รู้จัก “วิทยาทานสถาน” ห้องสมุด-สโมสรเพื่อประชาชนรุ่นแรก ๆ ในเมืองไทย

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

วิทยาทานสถาน เป็นห้องสมุดเพื่อประชาชนสมัย ร. 5 ที่สูญชื่อไปนานแล้ว แม้ผู้เขียนเองก็เพิ่งพบนามเมื่อ พ.ศ. 2540…วันนั้นผู้เขียนไปนั่งอ่านหนังสือพิมพ์สยามไมตรี ในห้องไมโครฟิล์ม หอสมุดแห่งชาติ พอหมุนฟิล์มถึงฉบับวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ร.ศ. 114 พ.ศ. 2438 หน้า 983-984 ก็พบหัวข้อข่าวจั่วว่า

“ต้นเหตุมีวิทยาทานสฐาน เปิดสฐานสโมสรสัณนิบาตสามัญชน”

จากนั้นก็เป็นเนื้อข่าวขึ้นต้นว่า “วิทยาทานสฐาน” หรือที่ถูกควรเขียนว่า วิทยาทานสถาน “เปนที่เกษมสำราญสำหรับอ่านสรรพหนังสือได้ตามชอบใจของมหาชน ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ด้วยท่านเจ้าพระยาภาษกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงพระธรรมการได้มีบัญชาอนุญาต ให้เจ้าพนักงานจัดการตั้งสฐานนี้ขึ้นที่ตึกหลวง ริมสี่กั๊ก ถนลเจริญกรุงด้านใต้ มีห้องสำหรับมหาชนอ่านสรรพหนังสือไทยแลต่างประเทศด้วย ถึงวันอัฐมี แลวันจาตุฐสีปัญจะระสี จะได้มีเทศนา แลสนทนาเปนธรรมสากัจฉาทั้งคดีโลกย์ แลคดีธรรม เป็นต้น แลมีน้ำชาเลี้ยงพอสมควร…”

เมื่ออ่านแล้วรู้สึกสนใจขึ้นมาทันที เพราะ

1. นี่เป็นห้องสมุดและสโมสรเพื่อประชาชนรุ่นแรก ๆ ที่เมืองไทยมี

2. มีชื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ที่ผู้เขียนสนใจประวัติและผลงานของท่านมาก ท่านผู้นี้เป็นผู้รอบรู้ทางภาษาและวิทยาการต่าง ๆ เคยไปเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุ 15 ขวบ เคยเป็นราชเลขานุการในรัชกาลที่ 5 เป็นคนผูกศัพท์ “เสื้อราชปะแตน” เป็นคนจัดสร้างตึกศุลกากรอันงามสง่า ข้างโรงแรมโอเรียนเต็ล เป็นผู้ทำนุบำรุงวัดประยุรวงศ์ ซึ่งบิดาของท่าน (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์-ดิศ บุนนาค) เป็นผู้สร้าง เป็นคนสนใจหนังสือ เป็นคนทำหนังสือ “มิวเซียม” และเป็นคนทำอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด รวมความว่าเป็นนักปราชญ์ หรือขุนนางหัวก้าวหน้าในสมัย ร. 5 แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครรวบรวมผลงานของท่านให้เป็นกิจจะลักษณะ แม้ประวัติในหนังสืองานศพ (ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์) ก็ไม่ได้กล่าวถึงวิทยาทานสถานเลย

ในการนี้ข่าวกล่าวตอนท้ายสุดว่าเจ้าพระยาภาสฯ เป็น “ผู้ต้นคิดสฐาปณาการวิทยาทานสฐานนี้ขึ้นเปนประฐม เปนต้นเหตุแรกมีขึ้นในกรุงสยาม เปนที่เฉลิมเกียรติยศแก่บ้านเมือง” สำนวนดังกล่าวเชื่อว่าเขียนโดย ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งทำหน้าที่เขียนข่าวในสยามไมตรีด้วย

3. วิทยาทานสถาน แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอันดีของเสนาบดี และคนยุคเก่าที่เราในยุคปัจจุบันควรรับทราบไม่สมควรหลงลืม เพราะปัจจุบันยังไม่เห็นรัฐมนตรีคนใดหรือรัฐบาลชุดใดสนใจกิจการห้องสมุดนัก ห้องสมุดระดับชาติของเรามีพื้นที่สำหรับเก็บภูมิปัญญาของชาติเพียงน้อยนิด ไม่ได้สัดส่วนกับงบประมาณและความเจริญด้านอื่น ๆ วิทยาทานสถานจึงเป็นเครื่องเตือนความทรงจำผู้บริหารประเทศว่า ควรสนใจงานห้องสมุดให้มากขึ้น

4. ผู้เขียนยังค้นได้ไม่ตลอดว่าวิทยาทานสถานถูกเปลี่ยนเป็นโรงเรียนไปในภายหลังด้วยสาเหตุใด สรุปว่า ประวัติของวิทยาทานสถานยังขาดความสมบูรณ์อยู่ ที่นำมาเขียนครั้งนี้ก็เพื่อฝากให้ท่านช่วยกันค้นคว้าเพิ่มเติม

