ภาษาอังกฤษ รู้-ไม่รู้ มีผลต่อความก้าวหน้าในราชการ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง โรงเรียนยุคแรกๆ ที่มีการสอนภาษาอังกฤษ

แม้การเรียนภาษาอังกฤษที่เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จะยังไม่แพร่หลายนัก แต่ “ภาษาอังกฤษ” ก็เริ่มเป็นเงื่อนไขในความก้าวหน้าในราชการ ดังจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างของ พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส และ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว. ลบ สุทัศน์)

ดร.อาวุธ ธีระเอก ค้นคว้าและอธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5” (สนพ.มติชน, กันยายน 2560) ดังนี้

พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) ทรงศึกษาภาษาอังกฤษไปพร้อมกับการเรียนหนังสือไทย ทรงเรียนภาษาอังกฤษเรื่อยมาแม้สอบหนังสือไทยประโยค 2 ได้แล้วใน พ.ศ. 2434 ดังที่พระองค์ตรัสเล่าว่า “ได้เรียนภาษาอังกฤษอยู่จนสวนกุหลาบสิ้นฤทธิ์ จะสอบขึ้นไปอีก ไม่ได้ จึงต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่นอีกพักหนึ่ง เมื่อออกจากโรงเรียนสุดท้ายแล้ว เข้ารับราชการอยู่ในกระทรวงธรรมการ” [1]

พ.ศ. 2436 พระองค์ทรงเริ่มรับราชการ แต่ในช่วง 2-3 ปีแรก ยังทรงแสวงหาความรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติมมิได้ขาด ด้วยการติดต่อพบปะกับที่ปรึกษากระทรวงและข้าราชการอื่นๆ ที่เป็นชาวอังกฤษทั้งในและนอกเวลาราชการ ชวนกันไปเล่นกีฬาต่างๆ เช่น กอล์ฟ, ฮ็อกกี้ หรือเล่นเรือใบ ทำให้มีพ้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษดี ตรัสได้คล่องแคล่ว[2]

แล้ววันหนึ่งความสามารถทางภาษาอังกฤษก็ “สร้างโอกาส” ให้พระองค์

เมื่อมิสเตอร์มิทเชล อินเนส ที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งเพิ่งมาจากอังกฤษ เป็นคนพูดเร็ว และมีสําเนียงฟังยาก มิสเตอร์มิทเชลพบพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสทรงสนทนากับเพื่อนต่างชาติที่คลับเรือใบ จึงเข้ามาพูดคุยทําความรู้จัก ก่อนจะเลือกพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสมาเป็นเลขานุการ ด้วยเหตุว่า “ท่านนี่เองเหมาะที่จะเป็นเลขานุการของฉัน ฉันกําลังได้รับความ ลําบากที่คนในออฟฟิศฟังฉันพูดไม่ค่อยทัน”

พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสจึงทรงย้ายจากระทรวงธรรมการมาอยู่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติด้วยเหตุนี้

ภายหลังมิสเตอร์อินเนสยังกราบทูลแนะนําพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงว่าควรส่งเสริมหพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสไปศึกษาต่อต่างประเทศ จะได้เป็นกําลังของกระทรวงในภายหน้า ซึ่งทางเสนาบดีกระทรวงก็ทรงเห็นชอบ พระองค์จึงได้ทรงศึกษาต่อใน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ แม้จะทรงถูกเรียกตัวกลางคัน ใน พ.ศ. 2442 ให้กลับมาทํางานกับมิสเตอร์ริเว็ตต์-คาร์นาก (Rivett-Carnac) ที่ปรึกษากระทรวงคนใหม่ ซึ่งมิสเตอร์ริเว็ตต์-คาร์นา ก็ฝึกหัดพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสให้สามารถทรงงานแทนตําแหน่งเขาสืบไปได้ [3]

พ.ศ. 2454 พระองค์ทรงได้เลื่อนตําแหน่งเป็นอธิบดีกรมกระสาปน์สิทธิการ, พ.ศ. 2451 ทรงเป็นอธิบดีกรมตรวจและกรมสารบัญชี, พ.ศ. 2456 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิม พระยศเป็นเจ้านายต่างกรม มีพระนามว่าพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

ส่วนกรณีที่ ไม่รู้ภาษาอังกฤษเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในราชการ  ดร.อาวุธได้ยกตัวอย่าง กรณีการแต่งตั้งอธิบดีกรมกองตระเวน (Inspector General of Police) พ.ศ. 2444 เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลได้ทําหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทรงอยากให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว. ลบ สุทัศน์) รองอธิบดีกรมกองตระเวนทําหน้าที่แทนอธิบดีคนก่อนซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ

แต่พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นผู้ไม่รู้ภาษาอังกฤษ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ จึงทรงพระดําริให้ลดตําแหน่งลง โดยให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นจางวางกรมกองตระเวน (Commissioner of Police) และใช้ชาวต่างประเทศที่อาวุโสน้อยเป็นปลัดจางวางหรือเป็นผู้ช่วยไปพลาง

อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่เห็นด้วย เพราะพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน “มีทางหากินเกี่ยวข้องในเรื่องภาษีอากรเปนต้นอยู่บ้าง ข้อนี้เป็นสําคัญมากซึ่งจะทําให้เปนที่ร้องติดใจ เกิดขึ้นภายหลัง”

นอกจากนี้ กรมกองตระเวนเป็นหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศและคนในบังคับในเรื่องคดีความต่างๆ ทั้งมีผู้ใต้บังคับบัญชา คือนายกองตระเวนที่เป็นชาวต่างชาติมาก จึงมีพระราชดําริว่าควรให้ชาวต่างชาติเป็นหัวหน้าต่อไป แต่หาคนไทยอื่นที่รู้ภาษาอังกฤษมาเป็นตําแหน่งรอง ให้ศึกษาเรียนรู้งานจะดีกว่า [4]


เชิงอรรถ

[1] พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, “ความระลึกของนักเรียนสวนกุหลาบเดิม,” ใน ตำนานสวนกุหลาบ (พระนคร: โรงพิพม์ศรีหงศ์, 2506), น.44-47

[2] น.ม.ส. (นามปากกา พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์), เรื่องของนักเรียนเมืองอังกฤษ (พระนคร: บำรุงสาส์น, 2514), น.18

[3] ประพัฒน์ ตรีณรงค์, ชีวิตและผลงานของ น.ม.ส., น. 120-124

[4] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, รน.82 ก/31 มิศเตอรยารดิน อธิบดีกรมกองตระเวนสัญญา ขอให้จ้างต่อไปอีก 3 ปี และจะจัดกองตระเวนชั้นนอกในมณฑลกรุงเทพ, ให้เรียบร้อย เหมือนชั้นใน ได้นำความกราบบังคทูลโปรดเกล้า, ว่าไม่ควรจ้างไว้ มิศเตอรลอซันรับหน้าที่แทนต่อไป (19 ต.ค. 120-20 พ.ย. 121)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2564