เปิดโลกสุราในไทย บันทึกฝรั่งว่าสยามนิยมดื่มแต่น้อย ทำไมกระดกกันอื้อสมัยรัตนโกสินทร์

ร้านขายเหล้าฝรั่งโดยเฉพาะ จะเห็นว่ามีเฉพาะเหล้าประเภทต่างๆ และบุหรี่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าคู่กัน [ไม่ปรากฏปี] (ภาพจาก "สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ")

ข้อเขียนเรื่อง “ตํานานแห่งการเสพสุรา” เป็นบทคัดย่อจากงานศึกษาค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์การบริโภคสุราในประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการระบาดวิทยา อันมีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธานดําริให้ศึกษาทบทวนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับความเป็นมาของการเสพสุราในสังคมไทย เพราะเหตุว่ายังมีหลายปัจจัยที่ไม่สามารถสรุปว่าอะไรเป็นปัจจัยหลักเพื่อแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาการบริโภคสุราในสังคมไทยต่อไป

การศึกษาเรื่องนี้เป็นเรื่องยากเพราะยังไม่มีผู้ใดค้นคว้ามาก่อน ทางคณะกรรมการระบาดวิทยาจึงได้อาราธนาให้พระไพศาล วิสาโลเป็นผู้ทําการศึกษา โดยมีนางสาวนงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ เป็นผู้ช่วยดําเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 โดยศึกษาจาก 2 ทางคือ การค้นคว้าเอกสารข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ และการสัมภาษณ์จากผู้รู้ อาทิ ส. ศิวรักษ์, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีศักร วัลลิโภดม และ ส. พลายน้อย เป็นต้น

เอกสารฉบับจริงมีความยาวกว่า 200 หน้า…อย่างไรก็ตาม ทางกองบ.ก. “ศิลปวัฒนธรรม” เห็นว่า งานศึกษาเรื่องดังกล่าวมีประเด็นน่าสนใจหลายประการที่สมควรสรุปมาเผยแพร่เพื่อเปิดประเด็นถกเถียงในวงวิชาการให้กว้างขวางออกไป จึงได้นําบทคัดย่อที่ น.ส.นงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ สรุปไว้ โดยที่พระไพศาล วิสาโล เห็นชอบด้วยทุกประการมาตีพิมพ์เป็นกรณีพิเศษ


การผลิตสุราเป็นวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่รู้จักข้าวและมีการทํานาดังปรากฏหลักฐานว่า มนุษย์เอาข้าวมาหมักทําเบียร์ และการที่สุรามีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดจนส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้เสพ จึงเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้สุรามีบทบาทในสังคม 2 นัย คือ บทบาทที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นน้ำอมฤต กับที่เป็นการตําหนิว่าเป็นสิ่งเสพติด แต่ในบางสังคมอาจเป็นทั้งสิริมงคลและสิ่งต้องห้าม บางขณะสุราเป็นยา แต่ก็เป็นโทษ ต่อสุขภาพได้เช่นกัน จึงเป็นทวิลักษณ์หรือมีฐานะอันแย้งขัดกันของสุราซึ่งปรากฏอยู่ในสังคมไทย

ยังไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่า ความเป็นมาของสุรา ในประเทศไทยเริ่มมาแต่เมื่อใด แต่อาจจะอนุมานได้ว่า ผู้คนในดินแดนแถบนี้น่าจะรู้จักสุรามาเป็นเวลานานแล้ว จากข้อเท็จจริงที่ว่าคนในดินแดนแถบนี้รู้จักปลูกข้าวมาไม่น้อยกว่า 5,000 ปี ดังปรากฏหลักฐานที่ถ้ำทุ่งบัง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี หากว่ากันในตํานานสุราของเมืองไทย ก็ล้วนเป็นตํานานที่มาจากภายนอก ซึ่งมีบางส่วนมาจากพระไตรปิฎก ส่วนในตํานานกําเนิดสุราที่เป็นของไทยเราเองนั้นยังไม่พบ สําหรับหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่พูดถึงสุราก็คือ จารึกภาษาเขมรที่ปราสาทพนมรุ้งกล่าวถึง การเซ่นสรวงมีการใช้สุรา

ประเภทสุราที่บริโภค

สุราชนิดแรกที่คนไทยรู้จักคือ สุราแช่ ที่ได้จากการหมักข้าวตามกระบวนการธรรมชาติซึ่งเป็นวิวัฒนาการของสุราทั่วโลกเช่นกัน ส่วนสุรากลั่นนั้น กว่ามนุษย์จะทําได้ก็หลังจากนั้นไม่น้อยกว่า 4,000 ปี โดยเชื่อว่า คนจีนรู้จักกลั่นสุรามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย ส่วนยุโรป แม้ว่าจะรู้จักกลั่นแอลกอฮอล์จากเหล้าไวน์เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 12 แล้ว แต่ผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคอย่างเครื่องดื่มเมื่อราวศตวรรษที่ 17 หรือ 18

สุราแช่ที่คนไทยคุ้นเคยมาแต่อดีต ได้แก่ น้ำตาลเมา หรือกะแช่ ทําจากน้ำตาลสด ซึ่งมาจากมะพร้าวหรือตาล โตนด อุทําจากข้าวเหนียวกล้อง สาโทและน้ำขาวก็ทําจากข้าวเช่นกัน

หลักฐานเก่าที่สุดเท่าที่ค้นพบซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของสุราในประเทศไทยก็คือ บันทึกของชาวจีนที่มากรุงศรีอยุธยาช่วงปี 1950-1952 โดยพูดถึงชาวพื้นเมืองว่า ใช้อ้อยมากลั่นเป็นสุรา อย่างไรก็ตาม บันทึกนี้อาจจะคลาดเคลื่อนได้ เพราะยังไม่พบว่าคนไทยกลั่นสุราจากอ้อย

อย่างไรก็ตาม ในสมัยพระนารายณ์มหาราช คนไทยรู้จักสุรากลั่นแล้ว ที่เรียกกันทั่วไปว่า “เหล้าโรง” ส่วนฝรั่งเรียก “เหล้าอารัก” ยังมีสุราอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งทําจากข้าว ได้แก่ “สัมชู” (Samshoe) มีดีกรีแรงมาก

