“อยาตุลเลาะห์ นาจาฟี” ห้องสมุดจากหัวใจคนรักหนังสือ ในประเทศอิหร่าน

ห้องสมุดอยาตุลเลาะห์ นาจาฟี (ภาพจาก Persian Wikipedia / Public Domain)

เมื่อกล่าวถึง เมืองกุม (บ้างเรียกว่า “เมืองกุนี”) ในประเทศอิหร่าน อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่ แต่เมืองกุมคือศูนย์กลางทางการศึกษาและวัฒนธรรมอิสลาม จนบางครั้งมีการเปรียบเปรยว่า นี่คือ “วาติกันแห่งโลกอิสลาม” 

นอกจากนี้ เมืองกุมยังเป็นบ้านเกิดของเฉกอะหฺมัด ขุนนางคนสำคัญของสยามอีกด้วย นักวิชาการไทยที่ค้นคว้าตามรอยเฉกอะหฺมัด จึงเดินทางไปที่เมืองกุม และหนึ่งในสถานที่ใช้ค้นคว้าข้อมูลก็คือ ห้องสมุดอยาตุลเลาะห์ อัล อุซมา มาราชี นาจาฟี (The Public Library of Ayatullah Al-Uzma Marashi Najafi) หรือ ห้องสมุดอยาตุลเลาะห์ นาจาฟี

อยาตุลเลาะห์ นาจาฟี (ภาพจากhttp://varesoon.ir)

เมื่อราวปี พ.ศ. 2520 คณะคนไทยที่นำโดยนาวาเอกสุพาสนา สุวกูล ร.น. พร้อมคุณพิมล ช่วงรัศมี อิหม่ามมัสยิดผดุงธรรม เดินทางไปยังห้องสมุดแห่งนี้ และได้มีโอกาสพบกับ อยาตุลเลาะห์ ซัยยิด อัล อุซมา มาราชี นาจาฟี [21 กรกฎราคม 2440 – 29 สิงหาคม 2553] ผู้ก่อตั้ง และนักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านการค้นคว้าประวัติบุคคล ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมากคนหนึ่งของประเทศอิหร่าน

ในครั้งนั้นเองที่ท่านอยาตุลเลาะห์ นาจาฟี ชี้ชัดว่า เฉกอะหฺมัดอยู่ที่เมืองกุมด้านปาอีเนะชาฮาร คือตอนใต้ของเมืองตรงบริเวณที่เคยเป็นย่านเมืองเก่า ซึ่งวันนี้อยู่บริเวณถนนออซาร์ด โดยท่านมีเอกสารการค้นคว้าเรื่องนี้ที่ บันทึกด้วยลายมือเขียนของท่านเองเก็บไว้ในห้องสมุดนี้ และท่านยินดีให้ชม

ห้องสมุดอยาตุลเลาะห์ นาจาฟี อยู่ใกล้กับย่านบาชาร์ ตึกสามชั้นขนาดกะทัดรัดที่แม้ตามซุ้มประตู หน้าต่างด้านหน้าจะตกแต่งด้วยกระเบื้องสีลวดลายพรรณพฤกษา หากไม่ได้เป็นที่สะดุดตานัก ถ้าไม่มีผู้แนะนำว่านี่คือห้องสมุดสาธารณะของเอกชน ที่รวบรวมหนังสือต้นฉบับลายมือถึง 300,000 เล่ม และมีหัวเรื่องมากกว่า 50,000 เรื่อง

โดยเฉพาะถือกันว่าเป็นคลังข้อมูลที่รวบรวมเรื่องราวทางด้านศาสนาอิสลาม และวัฒนธรรมของอิหร่านได้สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง อีกทั้งบางเล่มบางเรื่องยังทรงคุณค่าและหาได้ยากยิ่ง เพราะเป็นต้นฉบับลายมือเขียนของนักวิชาการอิสลามที่ยิ่งใหญ่ของโลก บางเล่มเป็นหนังสือโบราณที่มีอายุหลายร้อยปี เช่น

หนังสือชื่อดาวุด ที่มีอายุเก่าแก่ราว 700 ปี เขียนด้วยภาษาละตินบนหนังแพะ เป็นเรื่องราวของดาวิดกับโกไลแอท, หนังสือที่เขียนด้วยตัวอักษรขนาดจิ๋ว โดยใช้ขนม้าเขียนเป็นชื่ออิหม่าม 12 คนของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ คัมภีร์ฮินดูอุปนิษัท ที่เขียนบนกระดาษอันมีลักษณะแบบสมุดไทย, หนังสือเกี่ยวกับรหัสยะ ที่เชื่อว่าเขียนโดยอิหม่ามอาลี อิหม่ามคนที่ 1 ของชาวชีอะห์ ซึ่งเขียนหลักการในการดำเนินชีวิตที่ไม่ขัดต่อศาสนา, คัมภีร์อัลกุรอานประดับตกแต่งลวดลายน้ำทอง ซึ่งทำด้วยทองคำแท้ ที่เจ้าของผู้ก่อตั้งห้องสมุดเป็นผู้คัดลอกและจัดทำด้วยมือของท่านเอง นอกจากนี้ ต้นฉบับอีกหลายพันเรื่องที่มีในห้องสมดยังได้ถูกนำมาตีพิมพ์ออกเป็นหนังสือในภาษาต่างๆ ได้แก่ ภาษาเปอร์เซีย อาหรับ เตอร์กิช อูราดู และอื่นๆ

