เปิดที่มาที่ไปของวิถีเสี่ยงโชค จากลูกเต๋า ไพ่ ลอตเตอรี่ ถึงกล่องสุ่ม สุดสำราญใจ

ภาพประกอบเนื้อหา

กิจกรรมยอดฮิตอย่างหนึ่งของมนุษยชาติหนีไม่พ้นเรื่องการเสี่ยงโชคไปจนถึงการพนัน เชื่อว่าไม่ใช่แค่ชาวไทยเท่านั้น หลายประเทศมีธุรกิจกิจการเกี่ยวกับการพนันกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พัฒนาการของรูปแบบการเสี่ยงโชคก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากอุปกรณ์อย่างลูกเต๋า ไพ่ มาจนถึงการออกตั๋ว ลอตเตอรี่ และมาถึงศตวรรษที่ 21 เริ่มมีข้อถกเถียงว่า “กล่องสุ่ม” ในโลกเสมือนจะถูกนิยามเป็น “การพนัน” ได้หรือไม่

นับตั้งแต่อดีต มีเอกสารบันทึกของชาวต่างชาติกล่าวถึงพฤติกรรมของคนไทยในแง่มุมเกี่ยวกับการพนันว่า เป็นกลุ่มชนผู้รักการเล่นการพนันมากทีเดียว และบางคนก็ยอมขายลูกขายเมียก็มี การเล่นมีหลากหลายตั้งแต่ ชนไก่ กัดปลา แข่งเรือ ฯลฯ ยังมีการพนันแปลก ๆ เช่น เล่นเด็ดปลีกล้วย, แทงห่วง, กอบข้าวสาร แต่ไม่มีข้อมูลถึงรายละเอียดการเล่นแบบชัดเจน

ทอดตาออกไปนอกแดนสยาม หลากหลายชนชาติตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันล้วนมีกรรมวิธี “พนัน” เสี่ยงโชคของตัวเอง อุปกรณ์หลายชนิดยังปรากฏตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน อุปกรณ์อย่าง “ลูกเต๋า” (dice) ลักษณะวัตถุรูปทรงต่างๆ รูปทรงที่คุ้นตามากที่สุดย่อมเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมีหกด้าน แต่ละด้านมีแต้มเป็นจำนวนจาก 1 ถึง 6

ลูกเต๋า

มีข้อถกเถียงกันว่าอุปกรณ์ลักษณะ “ลูกเต๋า” ที่ใช้สำหรับกิจกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อใด “โซโฟคลีส” (Sophocles) นักเขียนสมัยกรีกโบราณกล่าวอ้างว่า พาลามีดีส (Palamedes) เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา ขณะที่เฮโรโดทัส (Herodotus) บอกว่า เป็นพวกลีเดียนส์ (Lydians) คิดค้นขึ้นมาในสมัยพระเจ้า Atys อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดียุคหลังพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า อุปกรณ์ลักษณะ “เต๋า” ถูกใช้ในชุมชนมนุษย์ก่อนหน้ายุคของนักเขียนกรีกในตำนานเหล่านั้น

เชื่อกันว่าก่อนหน้าการใช้งาน “ลูกเต๋า” ผู้คนในสังคมยุคดึกดำบรรพ์มีใช้งานวัตถุบางอย่างสำหรับทำนายอนาคต หนึ่งในชนิดที่เชื่อว่าเป็นอุปกรณ์เสี่ยงทายก่อนหน้าลูกเต๋า คือการใช้กระดูกส่วนข้อของสัตว์ (knucklebone) เช่น แกะ ควาย หรือสัตว์ชนิดอื่น บางครั้งมีทำรอยในตามหน้าต่างๆ

เมื่อมาถึงยุคกรีกโรมัน ลูกเต๋าส่วนใหญ่ทำมาจากกระดูกหรืองาของสัตว์ บางครั้งทำจากทองแดง หิน ฯลฯ ขณะเดียวกัน ลูกเต๋าทรงสี่เหลี่ยมที่ทำตำหนิตราไว้บนแต่ละด้านคล้ายกับลักษณะลูกเต๋าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ถูกขุดค้นพบในจีน คาดว่ามีอายุในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล และในสุสานที่อียิปต์ อายุราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่หลักฐานในบันทึกที่เอ่ยถึง “ลูกเต๋า” ซึ่งเก่าแก่ที่สุดปรากฏในเอกสาร “มหาภารตะ” ซึ่งผลิตขึ้นในอินเดียไม่ต่ำกว่า 2,000 ปีก่อน