ภายหลังเมื่อคบค้ากับตะวันตกมากขึ้นแล้ว คนไทยก็รู้จักสุราแช่ สุรากลั่นชนิดต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ไวน์หรือเหล้า องุ่น เบียร์ แชมเปญ วิสกี้ บรั่นดี

การบริโภคสุราในพิธีกรรม

การใช้สุราในพิธีกรรมเป็นพฤติกรรมที่ปรากฏในเกือบทุกวัฒนธรรมและทุกสังคม เช่น จีน อินเดีย รวมถึงคริสต์ ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกด้วย และก็มีในไทยด้วยเช่นกัน สาเหตุที่ใช้สุราในพิธีกรรม ก็เพื่อเช่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าทั้งผีเทวดานั้นชอบสุรา เพื่อให้เกิดภาวะทางจิตแบบเหนือสามัญ เพราะขณะมึนเมามีสภาพจิตประหนึ่งประสบสภาวะลึกล้ำทางจิตวิญญาณสามารถติดต่อกับเทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทําให้เกิดฤทธิ์ เกิดญาณ นอกจากนี้ ยังใช้สุราเพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วยความเชื่อว่าผีและเทวดา ชอบสุรา งานพิธีต้องการความผาสุกสวัสดีจึงต้องมีสุราเป็นส่วนประกอบ ในบางสังคม เช่น กะเหรี่ยง ถือว่าข้าวเป็นของ สูงและมีการใช้สุราในประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ

พิธีกรรมที่มีสุรา ได้แก่

1. พิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความเชื่อเรื่องเทวดาหรือผีว่ามีอํานาจดลบันดาลให้เกิดสุขทุกข์ได้ จึงมีพิธีกรรมในโอกาสต่าง ๆ ของชีวิตที่เรียกว่า “ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต” และเทศกาลสําคัญสําหรับชุมชนเรียกว่า “ประเพณี เกี่ยวกับเทศกาล” โดยมีสุราเกี่ยวข้องด้วย

ก. พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต เช่น พิธีแต่งงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องเซ่นผีปู่ย่าตายาย หรือผีเหย้าผีเรือนของเจ้าสาว มีในทุกภาค และแม้แต่ชนกลุ่มน้อย เช่น ชนชาติภูไทย โดยใช้สุราเป็นขันหมาก

ผีเรือนมีบทบาทในวัฒนธรรมความเป็นอยู่ตามความเชื่อ ดังนั้น การทําผิดข้อห้าม เช่น จับต้องผู้หญิงที่มิใช่คู่ครองจะต้องขอขมาโดยทําพิธี “เสียผี” มีสุรารวมอยู่ด้วย และยังใช้แก้ไขความเจ็บป่วยอย่างเช่นในภาคอีสานมีพิธีร้องหรือเสียว บางครั้งรักษาโรคด้วยการเช่นผีโดยการเรียกว่า “แต่งแก้” หรือ ใช้ในพิธีเรียกขวัญสําหรับผู้ป่วย หรือบางกรณีที่มีการปล่อย ช้าง ม้า วัว ควาย ไปเหยียบย่าลานข้าว หรือกินเมล็ดข้าวของผู้อื่นก็ต้องน่าสุราไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบายศรีขวัญข้าวในการเช่นสรวงที่อีสานจะกระทําต่อผีที่สามารถให้คุณและโทษแก่มนุษย์เท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่เคยให้คุณแก่มนุษย์เลย เช่น ผีโพง ผีกะ (ปอม) ผีเป้า (ผีกระสือ) จะไม่มีการเช่นสรวงเลย

มีบางกรณีที่เป็นเรื่องพิเศษ เช่น การปลุกเสกเครื่อง รางของขลัง ในขุนช้างขุนแผนชี้ให้เห็นว่าสุราเป็นสิ่งจําเป็นในพิธีดังกล่าว แม้กระทั่งเวลาจะเข้าปล้น หลังจากสังเวยเทวดาและไหว้ครูแล้วก็ดื่มสุรา การทรงเจ้าก็ต้องใช้สุราเช่น

แต่ก็มีบางพิธีกรรมที่แม้จะเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มิได้ใช้สุรา เช่น พิธีขอขมาเจ้าปู่เจ้าบ้านเช่นที่จังหวัดพิษณุโลก พระภูมินา (ผีตาแฮก) ชาวบ้านจะมาเช่นไหว้ก่อนฤดูทํานา พิธีทําขวัญเสา พิธีเชิญขวัญข้าวหรือขวัญแม่โพสพ พิธีสังเวย พระภูมิเจ้าที่ พิธีทําขวัญและโกนผมไฟเด็ก พิธีโกนจุกและพิธีรับขวัญ ไม่ปรากฏว่ามีสุราในพิธี เพราะเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางประเภทไม่นิยมสุรา

ข. พิธีกรรมเกี่ยวกับเทศกาลในภาคอีสาน เทศกาลสําคัญจะทําพิธีเลี้ยงผีปู่ตาเพื่อให้ช่วยคุ้มครองป้องกันภัยคนในหมู่บ้าน บางแห่งก็มีพิธีเลี้ยงให้เลี้ยงแถนหรือผีบรรพบุรุษจะมีสุราอยู่ด้วย

2. พิธีกรรมทางสังคม พิธีกรรมที่ต้องการเน้นย้ำเจตนาหรือข้อตกลงและเป็นสิริมงคล เช่นพิธีสาบานเป็นมิตร ดื่มเหล้าโรงชนิดเดียวกันในถ้วยใบเดียวกัน ในภาคอีสานมีการอวยชัยให้พรเรียกว่า “การปายเหล้า” กล่าวให้พรเป็นร้อยกรอง ซึ่งรับอิทธิพลจากลัทธิถือผีหรือลัทธิพราหมณ์ เข้าใจว่ามีก่อนที่พุทธศาสนาจะแพร่เข้ามา เพราะพุทธศาสนาปฏิเสธสุราเมรัยทุกชนิด จึงเป็นการประสมประสานเมื่อพุทธศาสนาเข้ามา อย่างในขุนช้างขุนแผน โจรจะสวดนโมสามจบแล้ว จึงกล่าวคาถาชุมนุมเทวดาก่อนเข้า ดังนั้น แม้ว่าพุทธศาสนาแพร่เข้ามาแล้ว บทบาทของสุรายังคงอยู่ในพิธีกรรมเดิม