ต่อไปจะปะติดปะต่อเรื่องวิทยาทานสถานให้ทราบว่าเป็นอย่างไร สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ที่สี่กั๊กพระยาศรี ตำบลบ้านหม้อ ถนนเจริญกรุง ทำพิธีเปิดเมื่อ 2 ทุ่มเศษ ของคืนวันที่ 11 พฤศจิกายน ร.ศ. 114 พ.ศ. 2438 สยามไมตรีรายงานว่า คืนนั้นเจ้านายและชาวยุโรปมาประชุมพร้อมกันมาก เมื่อได้เวลาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ก็ขึ้นไปยืนบนอาสนะ แล้วเจรจา (สปีช) ในการเปิดวิทยาทานสถานอย่างพิสดารเป็นคนแรก

จบแล้วพระโอวาท (ไม่ระบุว่าราชทินนามเต็มเป็นอย่างไร) ขึ้นไปสปีชว่าด้วยการสโมสรสามัคคีเป็นคนที่สองค่อนข้างยาวนาน จากนั้น “มิสเตอร์มักฟแลน ครูสอนศาสนาชาวอาเมรีกัน” ซึ่งหมายถึงหมอ ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์ ก็ขึ้นไปสปีชต่อเป็นคนที่สาม ว่าด้วยคุณานุคุณ สารประโยชน์ต่าง ๆ แล้วพระสงฆ์สองรูปขึ้นธรรมาสน์ แสดงเทศนาว่าด้วยมิลินทปัญหา โดยพระสมุห์วอน วัดสระเกศ ว่าที่พระยามิลินท์ พระหลำ วัดนาคกลาง ว่าที่พระนาคเสนเถระเจ้า จนถึง 2 ยาม หรือเที่ยงคืนจึงจบการเปิดวิทยาานสถาน นับเป็นการจัดงานที่เต็มไปด้วยสาระอย่างนักปราชญ์โดยแท้

สุดท้ายสยามไมตรีเอ่ยพระนามเจ้านาย และชาวต่างเทศที่มาว่า ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวงศ์วโรประการ กรมหมื่นราชศักดิสโมสร พระองค์เจ้าจันทรทัตจุฑาธาร พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส พระองค์เจ้าโอภาสไพศาล นายร้อยเอกมิสเตอร์ ยี.อี. เยรินี มิสเตอร์อาดำซัน มิสเตอร์มักฟแลน มิสเตอร์ยอด

นอกจากนี้ก็ยังมีข้าราชการและพลเรือนมาร่วมงานอีกมาก มีการเลี้ยงน้ำชาทั่วหน้ากัน มีการตกแต่งห้องอย่างสะอาด และแขวนโคมไฟอย่างสว่างไสว มีพระบรมรูปวาด และปั้น ร. 4 ร. 5 รูปเขียนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ภายหลังคือ ร. 6) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และรูปฉากอื่น ๆ ประดับหลายรูป

อีก 2 ปีต่อมา สยามไมตรี ฉบับวันอังคารที่ 5 ตุลาคม ร.ศ. 116 พ.ศ. 2440 หน้า 763-764 ได้ลงข่าวนายกุหลาบซึ่งเป็นทั้งนักเขียนและนักสะสมหนังสือตัวยง จ้างร้านถ่ายรูป ถ่ายรูปวาดขุนนางสวมลอกพอก (หมวกไทยปลายแหลม) และเสื้อครุยแบบโบราณจากสมุดเก่ามาติดให้คนอื่นได้ดูที่วิทยาทานสถาน ทำให้เราได้ทราบว่าวิทยาทานสถานยังคงดำเนินกิจการเรื่อยมา

หลักฐานอื่นที่พบนอกจากนี้ คือจดหมายที่วิทยาทานสถานมีถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ (ราชเลขานุการในรัชกาลที่ 5 ต้นสกุลสวัสดิกุล) ลงวันที่ 9 กันยายน ร.ศ. 116 หรือ พ.ศ. 2440 จดหมายดังกล่าวมีตราเทวดาขี่กวาง กับคำว่าวิทยาทานสถาน และ Literary Institute ในวงกลมข้างบน ผู้เขียนพบในห้องสมุดเฉพาะ สำนักราชเลขาธิการ มีเนื้อหาขอบพระทัยที่กรมหมื่นสมมตฯ ประทานสมุดงานเอกซิบิเชน (นิทรรศการ) กรุงเบอร์ลิน แก่วิทยาทานสถาน พร้อมกันนั้นวิทยาทานสถานได้รายงานจำนวนผู้ใช้บริการให้ทรงทราบว่า นับแต่วันที่ ร. 5 เสด็จประพาสยุโรปในเดือนเมษายน จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม ศก 116 รวมเวลา 4 เดือนเศษ มีพระสงฆ์สามเณรมาอ่านหนังสือถึง 1,360 รูป ประชาชนไทยและชาวต่างประเทศมาอ่านถึง 16,113 คน นี่แสดงว่ากิจการของวิทยาทานสถานได้รับความสนใจมากทีเดียว