นอกเหนือจากรูปทรงสี่เหลี่ยม “เต๋า” รูปทรงพิรามิด (4 ด้าน) ยังปรากฏในกิจกรรมของชนโบราณลักษณะคล้าย “บอร์ดเกม” ในยุคปัจจุบัน เรียกกันว่า “Royal Game of Ur” กระทั่งในยุคศตวรรษที่ 16 กิจกรรมที่ใช้งานวัตถุลักษณะ “เต๋า” จึงเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาทางคณิตศาสตร์ของนักคิดชาวอิตาเลียนอย่าง กาลิเลโอ (Galileo) และนักคิดอีกหลายราย กระทั่งแนวคิดเชิงคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า หลักความน่าจะเป็น (randomness and probability) เริ่มปรากฏขึ้น

ไพ่

อุปกรณ์ฮิตสำหรับการเสี่ยงโชคที่คนสมัยใหม่รู้จักกันดีอีกชนิดคือ “ไพ่” เมื่อพูดถึง “ไพ่” คงไม่สามารถละเลยวัตถุดิบสำคัญของไพ่โบราณได้ แน่นอนว่าต้องเอ่ยถึง “กระดาษ” ก่อน

ต้นกำเนิดของกระดาษในความหมายเชิงการรับรู้ของคนทั่วไปมาจากคำว่า “เปเปอร์” (Paper) ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “ปาปิรุส” (Papirus) โรเบิร์ต เทมเพิล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์อธิบายว่า ปาปิรุสที่มีในอียิปต์มานานกว่า 3,000 ปีก่อนคริสตกาลทำมาจากเปลือกชั้นในของปาปิรุส แต่มันแตกต่างจากกระดาษ ซึ่งชาวจีนคิดค้นได้เมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาลเป็นอย่างช้า

กระดาษในสมัยโบราณไม่ได้ทำจากเยื่อไม้เหมือนในสมัยปัจจุบัน แต่กระดาษโบราณมาจากการนำตะกอนของชั้นเศษเส้นใยที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ เทลงบนแม่พิมพ์แบน แล้วกรองน้ำออก เหลือแต่ชั้นตะกอน และลอกออกจากแม่พิมพ์นำมาตากให้แห้ง เส้นใยที่ว่านี้ทำมาจากอะไรก็ได้ กระดาษยุคแรกในยุโรปไม่ได้ทำมาจากเยื่อไม้ แต่ทำจากเศษผ้าขี้ริ้วลินิน

ขณะที่แผ่นกระดาษที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกถูกค้นพบเมื่อปี 1957 ในหลุมศพใกล้เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ประเทศจีน ลักษณะของกระดาษที่พบเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 10 เซนติเมตร ประมาณอายุว่ามาจากช่วงปีที่ 140 ถึง 87 ก่อนคริสตกาล กระดาษชิ้นนี้ทำมาจากเส้นใยปอที่นำมาฉีกและทุบ มีความหนาและหยาบมาก ใช้เขียนได้ไม่ดีนัก

ส่วนกระดาษที่มีตัวอักษรซึ่งคาดว่าใช้สำหรับการเขียนแผ่นที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ถูกค้นพบในปี 1942 อยู่ใต้ซากหอคอยโบราณที่ถูกทหารจีนทิ้งร้างช่วงชนเผ่าซีจ้างก่อกบฎ หอคอยอยู่ในทซัคโคร์ที ใกล้ Chu-yen กระดาษที่พบมีอักษรที่อ่านได้เขียนอยู่กว่า 20 ตัว

เมื่อมีกระดาษแล้ว ย่อมไม่ยากนักที่จะสร้างสิ่งของสำหรับใช้งานอย่างไพ่ขึ้นมา โรเบิร์ต เทมเพิล อธิบายว่า ชาวจีนเป็นพวกแรกที่คิดค้นไพ่กระดาษซึ่งมีใช้ในศตวรรษที่ 9 เป็นอย่างช้า อย่างไรก็ตาม หลักฐานเกมไพ่ในหนังสือเล่มแรกที่มีพูดถึงการเล่นเกมไพ่นั้นหายสาบสูญไป ขณะที่บันทึกของบัณฑิตโอวหยางซิว (ปี 1007-1072) ระบุว่า การใช้ไพ่กระดาษส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนหนังสือม้วนมาเป็นแผ่นและหน้ากระดาษ

