เมื่อเจ้านายไทย “ทำธุรกิจ” ประเมินผลการลงทุนของ “พระยาภิรมย์ภักดี” ถึง “เจ้าพระยายมราช”

ทัศนียภาพ บางกอก ในหนังสือ จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตอังกฤษ
ภาพประกอบเนื้อหา - “ทัศนียภาพของเมืองบางกอก” (View of the city of Bangkok) จากหนังสือ “บันทึกของทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียประจำสยามและโคชิน-ไชนา” (Journal of an embassy from the Governor-General of India to the courts of Siam and Cochin-China) โดย จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตอังกฤษผู้รับหน้าที่มาเจรจากับสยามก่อน เบอร์นีย์

ในอดีตมีขุนนางที่ลงทุนทำธุรกิจประสบผลสำเร็จ อาทิ พระยาภิรมย์ภักดี เจ้าพระยายมราช พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ ฯลฯ ซึ่งหลายธุรกิจก็ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ต้องย้อนไปถึงเมื่อครั้งหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ที่ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในสยาม กล่าวคือ สยามต้องเปิดเสรีทางการค้า ทำให้ต้องยกเลิกระบบการค้าผูกขาดของพระคลังสินค้า และจากเดิมที่ผลิตเพื่อยังชีพ ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบคือทำให้เจ้านายและขุนนางจากที่ผูกขาดสินค้า ต้องปรับตัวทางเศรษฐกิจมาเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลกำไรแทน

การลงทุนทางเศรษฐกิจนั้นได้มีเจ้านายสยามทรงหันมาลงทุนเปิดกิจการต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์, กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ, กรมหมื่นทิวากรประวัติ, พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นต้น

การลงทุนของเหล่าเจ้านายส่วนใหญ่มักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จนัก อีกทั้งยังมีเจ้านายหลายพระองค์ล้มละลายไปกับการลงทุนในครั้งนี้ [1] นอกจากเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในราชสำนักแล้ว เหล่าขุนนางเองก็นิยมลงทุนทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน และประสบผลสำเร็จในการลงทุนกันหลายท่าน ทั้ง พระยาภิรมย์ภักดี เจ้าพระยายมราช พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)

พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2415 ณ บ้านปลายสะพานยาว วัดบพิตรพิมุข (เชิงเลน) ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เรียนหนังสือกับบิดาตอนยังเด็ก

พออายุ 11 ปี เรียนกับพระอาจารย์เนียม วัดเชิงเลนได้ 1 ปีเศษก็เรียนฝึกหัดวาดเขียนที่บ้านหลวงฤทธิ์ฯ และเรียนหนังสืออังกฤษกับท่านอาจารย์ หมอ เอ.ยี.แมคฟาแลนด์ ที่โรงเรียนหลวงสวนอนันต์ ได้ประมาณ 2 ปี โรงเรียนก็ย้ายมาสอนที่สุนันทาลัย สามารถสอบไล่ได้ที่ 1 ในทุกวิชาของโรงเรียน

และใน พ.ศ. 2433 ได้เป็นครูสอนนักเรียนในโรงเรียนสุนันทาลัย ต่อมาก็ได้ไปเป็นครูสอนเด็กที่โรงเลี้ยงเด็กอนาถา ใน พ.ศ. 2435 เจ้าพระยาภาสวงศ์ เสนาบดีได้ทดลองให้ทำหน้าที่ตำแหน่งเลขานุการกระทรวงธรรมการ

พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)
พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)

ความสนใจในด้านการลงทุนและแหล่งทุน

พระยาภิรมย์ภักดี สนใจด้านการลงทุนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากเมื่อมีอายุ 21 ปี ได้เริ่มเปลี่ยนจากการทำงานราชการ มาทำงานที่ห้าง “กิมเซ่งหลี” (ซึ่งห้างกิมเซ่งหลี มีกิจการโรงสีไฟ ป่าไม้ และโรงเลื่อยจักร) ในตำแหน่งเสมียน มีหน้าที่เป็นล่าม แปลหนังสือภาษาอังกฤษ ตอบโต้เกี่ยวกับการสั่งสินค้าเข้าและส่งสินค้าออก

