ห้องสมุดแกลดสโตน (Gladstone) ตึกเก่าร้อยปีที่เวลส์ ให้นอนค้างคืนได้ สวรรค์นักอ่านของแท้

ห้องสมุด Gladstone ในเวลส์ ภาพจาก Michael D Beckwith / CC0 1.0 Public Domain Dedication

หากสอบถามเรื่องความฝันจากบรรดานักอ่านไปจนถึงคนรักการเขียนตัวยงแล้ว เชื่อว่า เป้าหมายหนึ่งในชีวิตที่พวกเขาอยากสัมผัสคือการได้อาศัยท่ามกลางแหล่งหนังสือขนาดใหญ่ท่ามกลางบรรยากาศน่ารื่นรมย์ ในโลกนี้มีสถานที่แห่งนี้จริง นั่นคือห้องสมุดแกลดสโตน (Gladstone) ในเวลส์ที่ให้ผู้มาเยือนค้างคืนได้

ห้องสมุดแกลดสโตน (Gladstone Library) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ Flintshire ทางตอนเหนือของเวลส์ สหราชอาณาจักร เป็นห้องสมุดที่เก็บรวบรวมงานเขียนมากกว่า 150,000 ชิ้น ครอบคลุมเนื้อหาหลากหลายเรื่องราว ทั้งประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง เทววิทยา และวรรณกรรม แต่สิ่งหนึ่งที่ห้องสมุดแห่งนี้ไม่เหมือนห้องสมุดทั่ว ๆ ไปคือ ข้อเสนอสุดพิเศษที่ให้พักค้างคืนในห้องสมุดได้ Overnight Stays!

Advertisement

ห้องสมุดแกลดสโตนเปิดให้ผู้ใช้บริการพักค้างคืนรายแรกตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1906 นั่นคือกว่า 100 ปีที่แล้ว! ซึ่งยังเป็นวันเดียวกับการเปิดใช้อาคารหลังนี้ที่ใช้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน อาคารห้องสมุดหลังเก่าเดิมทีเป็นพลับพลาหรืออาคารที่สร้างจากเหล็กชุบสังกะสีแบบลอน

https://www.youtube.com/watch?v=99PEZRYDmlQ

ห้องสมุดแกลดสโตน

Amy Sumner ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของห้องสมุดกล่าวว่า แขกที่มาเยือนเป็นส่วนผสมที่แท้จริงของห้องสมุดแห่งนี้ ผู้คนที่รักการอ่านมาห้องสมุดแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักวิชาการ หรือพระสงฆ์ก็ชื่นชอบการมาใช้ประโยชน์จากของสะสมของห้องสมุด โดยเฉพาะนักเรียนที่จะเพลิดเพลินกับการใช้ห้องอ่านหนังสือ (Reading Room) อย่างมาก

ส่วนนักเขียนมักมาห้องสมุดแห่งนี้เพื่อหลีกหนีจากบรรยากาศการเขียนหนังสือของตัวเองหรืองานชิ้นหนึ่งที่ทำเป็นกิจวัตร นอกจากนี้ห้องสมุดยังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสบรรยากาศที่แตกต่างจากห้องสมุดทั่ว ๆ ไป

Jennifer Nalewicki คอลัมนิสต์นิตยสารเล่าประสบการณ์การใช้บริการว่า เมื่อเธอรับกุญแจและนำข้าวของไปเก็บในห้องพักแล้ว ระหว่างเดินผ่านบันไดไปยังห้องอ่านหนังสือมีเพียงเสียงพื้นไม้ลั่นเท่านั้นที่ดังขึ้นใต้ฝ่าเท้าของเธอ ในห้องอ่านหนังสือนั้นมีหน้าต่างบานใหญ่มีเพดานโค้ง ชั่ววินาทีนั้นทำให้เธอรู้สึกเหมือนฉากในโรงเรียน Hogwarts ในภาพยนตร์แฟนตาซีจากนิยายชื่อก้องโลกอย่าง Harry Potter

