนับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่ามีต้นเหตุมาจากก้นบุหรี่ที่ติดไฟลุกลามโหมกระหน่ำอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้ผ้าเป็นวัตถุเผาไหม้อย่างดี

ขณะเกิดเหตุ คนงานพยายามหนีเอาตัวรอดอย่างอลหม่าน บางส่วนพยายามไปที่ลิฟต์แต่ลิฟท์มีแค่ 4 ตัว และใช้งานได้ดีเพียงแค่ตัวเดียว ทั้งยังจุคนได้จำนวนน้อย ตัวอาคารไม่ได้ออกแบบมาไว้ดีเท่าที่ควร ทางหนีไฟก็ใช้การได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะแคบ และคนในตึกมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะรองรับได้ คนงานหลายคนเหมือนติดอยู่ในกับดักที่ไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ บางคนถึงกับต้องกระโดดหนีออกจากทางหน้าต่าง ที่เลวร้ายที่สุดคือทางหนีไฟบางส่วนถูกปิดล็อคจากด้านนอกเพียงเพราะป้องกันขโมย

ผู้เสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงแต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีจำนวนไม่แน่นอน คาดว่าน่าจะราว 150 คน ส่วนใหญ่เป็นพวกผู้อพยพชาวยุโรปที่เข้ามาในสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 5 เมษายน ก็มีการชุมนุมของสหภาพแรงงานนับแสนคนที่ต่างก็ตกอยู่ในสภาวะหดหู่จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของนครนิวยอร์ก

Max Blanck และ Isaac Harris ถูกตั้งข้อสงสัยว่าพวกเขาจงใจเผาโรงงานเนื่องจากต้องการเงินประกันอัคคีภัย เพราะ ใน ค.ศ. 1907 และ 1910 โรงงานอื่นของพวกเขาก็เคยประสบอัคคีภัยมาก่อน แต่นี่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ เจ้าของบริษัทถูกฟ้องร้องข้อหาฆาตกรรม แม้จะมีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของบริษัทประมาทเลินเล่อ แต่คณะลูกขุนล้มเหลวที่จะเอาผิดในข้อหาฆ่าคนตาย และสุดท้ายก็พ้นผิดไปอย่างหวุดหวิด

ย้อนกลับไปในช่วงการประท้วงของแรงงานนิวยอร์ก ใน ค.ศ. 1909 แรงงานสตรีในบริษัทของ Max Blanck และ Isaac Harris ได้รับเงินเพียง 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสัปดาห์ แม้จะทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันทุกวันก็ตาม Max Blanck และ Isaac Harris ต่อต้านการชุมนุมนี้โดยพยายามว่าจ้างตำรวจให้ก่อกวนการชุมนุม และติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อไม่ให้ดำเนินการใด ๆ ที่จะช่วยเหลือหรือก่อประโยชน์ให้กับแรงงานสตรีที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิของพวกเธอจากนายจ้าง

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการโดยสภานิติบัญญัติแห่งนิวยอร์ก โดยมุ่งหวังที่จะศึกษาและจัดทำรายงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้อีกในอนาคต ในปีต่อ ๆ มาคณะกรรมาธิการได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานหลายแห่ง สัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากคนงาน และจัดประชาพิจารณ์ รายงานของคณะกรรมาธิการได้นำไปสู่การผ่านตามกฎหมายด้านความปลอดภัยและสุขภาพมากกว่า 30 ฉบับ ซึ่งรวมไปถึงการห้ามใช้แรงงานเด็ก และการกำหนดแผนการป้องกันอัคคีภัย ซึ่งการออกกฎหมายของนครนิวยอร์กจะเป็นตัวอย่างสำหรับรัฐและเมืองอื่น ๆ ในการผ่านกฎหมายหรือเทศบัญญัติเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงาน

ไฟไหม้บริษัท Triangle วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1911 ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คน (ภาพจาก wikipedia)

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสการผลักดันสิทธิแรงงานและสิทธิสตรี นอกจากจะทำให้ภาครัฐหันมาสนใจแรงงานชาวอเมริกันแล้ว เรื่องสิทธิสตรีก็ถูกหยิบยกขึ้นมาให้เห็นว่า พวกเธอทำงานในโรงงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อแลกกับค่าแรงอันน้อยนิดซ้ำยังไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม เช่น สิทธิในการเลือกตั้งอย่างทัดเทียมกับผู้ชาย แล้วกลับต้องมาเผชิญกับอันตรายในชีวิตและทรัพย์สินอีกต่างหาก

ดังนั้นในปีต่อ ๆ มาการชุมนุมในวันสตรีแห่งชาติและวันสตรีสากลในสหรัฐอเมริกาจึงแพร่ขยายไปทั่วประเทศ ก่อนที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้สตรีในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองเพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


About International Women’s Day.  (2019), from internationalwomensday.com

Britannica.  (2019). Triangle shirtwaist factory fire, from britannica.com

Triangle Shirtwaist Factory Fire.  (2018), from history.com

UN.  (2019).  International Women’s Day 8 March, from un.org


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2563