ย้อนดูการเรียนภาษาอังกฤษในยุคบุกเบิกของไทย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่การเรียนภาษาอังกฤษไม่แพร่หลาย ผู้รู้ภาษาอังกฤษก็มีจำกัด และหากเป็นผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษแบบงานได้ก็ถึงขั้นขาดแคลน ขณะที่การติดต่อสัมพันธ์กับชาติตะวันตกกลับมีเพิ่มขึ้น แล้วรัฐไทยบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร

หนังสือ “ชุมนุมพระนิพนธ์ (บางเรื่อง)” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (นายปริญญา ชวลิตธำรง พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่เต็ม ชวลลิตธำรง ณ เมรุวัดหัวลำโพง 28 เมษายน 2503) อธิบายไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งนั้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

ตำนานการที่ไทยเรียนภาษาอังกฤษ

ความจริงในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พึ่งมีไทยเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาไม่ช้านัก เมื่อในรัชกาลที่ 2 มีแต่พวกฝรั่งกะดีจีนซึ่งเป็นเชื้อสายโปรตุเกสครั้งกรุงเก่าเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสอยู่บ้าง คนพวกนี้ที่รับราชการในตำแหน่งเรียกว่า “ล่ามฝรั่ง” ในกรมท่ามีอัตราในบัญชีเบี้ยหวัด 5 คน ที่เป็นหัวหน้าล่ามเป็นที่ขุนพลเทพวาจารับเบี้ยหวัดปีละ 7 ตำลึง พวกล่ามฝรั่งเหล่านี้มีความรู้ตื้นลึกสักเพียงไรทราบไม่ได้ แต่รู้ภาษาโปรตุเกสเท่านั้น หน้าที่ก็ไม่สู้มีอันใดนัก เพราะราชการที่เกี่ยวข้องกับโปรตุเกสมีแต่การค้าขายทางเมืองหมาเก๊า นานๆ เจ้าเมืองหมาเก๊าจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง

ส่วนภาษาอังกฤษถึงแม้ว่ามีเรือกำปั้นอังกฤษไปมาค้าขายอยู่ในสมัยนั้นบ้าง นายเรือรู้ว่าไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้ในเมืองนั้น ก็หาแขกมลายูเข้ามาเป็นล่าม เพราะฉะนั้นการที่ไทยพูดจากับอังกฤษที่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็ดี หรือพูดจาทางราชการที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษที่เมืองเกาะหมากและสิงคโปร์ก็ดี ใช้พูดจากันแต่ด้วยภาษามลายู แม้จนเมื่อผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษให้ หมอ ยอน ครอเฟิด เป็นทูตเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2364 ตรงกับคริสต์ศก 1821 ในตอนปลายรัชกาลที่ 2 ก็ต้องพูดจาราชการกับไทยทางภาษามลายู

ความปรากฏในจดหมายที่ครอเฟิดแต่งไว้ว่า การที่พูดจากับรัฐบาลไทยครั้งนั้น ทูตต้องพูดภาษาอังกฤษแก่ล่ามที่เอามาด้วย ล่ามต้องแปลเป็นภาษามลายูบอกหลวงโกชาอิศหาก หลวงโกชาอิศหากแปลเป็นภาษาไทยเรียนเจ้าพระยาพระคลังๆ ตอบว่ากระไรก็ต้องแปลย้อนกลับไปเป็นต่อๆ อย่างเดียวกัน

ครั้นต่อมาเมื่อครอเฟิดกลับไปแล้ว ได้ไปเป็นเรสิเดนต์ที่เมืองสิงคโปร์ อังกฤษเกิดรบกับพม่าครั้งแรกเมื่อปลายรัชกาลที่ 2 ครอเฟิดจะบอกข่าวสงครามมาให้ไทยทราบต้องให้แปลหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาโปรตุเกสเสียก่อน แล้วจึงส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ เพราะภาษามลายูถ้อยคำมีน้อย ไม่พอแปลความในหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเข้าใจได้แจ่มแจ้ง