สำหรับการพิมพ์ไพ่กระดาษนั้นพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้แกะสลัก ไพ่ที่หลงเหลือมาให้พบเห็นมักลงสีด้วยมือ ลวดลายด้านหลังไพ่ก็เป็นภาพวาดโดยศิลปินเลื่องชื่อ วาดเป็นรูปตัวละครต่างๆ ในนิยายอย่าง “108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน” กระดาษของไพ่ก็ทำจากกระดาษหนา คงทน แต่ย่อมทำให้การสับไพ่ทำได้ยากกว่า

ชาวจีนนิยามไพ่ว่าเป็นสิ่งของที่ใช้ฆ่าเวลาได้อย่างดีโดยไม่จำกัดเรื่องสถานที่ เนื่องจากพกพาสะดวก เล่นเป็นกลุ่มเล็กๆ ได้โดยไม่จำกัดเรื่องวุฒิ เล่นไม่ยากเหมือนหมากรุก อย่างไรก็ตาม ความนิยมของไพ่ก็ทำให้ผู้ปกครองต้องออกกฎหมายในช่วงศตวรรษที่ 18 ห้ามข้าราชการเล่นพนัน ห้ามบุคคลคนเดียวผลิตและจำหน่ายไพ่กระดาษมากกว่า 1,000 ใบ

โรเบิร์ต เทมเพิล อธิบายว่า ไพ่กระจายจากจีนเข้าสู่ตะวันตกโดยสองรูปแบบ ไม่จากชาวอาหรับ ก็จากนักเดินทางอย่างเช่นมาร์โค โปโล ซึ่งเดินทางไปมาในสมัยราชวงศ์มองโกล ขณะที่ไพ่ที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏอยู่ที่เยอรมนีและสเปน ในปี 1377

ไพ่พิมพ์ลายฉลุ ไพ่ลักษณะนี้อายุราวปี 1870 รูปคนในไพ่คือตัวละครจากนิยาย 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน (พิพิธภัณฑ์ไพ่แห่งชาติ ประเทศเบลเยียม / ภาพจากหนังสือ ต้นกำเนิด 100 สิ่งแรกของโลก)

ชาวอาหรับเรียนรู้วิธีผลิตกระดาษจากนักโทษจีนที่ถูกจับหลังการสู้รบที่เมืองซามาร์แคนด์ พวกเขาเก็บวิธีไว้เป็นความลับ และขายกระดาษให้ชาวยุโรปจนทำเงินได้มากมาย ขณะที่ยุโรปได้กระดาษครั้งแรกจากชาวอาหรับในปลายศตวรรษที่ 8 หลังศตวรรษที่ 11 กระดาษเริ่มเข้ามาแทนที่ปาปิรุสอย่างช้าๆ ในตะวันตก ในยุโรปเริ่มต้นผลิตกระดาษครั้งแรกในศตวรรษที่ 12

ส่วนคนไทยเราจะนิยมเล่นไพ่มาตั้งแต่เมื่อใดนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่พบว่ามีพระราชกำหนดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2337 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ปรากฏคำว่า “ไพ่งา”

ผู้รู้ภาษาจีนอธิบายว่า คำไทยที่เรียกว่าไพ่นั้นอาจจะมาจากภาษาแต้จิ๋วว่า ไป๊ หรือไม่ก็ภาษากวางตุ้งว่า ผ่าย ส่วนที่เรียกว่า ไพ่ผ่องนั้น คำว่าผ่อง บางท่านว่ามาจากภาษาแต้จิ๋ว พ้องไป๊ ภาษาแต้จิ๋วอ่านว่าผ่ง แปลว่าพบ อย่างเช่นมีไพ่อย่างเดียวกันอยู่สองตัวแล้ว เมื่อพบอีกตัวหนึ่งก็จะร้องว่า ผ่ง แปลง่ายๆ ว่าเจออีกตัวแล้ว แต่ไทยเรียกกลับเป็น ไพ่ผ่อง ซึ่งเข้าใจว่าการเล่นไพ่แบบนี้ได้กลายมาเป็นชื่อเรียกกันว่าไพ่ผ่อง หรือไพ่ตองตามวิธีที่เล่น

