“เจตนา”ทำบุญ ของอัมพปาลี-คณิกาแคว้นโกศล กับ ยายแฟง-แม่เล้าเมืองบางกอก

รูปหล่อ “ยายแฟง” ผู้ออกทุนทรัพย์ให้สร้าง “วัดคณิกาผล” ภายในอาคารหลังอุโบสถวัดคณิกาผล

“อัมพปาลี” เป็นนางคณิกา แห่งเมืองเวสาลี แคว้นโกศล ในสมัยพุทธกาล ส่วน “ยายแฟง” เป็นแม่เล้าคนดังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความเหมือนของสตรีทั้งสองคือ ต่างเป็นคนวงการเดียวกัน และชอบทำบุญบำรุงพระศาสนาเหมือนกัน

ในพระสุตตันปิฏกกล่าวว่า อัมพปาลี เป็นคนสวยคมคาย, ฉลาด, เท่าทันคน, และมั่งคั่ง อายุเธอน่าจะประมาณ 35-40 ปี ครั้งหนึ่งนางอัมพปาลี ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าที่เสด็จจากราชคฤห์เพื่อจะไปกบิลพัสดุ์ ซึ่งต้องผ่านและแวะพักที่เวสาลี

เมื่อเสด็จถึงเวสาลี พระองค์ประทับที่สวนมะม่วงของนางอัมพปาลี นางได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและแจ้งความประสงค์ว่าวันรุ่งขึ้นจะขอนำอาหารมาถวาย ขณะที่นางอัมพปาลีกำลังเดินทางกลับก็สวนกับคณะของพระราชาลิจฉวี ที่ต้องการถวายภัตตาหารพระพุทธองค์พรุ่งนี้เช่นกัน พระราชาลิจฉวีขอให้นางอัมพปาลีเลื่อนคิวของนางออกไปก่อน เพื่อพระองค์จะได้เข้ามาแทนที่ หากนางยินยอมพระองค์ยินดีมอบเงินให้เป็นการชดเชยจำนวนแสนหน่วย

แต่นางอัมพปาลีไม่ยินยอมและยังท้าทายว่า แม้จะยกเมืองเวลสลีให้ก็มิยอม พระราชาลิจฉวีจึงต้องเป็นฝ่ายยอมเอง

วันรุ่งขึ้นนางอัมพปาลีนำภัตตาหารมาถวายพระพุทธองค์และพระสาวก ทั้งได้ถวายสวนมะม่วงของนางให้เป็นสมบัติสงฆ์หรือสังฆการามนับแต่นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เน้นศีล สมาธิ ปัญญา กับการเจริญธรรมให้บังเกิดความกล้าหาญ นางอัมพปาลีและบริวารต่างเป็นสุขด้วยธรรมมกิถานั้น

อาจารย์พระมหาสังเวย ธมมเนตติโก และอาจารย์ ดร. บรรจบ บรรณรุจิ ได้เขียนถึงภิกษุณีสมัยพุทธกาลผู้สำเร็จอรหัตตผลไว้อย่างน่าสนใจ ท่านแรกนำเสนอในรูปของงานวิจัยชื่อ ภิกษุณีกับการบรรลุอรหัตผล ท่านหลังเขียนเป็นหนังสือชื่อ ภิกษุณี : พุทธสาวิกาครั้งพุทธกาล

ในงานวิจัยและงานเขียนของทั้งสองท่านนั้น มีชื่อ “อัมพปาลี” นางคณิกาที่ออกบวชเป็นภิกษุณีและสำเร็จเป็นพระอรหันต์อยู่ด้วย

ส่วนยายแฟง เป็นหนึ่งในแม่เล้าเมืองชื่อดังเมืองบางกอก กรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ถึงกับมีคำพูดกล่าวขานว่า “ยายฟักขายแกง ยาแฟงขาย… ยามีขายเหล้า” อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่ายายแฟงกับนางอัมพปาลีมีส่วนเหมือนกันคือ มีใจใฝ่การบุญกุศล (อ่านเพิ่มเติม : วลี “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย.. ยายมีขายเหล้า” กับวิวัฒนาการโรงโสเภณีกทม. 100 ปีก่อน)

ขณะที่นางอัมพปาลียกสวนมะม่วงให้พระพุทธเจ้า ยายแฟงที่เป็นแม้เล้า ก็สร้างวัดถวายพุทธศานาเช่นกัน

วัดที่ยายแฟงสร้างชื่อ “วัดใหม่ยายแฟง” หรือ “วัดคณิกาผล” เขตป้อมปราบฯ ในปัจจุบัน เมื่อวัดสร้างเสร็จ ก็จัดงานสมโภชวัด โดยยายแฟงนิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรมหมรังสี) สมัยเป็นมหาโตมาเทศน์ฉลองวัด

แต่มหาโตเทศน์ไม่ได้ดังใจโยมอย่างยายแฟง

ยายแฟงจึงไปนิมนต์ทูลกระหม่อมพระ (รัชกาลที่ 4) มาประทานธรรมอีกกัณฑ์หนึ่ง เพราะหวังจะได้รับคำชมจากพระองค์ท่าน สรุปคือทั้งมหาโตและทูลกระหม่อมพระเน้นไปที่เจตนาการสร้างเป็นหลัก นัยว่าหากเจตนาดีย่อมได้กุศลมาก ด้วยมีเรื่องเล่าขานกันว่า เจตนาส่วนหนึ่งของยายแฟง คือต้องการได้รับคำชมจาการสร้างวัด บุญกุศลอันพึงจะได้คงจะน้อยลงไปตามสัดส่วน


ข้อมูลจาก

ส.สีมา. “จากอัมพปาลีคณิกา ถึงยายคุณท้าวแฝง” ใน ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2553

ส.สีมา. “ภิกษุณีกับชีวิตโสเภณี” ใน ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2553

เสถียรพงษ์ วรรณปก.วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์, สำนักพิมพ์มติชน, มิถุนายน 2541


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563