การบริโภคสุรานอกพิธีกรรม

แบ่งออกเป็น

1. การบริโภคในฐานะที่เป็นยา คนไทยใช้สุราเพื่อผลในทางเภสัชใน 3 ลักษณะ

ก. เข้าเหล้า คือการนํายามาผสม หมักแซ่ หรือดองกับสุรา เพราะแอลกอฮอล์สกัดหรือละลายตัวยาได้ ทําให้ตัวยาออกฤทธิ์ดีขึ้น และเก็บได้นานกว่ายาต้ม และเชื่อว่าใช้บํารุงร่างกาย บํารุงโลหิต บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร และสําหรับสตรีหลังการคลอด ช่วยขับน้ำคาวปลา และทําให้ประจําเดือนมาปกติ นอกจากนี้ยังใช้ทาภายนอก โดยผสมกับยา เช่น ทาสะดือ ทาท้อง และ ทาหลัง หรือไม่ก็เอาน้ำผสมสุราและการบูรทาให้ทั่วตัวก่อนเข้ากระโจมอยู่ไฟ

ข. ล้างแผล คนไทยโบราณจึงนิยมใช้สุราทาแผล

ค. กินเปล่า ๆ เชื่อว่าทําให้กระปรี้กระเปร่าและแก้ปวดเมื่อย เช่นผู้ใช้แรงงานนิยมกินสักทั้งสองกังหลังงาน บางคนเชื่อว่ารักษาโรคได้ เช่น ฝรั่งที่มาในสมัยรัชกาลที่ 2 ว่า ป้องกันอหิวาตกโรคได้

2. การบริโภคเพื่อระงับความกดดัน โดยมากผู้ที่มักนิยมดื่มสุราผู้เดียวเป็นเพราะความเครียด หรือความบีบคั้นในชีวิต หรือการทํางาน รวมถึงผู้ติดสุราเรื้อรังด้วย

3. การบริโภคในฐานะที่เป็นสื่อทางสังคมในสังคมไทย สุรามีบทบาทต่อสัมพันธภาพจนเป็นส่วนหนึ่งของงานเลี้ยงสังสรรค์ มักกระทําในโอกาสพิเศษ เช่น สงกรานต์ บุญบั้งไฟ งานพิธี เช่น แต่งงาน บวช ปลูกเรือน หรือแม้ แต่การเข้ารีต (ซึ่งเป็นคนละส่วนกับพิธีกรรม) และใช้สุรา ในโอกาสอื่นมากขึ้น เช่น การเลี้ยงต้อนรับหรือฉลองความ สําเร็จ เช่น หลังเสร็จการทํานา หรือใช้ในลักษณะกึ่งพิธีกรรม เช่น การดื่มอวยพร หรือตั้งวงดื่มกันเองเลยก็มี

การบริโภคสุราในอดีต จวบจนต้นยุครัตนโกสินทร์

จากบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยนี้มักกล่าวกันว่า คนไทยแต่เดิมไม่ดื่มสุราเท่าใดนัก ดังในบันทึกของ ลาลูแบร์ แชรแวส และสังฆราชแห่งเบริธ กล่าวกันว่า น้ำบริสุทธิ์เป็นเครื่องดื่มทั่วไปของชาวสยาม ที่นิยมรองลงมาคือน้ำชา ส่วนสุรานั้นมีน้อยมากและเฉพาะคนชั่วร้ายเท่านั้น ซึ่งมีอิทธิพลทางพุทธศาสนาที่ให้งดเว้นจากสุราและสิ่งมึนเมา ศีลข้อสําคัญข้อหนึ่งซึ่งมีปรากฏในพระไตรปิฎกคัมภีร์ต่าง ๆ ของพุทธศาสนาก็เช่นกัน ส่วนที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมากที่สุดคือ ไตรภูมิพระร่วง นอกจากนี้คําสอนในวรรณกรรมท้องถิ่นมากมาย ทั้งในอีสานและภาคใต้ได้ส่งผลต่อค่านิยมเกี่ยวกับความดี เช่น ผู้ชายที่ดีที่ควรเลือกเป็นคู่ครองคือคนที่ถือศีล 5 ดังปรากฏในขุนช้างขุนแผนก็กล่าวถึง หรือในสุภาษิตสอนหญิงของ “สุนทรภู่” ก็สะท้อนทัศนคติเดียวกัน

ทั้งนี้ การบริโภคสุรามีเงื่อนไขที่จํากัด ซึ่งขึ้นอยู่กับกรณี

หญิงมีครรภ์ แม้ว่าแพ้ท้องแต่อยากกินสุรา ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ดังในขุนช้างขุนแผน ตอนที่นางเทพทองตั้งครรภ์อยากกินสุรา

โอกาส เทศกาลและงานเลี้ยงกินสุราได้ เช่น งานสงกรานต์ บุญบั้งไฟ ฉลองแต่งงาน โกนจุก ปลูกเรือน ขึ้นบ้านใหม่ หรือแม้แต่วันเทศกาล เช่น วันตรุษ วันสารท ถือว่าเปิดโอกาสให้ได้ “เล่นสนุก” ผ่อนคลายและมีอิสระ กฎหมายสามารถประพฤติบางอย่างโดยไม่ถือว่ามีความผิดหรือเอาโทษกัน เช่นในอีสาน ประเพณีบุญบั้งไฟ อนุญาตให้ผู้หญิงและเด็กวัยรุ่นเมาได้ ผลิตสุราเถื่อน ตํารวจหรือสรรพสามิตก็ไม่จับ

