เรื่องทุนกับแรง : หนังสือเศรษฐศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย (ซึ่งถูกพบโดยบังเอิญ)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประกอบกับภาพปกหนังสือ "เรื่องทุนกับแรง"

เมื่อพูดถึงหนังสือเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ในไทย ใครๆ ก็มักนึกถึง “ทรัพยศาสตร์” ของเจ้าพระยาสุริยานุวัตร ที่ได้แนวคิดมาจากตําราเศรษฐศาสตร์การเมืองของจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) เป็นงานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย แต่พบว่ามีเอกสารที่เก่าแก่กว่านั้น คือ “เรื่องทุนกับแรง”

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ พบเรื่องทุนกับแรง ที่ห้องสมุด Carl A. Kroch มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมื่อปี พ.ศ.2536 และเขียนไว้ในบทความชื่อว่า “เรื่องทุนกับแรงของสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ” (ความคิดไพร่กรฎุมพี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, สนพ.มติชน 2549) พอสรุปได้ดังนี้

หนังสือวชิรญาณ ลงเรื่อง “ทุนกับแรง”

“เรื่องทุนกับแรงฯ” เป็นบทความที่ผู้เขียน [ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ] บังเอิญพบ และรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อนเลย และคิดว่าคงไม่เคยมีการตีพิมพ์ซ้ำอีกเลยนับแต่การพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) ใน”วชิรญาน” เล่ม 1 (ตุลาคม-มีนาคม ร.ศ. 113 หน้า 234-264) จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาได้ 125 ปีแล้ว

ที่ทําให้แปลกใจเป็นอย่างยิ่งก็เนื่องมาจากบทความดังกล่าวเป็นอรรถาธิบายเรื่อง “ทุนกับแรง” อันเป็นความเรียงด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งนอกจากเป็นศาสตร์ที่ใหม่มากๆ ในเมืองไทยสมัยก่อนแล้ว ยังเป็นศาสตร์สมัยใหม่วิชาแรกที่ถูกห้ามไม่ให้เรียน

เดิมทีนักประวัติศาสตร์ไทยเชื่อกันว่า งานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ในสยามนั้น ที่เก่าสุดเห็นจะได้แก่งานเขียนเรื่องทรัพยศาสตร์ ของเจ้าพระยาสุริยานุวัตร ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2454 ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้รับแนวคิดจาก ตําราเศรษฐศาสตร์การเมืองของจอห์น สจ๊วต มิลล์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ว่า เป็นการนําเอาหลักการของต่างประเทศคือยุโรปมาสอนใน เมืองไทย ซึ่งยังไม่มีปัญหาเศรษฐกิจเช่นระหว่างคนรวยกับคนจน ดังนั้น “ยังไม่ควรมี การศึกษาลัทธิที่เรียกว่าทรัพยศาสตร์ในประเทศไทย” จากนั้นทางการได้ขอร้องผู้พิมพ์ ไม่ให้นําหนังสือออกจําหน่ายเผยแพร่เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเซ็นเซอร์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงมีการออกกฎหมายอาญาห้ามสอนลัทธิเศรษฐกิจในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงมีการยกเลิกการห้ามเผยแพร่ลัทธิเศรษฐกิจ วิชาลัทธิเศรษฐกิจกลายเป็นวิชาสําคัญไปสําหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งแรกหลังการปฏิวัติ 2475 ที่บั่นทอนคณะราษฎรและระบอบการ ปกครองใหม่อย่างได้ผลจะมาจากปัญหาทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งในประวัติศาสตร์ ก็คือ จากเอกสาร “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ของหลวงประดิษฐมนูธรรมหรือต่อมาคือ นายปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง

บทนิพนธ์เรื่อง “ทุนกับแรง” นอกจากจะเป็นงานชิ้นแรกทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเมืองในสยามแล้ว ที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งก็คือองค์ผู้นิพนธ์งานนี้ก็คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดํารงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) โดยทั่วไปนักประวัติศาสตร์และวงวิชาการไทยเคยอ่านและคุ้นเคยกับงานด้านประวัติศาสตร์และการปกครองของสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ซึ่งทรงได้รับสมญาว่าเป็น “บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย”

การค้นพบนิพนธ์เรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความเป็นนักประวัติศาสตร์ของพระองค์ ท่านไม่ได้จํากัดอยู่แต่เพียงเรื่องประวัติศาสตร์และพงศาวดารเท่านั้น หากยังมีความสนพระทัยและศึกษาในวิชาการเรื่องอื่นๆ พร้อมกันไปด้วย

