“นางจ้าง” อีกหนึ่งชื่อเรียกของ “โสเภณี” จากนิราศของสุนทรภู่

สำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)
ภาพประกอบเนื้อหา - สำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)

ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำเรือเรียงเคียงขนาน เป็นซูมซอกตรอกนางจ้างประจาน ยังขับขานแซ่ศัพท์ไม่หลับลง โอ้ธานีศรีอยุธยาเอ๋ย คิดจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์ จะลำบากยากแค้นไปแดนดง เอาป่าพงเพิงเขาเป็นเหย้าเรือน (นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่)

ตามข้อความในนิราศนี้ สุนทรภู่คงจะออกจากบ้านในตอนใกล้ค่ำ เมื่อล่องเรือมาถึงสำเพ็งคงจะใกล้สองยามเข้าไปแล้ว แต่ปรากฏว่า พวก “นางจ้าง” ทั้งหลายยังไม่หลับนอนกัน ยังร้องรำทำเพลงกันอยู่ ตอนที่ท่านเดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลงนั้น ท่านภู่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม อาจจะเคยไป “เชย” หรือไปหาประสบการณ์จากพวกนางจ้างที่สำเพ็งมาแล้วก็ได้ จึงได้นำมาเขียนในนิราศเรื่องนี้

ในกรุงรัตนโกสินทร์ของเราในปัจจุบันนี้คิดจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์อยู่เหมือนกัน แต่เชยมาก ๆ ดูออกจะเป็น “อกรณียกิจ” อยู่สักหน่อย…

ผู้หญิงที่เราเรียกกันว่าโสเภณีนั้น มีชื่ออื่นอีกหลายชื่อ เช่น หญิงงามเมือง หญิงคนชั่ว หญิงขายตัว นางโลม นางบังเงา ฯลฯ เราไม่อาจทราบได้ว่า คนกรุงเทพฯ ในสมัยของท่านภูเรียกผู้หญิงประเภทนี้ด้วยภาษาชาวบ้านว่าอะไร จึงได้แต่เดาเอาว่าเรียก นางจ้าง ตามในนิราศของท่านภู่

การที่นางจ้างที่สำเพ็ง “ยังขับขานแซ่ศัพท์ไม่หลับลง” นั้น ส่อให้เห็นว่านางจ้างสมัยกระโน้นมีชีวิตที่ชื่นบานหรรษากว่านางจ้างสมัยนี้ หลังสมัยสุนทรภู่มาอีก 100 ปีเศษก็ยังมีนางจ้างประเภทนี้อยู่ ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาในบางกอกสมัยโน้นเห็นจะได้แก่นางจ้างในคณะระบำนายหรั่งที่ตลาดบำเพ็ญบุญ หรือสะพานถ่าน…

ตาหรั่ง เรืองนาม แกมีโรงระบำอยู่ที่ตลาดบำเพ็ญบุญ ระบำของแกเป็นระบำประเภท “ปลุกใจเสือป่า” มีการขับร้องร่ายรำด้วยลีลาอันอ่อนช้อย แล้วค่อย ๆ เปลื้องผ้าออกทีละชิ้น เริ่มจากส่วนบนก่อน แล้วเปลื้องออกหมดในฉากสุดท้าย นี่ว่าตามที่ผมได้ดูมา เมื่อเสือป่าได้รับการปลุกใจก็เกิดอาการคึกคะนอง ต้องหาทางปลดปล่อยกันแถวตลาดบำเพ็ญบุญ หรือสะพานถ่านนั้นเอง ระบำแบบนี้เขาเรียกว่า ระบำ “ขึ้นห้าลงสิบ” คือตอนขึ้นไปดูระบำนั้น เสียค่าดู 5 บาท ตอนลงมาปลดปล่อยเสีย 10 บาท