การเล่นไพ่ของคนไทยแพร่หลายมาก พวกขุนนางข้าราชการก็คงเล่นกันจนเป็นนิสัย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอได้ทอดพระเนตรเห็นพวกมหาดเล็กเล่นไพ่บนดาดฟ้าเรือ ทรงขัดเคืองและมีพระบรมราชโองการให้นำพวกเล่นไพ่ไปปล่อยไว้บนฝั่ง ส่วนหมื่นวิเศษ เจ้าของไพ่ให้ลงพระราชอาญา 30 ที

ลอตเตอรี่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความหมายคำว่า “ลอตเตอรี่” ว่า “น. สลากกินแบ่ง. (อ. lottery)” 

พจนานุกรมฉบับเดียวกัน (ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554) อธิบายความหมายคำว่า “สลากกินแบ่ง” ว่า “น. สลากที่จัดให้มีขึ้นเพื่อขายให้แก่ผู้เล่นเป็นการเสี่ยงโชค โดยมีการให้รางวัลที่แบ่งเป็นหลายรางวัลแก่ผู้เล่นซึ่งถือสลากเลขหมายรางวัลที่ออกตามวิธีการที่กำหนด, ลอตเตอรี่ หวย หรือ หวยเบอร์ ก็เรียก.”

ขณะที่คำอธิบายใน Britannica สารานุกรมที่มีชื่อเสียงอันดับต้นในโลก อธิบายคำว่า lottery ไว้ว่า

“กระบวนการมอบบางสิ่งบางอย่าง (มักเป็นเงินหรือรางวัล) ให้กลุ่มคนหรือบุคคลโดยใช้การจับสลาก (lot) หรือใช้การเสี่ยงโชค (chance). ซึ่งประเภทของ lottery ที่ได้พิจารณาถึงในที่นี้เป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง จากที่ผู้คนจ่ายเงินเพื่อโอกาสเสี่ยงโชค (chance) ซึ่งเรียกว่า ตั๋วลอตเตอรี่ (lottery tickets)…”

กิจกรรมที่มีลักษณะสอดคล้องกับกระบวนการมอบทรัพย์สินที่ตัดสินโดยใช้การเสี่ยงโชคสามารถสืบค้นหลักฐานร่องรอยของกิจกรรมนี้ไปได้ถึงยุคโบราณ แม้แต่ในเอกสารคัมภีร์พันธสัญญาเดิม (Old Testament) ในส่วน 26:55–56 ที่มีเขียนว่าพระเจ้ามีบัญชาให้โมเสส (Moses) สำรวจประชากรผู้คนชาวอิสราเอลและแบ่งดินแดนให้ประชากรโดยใช้การเสี่ยงโชค (จับสลาก / lot)

(“…But the land shall be divided by lot. According to the names of the tribes of their fathers they shall inherit. Their inheritance shall be divided according to lot between the larger and the smaller.”) [26:55-56]

ขณะที่จักรพรรดิโรมันอย่างเนโร (Nero) และออกัสตัส (Augustus) ใช้ “ลอตเตอรี่” ในการแจกจ่ายทรัพย์สินและทาสในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ หรือในสมัยโรมันโบราณ มีกิจกรรมบันเทิงในยามอาหารมื้อค่ำ เรียกกันว่า apophoreta โดยเจ้าภาพจะแจกจ่ายชิ้นไม้ที่มีสัญลักษณ์ให้แขก เจ้าภาพจะจับรางวัลในช่วงท้าย ส่วนใหญ่แล้วคนที่ได้รับชิ้นไม้จะมีรางวัลติดมือไป ส่วนจะเป็นรางวัลใหญ่หรือเล็กก็แล้วแต่โชคไป

สำหรับลอตเตอรี่ครั้งแรกในยุโรปที่เป็น “ลอตเตอรี่” ตามความหมายในยุคสมัยใหม่ เชื่อกันว่า ปรากฏในสมัยศตวรรษที่ 15 หลายเมืองมีจัดลอตเตอรี่ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือคนยากไร้และเสริมมาตรการป้องกันเมือง