ต่อมา พระยาภิรมย์ภักดี ได้สมัครเข้าทำงานที่ “ห้างเด็นนิม็อต แอนด์ ดิกซัน” ซึ่งดำเนินกิจการโรงเลื่อยทำให้มีความรู้ด้านการติดต่อต่างประเทศเพิ่มเติมขึ้น และมีความสามารถในการคิดคำนวณหน้าไม้และพิมพ์เป็นหนังสือออกจำหน่าย

อายุได้ 30 ปี ได้รับโอกาสจากเจ้าของห้างกิมเซ่งหลี ที่ท่านเคยทำงานด้วย ในการหาทุนให้ไปทำการค้าขาย จึงเริ่มทำธุรกิจค้าไม้ โดยซื้อไม้ซุงของห้างกิมเซ่งหลีไปขายต่อให้โรงเลื่อยในคลองบางหลวง คลองบางลำภู และโรงเลื่อยริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเก็บเงินค่าไม้ส่งภายหลัง พร้อมทั้งรับซื้อไม้เหลี่ยมและไม้ตับส่งไปขายกับห้างเด็นนิม็อต แอนด์ ดิกซัน ห้างสยามฟอเรสและต่างประเทศ จนกระทั่งเริ่มมีกำไรและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แหล่งทุนของท่านก็ได้จากการทำสิ่งเหล่านี้นั้นเอง ก่อนที่จะเห็นลู่ทางธุรกิจจึงมาเริ่มมาเป็นเจ้าของกิจการค้าไม้

รายการที่ลงทุน

นอกจากกิจการค้าไม้แล้ว ในปี 2453 พระยาภิรมย์ภักดี เล็งเห็นว่าการข้ามไปมาระหว่างฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ มีปัญหามาก จึงริเริ่มทำธุรกิจเดินเรือเรียกว่า “เรือเมล์ขาว” โดยตั้งเป็น บริษัทบางหลวง จำกัด กิจการดำเนินไปด้วยดี จนเริ่มมีคู่แข่งมาก

ปี 2471 ทางราชการจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าโรงยางเก่าไปฝั่งธนบุรี และตัดถนนใหม่เชื่อมตลาดพลู ประตูน้ำภาษีเจริญ ตามแนวทางที่เรือยนต์เดินอยู่ พระยาภิรมย์ภักดีจึงเบนเข็มหาธุรกิจอื่นในช่วงระยะเวลานั้น

พระยาภิรมย์ภักดีได้พบมิสเตอร์ไอเซนโฮเฟอร์ ผู้จัดการห้างเพาส์ปิกเคนปัก และได้ลิ้มรสเบียร์เยอรมันจนถูกใจ จึงคิดว่าน่าจะทำขายในเมืองไทยได้ ดังนั้นท่านได้ยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทยในปี 2473 [2]

เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่เคยมีนโยบายเรื่องการจัดตั้งโรงงานผลิตเบียร์มาก่อน ความง่ายในการอนุมัติโรงเบียร์แห่งแรกจึงเกิดขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 6 แสนบาท รัฐบาลไทยอนุมัติให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2476 (บริษัทบุญรอดฯ จึงถือเอาวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของบริษัท)

การก่อสร้างโรงเบียร์แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2477 บริษัทบุญรอดฯ เปิดตัวเบียร์ยี่ห้อโกลเด้นไคท์ และสิงห์ ขายราคาขวดละ 32 สตางค์ ด้วยความเพียรพยายามของพระยาภิรมย์ภักดี บริษัทฯ สามารถครองตลาดเบียร์ได้ถึงร้อยละ 40 หลังก่อตั้งบริษัทได้หนึ่งปีครึ่ง