ภาพถ่ายหญิงไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ที่น่าจะเป็น “หญิงโคมเขียว” (ฉายาของหญิงนครโสเภณีที่ได้มาเนื่องจากโคมไฟที่แขวนไว้หน้าสถานที่ที่จัดขึ้นไว้เพื่อการค้าประเวณีในอดีตล้วนใช้โคมไฟกระจกเขียว)

คำ นางจ้าง นี้ตรงกับคำสแลงของอังกฤษสมัยเก่าว่า Taxi girl และตรงกับคำอีสานโบราณว่า “แม่จ้าง” ฝรั่งเรียกหญิงโสเภณีอย่างเป็นทางการว่า Prostitute และมีนิยามว่า woman who offers the use of her body for sexual intercourse to anyone who will pay for this.

นิยามนี้ถ้าแปลเป็นไทยอย่างสั้น ๆ ก็คือหญิงขายตัวนั่นเอง

หญิงโสเภณีมีในอินเดียมาก่อนสมัยพุทธกาล ในจีนก็คงเหมือนกัน หญิงโสเภณีชั้นสูงในอินเดียเรียก นครโสเภณี ซึ่งเราเอามาแปลเป็นไทยว่า หญิงงาม (แห่ง) เมือง โสเภณีชั้นกลางหรือต่ำเรียก นางคณิกา

ในนิราศเมืองจีนของพระยาอานุภาพไตรภพ เรียกหญิงพวกนี้ว่า นางดอกไม้ทอง คำนี้ตรงกับกิมฮวยในภาษาแต้จิ๋ว และน่าจะตรงกับสุวรรณมาลีหรือสุวรรณบุปผาของบาลีสันสกฤต และตรงกับ gold flower ของฝรั่ง

ทั้งคำ ดอกไม้ทอง, กิมฮวย, สุวรรณบุปผา และ gold flower น่าจะถือว่าเป็นมงคลนาม แต่ถ้าถูกเรียกว่า นางหรืออีดอกทอง ทำไมจึงทำให้ผู้หญิงทั่วไปไม่พอใจ? ผมเคยถามอาแปะชาวแต้จิ๋วคนหนึ่งได้ความว่า คำอีนั้นเป็นสรรพนามที่ใช้กับคนได้ทั้งหญิงและชาย เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ก็ได้ เป็นคำธรรมดาไม่เป็นคำที่หยาบคายแต่อย่างใด จะเท็จจริงอย่างไรผมก็ไม่กล้ายืนยัน

ในนิราศเมืองจีนที่กล่าวมาแล้วนั้นได้ความว่า หญิงพวกนี้เป็นผู้หญิงหากินด้วยการค้าประเวณี เป็นผู้หญิงชั้นต่ำ และเป็นที่มาของกามโรคชนิดต่าง ๆ จึงเป็นที่รังเกียจเหยียดหยามของคนทั่วไป ฉะนั้นคำนางดอกไม้ทอง ถ้าตัดไม้ออกเสีย เหลือเป็นนางดอกทอง จึงกลายเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยามไป

นางคณิกานั้นเที่ยวบำเรอชายโดยไม่จำกัดสถานที่ คนโบราณจึงเรียกหญิงพวกนี้อีกอย่างหนึ่งว่า หญิงคนเที่ยว แต่นางคณิกาที่สำเพ็งตามในนิราศนั้น มีที่อยู่พำนักเป็นหลักแหล่ง ส่วนมากอยู่แพ หน้าสำนักของพวกเธอจะมีโคมสีต่าง ๆ เรียงรายกันอยู่ จนสมัยต่อมามีผู้เรียกหญิงประเภทนี้ว่า นางโคมเขียว ในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ซึ่งแต่งหลังนิราศเมืองแกลงมีว่า

มาถึงท่าหน้าวัดพระเมรุข้าม ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน บ้างขึ้นล่องร้องรำเล่นสำราญ ทั้งเพลงกานท์เกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ ระนาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง สีโคมรายแลอร่ามเหมือนสำเพ็ง เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “นางจ้าง หรือนางสุวรรณบุปผา” เขียนโดย ทอง โรจนวิธาน ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2543