ในทำนองคล้ายกัน สาเหตุที่มีการเล่นหวยในเมืองไทยนั้น เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดข้าวยากหมากแพงถึง 2 ปีติดกัน คนไม่มีเงินก็มารับจ้างทำงานแลกเอาข้าวไปกิน เงินตราพลอยงวดหายไปจากตลาด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสงสัยว่าเงินตราทำออกมามากมายแต่หายไปข้างไหนหมด เข้าพระทัยว่ามีคนเอาเงินตราไปซื้อฝิ่นมาเก็บไว้ขาย จึงโปรดให้จับเอาฝิ่นมาเผาเป็นอันมาก

ในที่สุดจีนหง หรือ เจ๊สัวหง (ภายหลังได้เป็นนายอากรสุรามีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีไชยบาน) ได้เข้าเฝ้ากราบทูลว่า เงินตรานั้นยังมีอยู่มากไม่ได้หายไปข้างไหน พวกราษฎรเอาใส่ไหฝังดินไว้ไม่ยอมเอาออกมาใช้ ถ้าจะเรียกเอาเงินขึ้นมาใช้ก็ต้องออกหวยเหมือนอย่างในเมืองจีน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้จีนหง ออกหวยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. 2378

เมื่อหวยมาจากจีน ตัวหวยในแผ่นป้ายจึงเป็นรูปคนที่สมมติเป็นตัวหวยอย่างหนึ่ง และเขียนชื่อเป็นภาษาจีนบอกชื่อตัวหวย ครั้นนำเข้ามาเมืองไทย คนไทยอ่านหนังสือจีนไม่ออก จึงต้องเขียนอักษรไทยกำกับไว้โดยใช้ พยัญชนะ ก ข ค เรียงไปตามลำดับ แต่ตัดทิ้งไป 8 ตัว คือ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ เหลือเพียง 36 ตัว เป็นเหตุให้คนไทยเรียกการพนันชนิดนี้ว่า หวย ก ข

เมื่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริจะเลิกอาการหวย แต่ทรงเกรงว่าจะหารายได้แผ่นดินมาชดเชยกันไม่ทัน จึงเพียงแต่ผ่อนลดบ่อนเบี้ยให้มีน้อยลงตามลำดับ (เลิกอากรหวย ก ข อย่างเด็ดขาดในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 1 เมษายน ปีมะโรง พ.ศ. 2459)

ในระหว่างที่คนไทยยังเล่นหวย ก ข อยู่ มีชาวต่างประเทศกับขุนนางไทยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมทหารมหาดเล็กออกลอตเตอรี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2417 คราวนี้เป็นการออกลอตเตอรี่ตามแบบยุโรป

กล่าวคือผู้ถูกรางวัลจะได้รับเป็นสิ่งของที่มีราคาเท่ากับเงินรางวัล หรือถ้าจะรับเป็นเงินสดก็จะถูกลด 10 เปอร์เซ็นต์ ผู้อำนวยการออกลอตเตอรี่ครั้งแรกนั้นคือ นายเฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ผู้เป็นต้นตระกูล “เศวตศิลา”

หวยเบอร์หรือลอตเตอรี่สมัยก่อนออกเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นที่ต้องการเงินไปใช้ในราชการเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น เมื่อเห็นว่ารายได้จากลอตเตอรี่ช่วยในด้านงบประมาณแผ่นดินได้ก็เลยออกมาเป็นอาชีพต่อมาเรียกว่า “สลากกินแบ่งรัฐบาล”

พ่อค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. 2549 (INDRANIL MUKHERJEE / AFP)

“กล่องสุ่ม”

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงโชคอยู่บ้าง ในไทยเรียกกันว่า “กล่องสุ่ม” มีทั้งที่เป็นกล่องสุ่มแบบจับต้องได้ในโลกจริง และกล่องสุ่มในโลกเสมือนเป็นระบบ “วิดีโอเกม”

ในระบบวิดีโอเกม ศัพท์ที่คุ้นเคยกันมักใช้คำว่า Loot box (บางทีก็อาจใช้คำว่า Lucky Box หรือ Gift Box) แต่ไม่ว่าจะใช้ศัพท์เรียกว่าอะไร ลักษณะส่วนใหญ่จะเป็นกระบวนการที่ผู้เล่นเปิดกล่องที่บรรจุสิ่งของ (item) แบบสุ่ม สิ่งของที่เปิดได้มาจากกล่องอาจเป็นไอเทมต่างๆ ตามที่ระบบสุ่มให้กับผู้เล่น