ในปี พ.ศ. 2477 พระยาภิรมย์ภักดีได้นำเอาเบียร์สดใส่ถังไปเปิดให้ผู้คนดื่มฟรีในงานสโมสรคณะราษฎร ปรากฏว่าเป็นที่พอใจกันยิ่งนัก ข่าวได้แพร่สะพัดออกไป มีลูกค้าจับจองสินค้าออกสู่ตลาด จนได้จำหน่ายเบียร์รุ่นแรกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 มีตรายี่ห้อต่างๆ กัน ทั้งตราว่าว ตราพระปรางค์ ตรากุญแจ ตรารถไฟ ตราหมี ปรากฏว่าเบียร์ตราสิงห์ได้รับความนิยมมากที่สุด ต่อมาจึงค่อยๆ หยุดผลิตยี่ห้ออื่นไป จนเหลือเพียงเบียร์สิงห์

ผลการลงทุน

การลงทุนของ พระยาภิรมย์ภักดี ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เป็นโรงเบียร์แห่งแรกในประเทศไทยที่พัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพอยู่เสมอ จนได้ชื่อว่าเป็นโรงเบียร์ที่มีศักยภาพในการผลิตสูงที่สุดคือ พันล้านลิตรต่อปี และเป็นโรงเบียร์ที่ใช้เครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดเพื่อผลิตเบียร์คุณภาพออกสู่ตลาดดจนถึงปัจจุบัน

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เกิดเมื่อวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 บิดาชื่อกลั่น มารดาชื่อ ผึ้ง นามเดิมของท่านคือ ปั้น สุขุม มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 5 คน (ท่านเป็นคนสุดท้อง)

เจ้าพระยายมราช เป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทยอีกบุคคลหนึ่ง เนื่องจากท่านได้สร้างคุณงามความดีแก่บ้านเมือง รวมระยะเวลาที่รับราชการ 43 ปี เป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล อภิรัฐมนตรี เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทั้งยังเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง การประปานครหลวง การไฟฟ้ามหานคร ถนนและสะพานในกรุงเทพมหานครอีกด้วย [3] (เนื่องจากประวัติท่านยาวมากจึงขอกล่าวสั้นๆ แต่เพียงเท่านี้)

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ความสนใจในการลงทุน แหล่งทุน และรายการที่ลงทุน

สืบเนื่องมาจากในปีพุทธศักราช 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง “บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด” ขึ้น ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยผลิตปูนซีเมนต์ใช้เอง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อจัดสรรการใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างคุ้มค่า

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ในฐานะเสนาบดีกระทรวงนครบาล ได้สนองพระราชกระแส ทั้งนี้เห็นว่าขณะนั้นคนไทยยังขาดความรู้ในด้านเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารจัดการ ควรมีชาวต่างชาติมาร่วมทุนด้วย โดยได้แต่งตั้ง มร.ออสการ์ ชูลท์ซ ชาวเดนมาร์กเป็นผู้จัดการใหญ่คนแรกของบริษัท (ดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่ พ.ศ. 2457-2468)

บริษัทนี้มีผู้ร่วมลงทุน คือ พระคลังข้างที่, ชาวเดนมาร์ก และ เจ้าพระยายมราช เริ่มทำการผลิตเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2458 มีกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี นอกจากผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศแล้ว ใน พ.ศ. 2460 ยังได้เริ่มส่งออกปูนซีเมนต์ไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสิงคโปร์ ปีนัง และตอนเหนือของมาเลเซีย

ผลการลงทุน

กิจการปูนซีเมนต์นี้ดำเนินไปได้ด้วยดี และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดมา ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตามสถาณการณ์ทางเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนไป จนกระทั่งพัฒนาการเป็น “เครือซิเมนต์ไทย”(SCG) กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมที่มีประวัติยาวนานที่สุด และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม)

พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม) เป็นบิดาของเจ้าจอมมารดา “อ่วม” ซึ่งเป็นพระมารดาของ “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์” พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยบรรพบุรุษของท่านผู้นี้คือ “หลวงบรรจงวานิช (เหล่าบุ่นโข่ย)” เป็นพ่อค้าที่มาจากจีนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และพระองค์ได้ทรงชุบเลี้ยงไว้

พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ ได้ทำความดีความชอบ ได้สร้างประโยชน์ให้แก่แผ่นดินหลายประการ เช่น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ท่านมียศเป็น “พระภาษีสมบัติบริบูรณ์” เจ้าภาษีฝิ่น ท่านเป็นผู้ยอมซื้อโรงน้ำตาลที่เรียกว่า “โรงน้ำตาลปล่องเหลี่ยม” ที่เมืองนครชัยศรีจากนายทุนชาวยุโรป เพื่อตัดปัญหาที่เจ้าของโรงน้ำตาลชาวยุโรปโกงเงินค้าอ้อย [4]

นอกจากนี้ยังได้ขุดคลองขึ้นโดยชื่อว่า “คลองภาษีเจริญ” ขุดเมื่อรัชกาลที่ 4 แล้วเสร็จในรัชกาลที่ 5 และพระองค์ก็ได้ถวายนามตามชื่อผู้ขุด

ความสนใจในการลงทุนและแหล่งทุน

ท่านผู้นี้สนใจการลงทุนนานแล้วไม่ต่างกับ พระยาภิรมย์ภักดี ส่วนแหล่งทุนของท่านก็ได้มาจากทรัพย์ส่วนตัวที่ได้สะสมมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็น ขุนปักษาไสยวานิชนาย อากรรังนกในสมัยรัชกาลที่ 4 และเลื่อนเป็นพระภาษีเจริญ จะเห็นได้ว่าพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ เป็นเจ้าสัวมาแต่เดิมแล้ว เนื่องจากท่านเป็นเจ้าภาษีมาก่อน ดังนั้นจึงอาศัยทุนจากภาษีและทรัพย์ของท่าน เช่น ภาษีฝิ่น รายได้จากโรงน้ำตาล เป็นแหล่งทุนในการลงทุนเปิดกิจการต่างๆ ของท่าน

รายการที่ลงทุน

การลงทุนของท่านมี โรงน้ำตาล ที่ท่านซื้อมาจากนายทุนชาวยุโรป และเรือไฟเจ้าพระยา ที่ถือเป็นเรื่องเด่นของท่านในการลงทุนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ในสมัยนั้น กล่าวว่า

“…อนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่า เรือกลไฟในกรุงเทพนี้เป็นเรือเล่นโดยมาก, มิได้มีประโยชน์ตามที่สมควรจะมี, แต่เรือไวกองต์แกนลำหนึ่ง, เรือเจ้าพระยาลำหนึ่ง, เรือสองลำนี้ได้การดีมีประโยชน์แก่เมืองมาก. แต่เรือเจ้าพระยาได้การยิงนัก. ทำให้เมืองสิงคโปร์เข้ามาใกล้กับกรุงเทพ เป็นทางแค่ 4 วัน 5 วันเสมอ. แต่ก่อนเป็นทาง 15 วันบ้าง 30 วันบ้าง 20 วันบ้าง, หากำหนดการแน่นอนไม่ แต่ทุกวันนี้เป็นที่กำหนดได้แม่นยำดีนัก, ชาวประเทศยุโรปและประเทศอเมริกา, ที่ได้มาพึ่งอาไสยกรุงเทพ มีใจขอบคุณ ท่านเจ้าของเรือเจ้าพระยาเป็นอันมาก. ขอให้การของท่านนี้ได้จำเริญยิ่งขึ้นไป, มิได้หยุด. เทอญ.” [5]

จะเห็นได้ว่าเรือกลไฟของท่านมีประโยชน์ในการคมนาคมอย่างมาก นอกจากนั้นก็มีการขุดคลองดังที่กล่าวมาแล้ว