ครั้นต่อมาถึงรัชกาลที่ 3 ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษให้เฮนรี เบอนี เป็นทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญา เมื่อปีระกา พ.ศ. 2368 ตรงกับคริสต์ศก 1825 การที่จะพูดกับไทยสะดวกขึ้นกว่าครั้งครอเฟิดหน่อยหนึ่ง ด้วยเบอนีพูดภาษามลายูได้ ถึงกระนั้นหนังสือที่ทำก็ต้องใช้ภาษาต่างๆ กำกับกันถึง 5 ภาษา คือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาโปรตุเกส และภาษามลายู เพราะไม่มีภาษาใดที่จะเข้าใจดีได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ในรัชกาลที่ 3 เมื่อปีชวด พ.ศ. 2371 ตรงกับคริสต์ศก 1828 พวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งในกรุงเพทฯ เป็นปีแรก อันนี้เป็นต้นเหตุที่ไทยจะเรียนภาษาอังกฤษเป็นเดิมมา ด้วยลัทธิของพวกมิชชันนารีอเมริกันไม่ได้ตั้งตัวเป็นสมณะเหมือนพวกบาทหลวง วางตนเป็นเพียงมิตรสหาย ใช้การสงเคราะห์เป็นต้นว่าช่วยรักษาโรคและช่วยบอกกล่าวสั่งสอนวิชาการต่างๆ ให้แก่ผู้อื่นเป็นเบื้องต้นของการศาสนา เพราะฉะนั้น เมื่อคนทั้งหลายรู้จักคุ้นเคยจึงชอบสมาคมคบหากับพวกมิชชันนารีอเมริกันมาแต่แรก

ในสมัยนั้นผู้มีสติปัญญาที่เป็นชั้นสูงอยู่ในประเทศนี้ แลเห็นอยู่แล้วว่าการสมาคมเกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างประเทศคงจะต้องมียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนและภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาสำคัญทางประเทศตะวันออกนี้ มีเจ้านายบางพระองค์และข้าราชการบางคนปรารถนาจะศึกษาวิชาการและขนบธรรมเนียมของฝรั่งและจะเล่าเรียนให้รู้ภาษาอังกฤษจึงพยายามเล่าเรียนศึกษากับพวกมิชชันนารีอเมริกันตั้งแต่เมื่อในรัชกาลที่ 3 ที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นยังทรงผนวชเป็นพระราชาคณะอยู่องค์ 1 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นยังเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์พระองค์ 1 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเป็นหลวงสิทธินายเวรมหาดเล็ก แล้วได้เลื่อนเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถอีกองค์ 1

แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ทางภาษารู้แต่พอพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง ไม่เชี่ยวชาญเหมือนสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และท่านทั้ง 3 ที่กล่าวมานี้ศึกษาได้ความรู้การฝรั่งต่างประเทศทันได้ใช้วิชาช่วยราชการมาแต่ในรัชกาลที่ 3 เพราะเมื่อปีจอ พ.ศ. 2393 ตรงกับคริสต์ศก 1850 รัฐบาลอังกฤษให้เซอร์เชมสะบรุกเป็นทูตมาด้วยเรือรบ 2 ลำ จะเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาที่เบอนีได้มาทำไว้ เซอร์เชมสะบรุกเข้ามาครั้งนั้นไม่เหมือนกับครอเฟิดและเบอนีที่มาแต่ก่อน

ด้วยเป็นทูตตรงมาจากประเทศอังกฤษ การที่มาพูดจาและหนังสือที่มีมาถึงรัฐบาลไทย ใช้ภาษาอังกฤษ กิริยาอาการที่มาก็ทะนงองอาจผิดกับทูตแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริหาผู้ที่สันทัดอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ให้พอที่จะรับรองโต้ตอบกับเซอร์สะบรุกได้ ความปรากฏในจดหมายเหตุกระแสรับสั่งในเรื่องเซอร์สะบรุก (ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์ เมื่อ ร.ศ. 1297 พ.ศ. 2453) ว่า