การได้มาของ “กล่อง” ที่สุ่มสิ่งของนั้น มีทั้งที่ผู้เล่นได้รับมาจากการเล่นเกมเอง จ่ายเงินจริงซื้อกล่องในเกม หรือสะสมแต้มหรือเงินในเกมมาแลกซื้อกล่อง

ลักษณะเปิดกล่องในเกมนี้ปรากฏในช่วงต้นยุค 2000s ทั้งในญี่ปุ่น (ที่เรียกกันว่า กาชา/Gasha หรือ Gacha) และในชุมชนเกมในตะวันตก เมื่อสังคมเกมแพร่หลายกว่าเดิมจากเทคโนโลยีเครือข่ายออนไลน์ การซื้อ-ขาย “กล่อง” สุ่มไอเทมในเกมยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นกระทั่งถึงขั้นที่ผู้เล่นใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้สิ่งของจากกล่องในเกมจนองค์กรศึกษาพฤติกรรมด้านการพนันในสหราชอาณาจักรออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางควบคุมภายหลังมีกรณีตัวอย่างเยาวชนใช้เงินจำนวนมากซื้อกล่องสุ่ม ขณะที่งานวิจัยพฤติกรรมของเยาวชนก็พบว่า เยาวชนที่เล่นเกม 40% มีพฤติกรรมซื้อกล่องสุ่มด้วย และยังร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาว่า กฎหมายด้านการพนันควรเข้ามาควบคุมดูแลกิจกรรมลักษณะนี้ด้วยหรือไม่

สำหรับกล่องสุ่มในโลกความเป็นจริง ในปี 2012 ปรากฏผลิตภัณฑ์จากบริษัท Loot Crate ที่จัดจำหน่าย “กล่องสุ่ม” แบบสมัครแพ็คเกจประจำรายเดือน ผู้สมัครใช้บริการจะได้รับกล่องสุ่มบรรจุสิ่งของหรือของสะสมเกี่ยวเกม ภาพยนตร์ หรือแอนิเมชั่นต่างๆ ตามธีมแต่ละเดือน

บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วและถูกจัดอันดับเป็นบริษัทเอกชนที่เติบโตเร็วที่สุดอันดับ 1 ในภูมิภาคอเมริกาเหนือประจำปี 2016 เชื่อว่ามีผู้สมัครไม่ต่ำกว่า 2 แสนราย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 มีรายงานว่า บริษัทยื่นเรื่องล้มละลายต่อศาลเพื่อขอความคุ้มครอง เวลาต่อมา มีบริษัทที่ผลิตของสะสมเข้ามาบริหารจัดการต่อและใช้ชื่อ Loot Company

หัวข้อเรื่องโมเดลธุรกิจแบบ “สุ่ม” นี้มักเป็นที่ถกเถียงทั้งในระดับพฤติกรรม ไปจนถึงเรื่องเชิงกฎหมายในหลายประเทศ ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาก็มีการเคลื่อนไหวจากทั้งฝ่ายสนับสนุนการควบคุมและฝ่ายที่มองว่าการซื้อ-ขายสิ่งของ “สุ่ม” ไม่ใช่การพนัน

ทั้งนี้ การจำหน่ายกล่องที่สิ่งของข้างในเป็นการสุ่มไม่ได้ปรากฏแค่ในแวดวงเกมเท่านั้น ปัจจุบัน มีกล่องที่บรรจุสินค้าแบบสุ่มอีกหลากหลายประเภท อาทิ กล่อง(สุ่ม)เสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ “ไฮเอนด์” ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กล่องสุ่มของ HEAT 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เทมเพิล, โรเบิร์ต. ต้นกำเนิด 100 สิ่งแรกของโลก-The Genious of China. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554

ส.พลายน้อย. “เล่าเรื่องกีฬา-การพนัน สมัย ‘คุณปู่’, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2531

https://www.britannica.com/topic/dice

https://www.britannica.com/topic/lottery

https://heat.io/pages/story


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความ กำเนิด “ไพ่” การ์ดที่ฮิตทุกถิ่น แรกเริ่มมาจากไหน และข้อมูลไพ่เก่าแก่ที่สุดในโลก, ต่างชาติว่าคนไทยรักเสี่ยงโชค? ดูสารพัดการพนันสมัยคุณปู่ ถึง “ลอตเตอรี่” ในปัจจุบัน 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2564