ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“ภาษาอังกฤษ” สมัย ร.5 ที่มีไว้เฉพาะเจ้านายและลูกขุนนาง เพื่อสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ ด้วยระบบราชการใหม่บริหารจัดการแบบตะวันตก แทนระบบมูลนายเดิม
ภายหลังการถึงแก่พิราลัยของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (19 มกราคม 2425) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริปฏิรูปราชการ ด้วยพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้สยามเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolutist State) เพื่อแก้ปัญหาอำนาจหน้าที่การกำกับควบคุมทรัพยากรตกอยู่ในมือมูลนาย เจ้านาย และขุนนาง
รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์นั้น จำเป็นต้องมีระบบราชการสมัยใหม่เป็นกลไกทำงานแทนระบบมูลนายเดิม โดยต้องใช้ข้าราชการที่รู้หนังสืออ่านออกเขียนได้ จะได้มีหลักฐานในการจัดเก็บรวบรวมรายได้และทำให้คำสั่งของกษัตริย์จากส่วนกลางลงไปถึงพื้นที่ห่างไกลได้ ซึ่งผู้ทำหน้าที่บริหารราชการจำเป็นต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อให้เข้าใจ “การออฟฟิศฝรั่ง” หรือแนวทางการบริหารจัดการของตะวันตกที่เป็นต้นแบบของระบบราชการไทย
การที่รัฐคาดหวังให้ระบบราชการที่เกิดขึ้นใหม่ประสานเข้ากับกับโครงสร้างชนชั้นเดิมทำให้การจัดการศึกษาภาษาอังกฤษของรัฐมุ่งไปที่ผู้มีชาติตระกูล ทั้งเจ้านาย และบุตรหลานขุนนางเป็นสำคัญ
ในปี 2426 การจัดการศึกษาภาษาอังกฤษและความรู้สมัยใหม่จากตะวันตกเริ่มขึ้นที่ “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ที่แยกสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเบื้องต้นรัฐคาดหวังให้โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องจากพวกหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ไม่มีช่องทางได้ฝึกหัดราชการ เพราะ “เปนเจ้าเสียไม่ได้เปนขุนนาง” การมีความรู้สอบไล่หนังสือได้จึงเหมือนกับการถวายตัวของข้าราชการ “แต่ดีกว่าดอกไม้ธูปเทียน” เพราะ“ได้เห็นตลอดจนถึงความรู้สติปัญญา”
แต่เจตนาที่จะจำกัดการเรียนการสอนไว้เฉพาะบุตรหลานเจ้านายก็เป็นผลได้ไม่นาน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2429 เป็นต้นมา เริ่มมีนักเรียนสามัญเข้าปะปน เพราะเปิดให้สำเร็จประโยค 1 จากโรงเรียนตามพระอารามต่างๆ มาศึกษาต่อเพื่อเตรียมสอบไล่ประโยค 2 ความนิยมต่อการศึกษาที่มากขึ้นในหมู่ผู้ดีและราษฎรที่มีฐานะ ทั้งยังไม่มีการตั้งโรงเรียนขั้นสูงอื่นรองรับ ทำให้โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบต้องขยายการรับนักเรียนในวงกว้างมากขึ้น
กระนั้นใช่ว่าโรงเรียนจะไม่มีมาตรการกีดกันหรือคัดกรองผู้เรียน
เดิมทีโรงเรียนเคยอุดหนุนนักเรียนในทุกด้านทั้งเครื่องนุ่งห่มใช้สอย, หนังสือ, อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ แต่รายงานกรมศึกษาธิการบันทึกว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2432 เป็นต้นมาโรงเรียนได้ลดการอุดหนุน โดยให้ผู้เรียนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้เอง เริ่มจากการงดจ่ายหนังสือและเครื่องเรียนแก่นักเรียน และการเรียกเก็บเงินค่าอาหารปีละ 20 บาท โดยให้เหตุผลว่าต้องการลดค่าใช้จ่าย “เปลืองพระราชทรัพย์” ของหลวงมากด้วยเพราะเห็นว่า “บิดามารดาแลญาติของนักเรียนเหล่านั้นสมัครเต็มใจให้บุตรหลานเล่าเรียนจริงๆ แลเป็นผู้ไม่ขัดสน” พอจะช่วยเงินค่าอาหารได้
ต่อมาโรงเรียนตัดสินใจยกเลิกการเก็บค่าอาหาร เพราะเลิกการทำอาหารเลี้ยงด้วยมีต้นทุนสูงและสิ้นเปลือง เปลี่ยนมาเป็นให้ร้านขายอาหารแก่นักเรียน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนมีรายได้จากค่าสถานที่ที่เรียกเก็บจากผู้ค้าไปพร้อมกันด้วย
