เปิดโลก “นครโสเภณี” หญิงนครโสเภณี โรงถ้ำมอง โรงลับแล ธุรกิจขายบริการในไทยสมัยก่อน

สำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)
ภาพประกอบเนื้อหา - สำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)

ทั้งหนุ่มยุคใหม่และหนุ่มยุคเก่าคงไม่รู้จักหญิงโคมเขียว หญิงนครโสเภณี หรือหญิงงามเมือง ที่หมายถึง หญิงที่รับจ้างทำชำเราส่ำส่อน โดยได้รับเงินผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง [1] คงต้องหนุ่มยุคโบราณเท่านั้นที่จะรู้จักคุ้นเคย เหมือนเช่นที่ประกาศในหนังสือพิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ. 2462 เขียนถึงหญิงนครโสเภณีไว้ว่า

“…พวกหญิงที่หาเงินในการร่วมประเวณีกับชาย หรือที่เรียกว่า หญิงนครโสเภณี (หญิงงามเมือง) เมื่อจะเกิดมีเปนหมู่คณะขึ้นในกรุงสยามนั้น ได้ทราบจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่สืบต่อมาว่า เดิมมีหญิงสองคน เรียกชื่อว่า ยายแฟง และยายแตง เปนผู้คิดตั้งโรงหญิงนครโสเภณีขึ้นก่อน คือยายแฟงได้ตั้งขึ้นที่ตรอกเต๊าแห่งหนึ่ง และยายแตงได้ตั้งขึ้นที่ตรอกแตง (สำเพ็ง) แห่งหนึ่ง”

วิธีที่จะหาหญิงเข้าอยู่ในคณะนี้ ยายต้องลงทุนทรัพย์มากมาย คือรับซื้อหญิงเสเพลมาไว้เปนทาสอย่างหนึ่ง หรือหญิงที่ติดตามชายไปโดยทางชู้สาว และชายพาไปขายไว้เปนทาสอย่างหนึ่ง บางทีผู้ที่ประพฤติตนเปนหญิงแพสยาได้สมัคเข้าหาเงินเองบ้าง จนมีคำเล่าลือว่าพวกนายโรงหญิงนครโสเภณีได้พากันร่ำรวยด้วยการหาเงินในทางนี้มากมาย ถึงกับได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งอยู่ที่น่าบ้านพระอนุวัตน์ราชนิยม ให้ชื่อว่า วัดคณิกาผล (ผลที่สร้างขึ้นด้วยทรัพย์ของหญิงนครโสเภณี) ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แต่ชาวบ้านมักเรียกชื่อโดยตรงว่า วัดใหม่ยายแฟง” [2]

คลิกอ่านเพิ่มเติม : วลี “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย.. ยายมีขายเหล้า” กับวิวัฒนาการโรงโสเภณีกทม. 100 ปีก่อน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “เจตนา”ทำบุญ ของอัมพปาลี-คณิกาแคว้นโกศล กับ ยายแฟง-แม่เล้าเมืองบางกอก

หลังจากยุคยายแฟงและยายแตงน่าจะมีผู้ขอตั้งโรงหญิงโสเภณีขึ้นอีกหลายแห่งในพระนคร เนื่องจากผู้ที่ต้องการตั้งสถานบริการหญิงนครโสเภณีนั้น สามารถขออนุญาตจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามความในพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 (พ.ศ. 2451) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยอมรับว่าอาชีพการให้บริการของโสเภณีนั้นมีมาช้านาน มีผู้มาใช้บริการและผู้ให้บริการหลายเชื้อชาติ หากไม่มีการควบคุมดูแลผู้ติดโรค หรือผู้ติดโรคไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น จึงกำหนดให้หญิงที่จะให้บริการต้องจดทะเบียน มีบัตรประจำตัว และให้แพทย์ตรวจโรคเป็นประจำ เมื่อพบว่าเป็นโรคติดต่อก็ต้องพักรักษาตัวจนกว่าจะหาย อีกทั้งมีใบรับรองจากแพทย์ จึงจะให้บริการต่อไปได้

“พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค
รัตนโกสินทรศก 127

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกัน ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่า ทุกวันนี้หญิงบางจำพวกประพฤติตน อย่างที่เรียกว่า หญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกัน ตั้งเงินโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล แต่ก่อนมาการตั้งโรงนครโสเภณี นายโรงช่วยไถ่หญิงมาเปนทาษ รับตั๋วจากเจ้าภาษี แล้วตั้งเปนโรงขึ้น ครั้นต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาษเสียแล้ว หญิงบางจำพวกที่สมัคเข้าเปนหญิงนครโสเภณี ก็รับตั๋วจากเจ้าภาษี แล้วมีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งโรงขึ้นในท้องที่โรงอันควรบ้างมิควรบ้าง กระทำให้มีเหตุเกิดการวิวาทขึ้นเนืองๆ อีกประการหนึ่ง หญิงบางคนป่วยเปนโรค ซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษา โรคร้ายนั้นอาจจะติดเนื่องกันไป จนถึงเปนอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เปนอันมาก และยังหาได้มีกฎหมายบังคับอย่างใด สำหรับจะป้องกันทุกข์โทษไภยแห่งประชาราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้สืบไป…” [3]

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็นนายโรงหญิงนครโสเภณีได้จะต้องเป็นผู้หญิง และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน นายโรงต้องมีบัญชีหญิงนครโสเภณีที่มีอยู่ประจำ และที่เข้ามาอยู่ใหม่ ส่วนผู้หญิงที่จะทำอาชีพนี้จะต้องขึ้นทะเบียน ขอใบอนุญาต ผ่านการรับรองว่าไม่เป็นโรค โดยห้ามนายโรงรับเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีมาไว้บริการ ห้ามนายโรงกักขังและทำสัญญาผูกมัดหญิงนครโสเภณี ตลอดจนห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดบังคับหรือล่อลวงผู้หญิงผู้ใดที่ไม่สมัครใจเป็นหญิงนครโสเภณี

ในการควบคุมดูแลกิจการหญิงบริการอย่างเข้มงวดนี้ ทำให้รัฐมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและเก็บเงินรายได้จากหญิงโสเภณี โดยเป็นนายโรง เสียค่าธรรมเนียมขอรับใบอนุญาต ฉบับละ 30 บาท สำหรับใบอนุญาตที่มีอายุความ 3 เดือน

ส่วนหญิงโสเภณี เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 12 บาท มีอายุความ 3 เดือนเช่นกัน หากตั้งโรงหญิงนครโสเภณีโดยไม่มีใบอนุญาต หรือใช้ใบอนุญาตของผู้อื่น จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ [4] โดยพื้นที่ในเขตพระนครจะอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่กระทรวงนครบาล ส่วนพื้นที่ในเขตนอกพระนครจะอยู่กับเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย

ในพระราชบัญญัตินี้ ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสถานที่โรงหญิงนครโสเภณี ที่นายโรงต้องดูแลรักษาและจัดการ ดังนี้

“1. หน้าโรงต้องเปนที่กำบังปกปิดมิดชิด อย่าให้คนเดิรทางไปมาแลเห็นตลอดเข้าไปในโรงนั้นได้ 2. หน้าโรงหลังโรงและบริเวณของโรงนั้น ต้องให้สะอาด ปราศจากสิ่งโสโครก และสิ่งที่รกรุงรังต่างๆ 3. ต้องมีโคมแขวนไว้หน้าโรงเปนเครื่องหมายด้วย…” [5]

สำหรับโคมแขวนหน้าโรงนั้น สันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่ทำตัวอย่างเป็นโคมไฟที่ใช้กระจกสีเขียว ส่งผลให้โรงหญิงนครโสเภณีใช้สีเขียวเหมือนกันหมดทุกแห่ง อีกทั้งเป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกขานโรงหญิงนครโสเภณีว่า โรงโคมเขียว และเรียกขานหญิงนครโสเภณีว่า หญิงโคมเขียว ตามลักษณะโคมที่แขวน [6]