“ทรงพระราชดำริ…เห็นว่าผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรจะเอาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้วย การครั้งนี้เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ได้ แต่ก็ติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ (ด้วยครั้งนั้นไม่ไว้พระทัย เกรงอังกฤษจะเอาอำนาจมาบังคับให้แก้หนังสือสัญญาอย่างทำแก่เมืองจีน จึงให้ตระเตรียมรักษาป้อมคูให้มั่นคง) จมื่นไวยวรนาถก็เป็นคนสันทัดหนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่งก็ลงไปรักษาเมืองสมุทรปราการอยู่ ให้พระยาศรีพิพัฒน์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นผู้รั้งราชการกรมท่า ด้วยเจ้าพระยาพระคลังลงไปสักเลกอยู่ที่เมืองชุมพรในเวลานั้น) แต่งคนดีมีสติปัญญาเข้าใจความ เชิญกระแสพระราชดำริลงไปปรึกษา”

และการที่มีหนังสือโต้ตอบกับเซอร์เชมสะบรุกครั้งนั้นปรากฏว่าหนังสือที่มาเป็นภาษาอังกฤษ ให้หมอยอน (คือหมอยอนเตเลอ โยนส์ มิชชันนารีอเมริกัน) แปลเป็นภาษาไทย กับล่ามของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีก 2 คน เรียกว่าโยเซฟเป็นฝรั่งยุเรเซียน 1 คน เรียกว่าเสมียนยิ้ม (คือเชมส์ เฮ) อังกฤษอีก 1 คน ส่วนหนังสือที่ไทยมีตอบเซอร์เชมสะบรุกนั้น ร่างในภาษาไทยถวายทรงแก้ไขก่อนแล้วให้หมอยอนกับล่ามช่วยกันแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วส่งไปถวาย “ทูลกระหม่อม” คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เพราะในทางภาษาอังกฤษทรงทราบดีกว่าผู้ที่เรียนด้วยกันในครั้งนั้น

ไทยที่ศึกษาวิชาความรู้กับมิชชันนารีอเมริกันในรัชกาลที่ 3 ยังมีอีก แต่ไปเรียนทางวิชาอื่น เช่น กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงกำกับกรมหมออยู่ในเวลานั้น ทรงศึกษาทางวิชาการแพทย์ฝรั่งจนได้ประกาศนียบัตร ถวายเป็นพระเกียรติมาจากมหาวิทยาลัยแห่ง 1 ในประเทศอเมริกา กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศอีกพระองค์ 1 ว่าทรงศึกษาการช่างฝรั่ง แต่ทรงศึกษากับใคร และทรงสามารถเพียงใดหาทราบไม่ ยังนายโหมด อมาตยกุลที่ได้เป็นพระยากระสาปนกิจโกศล เมื่อในรัชกาลที่ 5 อีกคน 1 ได้ศึกษาเรื่องเครื่องจักรและวิชาผสมธาตุ จากพวกมิชชันนารีอเมริกันและหัดชักรูปจากบาทหลวงหลุยลานอดีฝรั่งเศสแต่เมื่อยังถ่ายด้วยแผ่นเงิน เป็นผู้เรียนรู้วิชาฝรั่งมีชื่อเสียงมาจนรัชกาลที่ 5 แต่ผู้ที่เล่าเรียนแต่ทางวิชาการช่างไม่สู้จะใจใส่ทางภาษาจึงไม่ใคร่จะรู้ภาษา ถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เพราะเอาใจใส่ในวิชาต่อเรืออกำปั่นเสียมากจึงไม่ใคร่สันทัดภาษาอังกฤษ

ผู้ที่เล่าเรียนรู้ภาษาอังกฤษในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ 3 นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีปรากฏ อีกแต่ 2 คน คือหม่อมราโชไทยผู้ที่แต่งหนังสือเรื่องนิราศลอดนดอนคน 1 เกิดในรัชกาลที่ 2 เมื่อปีเถาะ จุลศักราช 1181 พ.ศ. 2362 เดิมเป็นหม่อมราชวงศ์กระต่าย บุตรหม่อมเจ้าชอุ่ม ในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศวรานุกรักษ์ เป็นข้าหลวงเดิมในพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียรเรียบตามเสด็จจนรู้ ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 หม่อมเจ้าชอุ่มได้เป็นกรมหมื่นเทวานุรักษ์ หม่อมราชวงศ์กระต่ายได้เป็นหม่อมราโชไทย แล้วจึงได้เป็นตำแหน่งล่ามไปเมืองอังกฤษกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เมื่อทูตไทยไปคราวแรกนั้น ครั้นกลับจากราชการทูต ทราบว่าได้พระราชทานพานทองเล็ก แล้วได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศอยู่มาจนอายุได้ 49 ปี ถึงอนิจกรรมในปลายรัชกาลที่ 4 เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2410