เก็บข้อมูลมาได้ถึงแค่นี้ ความรู้ก็เริ่มต้น ผู้เขียนพบคำว่า วิทยาทานสถานอีกทีก็เมื่อใช้คู่กับคำว่าโรงเรียน กลายเป็น “โรงเรียนวิทยาทานสถาน” ไปเสียแล้ว คือในประวัติหม่อมเจ้าประภากร มาลากุล อดีตรองอธิบดีกรมศึกษาธิการ ในหนังสือประวัติครู พ.ศ. 2515 หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กล่าวตอนหนึ่งว่า

ร.ศ. 117 หรือ พ.ศ. 2441 “มีการขยายการศึกษา ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง มีการจัดสถานอบรมครูครั้งแรกที่ ‘วิทยาทานสถาน’ ซึ่งอยู่ที่สี่กั๊กพระยาศรี เรื่องเหล่านี้รองอธิบดีย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการศึกษาของกุลสตรีนั้น โรงเรียนกุลสตรีวังหลังเกิดขึ้นก่อน เป็นโรงเรียนมิชชันนารี ต่อมาโรงเรียนสตรีสุนันทาลัยและโรงเรียนเสาวภาจึงเกิดขึ้น โรงเรียนสตรีเหล่านี้หาได้เป็นโรงเรียนที่กรมศึกษาธิการจัดตั้งขึ้นเองไม่ โรงเรียนสตรีแห่งแรกที่กรมศึกษาธิการตั้งขึ้นคือโรงเรียนบำรุงสตรีวิชา ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2444 ที่บ้านเก่าของขุนหลวงพระยาไกรสีห์ (เปล่ง) ตำบลบ้านหม้อ…”

จากนั้น ม.ล.ปิ่นได้นำจดหมายลงวันที่ 10 มิถุนายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) ของแม่พลอย “อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวิทยาทานสถาน” มาแสดงให้ดู ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปก็คือ ครูพลอยกราบทูลหม่อมเจ้าประภากรให้ทราบว่า ท่านได้รับหน้าที่เป็นอาจารย์อยู่ที่โรงเรียนวิทยาทานสถาน (โรงเรียนเอกชน) มาประมาณ 2 ปีเศษแล้ว (แสดงว่าวิทยาทานสถานกลายเป็นโรงเรียนไปเมื่อราว พ.ศ. 2441) บัดนี้เกิดความเดือดร้อน เจ้าของที่คือ ห้างหมอแอดแดมซัน (AdamSon หรืออาดำซันที่มางานวันเปิดวิทยาทานสถาน) จะไม่รับดูแลโรงเรียนนี้ต่อไป และจะเลหลังที่ให้แขก ครูพลอยจึงต้องขอถวายโรงเรียนให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของกรมศึกษาธิการ และขอให้รองอธิบดีพิจารณาโดยเร็ว ว่าจะโปรดให้ไปตั้งที่ไหน เพราะถ้ารอช้านักเรียนคงลดจำนวนลงแน่นอน

จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ หม่อมเจ้าประภากรได้ทรงจัดการแก้ไขทันที โดยให้ย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่บ้านเก่าของขุนหลวงพระยาไกรสีห์ (เปล่ง) ตำบลบ้านหม้อ แล้วตั้งเป็นโรงเรียนของกรมศึกษาธิการเองในนาม “โรงเรียนบำรุงสตรีวิชา” ให้แม่พลอยเป็นอาจารย์ใหญ่ต่อไป

พ.ศ. 2446 แม่พลอยถึงแก่กรรม สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงเรียนเสาวภาซึ่งตั้งอยู่ที่วังพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ในสมัยหลัง มารวมกับโรงเรียนบำรุงสตรีวิชา ให้ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเสาวภา”

นับแต่นั้นคำว่า บำรุงสตรีวิชา กับคำว่าวิทยาทานสถาน ก็ค่อย ๆ หายไปจากเมืองสยาม

ปัญหาที่ค้างคาใจผู้เขียนมี 2 ข้อ อยากจะขอถามทุกท่านทั้งหลาย ข้อที่หนึ่ง อุดมการณ์ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ผู้จัดตั้งวิทยาทานสถาน ถูกยกเลิกและแปรเปลี่ยนไปด้วยเหตุใฉน? ข้อที่สอง หนังสืออันล้ำค่าของวิทยาทานสถานสูญสลายไปอยู่ที่ไหน? (เรื่องรูปถ่ายไม่ต้องพูดถึง หาไม่ได้เลยแม้แต่ใบเดียว)

ท่านสังเกตบ้างไหม งานห้องสมุดของประเทศเรา ช่างไม่ยั่งยืนมั่นคงเอาเสียเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “วิทยาทานสถาน” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2565