ส่วนเรื่องสถานที่ นอกจากกำหนดไว้ให้รักษาความสะอาดแล้ว ยังต้องตั้งอยู่ในพื้นที่เหมาะสม โดยห้ามมิให้ตั้งริมถนนหลวง ให้อยู่ตามตรอกซอกซอย ทั้งนี้จะไม่อนุญาตให้ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีในกำแพงพระนคร เพราะเห็นว่าเป็นการอุจาดตาแก่สุภาพชนทั่วไป [7]

“…แต่มีโรงหญิงนครโสเภณีตั้งอยู่ริมถนนหลวงหลายโรง คือโรงถ้ำมอง โรงลับแล ทั้ง 2 โรงนี้ ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุงตอนใกล้วัดตึก ที่เรียก “ถ้ำมอง” ก็เพราะอยู่ลึกเข้าไปจากถนนหลายวา พวกเทพบุตรที่ไปเที่ยวต้องก้มลงมองเข้าไปจึงจะแลเห็นนางฟ้าซึ่งอยู่ในวิมานนั้น “ลับแล” ตั้งอยู่ใกล้ถนน แต่มีลับแลตั้งเปนฉากบังตาไว้ …พวกนางฟ้าจะออกมายุ่มย่ามตามถนนหลวงไม่ได้ มีโปลิศคอยห้าม …ต่อจากโรงนี้ไปมีโรงนครหญิงโสเภณีที่สามแยกวัดสามจีนอีก 2 หรือ 3 โรง แต่โรงหนึ่งตั้งอยู่ชิดถนนเจริญกรุง หันหน้าโรงเข้าข้างใน เรียกชื่อว่า โรงปั้นหยาบ้าง โรงสามแยกต้นประดู่บ้าง พวกหญิงในโรงนี้ได้ฝึกหัดเปนลิเกทั้งโรง…” [8]

ดังนั้น ถ้านำเรื่องโรงหญิงนครโสเภณีไปเปรียบเทียบกับกำหนดโซนนิ่งตั้งสถานที่หรือสถานบริการอาบอบนวด สถานเริงรมย์และร้านเหล้าในปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

รวมทั้งเคยเกิดกรณีขัดแย้งในเรื่องที่ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีมาแล้วในอดีต ที่เกี่ยวพันกับการศึกษาแห่งชาติ เมื่อครั้งที่กระทรวงนครบาลกำหนดไว้ว่าริมถนนประทัดทอง ซึ่งเป็นถนนตัดใหม่อยู่ระหว่างถนนประทุมวัน (ถนนพระรามที่ 1) และถนนหัวลำโพง (ถนนพระรามที่ 4) เป็นสถานที่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นแหล่งหญิงนครโสเภณี เนื่องจากเป็นที่ลับตาและไม่ไกลจากแหล่งชุมชน อีกทั้งการเดินทางไปมาสะดวก…

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดบางส่วนจากบทความ “นครโสเภณีหรือเมืองมหาวิทยาลัย” เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559


เชิงอรรถ

[1] “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127”. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24, 23 มีนาคม ร.ศ. 126, น. 1365.

[2] หญิงนครโสเภณี ตอนที่ 1 หนังสือพิมพ์ไทย ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2462 น. 1 อ้างถึงใน เอนก นาวิกมูล. นานาสถาน. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2552), น. 84-85.

[3] “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127”. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24, 23 มีนาคม ร.ศ. 126, น. 1365.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 1369.

[5] เรื่องเดียวกัน.

[6] แม้ว่าในยุคต่อๆ มาจะไม่แขวนโคมเขียวไว้ที่หน้าโรงแล้ว คำว่าโคมเขียวถือเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เรียกอาชีพนี้กันอยู่ http://www.tuneingarden.com/work/b-04sn08.shtml รงค์ วงษ์สวรรค์

[7] หญิงนครโสเภณี ตอนที่ 1 หนังสือพิมพ์ไทย ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2462 น. 1 อ้างถึงใน เอนก นาวิกมูล. นานาสถาน. น. 84-85.

[8] เรื่องเดียวกัน.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 2564