หนังสือและต้นฉบับอันมากมหาศาลในห้องสมุดแห่งนี้ ล้วนเกิดขึ้นมาจากหัวใจของคนรักหนังสืออย่างแท้จริง

อยาตุลเลาะห์ นาจาฟี ผู้ก่อตั้งห้องสมุด ท่านได้ใช้เวลาตลอดชีวิตทำงานหนักเพื่อสะสมเงินไปหาซื้อหนังสือที่มีคุณค่าเหล่านี้มาศึกษาค้นคว้า ทั้งๆ ที่ท่านอยู่ในฐานะที่อัตคัด ท่านจึงต้องแสวงหาเงินด้วยการรับทำละหมาด ทําฮัจญ์ เยี่ยมศพ และถือศีลอดแทนให้กับผู้ล่วงลับที่ไม่สามารถหรือละเลยในการปฏิบัติกิจดังกล่าว

ในหนังสือบางเล่มจึงมีข้อความที่ท่านจารึก ว่า “หนังสือเล่มนี้ฉันต้องอดอาหารถึง 30 ชั่วโมง เพื่อซื้อหนังสือเล่มนี้เพียงเล่มเดี่ยว” และทุกครั้งที่ท่านได้หนังสือหรือต้นฉบับมา ท่านไม่เคยเก็บไว้โดยไม่ได้อ่านหรือศึกษาเพิ่มเติมต่อ

ดังนั้น งานเขียนจากการวิเคราะห์วิจัยหนังสือที่ซื้อมาของท่าน จึงก่อเกิดเป็นผลงานอีกนับร้อยเล่ม อย่างเช่นหนังสือคำอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ประพันธ์โดย อยาตุลเลาะห์ ซัยยิดหมัด โคมัยนี (ลูกชายของท่านอยาตลเลาะห์ ซัยยิด รูอุลเลาะห์ มูซาวี โคมัยนี) หนังสือประวัติสายตระกูลของท่านศาสดามุฮัมหมัด ที่ได้สืบค้นมาจนถึงรุ่นปัจจุบันมีทั้งหมดด้วยกันถึง 6 เล่ม นอกจากนี้ท่านยังรวบรวมตำราจัดระบบวิชาด้านดาราศาสตร์ ปรัชญา นิติศาสตร์ และศาสตร์ต่างๆ ว่ามีความสำคัญก่อนหน้าการเกิดขึ้นของอิสลามอย่างไร

ด้วยความมานะของอยาตุลเลาะห์ นาจาฟี ห้องสมุดแห่งนี้จึงมิได้เป็นแต่คลังความรู้ด้านเอกสาร หนังสือต่างๆ เท่านั้น แต่ยังขยายเติบใหญ่มีโรงพิมพ์

ส่วนงานซ่อมแซมหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือโบราณ จะมีการทำกระดาษแบบโบราณขึ้นใช้เอง มีผู้เขียนลวดลายอักขรวิธีโบราณ มีห้องจัดเก็บไมโครฟิล์ม ห้องสมุดภาพ ห้องขายหนังสือที่พิมพ์ ห้องค้นคว้า ห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่ และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งปัจจุบันพื้นที่สร้างอาคารใหม่ๆ ได้ขยายออกไป โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

ท่านอยาดุลเลาะห์ โคมัยนี [อดีตผู้นำสูงสุดของอิหร่าน] ก็เคยเดินทางมาเยือนห้องสมุดดังกล่าว และได้ยกย่อง อยาตุลเลาะห์ นาจาฟี ว่า เป็นผู้มากด้วยประสบการณ์และทรงคุณค่ายิ่งต่อวงการหนังสือ

ความรักหนังสือของ อยาตุลเลาะห์ นาจาฟี ประจักษ์ได้แม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านได้แสดงความปรารถนาว่า “ฝั่งร่างของฉันให้รองรับรอยเท้าของนักค้นคว้าและผู้แสวงหาความรู้” ดังนั้น เมื่ออยาตุลเลาะห์ นาจาฟี สิ้นชีวิต ศพของท่านจึงถูกฝังไว้ ณ ประตูทางเข้าสู่ห้องสมุดของท่านเอง สมดังเจตนารมณ์ของท่าน จวบจนปัจจุบัน


ข้อมูลจาก

สุดารา สุจฉายา. ประวัติศาสตร์เก็บตก ที่อิหร่าน (เปอร์เซีย) ย้อนรอยสายสัมพันธ์จากยุคสุวรรณภูมิ ถุงปัจจุบัน ใน, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563