สถานะ ราษฎรสามัญบริโภคสุราได้บ้าง แต่ห้ามเด็ดขาดสําหรับเจ้านายและขุนนางในสมัยอยุธยา แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถควบคุมการบริโภคสุราในหมู่เจ้านายและขุนนางได้ กษัตริย์บางองค์ถึงกับมีชื่อว่าเมาเป็นอาจิณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯจึงทรงตราพระราชกําหนดใหม่ว่า ผู้ใดยังเสพสุราจะต้องโทษให้เป็นไพร่ และสักหน้าผาก ทรงกําหนดให้มีการสมาทานถือศีล 8 เป็นพิเศษในวันพระที่ไม่ทรงสั่งห้ามราษฎรมิให้เสพสุราด้วยอาจเป็นเพราะว่า ราษฎรยังบริโภคกันไม่มากนัก หรือเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะห้าม หรืออาจเป็นที่มาแห่งรายได้แผ่นดินก็ได้

ที่มาของสุรา สุรามีที่มา 2 ทาง คือ ทําเองและซื้อที่ชาวบ้านทําได้แก่ สุราแช่เป็นหลัก แต่อาจทําเป็นบางฤดูกาล เช่นที่ภาคอีสานทําในช่วงฤดูว่างงานคือหน้าแล้ง และข้าว ในสมัยก่อนยังมีไม่มาก ชาวบ้านปลูกข้าวพอกิน อีกชนิดหนึ่งคือสุรากลั่น เดิมมิใช่ของพื้นบ้าน (ชื่อ “เหล้าโรง” ก็บ่ง บอกแล้ว) เป็นสุรามาจากโรงงาน เชื่อว่าจีนเป็นชาติแรกที่ทําสุรากลั่นมายังเมืองไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีคนจีนผูกขาดทั้งการกลั่นและการขายเป็นส่วนใหญ่ โรงสุราอยู่ในเขตชุมชนจีน คนจีนที่กลั่นสุราก็เลี้ยงหมูพร้อมกันไปด้วย ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นชาวจีน คนไทยที่กินเหล้าโรงก็มีอยู่ไม่น้อยแต่ไม่มากเท่าชาวจีน ยังมีสุราอีกประเภทหนึ่งที่คนไทยบริโภคไม่มาก คือ เหล้าองุ่น มาจากเปอร์เซียหรือยุโรป เพราะแพง

นโยบายของรัฐแม้สุราเป็นสิ่งต้องห้ามในพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ก็ทรงห้ามเจ้าขุนมูลนาย (ในทางนิตินัย) ส่วนราษฎรนั้นอนุญาตให้บริโภคสุราได้ โดยมีจารีตประเพณีเป็นตัวควบคุม รัฐปล่อยให้มีการบริโภคและผลิตสุราโดยเสรี มิได้เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด จนกระทั่งสมัยพระเจ้าปราสาททองจึงมีการเก็บ”อากรสุรา” ทั้งจากผู้ผลิตและผู้ขาย ต่อมาในสมัยพระนารายณ์กําหนดพิกัดอากรสุราไทย

เหตุผลการเก็บอากรสุรานั้น มองได้ 2 แง่ คือ เพื่อเหนี่ยวรั้งการบริโภคและผลิตสุรามากเกินไป ราคาสุราที่สูงขึ้นจะทําให้คนบริโภคน้อยลง อีกแง่หนึ่งคือ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แผ่นดิน ซึ่งก็มักมีเหตุผลทั้ง 2 ประการนี้ร่วมเป็นข้อสนับสนุนการเก็บอากรสุราโดยรัฐ แต่บางกรณีกลับไปด้วยกันไม่ได้

การเก็บอากรสุราสมัยพระนารายณ์ (และหลังจากนั้น) คงมุ่งที่การหารายได้มากกว่า เพราะนอกจากการเก็บตามจํานวนเตาที่ต้มกลั่นสุราแล้ว ยังเก็บอากรสุราเรียงตัวคน (ชายฉกรรจ์) คนละ 1 บาท ทุกครอบครัว (สําหรับเมืองที่ไม่มีเตาต้มกลั่นสุรา) ไม่ว่าเขาจะต้มเหล้าหรือไม่ เท่ากับสนับสนุนให้คนต้มสุรา เพราะหากไม่ต้ม ก็เท่ากับเสียเงินไปเปล่า ๆ จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายเปลี่ยนเป็นระบบเจ้าภาษีนายอากร ให้เอกชนประมูลสิทธิในการผูกขาดการเก็บภาษีอากรเป็นรายปีตามอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้ นายอากรสุรามีรายได้จากการเก็บภาษีจากราษฎรที่ผลิตและจําหน่ายสุรา ในท้องที่ที่ตนประมูลได้ และยังมีรายได้สําคัญอีกส่วนหนึ่งจากการต้มกลั่นและจําหน่ายสุราเอง โดยได้รับสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว และยังมีสิทธิในเรื่องจับกุมผู้ผลิตและจําหน่ายสุราเถื่อนด้วย ที่รัฐให้นายอากรสุรารับผูกขาดนั้น ก็เพื่อรายได้จํานวนแน่นอนกว่าแต่ก่อน และไม่ต้องมีภาระเรื่องสุราเถื่อน

แม้ว่าการตั้งนายอากรสุราในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อมีรายได้สําหรับใช้จ่ายในกิจการแผ่นดิน แต่ระบบนายอากรก็เป็นเครื่องมือที่จะสามารถใช้ควบคุมการบริโภคสุราของประชาชนด้วย เพราะถ้ามีสุราจําหน่ายมากเกินไปจะทําให้ราคาถูกลง ซื้อหาได้ง่าย และ ควบคุมจํากัดเขตการผลิตและจําหน่ายสุราได้ด้วย