“แลการที่จะเรียบเรียงเรื่องทุนกับแรง ลงเป็นคําอธิบายแก่ท่านทั้งหลายครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ตริตรองเค้าเงื่อนที่จะตั้งเป็นรูปเรื่องหลายสถาน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องกว้าง ขวางแลยากที่จะพรรณาให้พิสดาร พอเข้าใจปรุโปร่ง ในที่จํากัดเท่าที่มีหน้ากระดาด ส่วนหนึ่งในหนังสือพิมพ์วชิรญาณนี้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าจะลองเรียบเรียงดู ถ้า หากจะตกขาดพลาดพลั้งประการใดต้องขออไภยโทษ”

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงฯ ทรงย่อยจนทําให้เรื่องนั้นเป็นธรรมดาและเข้าใจกันได้กับความรู้ และลักษณะสังคมสยามสมัยนั้นเป็นอย่างดี ทรงอธิบายความเรื่องทุนกับแรงอย่างย่อๆ พอให้ ผู้อ่านเข้าใจเป็นพื้น เนื่องจากเป็นวิชาการใหม่ทรงเกรงว่าผู้อ่านจะไม่อาจเข้าใจได้ง่ายๆ ดังเช่นเรื่องอื่นๆ ที่มีการพูดกันในสมัยนั้น ประเด็นที่บทนิพนธ์นําเสนอคือความ สําคัญของการเลี้ยงชีวิตของคนทั่วไป ว่าต้องมีเชื้อที่ทําให้ชีวิตดํารงอยู่ไปได้จนถึงอายุขัย เชื้อแห่งการเลี้ยงชีพในที่นี้คือทรัพย์สมบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ “การแสวงหาสมบัติ” จึง กลายเป็นกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตของคนเราไป

ปัจจัยที่สําคัญอันจะขาดไม่ได้สําหรับคนในการแสวงหาสมบัติคือ “ที่อย่าง 1 ทุนอย่าง 1 และแรงอย่าง 1” ถ้าพูดในภาษาเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันก็คือ “ที่ดิน ทุนและแรงงาน” นั่นเอง เมื่อมีการแสวงหาสมบัติเพื่อการเลี้ยงชีวิตกันแล้ว ต่อไปก็ นําไปสู่การค้าเพื่อหากําไร ลักษณะการค้าการลงทุนก็มี 2 แบบ แบบที่ 1 คือการ ลงทุนของเอกชน แบบที่ 2 คือการลงทุนของบริษัท

ประเด็นสุดท้ายใน “ทุนกับแรง” ก็คือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของทุน

ซึ่งมักเป็นการวิวาทหรือโกรธกันถึงขั้นเป็น “ฆ่าศึก” ต่อกัน เนื่องจากมีผล ประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน ฝ่ายเจ้าของทุนใช้วิธีปิดงานเลิกจ้างหรือตัดเงินเดือน ฝ่ายลูกจ้างหาอุบายรวมตัวกันตั้งเป็น “อั้งยี่” จากนั้นจึงใช้วิธีหยุดงาน การแปลคําว่า “ยูเนียน” ว่าเหมือนหรือคล้ายคลึงกับ “อั้งยี่” ในบริบทสังคมไทย โดยไม่ตั้งใจทําให้เห็นว่า การมองดูการรวมกลุ่มของคนชั้นล่างนั้น ยากที่จะได้รับการมองอย่างเป็นบวก เพราะอคติและความเคยชินแบบไทยๆ ในการมองคนชั้นล่างว่ามักเป็นพวกเห็นแก่ตัวและสร้างความยุ่งยากแก่ผู้ปกครองนั้นมีมายาวนานมาก บทนิพนธ์จบลงตรงที่วิธีการต่างๆ ในอันที่จะสร้างความปรองดองกันระหว่างทุนกับแรงไปตลอดกาล

ในที่นี้ผมมีข้อสังเกตบางประการดังต่อไปนี้ ประการแรกเห็นได้ว่าแนวความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ในสยามเก่ายังเป็นแบบสังคมก่อนทุนนิยมหรือก่อนสมัยใหม่ การผลิตและการลงทุนจึงเป็นการหาเลี้ยงชีพเหมือนกันไม่ว่ายาจก ขอทาน หรือเศรษฐีนั่นคือยังมองไม่เห็นอานุภาพและพลังของทุนในระบบการผลิตแบบใหม่ที่ เรียกว่าระบบทุนนิยม ที่จะมีผลต่อความสัมพันธ์ของคนในสังคมในปริมณฑลที่จะค่อยๆ แยกออกเป็นทางการเมือง ทางด้านเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรมเป็นต้น

