เผยแพร่ |
---|
เบียร์ และ สุรา เป็นเครื่องดื่มประเภทที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมการกินของมนุษย์มายาวนาน เครื่องดื่มกลุ่มนี้ถูกใช้ในสถานการณ์แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนมักนิยมใช้ดื่มเพื่อสร้างความรื่นรมย์ในชีวิต หากจะย้อนกลับไปถึงที่มาของเครื่องดื่มประเภทนี้ในไทย เกร็ดข้อมูลหลายอย่างก็น่าสนใจทีเดียว
ในเมืองไทยนั้นสุราเกิดขึ้นมาก่อนเบียร์ หนังสือ “โลกของเบียร์ : The World Beer Guide” โดย นพพร สุวรรณพานิช อธิบายถึงประวัติสุราและเบียร์ไทยว่า สุราเกิดมาก่อนในสมัยทวารวดี, สุโขทัย, อยุธยา และรัตนโกสินทร์ แต่มีหลักฐานในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองราว พ.ศ. 2178 ว่ามีกฎหมายลักษณะธรรมนูญว่าด้วยการจัดเก็บภาษีสุรา ดังปรากฏในบันทึกของ เดอ ลาลูแบร์ ว่า “อากรสุราเก็บตามจำนวนเตาที่ตั้งต้มขาย”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า มีการต้มกลั่นก็เก็บตามจำนวนเตา ในกรณีที่ต้มกลั่นตามใจ ก็เก็บตามจำนวนชายฉกรรจ์ และคนที่ขายสุราก็โดนเก็บไปด้วย โดยคิดเป็นรายโอ่งหรือรายเท เทละ 19 ลิตรเศษ ต่อมาถึงคิดเป็น 20 ลิตร ในยุคหลังคิดเป็นลิตร ไม่เป็นเทหรือโอ่ง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 มีพระราชดำริว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธไม่ควรที่คนไทยจะหมกมุ่นกับสุรา แต่การต้มกลั่นนั้นก็เพื่อทำเป็นเวชภัณฑ์ จึงทรงห้ามมิให้ต้มกลั่นแบบเสรี แต่โปรดให้ตั้งโรงต้มกลั่นขึ้นที่ตำบลบางยี่ขัน ซึ่งในขณะนั้นมีคนจีนมาประมูลเหมาต้ม ชาวบ้านเรียกกันว่า เหล้าโรง เป็นเหล้าขาวที่ทำขึ้นจากหมักส่า จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ภาษีขายอากรสุรา หรือเจ้าภาษีนายอากรสุรา ซึ่งในปัจจุบันเรียกกันว่า ภาษีอากร เก็บโดยกรมสรรพสามิต
ทั้งนี้ ชื่อสุราส่วนใหญ่มักตั้งชื่อเป็นสัตว์ เช่น หงส์ทอง, แมวดำ บ้างเป็นชื่อในวรรณคดี บางทีก็เป็นชื่อที่ต้องการล้อวิสกี้ เช่น ม้าขาว, วิสครีม บางครั้งก็ตั้งชื่อตามโรงภาพยนตร์ เช่น คิงส์, ควีนส์ เป็นต้น ซึ่งเมรัยเกิดจากการนำธัญพืชที่มีแป้งเป็นวัตถุดิบมาหมักไว้ระยะหนึ่งจนเกิดแอลกอฮอล์ เรียกกันว่า น้ำตาลเมา แต่สุราต้องนำมากลั่นต่อเพื่อให้ได้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่แรงขึ้น
แต่เบียร์ต่างจากสุรา เพราะเบียร์เกิดจากการหมักส่า คล้ายกะแช่ที่ทำจากน้ำตาลสด คล้ายกับอุที่หมักจากข้าวเหนียวกล้อง แต่เบียร์หมักจากข้าวบาร์เลย์
ส่วนเบียร์ไทยนั้นเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เดินทางไปศึกษาโรงเบียร์ที่เวียดนามและเยอรมนีในแคว้นบาวาเรีย และต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ในวันที่ 4 สิงหาคม 2476 มีนายประจวบ ภิรมย์ภักดี เป็นผู้ควบคุมการผลิต
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงเปิดป้ายบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ ซึ่งในขณะนั้นขายเพียงขวดละ 32 สตางค์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทผลิตเบียร์แห่งแรกในไทยอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบัน เบียร์ และ สุรา ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน ในขณะเดียวกันก็เป็นสินค้าอันดับต้นๆ ที่สร้างรายได้ให้บริษัทผู้ผลิตอย่างมหาศาล
อ่านเพิ่มเติม :
- ชาวสยามดื่มเบียร์ตั้งแต่เมื่อไหร่? จากเหล้าพื้นเมืองถึงบ.บุญรอด โดยพระยาภิรมย์ภักดี
- เมื่อเจ้านายไทย “ทำธุรกิจ” ประเมินผลการลงทุนพระยาภิรมย์ภักดี ถึงเจ้าพระยายมราช
- ประวัติศาสตร์การเสพสุราในไทย เหล้าผันสู่อุบัติเหตุ-ตีกันเละยุครัตนโกสินทร์ได้อย่างไร
อ้างอิง:
นพพร สุวรรณพานิช. โลกของเบียร์: The World Beer Guide. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาเมื่อ 12 มิถุนายน 2562