หากโรงเรียนยังคงเรียกเก็บเงินนักเรียนในลักษณะเงินประกันปีละ 12 บาท ถ้านักเรียนประพฤติดีและ ขาดเรียนเดือนละไม่เกิน 3 วันก็จะได้เงินคืนกลับไปเดือนละ 1 บาทจนครบ ส่วนผู้ประพฤติผิดข้อบังคับหรือขาดเรียนเกินกกว่าเดือนละ 3 วัน ก็จะถูกยึดเงินไว้ แต่ถ้าอุสาหะเล่าเรียนเป็นการชดเชย และประพฤติตัวดีก็จะได้รับเงินคืนได้ในช่วงสิ้นปี มิเช่นนั้นแล้วเงินจะถูกริบไปบำรุงโรงเรียนแทน
แจ้งความของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบให้เหตุผลการเรียกเก็บเงินว่า
1. ทำให้นักเรียนตั้งใจเรียน 2. “เปนเครื่องตัดสินไม่ให้นักเรียนเลวมาปะปนนักเรียนดี” ขณะที่เหตุผลของการกีดกัน “คนเลว” หรือ “นักเรียนเลว” จำพวกไพร่, ชาวบ้านทั่วไป ไม่ให้มาเรียนปะปนร่วมกับนักเรียนผู้ดี หรือผู้มีทรัพย์ จะปรากฏอยู่เพียงแจ้งความของโรงเรียน ไม่ใช่รายงานของกรมศึกษาธิการที่ทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัว
อย่างไรก็ดี การเป็นโรงเรียนชั้นสูงที่รับผู้สำเร็จประโยค 1 มาศึกษาต่อเพื่อเตรียมสอบไล่ประโยค 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2429 เป็นต้นมา ก็ทำให้นักเรียนไพร่มาผสมปนเปกับนักเรียนผู้ดีได้ง่ายขึ้น
การมีสามัญชนเข้ามาปะปนอาจเป็นสาเหตุให้โรงเรียนตัดสินในยกเลิก “นักเรียนกินอยู่ประจำ” ซึ่งเป็นธรรมเนียมจัดการโรงเรียนผู้ดี หรือ “ปับลิกสกูล” มีแต่นักเรียนไปกลับตั้งแต่ปี 2435
ต่อมาในปี 2439 มีการย้ายโรงเรียนไปนอกพระบรมมหาราชวัง โดยโรงเรียนสวนกหุลาบไทยที่มีนักเรียน 381 คน โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษมี 83 คน (ทั้ง 2 โรงเรียนแยกย้ายไปคนละที่ตั้ง จนปี 2454 จึงมารวมในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปัจจุบัน)
พ.ศ. 2440 เกิดโรงเรียนราชวิทยาลัย หรือ “คิงสคอลลิช” จัดการแบบนักเรียนกินอยู่ประจำที่โรงเรียน ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนสำหรับ “บุตรผู้มีบรรดาศักดิ์” แห่งใหม่ โดยสอนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แต่จะเพิ่มวิชาภาษาอังกฤษขึ้นไปทุกๆ ชั้น ให้เข้ากับหลักสูตรโรงเรียนที่ยุโรป และนักเรียนแรกทุกคนเข้าของโรงเรียนราชวิทยาลัยต้องจ่าย “ค่าเครื่องเรือน” คนละ 80 บาท กับค่าอาหารเดือนละ 20 บาท
แล้วการศึกษาสำหรับลูกชาวบ้านทั่วไปเป็นอย่างไร
การศึกษาที่จัดให้ราษฎรทั่วหน้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริปฏิรูปการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ พ.ศ. 2441 คือการจัดการศึกษาให้กับราษฎรทั้งหลายโดยให้วัดเป็นโรงเรียน และให้พระสงฆ์เป็นครู ไม่มีการสอนภาษาอังกฤษ เพราะถือเป็นวิชาชีพชั้นสูงเฉพาะแต่ผู้ที่จะเป็นข้าราชการ เพราะรัฐประสงค์เพียงสั่งสอนให้เป็นพลเมืองดี และพอให้อ่านออกเขียนได้เป็นสำคัญ
อีกทั้งการที่รัฐมอบหมายให้ทางวัดและคณะสงฆ์ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา ไม่ใช่กรมศึกษาธิการหรือกระทรงธรรมการ ยังทำให้ความรู้ที่สั่งสอนกันจำกัดแต่เฉพาะที่พระสอนได้ ทั้งการผลักภาระเรื่องโรงเรียนให้วัดและชุมชนรับผิดชอบกันเองที่เรียกภายหลังว่า “โรงเรียนประชาบาล” ภาษาอังกฤษจึงเป็นความรู้ที่สูงเกินกว่าที่จะจัดให้ราษฎรทั่วไป
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
อาวุธ ธีระเอก. “ค่าเล่าเรียน: ชนชั้นกับการศึกษาภาษาอังกฤษสมัย ร.5”, เปิดโลกสุนทรีย์ในวิถีมนุษยศาสตร์ การประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 11 วันที่ 8-9 กันยายน 2560
อาวุธ ธีระเอก. ภาษาเจ้าภาษานาย การเมืองหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์มติชน 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561