การเสพสุรา ในสมัยรัชกาลที่ 3-5

หลังจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา การค้าสุราซบเซาลงไป ประชาชนอดอยากยากจนกันมาก จนพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องจ่ายพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารเลี้ยงราษฎร การผลิตและจําหน่ายสุราอย่างเป็นล่ำเป็นสันมาเริ่มอีกทีในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีการสร้างโรงงานบางยี่ขัน โดยนายอากรสุรา รายได้รัฐเพิ่มขึ้นจนถึงสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การบริโภคสุราจนมึนเมาได้แพร่หลายมากขึ้นในหมู่คนไทย ชาวต่างชาติเริ่มเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ปาลเลกัวซ์ พบว่า มี “คนขี้เมาและเด็กกลางถนนเป็นอันมาก” และปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทชกตีกันตามถนน และในเขตบ้านเรือนผู้อื่น จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกประกาศห้ามก่อเหตุนอกบ้านเรือนของตน ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจาก

การอพยพของชาวจีน ตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยามีมากขึ้นเรื่อยมาเพราะภาวะแร้นแค้นในประเทศจีน คนจีนอพยพมาอยู่ในกรุงเทพฯและตามหัวเมือง ทําให้การผลิตและจําหน่ายสุรากลั่นขยายตัวทั้งในด้านปริมาณและท้องที่ เมืองที่มีคนจีนมักพบว่ามีโรงกลั่นสุราตั้งอยู่ด้วย กลุ่มบุคคลที่บริโภคสุรามากที่สุด คือกุลีจีน สมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนที่อพยพมาเป็นแรงงานมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนทําให้รัฐมีรายได้จากสุราเป็นอันมาก การที่สุราแพร่หลายมากับคนจีนเป็นผลให้คนไทยในท้องถิ่นเข้าถึงและหาซื้อสุราได้ง่ายกว่าแต่ก่อน

การหลั่งไหลของสุราต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2398 การทําสัญญาบาวริง ตลอดจนสัญญาที่ทํากับประเทศตะวันตกในเวลาต่อมาเกี่ยวกับเรื่องการค้า ได้ระบุยกเลิกการค้าผูกขาดโดยรัฐ ยกเว้นสินค้าต้องห้ามบางชนิด มีความเข้าใจต่างกันในเรื่องสินค้าต้องห้าม ไทยถือว่าอาวุธ ปิ่น รวมทั้งสุราต่างประเทศ เป็นสินค้าต้องห้าม แต่ต่างประเทศไม่นับรวมด้วย จึงมีการนําสุราต่างประเทศเข้ามาเป็นจํานวนมาก โดยยอมเสียภาษีขาเข้าร้อยชักสามเช่นเดียวกับสินค้าชนิดอื่น

เมื่อเสียภาษีแล้วก็ใช้อ้างสิทธิที่จะนําสุราออกขายได้ การจําหน่ายสุราต่างประเทศได้กลายเป็นปัญหาการเมือง เพราะนายอากรสุราได้จับกุมพ่อค้าต่างประเทศและลูกจ้างที่นําสุราออกขาย โดยถือว่าเป็นการลักลอบขายสุราเถื่อน

การหลั่งไหลสุราต่างประเทศเข้ามาโดยเสียภาษีเพียง ร้อยละ 3 และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ขณะที่เหล้าโรงที่ผลิตในประเทศถูกรัฐบาลควบคุมทั้งการผลิตและราคา และเรียกผลประโยชน์จากนายอากรสุราสูงทําให้ราคาแพงกว่าสุราต่างประเทศ เป็นเหตุให้ประชาชนนิยมซื้อ ผลที่ตามมาคือ การบริโภคสุราจนมึนเมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

รัฐบาลไทยได้พยายามเจรจากับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ใช้เวลาหลายปีจนสําเร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2429 ทําให้รัฐบาลไทยสามารถควบคุมการค้าสุราต่างประเทศได้ โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติอากรขึ้นใน จ.ศ. 1248 (พ.ศ. 2429) ซึ่งผลปรากฏว่าสุราต่างประเทศนําเข้ามาได้น้อยลง ประชาชนนิยมน้อยลง แต่กลายเป็นความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงมากขึ้น ในการสมาคมกับชาวยุโรป ใช้เป็นสิ่งต้อนรับของเจ้าขุนมูลนายด้วย

นโยบายของรัฐบาลทางด้านสุรา ปัจจัยประการหนึ่งก็คือ นโยบายอากรสุราซึ่งมีความเด่นชัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเก็บภาษีอากร โดยจัดเก็บภาษีอากรชนิดใหม่และเน้นชนิดที่เคยจัดเก็บเดิมให้มากขึ้น เช่น อากรสุราด้วย การปรับปรุงนี้ส่งผลให้รัฐสมัยนี้มีรายได้มากกว่ารัชกาลที่ 2 เกือบ 11 เท่า และอากรที่ทํารายได้ให้แก่รัฐเป็นจํานวนไม่น้อย ได้แก่ อากรสุรา

นโยบายที่ถือว่ารายได้แผ่นดินสําคัญกว่าการควบคุมการเสพสุราได้รับการสืบทอดในสมัยต่อมาซึ่งมักแก้ปัญหารายจ่ายแผ่นดินด้วยการหารายได้จากอากรสุรา พร้อม ๆ กับมุ่งส่งเสริมให้บริโภคสุราของรัฐ

การเสพสุราสมัยรัชกาลที่ 6 จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

รัฐบาลได้เริ่มใช้นโยบายใหม่ คือยกเลิกการให้สิทธิผูกขาดแก่นายอากรสุรา โดยรัฐจัดเก็บภาษีสุราเอง เพราะเหตุว่าระยะหลังรายได้ตกต่ำ นายอากรไม่ส่งเงินให้รัฐตามจํานวนเงินที่ประมูลได้ วิธีใหม่นี้รัฐได้จัดเก็บภาษีสุราเป็นมณฑล ทําให้การจําหน่ายสุราแพร่ไปได้ไกลและสะดวกขึ้น ปรากฏว่าปีแรกสุราขายดีมาก กล่าวได้ว่าการส่งเสริมการจําหน่ายสุราให้ได้มากที่สุด เป็นนโยบายที่เด่นชัดของรัฐบาล เช่น ให้ผลตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในด้านความก้าวหน้าทางตําแหน่ง และเอกชนที่ขายเกินสัญญา เป็นต้น ซึ่งน่าจะบ่งชี้ว่า จุดหมายหลักของรัฐ คือ เพื่อเพิ่มรายได้แผ่นดินให้มากขึ้น มิได้มุ่งควบคุมหรือลดการบริโภคสุราของประชาชน (แม้การแก้ปัญหาสุราเถื่อน รัฐเกรงรายได้ลดลงก็ใช้วิธีการที่สําคัญ คือ การสร้างอุปสงค์อุปทานทางด้านเหล้าโรงให้มากขึ้น ทั้งโดยการส่งเสริมให้มีร้านค้ามากขึ้น เพื่อหาซื้อได้ง่าย การปรุงรสชาติให้ดีกว่าสุราเถื่อน และการกําหนดราคามิให้สูงนัก ทําให้ยอดจําหน่ายสุรารัฐบาลสูงขึ้นเป็นลําดับ)

แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สุราโรงราคาแพงขึ้น สุราเถื่อนจึงแพร่ระบาดใหม่ จนยอดจําหน่ายสุรารัฐบาลตกลง

จนถึงปี 2470 กรมสรรพสามิตเริ่มผลิตเอง ณ โรงงานบางยี่ขัน ยอดจําหน่ายจึงสูงขึ้นเรื่อยมา และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง โรงงานกลั่นเบียร์โดยเอกชนจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยมา

แต่อย่างไรก็ตาม แบบแผนการเสพสุราของคนไทยในชนบท ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากอดีต กล่าวคือ ยังบริโภคเป็นครั้งคราวในเวลาที่มีเทศกาลงานนักขัตฤกษ์ ไม่ได้บริโภคพร่ำเพรื่อ

การบริโภคสุรายุค 90s

การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เปรียบเสมือนการ เริ่มต้นของยุคใหม่แห่งการบริโภคและการจําหน่ายสุราในประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งตามมาหลังจากนั้น มีผลอย่างมากต่อทัศนคติและการขยายตลาดสุราให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ว ทุก 10 ปี รายได้จากภาษีสุราจะเพิ่มเป็น 3 เท่าตัว ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสุราของรัฐและเอกชนกว่า 40 โรงงาน มีปริมาณการขาย 613 ล้านลิตร (พ.ศ. 2533) ไม่นับสุราต่างประเทศที่นําเข้ารวม 14 ล้านลิตร

อาจกล่าวได้ว่า นับแต่อดีตเป็นต้นมา ไม่เคยมียุคใดที่คนไทยบริโภคสุรามากเท่ายุคนี้ (90s) การบริโภคสุรามิได้จํากัดอยู่เฉพาะในพิธีกรรม หรือในช่วงเทศกาล หรือเมื่อมีโอกาสพิเศษเท่านั้น สุราถูกนํามาใช้เป็นเครื่องดื่มได้ในทุกโอกาส ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเอาสุราเข้ามาบริโภคกัน การที่คนไทยบริโภคสุรากันมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทําให้กิจการสุราเป็นที่สนใจของนักธุรกิจจํานวนมาก รวมทั้งเป็นตลาดสุราต่างประเทศด้วย

จวบจนปัจจุบัน สําหรับสุราเถื่อนแล้ว ยังได้รับความนิยมจากประชาชนในชนบท จึงยังเป็นปัญหาให้รัฐอยู่นั่นเอง แม้จะมีการปราบปรามอย่างมากมาย นโยบายของรัฐในด้านสุราจึงเน้นที่การควบคุมการบริโภคสุราเถื่อน โดยพยายามเปลี่ยนให้หันมาบริโภคสุราของรัฐแทน ซึ่งรัฐให้ความสําคัญยิ่งกว่าการควบคุม หรือลดการบริโภคสุราเสียอีก ส่วนมาตรการหลัก ๆ ที่รัฐใช้มีเพียงมาตรการเดียวเท่านั้นที่พอจะกล่าวได้ว่า เป็นไปเพื่อควบคุมการบริโภคสุราของประชาชน ได้แก่ การผูกขาดการผลิตสุรา

ส่วนใหญ่ที่รัฐต้องการคือมุ่งควบคุมสุราเถื่อนหรือหารายได้เข้ารัฐ โดยใช้มาตรการการขยายการค้าสุราสู่ท้องถิ่น การเพิ่มปริมาณการผลิตและจําหน่ายสุราให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การจํากัดเขตจําหน่ายสุราเพื่อมิให้สุราเข้าไปในเขตที่มีการบริโภคสุราอย่างหนาแน่น ซึ่งอาจมีผลให้ท้องที่ห่างไกลเกิดภาวะขาดแคลนสุรา อันเป็นการผลักดันให้ผู้คนหันไปหาสุราเถื่อน นับเป็นมาตรการที่ไม่ช่วยลดการบริโภคได้เลย ซ้ำกลับจะเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อสุราซื้อหาได้ง่ายทุกท้องถิ่นแม้ในที่ห่างไกล ผู้ซื้อย่อมมิได้มีจําเพาะผู้ที่เคยบริโภคสราเถื่อนเท่านั้น หากยังรวมถึงผู้ที่ไม่เคยบริโภคสุรามาก่อน ด้วย นอกจากนั้น การที่รัฐมุ่งแสวงหารายได้จากภาษีสุราให้ได้มากที่สุดด้วยการให้สิทธิการผลิตหรือการขายจําเพาะแก่ผู้ให้ผลประโยชน์สูงสุด และด้วยการกําหนดจํานวนภาษีขั้นต่ำที่จะต้องจ่าย เป็นการผลักดันให้ผู้ชนะประมูลต้องพยายามขายสินค้าของตนให้ได้มากที่สุด เพื่อคุ้มค่ากับการลงทุน

ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ นโยบายเพิ่มปริมาณสุราในท้องตลาดนั้น ใช้กับสุราทุกประเภทที่ผลิตในประเทศ หากว่ารัฐมุ่งเพิ่มจําเพาะสุราขาว ก็ยังอาจมีผลดีคือ เป็นการบีบสุราเถื่อนให้ออกจากท้องตลาด เนื่องจากสุราขาวมีรสชาติและราคาที่สอดคล้องกับชาวชนบทซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของสุรา เถื่อน แต่การพยายามเพิ่มปริมาณสุราประเภทอื่นเช่นแม่โขง หรือบรั่นดีอย่างไม่มีขีดจํากัด ไม่สามารถอ้างได้ว่าเพื่อลดการบริโภคสุราเถื่อนได้เลย เพราะเป็นผู้บริโภคคนละกลุ่ม เหตุผลในการขยายการผลิตมีเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ

นอกจากนโยบายทางด้านสุราของรัฐบาลแล้ว ยังมีเหตุปัจจัยอีกมากมายหลายประการที่ส่งผลโดยตรงต่อแบบแผนการเสพสุราของคนไทย ที่สําคัญได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการขยายตัวของสังคมเมือง การเสื่อมอิทธิพลของประเพณีและสถาบันทางศาสนา ในขณะที่สื่อสารมวลชน และระบบบริโภคนิยมเข้ามามีบทบาทแทนความเครียดทาง จิตใจและความร้าวฉานโดดเดี่ยวทางสังคม การแพร่ขยาย ของระบบเงินตรา และการพึ่งพาผูกพันกับเศรษฐกิจโลก เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลต่อการขยายตัวของการเสพสุราในประ เทศไทย

ปัจจุบัน คาดว่ามีคนบริโภคจนติดสุราประมาณ 5-6 แสนคน และที่ดื่มเป็นครั้งคราวนับล้าน ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ข้อใหญ่ ๆ คือ

1. ปัญหาอุบัติเหตุ สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศที่สําคัญได้แก่ อุบัติเหตุจราจร ซึ่งมีสาเหตุมาจากสุรา ปี พ.ศ. 2530 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุท้องถนนรวม 586,625 ราย พบว่าร้อยละ 62 ดื่มสุราก่อนขับขี่ยานพาหนะ

2. ปัญหาสุขภาพ ปี พ.ศ. 2531 จากสัดส่วนผู้ได้รับอุบัติเหตุเพราะการบริโภคสุรา จํานวนร้อยละ 60 โดยสุราเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียค่ารักษาพยาบาลประมาณ 240 ล้านบาท นอกจากทําให้เกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังก่อโรคต่าง ๆ เป็นตับแข็ง มะเร็งในตับ ไตพิการ มะเร็งหลอดอาหาร

ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม ลําไส้อักเสบ และโรคจิต ซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบมากในหมู่ผู้ดื่มสุรา และขยายไปถึงการสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากตายก่อนวัยอันควร คิดเป็นมูลค่าถึง 12,000 ล้านบาท การสูญเสียเนื่องจากความพิการ การขาดงาน หรือผลิตภาพตกต่ำเพราะสุรา หากคิดใน ระดับประเทศ รวมแล้วนับเป็นมูลค่าจํานวนมหาศาล

3. ปัญหาสังคม เช่น ปัญหาครอบครัว รวมถึงการวิวาทและหย่าร้าง และปัญหาอาชญากรรม นับเป็นความรุนแรงที่อาจจะเรียกว่าเป็นความวิกฤตทางสังคมเลยก็ว่าได้

แบบแผนการบริโภคสุรา ในปัจจุบัน (90s)

ในปัจจุบัน แบบแผนการบริโภคสุราในสังคมไทยจากดั้งเดิมที่บริโภคอยู่ในเงื่อนไขที่จํากัดเป็นบางโอกาส เช่น พิธีกรรม งานสังสรรค์ โดยไม่เมามายจนก่อความรําคาญ ทะเลาะวิวาท ลวนลามผู้หญิง สังคมช่วยควบคุมไปในตัว ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นการบริโภคสุราอย่างเสรีปราศจากข้อกําหนดที่บ่งชี้ว่าขอบเขตการบริโภคสุราอยู่ ณ จุดใด แม้จะมีกฎหมายห้ามพฤติกรรมบางประเภทของผู้บริโภคสุรา แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือหรือเป็นที่เคารพของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้บริโภคเองหรือบุคคลทั่วไป สุราสามารถบริโภคได้ในทุกโอกาส โดยไม่มีการแทรกแซงหรือควบคุม (sanction) จากสังคม หากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐก็ไร้ประสิทธิภาพ และมักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หากพิจารณาปัจจัยที่นํามาสู่แบบแผนการบริโภคสุราในปัจจุบัน มีดังนี้

1. อิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอก กระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมข้ามชาติมีอิทธิพลให้การบริโภคสุราของประเทศต่าง ๆ ขยายตัวขึ้น และเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในยุคใหม่ ซึ่งมีการสื่อสารถึงกันมากขึ้น โดยที่วัฒนธรรมจีนนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อการบริโภคสุราของคนไทยในระดับล่าง
ส่วนชนชั้นสูงนั้นได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตก

2. การแพร่กระจายของสุรา รัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงการบริโภคสุราของไทยนอกจากการที่มีคนจีนเข้ามามากแล้ว การซื้อหาง่ายก็เป็นส่วนหนึ่ง ในช่วงนี้เองสุราต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามา สืบเนื่องมาจากการใช้ช่องโหว่ของสัญญาบาวริง ราคาก็ถูกจึงแพร่กระจายไปมาก ต่อมาสุราต่างประเทศราคาแพงขึ้น (ภายหลังแก้ไขสัญญาการค้ากับต่างประเทศ ปี 2429) แต่ก็มิได้ทําให้การบริโภคสุราน้อยลงเพราะมีสุราในประเทศเข้ามาแทนที่ และขายได้ง่ายโดยเฉพาะในเมืองใหญ่และชุมชนที่มีคนจีนอยู่ และแม้ยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากร สุราก็ยังแพร่กระจายไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะรัฐส่งเสริมการขายมาตลอด โดยเฉพาะสุราของรัฐ และยังให้มีการค้าขายสุราต่างประเทศได้อย่างเสรี จนปัจจุบันสุราสามารถหาซื้อได้สะดวกและง่ายดาย

