ประวัติย่อของ “อาเจะห์” เมืองท่า-ศูนย์กลางอิสลาม แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพวาด บันดาอาเจะห์ (Banda Aceh) ราว ค.ศ. 1724-26

อาเจะห์ เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะสุมาตรา มีเนื้อที่ 6,182.07 ตารางกิโลเมตร เต็มไปด้วยเทือกเขาใหญ่น้อย ที่ราบสูงบางแห่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3,407 เมตร ชาวพื้นเมืองอาเจะห์เป็นชนเชื้อชาติ “มลายู” แต่มีผิวกายคล้ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ เมืองหลวงชื่อ บันดาอาเจะห์ (Banda Aceh) ชื่อเดิมว่า กูตาราจา (Kutaraja) ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำกรูเอ็งอาเจะห์ (Krueng Aceh) ห่างจากทะเล 3 ไมล์

อาเจะห์มีความสำคัญมาแต่เดิมในฐานะเมืองท่าเรือนานาชาติ เคยเป็นรัฐหรืออาณาจักรอิสระที่มีอำนาจ มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจากการเดินเรือและการค้าระหว่างประเทศ และได้ต่อสู้กับอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกอย่างเข้มแข็งที่สุดติดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ อาเจะห์เป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16

ภาพถ่าย บันดาอาเจะห์ (Banda Aceh) เมื่อ ค.ศ. 1896

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 รัฐใหญ่น้อยต่าง ๆ ทางสุมาตราเหนือได้เปลี่ยนเป็นรัฐมุสลิม อาเจะห์ก็เช่นกัน มีต้นเค้าว่าเริ่มรับศาสนาอิสลามจากชวาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 และได้สถาปนาการปกครองแบบมีสุลต่านขึ้นที่เมืองบันดาอาเจะห์ จากนั้นอาเจะห์ได้กลายเป็นจุดสำคัญของบริเวณหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ศตวรรษ

ก่อนที่ประเทศตะวันตกจะขยายอำนาจเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรดารัฐต่าง ๆ ทางคาบสมุทรมลายูและบริเวณหมู่เกาะอินเดียตะวันออกยอมรับว่าราชอาณาจักรอาเจะห์หรืออาจิน (Achin) เป็นศูนย์กลางของศาสนาและวัฒนธรรมอิสลามที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดในเกาะสุมาตรา

อาเจะห์เริ่มมีอำนาจมากขึ้นในสมัยสุลต่านอาลี มูคายัต ซะห์ (Ali Mughayat Sjah ค.ศ. 1514-1530) ผู้ทรงนำอาเจะห์ให้เป็นผู้นำทางการเมืองแทนอาณาจักรมะละกา ซึ่งล่มสลายลงเนื่องจากถูกกองเรือโปรตุเกสโจมตีใน ค.ศ. 1501 อีก 10 ปีต่อมา สุลต่านพระองค์นี้ยังได้ทำสงครามต่อต้านโปรตุเกส ที่ขยายอำนาจบุกเข้ายึดเมืองปาไซ (Pasai) ซึ่งเป็นเมืองท่าทางฝั่งตะวันออกของสุมาตรา พระองค์สามารถต่อต้านโปรตุเกสและรบชนะรัฐอื่น ๆ ในสุมาตราเหนือ ทำให้อาณาจักรอาเจะห์มีอาณาเขตแผ่ไพศาล

ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา อาเจะห์ตั้งตัวเป็นผู้นำรัฐมุสลิมต่าง ๆ และเปิดฉากทำสงครามท้าทายอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานนับศตวรรษ นอกจากนี้ อาเจะห์ยังได้แผ่อำนาจและสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาณาจักรด้วยการทำสงครามยึดรัฐพื้นเมืองต่าง ๆ ทางสุมาตราตะวันออก เช่น ปาไซ เปดีร์ และรัฐอื่น ๆ ทางสุมาตราเหนือ ตลอดจนเข้ายึดอำนาจรัฐสำคัญ ๆ ทางบริเวณคาบสมุทรมลายูด้วย

ประมุขของอาณาจักรอาเจะห์ ดังเช่น สุลต่านอาลาอุดดีน ริยัต ซะห์ อัลกาฮาร์ (Sultan Alauddin Riayat Sjah alKahar ค.ศ. 1537-1571) ทรงสร้างเสริมกำลังทหาร อาวุธ ยุทธภัณฑ์ เพื่อสร้างกองทัพอาเจะห์ให้แข็งแกร่ง โดยอาศัยความช่วยเหลือทางเทคนิคและทางด้านกำลังทหารจากสุลต่านแห่งออตโตมาน จักรพรรดิมคัลแห่งอินเดีย และประมุขอื่น ๆ ของอินเดียแถบตะวันตกฝั่งโคโรมันเดล เบงกอล และลังกา