บริการค้างคืน

ปกติแล้วห้องสมุดจะปิดทำการเฉพาะวันอาทิตย์ สำหรับผู้ใช้บริการทั่วไปสามารถใช้บริการได้ตั้งแต่ 9.00-17.00 น. เท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่ใช้บริการเข้าพักค้างคืนที่ห้องสมุดสามารถใช้บริการได้จนถึง 22.00 น. หนังสือสามารถนำกลับไปอ่านในห้องนอนได้ ยกเว้นเฉพาะหนังสือในชุด Gladstone Foundation Collection ที่ไม่สามารถนำออกจากห้องอ่านหนังสือได้ ส่วนค่าบริการและห้องว่างสามารถดูในเว็บไซต์ของห้องสมุดได้โดยตรง (www.gladstoneslibrary.org)

ห้องสมุดแกลดสโตนมีห้องนอนให้บริการจำนวน 26 ห้อง มีบริการห้องอาหารขนาดเล็กเปิดให้บริการ 3 ช่วงเวลาคือ อาหารเช้า 8.00-9.00 น. อาหารกลางวัน 12.00-14.00 และอาหารเย็น 18.30-19.30

นอกจากนี้ ผู้มาเข้าพักยังสามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกจากการอ่านหนังสือได้ เพราะบริเวณรอบ ๆ สามารถเดินป่าท่องเที่ยวหรืออาจเดินไปเที่ยวปราสาทฮาวาร์เดน (Hawarden) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนัก

ประวัติห้องสมุด

ชื่อของห้องสมุดนี้ตั้งตามชื่อนายกรัฐมนตรีวิลเลียม แกลดสโตน (William Ewart Gladstone) ที่ดำรงตำแหน่งถึง 4 สมัย (1868-74, 1880-85, 1886 และ 1892-94) อาคารที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปีเก็บรักษาหนังสือส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้กว่า 3 หมื่นเล่ม

แกลดสโตน เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1809 กำเนิดในครอบครัวชาวสกอตที่ย้ายมาลิเวอร์พูล บิดาค้าฝ้าย น้ำตาล และมีรายงานว่ายังรวมถึงค้าทาสกับอเมริกา เมื่อฐานะดีแล้วจึงเข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นส.ส.ฝ่ายพรรคทอรี

บิดาของแกลดสโตน ต้องการให้บุตรเลื่อนฐานะขึ้นมาจึงส่งให้เข้าเรียนโรงเรียนอีตัน (Eton) และภายหลังยังศึกษาที่อ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford) ระหว่างการศึกษาที่อีตัน แกลดสโตน เป็นนักโต้วาทีที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่ขึ้นชั้นปีที่ 4 แกลดสโตน เขียนบันทึกส่วนตัวทุกวันจนถึงอายุ 85 ปี เอกสารจากการบันทึกของเขาเอ่ยถึงบุคคลที่เขาพบปะด้วยไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นราย

เส้นทางการเมืองของแกลดสโตน มีหลากหลายช่วงเวลา แต่ละยุคก็สังกัดพรรคการเมืองหลายรูปแบบ ตั้งแต่ทอรี พรรคอนุรักษ์นิยม กลุ่มที่นิยมในโรเบิร์ต พีล (นายกรัฐมนตรีหลายสมัยอีกราย) และพรรคเสรีนิยม

เมื่อ ค.ศ. 1889 ในช่วงบั้นปลายชีวิตของแกลดสโตน อดีตนากยกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กระตือรือร้นที่จะทำให้ห้องสมุดส่วนตัวของเขามอบประโยชน์ให้กับทุกคน เขานำหนังสือส่วนตัวกว่า 20,000 เล่มจากปราสาทฮาวาร์เดนไปยังบ้านหลังใหม่และเริ่มจัดหมวดหมู่หนังสือด้วยความช่วยเหลือของสาวรับใช้และแมรี ดรูว์ (Mary Drew) ลูกสาวของเขา

แกลดสโตนมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสร้างห้องสมุดขึ้นมา เขายังมอบเงินเป็นทุนไว้กว่า 40,000 ปอนด์ ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนสูงมากในสมัยนั้น บ่งชี้ว่าเขาไม่ได้ทำกิจกรรมนี้เป็นแค่งานอดิเรกเท่านั้น

เมื่อเขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1898 ประชาชนเรียกร้องให้ตั้งมูลนิธิหรือกองทุนขึ้นเพื่อสร้างอาคารถาวรไว้สำหรับเก็บหนังสือเหล่านั้น มีเงินบริจาคเข้ามาอีกกว่า 9,000 ปอนด์จนกระทั่งการสร้างห้องสมุดเสร็จสิ้นและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1902 ห้องสมุดแห่งนี้จึงเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติเพื่อรำลึกถึงอดีตนายกรัฐมนตรีแกลดสโตนอีกด้วย

แกลดสโตนต้องการให้ห้องสมุดเป็นองค์กรการกุศลอิสระอย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องการให้ใครก็ตามหาผลประโยชน์จากช่วงเวลาของการศึกษาที่ห้องสมุดแห่งนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ห้องสมุดทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาราคาการบริการให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แมรี ดรูว์ เคยบันทึกกล่าวถึงจุดประสงค์ของบิดาในการสร้างห้องสมุดนี้ว่า “bring together books who had no readers with readers who had no books.” แปลความหมายได้ว่า “รวบรวมหนังสือที่ไม่มีผู้อ่านให้กับผู้อ่านที่ไม่มีหนังสือ”

แกรี่ บัตเลอร์ (Gary Butler) ผู้ช่วยบรรณาธิการห้องสมุดกล่าวว่า ในบรรดางานเขียนเก่าแก่ในคอลเล็กชั่นของห้องสมุด สำเนาชีวประวัติของ “เอิร์ลแห่งบีคอนส์ฟิลด์” (Earl of Beaconsfield) หรือเบนจามิน ดิสราเอลลี  (Benjamin Disraeli) โดย James Froude ถือเป็นสิ่งของดั้งเดิมที่ทรงคุณค่าของห้องสมุดแกลดสโตน

เป็นที่รู้กันดีว่าเบนจามิน ดิสราเอลลี  (Benjamin Disraeli) หนึ่งในสองนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ที่ไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย (อีกรายคือดยุคแห่งเวลลิงตัน) เป็นคู่ปรับทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของแกลดสโตน

ช่วงที่ดิสราเอลลี เป็นนายกรัฐมนตรี (1874-1880) แกลดสโตน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ขณะที่ความคิดเห็นทางการเมืองของดิสราเอลลี อยู่ฝ่ายขยายอาณานิคม รัฐบาลของเขาซื้อหุ้นส่วนของคลองสุเอดจากผู้ปกครองอียิปต์ เพื่อเป็นเครื่องมือหนุนให้อังกฤษเดินทางไปดูแลปกป้องอาณานิคมของตัวเองในอินเดียได้รวดเร็วโดยไม่ต้องเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป

แต่ฝั่งแกลดสโตน เห็นตรงข้ามกับการขยายอาณานิคม ช่วง 1880 ที่แกลดสโตน เป็นนายกรัฐมนตรี เขาให้อังกฤษถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และให้เอกราชแก่ทรานสวาลของกลุ่มบัวร์ (Boers หรือชาวดัตช์ที่ตั้งถิ่นในแอฟริกาใต้)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Nalewicki, Jennifer. I Spent the Night at a Library in Wales, and You Can Too. Smithsonian. Online. Published 4 SEP 2019. Access 11 SEP 2019. <https://www.smithsonianmag.com/travel/i-spent-night-library-wales-and-you-can-too-180973040/>

www.gladstoneslibrary.org

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2562