ผลการลงทุน

ตลอดการลงทุนในช่วงชีวิตท่านถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับดี แต่เรื่องราวของพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ ในช่วงหลังนั้นไม่ปรากฏหลักฐานการลงทุนใดในบั้นปลายชีวิต รู้แต่ว่าผู้ที่สืบทอดกิจการคือ หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) กรมท่าซ้าย บุตรของท่านเอง และเรื่องราวของสายตระกูลท่านเองซึ่งไม่ค่อยจะเกี่ยวกับการลงทุนเท่าใดจึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้

จากการยกตัวอย่างการลงทุนของขุนนางสยาม ทั้ง พระยาภิรมย์ภักดี เจ้าพระยายมราช และ พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ เราอาจสรุปว่าจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น เกิดการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

การลงทุนของขุนนางนั้นบางท่านก็มีความชำนาญในการลงทุน หรือบางท่านก็มีชาวต่างชาติและบุคคลอื่นร่วมลงทุนด้วย ดังกรณีของ เจ้าพระยายมราช วิธีการดังกล่าวมีผลให้ธุรกิจของท่านเหล่านี้ไม่ประสบกับภาวะขาดทุนและสามารถดำรงอยู่ได้ และสุดท้ายกิจการของท่านทั้งหลายก็ประสบผลสำเร็จเจริญเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ดูเพิ่มที่ ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. (2555). การลงทุนทางเศรษฐกิจของเจ้านายไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2411-2477). มหาสารคาม : คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์.

[2] ข้อมูลจาก เว็บไซต์ บริษัทสิงห์ คอเปอเรชั่น. เข้าถึงได้ที่ https://www.boonrawd.co.th

[3] ดูเพิ่มที่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) พุทธศักราช 2405-2428. พิมพ์ที่โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[4] เล็ก พงษ์สมัครไทย. (2556). พระญาติราชสกุล กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : มติชน. หน้า 6.

[5] หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ด ปีที่ 1 หน้า 238 ลงเรื่องเรือกลไฟฟ้าในกรุงเทพฯและเอ่ยถึงเจ้าพระยา

อ้างอิง :

เจมส์ ซี อินแกรม(James C. Ingram) (แต่ง). ชูศรี มณีพฤกษ์ และ เฉลิมพจน์ เอี่ยมกมลา (แปล). (2552). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970. กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. (2505). เจ้าชีวิต. พระนคร : คลังวิทยา.

ชัย เรืองศิลป์. (2522). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. กรุงเทพ : ไทยวัฒนาพานิช.

เซอร์ จอห์น เบาว์ริง. (2547) ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม. กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2538). ปากไก่และใบเรือ. กรุงเทพ : อัมรินทร์.

สิริลักษณ์ ศักดิ์เกรียงไกร. (2521). ต้นกำเนิดชนชั้นนายทุนในประเทศไทย (พ.ศ.2398-2453). กรุงเทพ : สร้างสรรค์.

สุนทรี อาสะไวย์. (2530). ประวัติคลองรังสิต: การพัฒนาที่และผลกระทบต่อสังคม พ.ศ.2431-2457. กรุงเทพ : ธรรมศาสตร์

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. (2555). โครงการวิจัย การลงทุนทางเศรษฐกิจของเจ้านายไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 (พ.ศ.2411-2477). มหาสารคาม : คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์.

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. “บทบาทของกรมพระคลังข้างที่ต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจในอดีต (พ.ศ. 2433-2475)” วารสารธรรมศาสตร์ 4, 2 (มิถุนายน 2528): 122-159

หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ด ปีที่ 1 หน้า 238 ลงเรื่องเรือกลไฟฟ้าในกรุงเทพฯและเอ่ยถึงเจ้าพระยา

เล็ก พงษ์สมัครไทย. (2556). พระญาติราชสกุล กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : มติชน.

เอนก นาวิกมูล. (2549). ขุนนางชาวสยาม. กรุงเทพ : แสงดาว.

เว็บไซต์ :

บริษัทสิงห์ คอเปอเรชั่น. เข้าถึงได้ที่ https://www.boonrawd.co.th


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 10 มิถุนายน 2562 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