กรมพระยาดํารงฯ ทรงเริ่มด้วยการอธิบายว่าธรรมชาติของคนทั้งหลายนั่นคือ “การเลี้ยงชีวิต” ซึ่งอุปมาเหมือนกับเปลวไฟ การที่จะดับหรือแปรปรวนหรือติดอยู่ขึ้นอยู่ กับ “เชื้อต่างๆ กล่าวคือไส้ตะเกียงแลน้ำมันเป็นต้นเพิ่มเติมอยู่พอเพียงฉันใดก็ดี ชีวิต ของมนุษย์แลสัตว์ทั้งหลายย่อมต้องอาไศรยเครื่องบํารุงเลี้ยงต่างๆ คืออาหารเป็นต้น เจือจานอยู่ไม่ขาดจึงจะอยู่ไปได้”

สมมุติฐานเบื้องต้นของเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงฯ ทรงค้นพบก็คือ “ความรักษาชีวิตเป็นเครื่องบังคับให้คนทั้งหลายต้องขวนขวายหาทรัพย์ สมบัติเครื่องเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วไป ใครเกิดมาก็เสมอมีปัญหาประจําตัวออกมาให้จําต้องคิด ว่าจะประกอบการอย่างใดดีหนอ ซึ่งจะได้สมบัติพอบํารุงเลี้ยงชีวิตไปกว่า จะสิ้นสังขาร ดังนี้ทั่วทุกตัวคน”

เชื้อแห่งการเลี้ยงชีพในที่นี้คือทรัพย์สมบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ “การแสวงหาสมบัติ” จึงกลายเป็นกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตของเราไป ปัญหาที่น่าจะต้อง ถามต่อไปคือว่า ความคิดที่ว่าสมบัติเป็นเครื่องเลี้ยงชีพและเป็นสิ่งสําคัญพื้นฐาน สําหรับชีวิตนั้น เป็นความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น หรือเป็นความคิดเก่าที่มีต่อ เนื่องมานานแล้วในสังคมไทยสยาม

ในสมัยก่อนโน้นการพูดถึง “เอกชน” ก็น่าสนใจ เพราะความหมายไม่ใช่แบบ ที่เราเข้าใจในปัจจุบันว่า “เอกชน” คือตรงข้ามกับของรัฐหรือราชการ เนื่องจากสมัยก่อนนั้นยังไม่มีการแบ่งลักษณะกรรมสิทธิ์ที่เป็นของรัฐและเอกชน ทั้งสังคมการเมืองไทยยังไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ภาคสังคม” ที่ดํารงอยู่นอกรัฐราชวงศ์และเผชิญหน้ารัฐราชการ คําว่า “เอกชน” สมัยนั้นจึงมีความหมายทางปริมาณเพียงว่า “คนๆ หนึ่ง” เท่านั้น มากกว่าความหมายทางคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เสนาบดี ขุนนาง เจ้าภาษีนาย อากรหรือชาวบ้านคนหนึ่งก็เป็นเอกชนเหมือนกันในการประกอบการลงทุน

ข้อนี้หรือเปล่าที่ทําให้การต่อสู้ระหว่างอํานาจในการเมืองไทยต่อมาถึงปัจจุบัน ยังต้องถกเถียงกันถึงปัญหาห้ามข้าราชการประจําไม่ให้มีตําแหน่งการเมือง หรือห้าม ไม่ให้ข้าราชการประจําไปมีหุ้นส่วนในธุรกิจเอกชน หรือห้ามเอกชนให้สินบนราชการ เป็นต้น ซึ่งมักไม่ใคร่สําเร็จทั้งนั้น เพราะทุกคนล้วนเป็น “เอกชน” ด้วยกันทั้งนั้น

ข้อสังเกตต่อมาคือบทนิพนธ์ไม่ได้จําแนกความแตกต่างในกรรมสิทธิ์ปัจจัย การผลิตกับปัจจัยการยังชีพ ดังตัวอย่างที่ให้ว่าการเลี้ยงชีพของคนขอทาน

“จําเป็นต้อง มีที่ประตูสามยอดหรือตะพานหันเป็นต้น เป็นที่ทําการขออย่าง 1 ต้องมีทุนคือโทน ทับกรับนิ่ง ตลอดจนอาหารที่กินไปในเวลาเช้า เป็นเครื่องให้ทําการขอทานอย่าง 1 ต้องใช้แรงที่เดินไปตลอดจนขับร้อง หรืออ้อนวอนขอทานอย่าง 1 จึงจะได้ผลทาน เป็นสมบัติเครื่องเลี้ยงชีวิต” ความหมายของทุนกับแรงและที่ดินในบทนิพนธ์จึงไม่ได้ พิจารณาถึงสัมพันธภาพของปัจจัยทั้ง 3 ในการผลิตและการสร้างมูลค่าอันเป็น ลักษณะสําคัญของ “สินค้า”