หลังจากมะละกาตกเป็นของโปรตุเกสแล้ว พ่อค้าอินเดียจากคุชราต (Gujarat) ซึ่งเคยทำการค้าที่มะละกาต่างก็พากันย้ายถิ่นมารวมตัวค้าขายที่อาเจะห์ และด้วยความร่วมมืออย่างดีจากพ่อค้าคุชราต อาเจะห์ก็มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบรรดาพ่อค้ามุสลิมจากดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกแทนที่มะละกา

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อาเจะห์เป็นแหล่งค้าพริกไทย และผ้าอินเดียที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก นอกจากนี้ อาเจะห์ยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนาและวัฒนธรรมอิสลามที่เรืองอำนาจรัฐหนึ่งในจำนวนรัฐมุสลิมที่สำคัญของโลก 5 แห่ง รัฐอิสลามอีก 4 แห่ง คือ โมร็อกโก ตุรกี อิหร่าน และอินเดีย

ในบรรดาดินแดนมุสลิมทั่วโลก อาเจะห์เป็นดินแดนสำคัญแห่งหนึ่งที่มีความผูกพันกับศาสนาอิสลามอย่างเหนียวแน่น ชาวอาเจะห์ยอมรับอำนาจปกครองของกาหลิบหรือคอลีฟะห์ ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดของชาวมุสลิมทั่วโลก ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาเจะห์มีบทบาทและสถานภาพเป็นแกนนำของชาวมุสลิมในฐานะเป็น “ประตูทางตะวันออกเปิดสู่นครเมกกะ” เป็นแหล่งการสร้างสรรค์วรรณกรรมอิสลามในภาษามลายู และเป็นที่ตั้งศาสนสถานอันเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่มุสลิม นักจาริกแสวงบุญ ลัทธิซูฟี (Sufism) ในศาสนาอิสลามก็ได้แพร่กระจายจากอาเจะห์ไปตามหมู่เกาะต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

อาณาจักรอาเจะห์มีอำนาจสูงสุดในสมัยของสุลต่านอิสกันดาร์ มุดา (Iskandar Muda ค.ศ. 1607-1636) พระองค์ได้ขยายอำนาจรัฐอาเจะห์ไปยังดินแดนภายในเกาะสุมาตรา และข้ามไปยังดินแดนภายในคาบสมุทรมลายูบางส่วน เช่น รัฐยะโฮร์ และเประ นอกจากนี้ ยังทรงตั้งเป้าหมายที่จะสร้าง “บันดาอาเจะห์” ให้เป็นศูนย์รวมการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดโดยพยายามทำลายศูนย์กลางการค้าของโปรตุเกสที่มะละกาบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ ในสมัยสุลต่านอิสกันดาร์ มุดา ยังนับเป็นยุคทองของอาณาจักรอาเจะห์ ซึ่งเป็นที่ปรากฏชัดว่า เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดทางเอเชีย และมีการปกครองที่มั่นคง ขุนนางส่วนกลางที่ช่วยสุลต่านปกครองเรียกว่า “โอรังกายา” (Orang Kaya) และขุนนางส่วนท้องถิ่นเรียกว่า “อูลาบาลัง” (Ulabalang) เป็นพวกที่ได้รับการแบ่งสรรอำนาจปกครองตามท้องที่ต่างๆ อย่างอิสระ

อาณาจักรอาเจะห์เริ่มตกต่ำลงหลังจากฮอลันดา (ดัตช์) เข้าครอบครองมะละกาอย่างเด็ดขาดใน ค.ศ. 1641 อิทธิพลของฮอลันดาในดินแดนคาบสมุทรมลายูได้สั่นคลอนอำนาจของอาเจะห์ทั้งทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจเป็นอันมาก กอปรกับความยุ่งเหยิงภายในอันเกิดจากพวกขุนนางส่วนท้องถิ่นท้าทายอำนาจของสุลต่าน ทำให้ฮอลันดาเข้าแทรกแซงโดยสนับสนุนเหล่าหัวหน้าพวกมินังกะเบา (Minangkabau) แถบชายฝั่งตะวันตกของสุมาตราให้แยกตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรอาเจะห์

นอกจากนี้ รัฐทางคาบสมุทรมลายูซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอาเจะห์ เช่น รัฐยะโฮร์ ก็พยายามที่จะแข่งขันชิงความเป็นผู้นำกับอาเจะห์โดยเป็นพันธมิตรร่วมมือกับฮอลันดาต่อต้านอาเจะห์ นอกจากอาเจะห์จะต้องแข่งขันอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจกับพวกเอเชียด้วยกันแล้ว ยังต้องแข่งขันกับอำนาจชาติตะวันตกชาติต่าง ๆ และได้รับผลกระทบจากการสร้างฐานอำนาจของอังกฤษที่ปีนังใน ค.ศ. 1786 และที่สิงคโปร์ใน ค.ศ. 1819