3. พัฒนาการทางเทคโนโลยีและการโฆษณา จากความก้าวหน้าหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมทําให้มีการผลิตสุรา แบบ mass production ขึ้น มีกรรมวิธีการผลิตแบบใหม่ ๆ รสชาติหลากหลายและคุณภาพดีขึ้น จูงใจให้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในวัย เพศ หรือสถานะใดก็ตาม รวมทั้งมีคมนาคมที่สะดวก การแข่งขันและโหมโฆษณาทําให้ภาวะการเติบโตเป็นไปทั้งในระดับข้ามชาติและตลาดในประเทศ

4. การขยายตัวทางเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชนดีขึ้น เป็นสาเหตุให้เพิ่มปริมาณการบริโภคมากขึ้น และการที่สุรามีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดอื่นหรือเมื่อเทียบกับ อํานาจการซื้อที่มีสูงขึ้นก็มีผลด้วย

5. การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม ค่านิยมและสถาบันทางสังคม เช่น ชุมชน หรือสถาบันศาสนา ในอดีตที่เคยมีบทบาทควบคุมการบริโภคสุราของคนไทยถูกเปลี่ยนไป ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

1.) การขยายตัวของชุมชนเมือง จากเดิมชุมชนมีขนาดไม่ใหญ่ มีความเหนียวแน่น มีประเพณีสืบทอดกันมาที่ดูแลพฤติกรรมของสมาชิกในชุมชนโดยสถาบันศาสนาเป็นศูนย์กลาง แต่เมื่อกระแสการพัฒนาเข้ามา เมืองขยาย สถาบันศาสนาไม่สามารถปรับตัวได้ก็เสื่อมบทบาทไป ผู้คนจึงเป็นอิสระจากขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม มีความเป็นปัจเจกชนสูง ในสภาพเช่นนี้เองที่ปทัสถานการบริโภคสุราอ่อนตัวลง หันมารับวัฒนธรรมการบริโภคจากสังคมภายนอกได้ง่ายรวมถึงแบบแผนการบริโภคสุราที่นําไปสู่ความเสียหายกลายเป็นปัญหาสังคมเด่นชัดขึ้น ผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรมยังผลให้ผู้คนในชนบทอพยพเข้ามาในเมือง กลายสภาพเป็นปัจเจกชนรับเอาแบบแผนการบริโภคสุราของสังคมเมืองมาแทน ซึ่งมีอิสระที่จะบริโภคสราตามความต้องการของตัวได้มากขึ้น

2.) การอ่อนตัวของชนบทและสถาบันดั้งเดิม อิทธิพลเมืองแสดงถึงการพัฒนาประเทศที่ทันสมัย สถาบันดั้งเดิม เช่น วัดหมดบทบาทไป มีความเหินห่างมากขึ้นระหว่างวัดกับบ้าน ค่านิยมและพฤติกรรมการบริโภคแปรเปลี่ยนไป เศรษฐกิจแบบเงินตราเข้ามาในหมู่บ้านทําให้การพึ่งพากันและการร่วมมือกันแบบยังชีพลดลงไป อีกประการหนึ่งที่ทําให้อิทธิพลของสถาบันและธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมลดลงไปก็คือ ความยากจนอันเนื่องจากการพึ่งพิงเศรษฐกิจแบบตลาด ในสภาพเช่นนี้การพึ่งพิงผูกพันกับผู้นําในทางประเพณีแต่เดิมจะเปลี่ยนไป ชาวบ้านต้องหันไปขึ้นตรงต่อผู้นํากลุ่มใหม่คือ พ่อค้าหรือนายทุนซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้ สิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้นําดั้งเดิมซึ่งเคยเป็นที่ยอมรับทางด้านคุณธรรม (ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือผู้อาวุโสในหมู่บ้าน) ก็เสื่อมบทบาทลง

3.) ความเครียดในจิตใจและความตึงเครียดในสังคม วิถีชีวิตในเมืองแข่งขันและรีบเร่งสูง มีความเหินห่างต่อกัน ยิ่งสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยมลภาวะ ความเครียดจึงเกิดขึ้นง่าย คนชนบทที่อพยพเข้ามาในเมืองจะรู้สึกแปลกแยก และกดดัน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และยังแพร่เข้ามาในชนบท มีความตึงเครียดทางสังคม เผชิญปัญหาความขัดแย้ง ทางทรัพยากร สุราจึงเป็นเครื่องระงับความเครียดซึ่งได้รับความนิยมทั้งในเมืองและชนบท

4.) การเลื่อนสถานะทางสังคม สถานะทางสังคมในสังคมเมือง มีความหลากหลายซับซ้อน และมีปัจจัยกําหนดหลายปัจจัย เช่น รายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจ ถือกันว่าสุราเป็นตัวบ่งบอกประการหนึ่งในการเลื่อนสถานะ เกิดค่านิยมที่แสดงเอกลักษณ์ของตนหรือบ่งบอกสถานะใหม่ของตน เช่น วัยรุ่นต้องการแสดงตนว่าเป็นผู้ใหญ่เพศหญิงต้องการสถานะทางสังคมว่าเสมอภาคเท่าเทียมกับชายจึงใช้สุราเป็นเครื่องบ่งบอก เป็นต้น

การที่เลือกสุราเป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคมนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอิทธิพลการโฆษณา แต่การที่โฆษณาดังกล่าวได้ผล ก็เพราะสังคมเมืองซึ่งเป็นสังคมของชนชั้นกลางและมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกับสังคมในอดีต ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นสูงและในชนบท ต้องการที่จะแสวงหาเอกลักษณ์ของตนเอง จึงเป็นช่องว่างให้นักธุรกิจเสนอสุราเป็นเครื่องบ่งบอกเอกลักษณ์ โดยอาศัยอิทธิพลของสื่อมวลชนและการโฆษณาจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง


หมายเหตุ: บทความเดิมชื่อ “ตำนานแห่งการเสพสุรา เหล้า คือ – ยาพิษมึนเมา ฤา น้ำอมฤตเริงรมย์” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2536

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561