น่าสังเกตว่าแม้คําว่า “สินค้า” ก็ยังไม่มีการใช้ในบทนิพนธ์นั้น ยังใช้คําว่า “เข้าของ” อยู่ การอธิบายถึงกําไรจากการค้าก็ดี ก็ยังเป็นกําไรที่ได้จากผลต่างจากการ แลกเปลี่ยนเข้าของที่เจ้าของได้รับทํานองซื้อถูกขายแพงเป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะ ของการผลิตและการแลกเปลี่ยนในระบบก่อนทุนนิยม (อุตสาหกรรม) ซึ่งทุนที่มี บทบาทนําได้แก่ทุนการค้าหรือที่เรียกว่าทุนพาณิชย์ (merchant capital)

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสังคมที่ระบบการผลิตยังเป็นแบบทุนพาณิชย์และทุนอุตสาหกรรมยังไม่ได้ก้าวขึ้นมาครอบงํา จะเห็นได้ว่าแนวคิดและโลกทรรศน์แบบ ก่อนทุนนิยมที่ให้ความสําคัญต่อความสัมพันธ์เชิงธรรมชาติ ลักษณะชีวิตแบบองค์อินทรีย์ที่เน้นดุลยภาพในสังคมและในชีวิตปัจเจกชน ไปถึงความไม่เท่าเทียมกันของคน กล่าวอย่างสั้นๆ เป็นโลกทรรศน์ที่ยังถือเอาคนเป็นจุดหมายมากกว่าสินค้าหรือการผลิตและกําไรเป็นต้น ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงฯ ทรงชี้ช่องทางที่จะเห็นทั้งทุน และแรงสมานปรองดอง อย่าวิวาทกัน

ในบรรดาข้อเสนอต่างๆ นั้นซึ่งทรงเอามาจากของฝรั่ง มีข้อหนึ่งที่ให้ลูกจ้างเป็นเจ้าของทุนเองคือหาทางช่วยกันลงทุนเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งในทางหลักการก็คือวิธีการหนึ่งของระบบสังคมนิยม แต่บทนิพนธ์ก็เห็นว่า “ดูชอบกล” เพราะลูกจ้างคงไม่ถนัด ในการค้าสู้เจ้าของทุนซึ่งมี “ปัญญา…การผ่อนสั้นยาวต่างๆ และอุบายไหวพริบ” หากลูกจ้างทําการค้าเองการที่จะสอดส่องตักตวงเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทคงลดหาย ไป เป็นอันว่า วิธีนี้ใช้ทั่วไปไม่ได้ ซึ่งคงเป็นการคิดที่วางอยู่บนธรรมชาติของคนมาก กว่าในเชิงของการจัดการและในทางการเมือง

ข้อสุดท้ายที่น่าสนใจอย่างมากคือการที่บทนิพนธ์ใช้คําว่า “อั้งยี่” ในความ หมายของคําว่ายูเนียนหรือสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ด้วยเห็นว่าผู้อ่านคนไทยเข้าใจความหมายของคําว่าอั้งยี่ดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการประดิษฐ์คําใหม่ขึ้นมาให้สับสน การที่ เลือกคํานี้ก็เพราะจุดประสงค์ของยูเนียนและอั้งยีนั้นเหมือนกัน คือ “ตั้งโดยความประศงค์จะช่วยคนชนิดเดียวกัน

ถ้าหากใครในปัจจุบันไปเรียกสหภาพแรงงานว่า “อั้งยี่” คิดว่าคงเกิดปัญหาทะเลาะกันขึ้นอย่างแน่นอน

ประการสุดท้ายต้องย้ำอีกครั้งว่า “ทุนกับแรง” นี้ไม่ใช่บทความวิชาการอย่างละเอียดลึกซึ้ง หากแต่เป็นคําอธิบายหรือพรรณนาในเรื่องและวิชาต่างๆ ที่ชนชั้นนําสยามสมัยนั้นได้เริ่มเรียนรู้ และที่เข้ามายังพระราชอาณาจักรพร้อมกับอารยธรรมและอํานาจการเมืองของมหาอํานาจตะวันตก

บทความจํานวนมากตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วชิรญาณ อันเป็นหนังสือพิมพ์สําหรับหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ความสําคัญของเอกสารเหล่านี้ข้อหนึ่งคือให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาและการรับ รู้ในสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้สมัยใหม่” ของชนชั้นนําไทย วิธีการรับและทําความเข้าใจ ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ เหล่านั้น

ทั้งหมดนี้ย่อมช่วยให้ความกระจ่างต่อ โลกทรรศน์และภูมิปัญญาไทยในส่วนของชนชั้นนําว่ามีลักษณะและเนื้อหาเป็นอย่างไร มีผลต่อพัฒนาการทางปัญญาในทิศทางใดและกระทั่งมีอิทธิพลมากน้อยอย่างไรต่อ การปรับเปลี่ยนนโยบายและโครงสร้างสังคมสยามในเวลาต่อมา

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย วิชาต้องห้ามในอดีต


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2562