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 อาณาจักรอาเจะห์เป็นเป้าหมายของการแข่งขันเพื่อแสวงหาอิทธิพลและผลประโยชน์ของอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกทั้งหลาย ซึ่งพยายามเข้าแทรกแซงทางการเมืองภายใน ทำให้อาเจะห์ไม่อาจต้านทานอำนาจและรักษาผลประโยชน์ของตนไว้ได้ แม้ว่าสุลต่านแห่งอาเจะห์จะพยายามสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศตะวันตกเพื่อให้เกิดดุลอำนาจ แต่ความแตกแยกภายในอันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจในราชบัลลังก์ และการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก ทำให้สภาวะภายในอาเจะห์มีปัญหาซับซ้อนอยู่ในขั้นวิกฤต ประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกทั้งหลายจึงถือโอกาสแข่งกันตักตวงผลประโยชน์ในอาเจะห์ตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับผู้นำอาเจะห์แต่ละฝ่ายที่ตนสนับสนุน

ผลของสนธิสัญญาอังกฤษ-ดัตซ์ ค.ศ. 1824 (Anglo-Dutch Treaty 1824) ทำให้อาเจะห์สามารถรักษาอิสรภาพอยู่ได้ชั่วระยะหนึ่ง แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความพยายามสร้างอิทธิพลของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1871 อีก และในปีนั้นเอง อังกฤษก็ทำสนธิสัญญากับฮอลันดา ยินยอมให้ฮอลันดามีอิทธิพลในอาเจะห์ เพื่อขจัดอิทธิพลของฝรั่งเศส

ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นเวลาที่ประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกทั้งหลายต่างก็พยายามขัดขวางกีดกันไม่ให้ผู้ใดมีอิทธิพลและผลประโยชน์ในอาเจะห์เกินหน้าซึ่งกันและกันได้ แต่ในที่สุดฮอลันดาก็เริ่มโจมตีอาเจะห์ เพื่อเข้ายึดครองเป็นอาณานิคม ใน ค.ศ. 1873 และสามารถยึดเมืองกูตาราจาได้ใน ค.ศ. 1877 แต่อาเจะห์ก็ยังต่อสู้กับฮอลันดาแบบกองโจรต่อไป จนถึง ค.ศ. 1903 สุลต่านแห่งอาเจะห์จึงได้ประกาศยอมจำนนต่อฮอลันดา แต่การสงครามก็หาได้ยุติไม่ ยังคงดำเนินต่อไปแบบกองโจรเพื่อต่อต้านฮอลันดาโดยตลอด

สงครามดัตช์-อาเจะห์ ค.ศ. 1873

สงครามดังกล่าวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ระหว่าง ค.ศ. 1905-1918 หลังจากนั้น อาเจะห์จึงกลับเข้าสู่ความสงบชั่วระยะสั้น ๆ ภายใต้การปกครองอาณานิคมของฮอลันดา และใน ค.ศ. 1942 พวก “อูลามา” หรือกลุ่มผู้นำศาสนาชาวอาเจะห์ขับไล่ฮอลันดาออกจากอาเจะห์ (ปัจจุบันมีการรวมตัวกันก่อตั้งเป็น “สมาคมอูลามาแห่งอาเจะห์” หรือ “กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามแห่งอาเจะห์” (All-Aceh Association of Ulama หรือ PUSA)]

เมื่อการปกครองอาณานิคมฮอลันดาสิ้นสุดลง อาเจะห์ก็ยังเป็นเขตที่มีการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยมีพวกอูลามาเป็นแกนนำระหว่าง ค.ศ. 1953-1959

ตั้งแต่ ค.ศ. 1959 เป็นต้นมา อาเจะห์มีสภาพเป็น “เขตการปกครองพิเศษ” แม้ว่าต่อมาจะอยู่ภายใต้หลักการใหม่ซึ่งมุ่งรวมชาติอินโดนีเซียให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่อาเจะห์ก็ยังพิสูจน์ให้เห็นถึงความโดดเด่นแห่งตนด้วยการคงกองกำลังอิสลามฝ่ายค้านรัฐบาลกลางไว้อย่างเหนียวแน่น

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “Aceh (ประวัติย่อของอาเจะห์)” เขียนโดย สุพรรณี กาญจนัษฐิติ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2543

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2565