อีกคนหนึ่งชื่อนายดิศ เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฝึกหัดวิชาเดินเรือและเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเรียกกันว่า “กัปตันดิก” มีชื่ออยู่ในหนังสือ เซอร์ยอนเบาริง แต่เรื่องเมืองไทย คนนี้ในรัชกาลที่ 4 ได้เป็นขุนปรีชาชาญสมุทร เป็นล่ามของจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูตไปเมืองอังกฤษด้วย ต่อมาได้เป็นที่หลวงสรวิเศษ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแทบทุกพระองค์ อยู่มาจนในรัชกาลที่ 5 ไทยที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ 3 มีปรากฏแต่ 4 ด้วยกันดังกล่าวมานี้

ยังมีไทยที่ได้ออกไปเล่าเรียนถึงยุโรปเมื่อรัชกาลที่ 3 อีกคน 1 ชื่อนายฉุน เป็นคนที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ เลี้ยงมา เห็นว่าฉลาดเฉลียวจึงฝากกัปตันเรืออังกฤษออกไปฝึกหัดวิชาเดินเรือกำปั่น ได้ไปเรียนอยู่ในเมืองอังกฤษจนได้ประกาศนียบัตรเดินเรือทะเลได้แล้วจึงกลับมา (เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ 4) ได้เป็นที่ขุนจรเจนทะเล และได้เป็นล่ามของพระยามนตรีสุริยวงศ์เมื่อไปเป็นราชทูตด้วย ต่อมาถึงรัชกาลที่ 5 ได้เป็นหลวงชลธารพินิจจัยตำแหน่งเจ้ากรมคลองแล้วเลื่อนเป็นพระชลธารพินิจฉัย

ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ่าอยู่หัว ทรงอุดหนุนการเล่าเรียนภาษาอังกฤษมาก จึงโปรดฯ ให้หญิงมิชชันนารีเข้าไปสอนข้างในพระบรมมหาราชวัง ผู้ที่เล่าเรียนครั้งนั้นเรียนรู้ภาษาอังกฤษพอพูดได้บ้าง ยังมีตัวอยู่ในเวลานี้ คือเจ้าจอมมารดากลิ่น เจ้าจอมมารดากรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ต่อมาโปรดฯ ให้หาผู้หญิงอังกฤษมาเป็นครู แล้วตั้งโรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง ให้บรรดาพระเจ้าลูกเธอทั้งชายหญิงที่พระชันษาพอจะเล่าเรียนได้ เข้าเล่าเรียนทุกพระองค์

ส่วนบุตรหลานข้าราชการถ้าผู้ใดอุตส่าห์เรียนรู้ภาษาฝรั่ง ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งให้ยศและบรรดาศักดิ์ดังสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัสเป็นภาษิตในสมัยต่อมาว่าเมื่อในรัชกาลที่ 1 ใครแข็งแรงทัพศึกเป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ 2 ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ 3 ใครมีใจศรัทธาสร้างวัดวาก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ 4 ถ้าผู้ใดรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด ดังนี้

แต่ถึงกระนั้นนอกจากพระเจ้าลูกเธอ ผู้ที่เล่าเรียนภาษาอังกฤษแม้เมื่อในรัชกาลที่ 4 ก็ยังมีน้อย พวกที่เรียนสำหรับทำการให้มิชชันนารี และสำหรับการค้าขาย จะมีใครบ้างทราบไม่ได้ทั่ว แต่ผู้ที่ได้เล่าเรียนทันรับราชการเมื่อในรัชกาลที่ 4 ทั้งเจ้านายและขุนนางมีปรากฏแต่ 5 ด้วยกัน คือ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ 1 ได้ทรงศึกษาเป็นพื้นมา แต่ในรัชกาลที่ 4 แต่ที่มาทรงทราบได้ดีทีเดียวนั้นด้วยทรงอุตสาหะศึกษาต่อมาโดยลำพังพระองค์เองเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พวกฝรั่งกล่าวตรัสภาษาอังกฤษได้ แต่ข้าพเจ้าเคยได้พบแปลคำนำหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเป็นของแปลถวายกรมพระราชวังฯ จึงเข้าใจว่าคงจะไม่ทรงทราบภาษาอังกฤษแตกฉานทีเดียวนัก แต่ในทางข้างวิชาช่างทรงเชี่ยวชาญมาก

พระยาอัครราชวราทร (หวาด บุนนาค) บุตรพระยาอภัยสงครามคน 1 สมเด็จเจ้าพระยาฯ ฝากนายเรือรบอเมริกันไปฝึกหัดวิชาทหารเรือ เรียนรู้แต่ภาษากลับมาได้รับราชการเป็นหลวงวิเศษพจนการกรมท่า เมื่อในรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ได้เป็นพระศรีธรรมสาส์น แล้วเป็นพระยาจันทบุรี ได้พระราชทานพานทอง เมื่อชราจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาอัครราชวราทรในกรมท่า

อีกคน 1 คือพระยาอัครราชวราทร (เนตร) เป็นบุตรพระยาสมุทบุรานุรักษ์ ออกไปเล่าเรียนที่เมืองสิงคโปร์ เรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ดี กลับมาถวายตัวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาพระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็นขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์แล้วเลื่อนเป็นหลวงศรีสยามกิจ ตำแหน่งไวส์กงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ มาถึงรัชกาลที่ 5 ได้เป็นพระยาสมุทบุรานุกรักษ์ แล้วเลื่อนมาเป็นพระยาอัครราชวราทร

อีกคน 1 คือเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาฯ ส่งเป็นนักเรียนออกไปเรียนวิชาที่เมืองอังกฤษ เรียนอยู่ 3 ปี ครั้นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เป็นราชทูตออกไปเมืองฝรั่งเศสเรียกมาใช้เป็นล่าม แล้วเลยพากลับเข้ามากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาพระราชทานสัญญาบัตรเป็นตำแหน่งนายราชณัตยานุหาร หุ้มแพรวิเศษในกรมพระอาลักษณ์พนักงานเชิญรับสั่งไปต่างประเทศ และทรงใช้สอยในหน้าที่ราชเลขานุการภาษาอังกฤษมาจนตลอดรัชกาล

ผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษได้รับราชการในรัชกาลที่ 4 มีจำนวนที่ทราบด้วยกันดังแสดงมา นอกจากนี้มีผู้ที่เรียนในกรุงเทพฯ บ้างไปเรียนมืองสิงคโปร์บ้าง รู้แต่พอพูดได้บ้างเล็กน้อยมีหลายคน ไม่ได้นับในจำนวนที่กล่าวมานี้ ที่เรียนเฉพาะวิชาจนมีชื่อเสียงมีนายจิตรอยู่กะดีจีนคน 1 หัดชักรูปกับบาทหลวงหลุยลานอดีฝรั่งเศส และฝึกหัดต่อมากับทอมสันอังกฤษที่เข้ามาชักรูปเมื่อในรัชกาลที่ 4 จนตั้งห้างชักรูปได้เป็นที่แรก และได้เป็นที่ขุนฉายาทิศลักษณ์เมื่อในรัชกาลที่ 5 แล้วเลื่อนเป็นที่หลวงอัคนีนฤมิตรเจ้ากรมโรงแก๊สหลวง

มีนักเรียนส่งไปเรียนยุโรปเมื่อในรัชกาลที่ 4 อีก 3 คน คือเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์คน 1 นายสุดใจ บุนนาค ที่ได้เป็นพระยาราชานุประพันธ์ บุตรเจ้าพระยาภานุวงศ์คน 1 ทั้ง 2 คนนี้ไปเรียนที่เมืองอังกฤษ หลวงดำรงสุรินทรฤทธิ์ (บิ๋ม) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ส่งไปเรียนที่เมืองฝรั่งเศสคน 1 เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4 กำลังเล่าเรียนอยู่ทั้ง 3 คน ได้กลับมารับราชการต่อเมื่อในรัชกาลที่ 5

ผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีกันเมื่อในรัชกาลที่ 4 เสร็จการเล่าเรียนมาได้รับราชการต่อในรัชกาลที่ 5 ที่ทราบมี 6 คน คือ

นายเทียนฮี้ เรียนกับมิชชันนารีรู้ภาษาแล้วออกไปเรียนถึงอเมริกา ได้ประกาศนียบัตรเป็นแพทย์ กลับมารับราชการในกรมทหารมหาดเล็ก ได้เป็นที่หลวงดำรงแพทยาคุณ แล้วไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยได้เป็นที่พระมนตรีพจนกิจ ในรัชกาลปัจจุบันได้เป็นพระยาสารสินสวามิภักดีคน 1

นายสิน เรียนรู้ภาษาพูดได้คล่องแคล่ว แต่หนังสือไม่สู้ชำนาญ ได้เป็นหลวงอินทรมนตรีฯ ในกระทรวงพระคลัง แล้วเป็นพระยาสมุทบุรานุรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการคน 1

นายสุด รับราชการเป็นตำแหน่งล่ามในกระทรวงกลาโหม และกรมแผนที่ แล้วไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยได้เป็นหลวงนรภารพิทักษ์ มหาดไทย มณฑลพิษณุโลก แล้วเลื่อนเป็นพระ ต่อมาเป็นพระยาอุตรกิจพิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วได้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ อีกหลายแห่งคน 1

นายเปลี่ยน เป็นล่ามทูตไปประจำอยู่กรุงลอนดอนคราว 1 กลับมาได้รับราชการในกรมทหารหน้าเป็นนายร้อยเอกแล้วไปรับราชการในกรมตำรวจพระนครบาล เป็นที่หลวงวิสูตรบริหาร และไปรับราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นพระเสนีพิทักษ์ มาในรัชกาลที่ 5 ได้เป็นพระยาชนินทรภักดีในกระทรวงมุรธาธรคน 1

นายปุ่น รับราชการในกรมตำรวจพระนครบาล ได้เป็นที่หลวงอนุมัติมนูกิจ มาในรัชกาลที่ 6 เลื่อนเป็นพระธรณีนฤเบศรคน 1

นายอยู่ รับราชการเป็นล่ามทูตไปยุโรปคราว 1 กลับมาได้เป็นล่ามในกรมไปรษณีย์โทรเลขและกรมทหารหน้า แล้วมาอยู่กรมราชโลหกิจ ได้เป็นที่ขุนสกลโลหการ แล้วเลื่อนขึ้นนเป็นหลวงสกลโลหการคน 1

ถึงรัชกาลที่ 5 ทรงบำรุงการเล่าเรียนภาษาอังกฤษยิ่งกว่าเมื่อในรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่โรงทหารมหาดเล็กเรียกครูอังกฤษมาสอน แล้วส่งบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอเข้าโรงเรียนนั้น เว้นแต่น้อยพระองค์ที่สมัครไปเรียนในโรงเรียนภาษาไทย สมเด็จพระมหาสมณะกับบรรดาเจ้านายที่ได้รับราชการเป็นตำแหน่งเสนาบดีในรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนนี้เป็นเดิมมาแทบทุกพระองค์

และยังโปรดให้เลือกสรรหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ส่งไปเล่าเรียนที่สิงคโปร์อีกชุดหนึ่ง ในพวกนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก ในกรมหมื่นมเหศวรวิลาศ และพระไชยสุรินทร์ ม.ร.ว.เทวะหนึ่งได้เลือกส่งไปเรียนที่เมืองอังกฤษเป็นนักเรียนชุดแรกที่ส่งไปยุโรปในรัชกาลที่ 5 ต่อมาการเล่าเรียนภาษาและวิชาการของฝรั่งเจริญแพร่หลายอย่างไร เป็นการชั้นหลังขอยุติไว้.

(คัดจากจดหมายเหตุนิราศลอนดอน)

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2565