ทำไมยกเลิก “โรงบ่อนเบี้ย” ทั้งที่พนันทำเงินเข้ารัฐ บันเทิงใจ 9 โมงเช้ายันเที่ยงคืน

ภาพบรรยากาศเล่นการพนันสมัยรัชกาลที่ 5 จัดฉากถ่ายภาพโดยชาวต่างชาติ (ภาพจาก "หนังสือสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ ๕" กรมศิลปากร)

เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เราจะหาความบันเทิงเพื่อสร้างความสุขให้ตัวเอง แหล่งรวมความบันเทิงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทยตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 2430 เป็นต้นมา ก็คือ โรงบ่อนเบี้ย ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในยามค่ำคืนที่ให้ผู้คนมาพนันเสี่ยงโชค อันนำมาสู่แหล่งรายได้สำคัญของรัฐ ยังปรากฏความบันเทิงหลากหลายตั้งแต่เก้าโมงเช้ายาวไปจนถึงเที่ยงคืน

งานวิจัยของ วีระยุทธ ปีสาลี ซึ่งภายหลังถูกรวบรวมเป็นหนังสือชื่อ “กรุงเทพฯ ยามราตรี” บอกเล่าเกี่ยวกับสภาพโรงบ่อนเบี้ยในพระนครไว้ว่า “โรงบ่อนเบี้ยเป็นพื้นที่บันเทิงของพระนครที่ได้รวมเอากิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจในยามค่ำคืนหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน นับตั้งแต่การเล่นพนัน การชมมหรสพและการเดินหาของกินเล่น จนทำให้คนกรุงเทพฯ ออกมาเที่ยวเตร่ตามโรงบ่อนต่างๆ

Advertisement

โรงบ่อนเบี้ยในฐานะศูนย์รวมความบันเทิงนอกจากการเล่นการพนันแล้ว ยังมีความบันเทิงชนิดต่าง ๆ ที่เจ้าของบ่อนจัดหามาไว้เพื่อเป็นเครื่องดึงดูดใจให้ลูกค้าเข้ามาเล่นการพนันในบ่อน อาทิ ละคร โดยเฉพาะละครผู้หญิง ลิเก งิ้ว เป็นต้น การแสดงเหล่านี้เล่นกันตั้งแต่เช้าประมาณเก้านาฬิกาไปจนถึงเที่ยงคืน…”

บ่อนหาใช่เป็นแหล่งสร้างความบันเทิงสำหรับประชาชนเท่านั้น สถานที่นี้ยังมีความสำคัญในฐานะแหล่งรายได้ที่นำเงินเข้ารัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำ ดังเช่นสถิติการเก็บภาษีของรัฐใน พ.ศ. 2435-2436 และ พ.ศ. 2439-2440 ซึ่งภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ ผู้เขียนบทความ “ความสำคัญของการพนันและการเล่นหวยในสังคมสยาม ที่มาของ “ภาษีบาป” อธิบายไว้ว่า รายได้รวมจากบ่อน หวย ฝิ่นและสุรา นับเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้รัฐ อาจเรียกได้ว่าเงินที่ได้จาก “ภาษีบาป” เหล่านี้ทำให้รัฐสยามมีรายรับที่มั่นคงมากกว่ารายได้จากแหล่งอื่น ๆ

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเก็บภาษีบ่อนและหวยก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ในชื่อ “ภาษีการพนัน” ในแต่ละปีรัฐสามารถจัดเก็บภาษีชนิดนี้ได้สูงถึง 500,000 บาท ทำให้ต่อมามีหลายหัวเมือง เช่น เมืองเพชรบุรีที่มีแรงงานชาวจีนเข้ามาทำงานในโรงงานน้ำตาลจำนวนมาก ได้ทำการขอผูกขาดการเก็บภาษีการพนัน

ไม่เพียงเท่านั้น บ่อน(และหวย)ยังเป็นภาพสะท้อนการขยายตัวของเมือง เนื่องจากในขณะนั้น (ราวช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-5) บ่อนกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของชนชั้นล่างโดยเฉพาะพวกผู้ใช้แรงงาน เป็นแหล่งรวมของนักเลง มีหาบเร่ของกินที่มาตั้งแผงขายรองรับผู้มาใช้บริการบ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี โรงงิ้ว และโรงรับจำนำ

“อาจกล่าวได้ว่าหากบ่อนไปตั้งที่ใด ที่นั้นก็จะกลายเป็นชุมชนขนาดย่อมที่มีร้านรวงต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน ทั้งนี้จากการสำรวจจำนวนบ่อนในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2430 พบว่ามีจำนวน 400 แห่ง และในจำนวนนี้ 126 แห่งเป็นบ่อนขนาดใหญ่

การสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับหัวเมืองต่าง ๆ ก็ได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้คนและการเล่นพนันเช่นกัน ใน พ.ศ.2443 เมื่อทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ และนครราชสีมาเสร็จสิ้น ประชาชนจากหัวเมืองนั่งรถไฟเข้ามาในเมืองกรุงเพื่อเล่นการพนันจนต้องมีการจัดรถไฟเสริม”

อย่างไรก็ตาม บ่อนต้องมาพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญดังที่วีระยุทธ ปีสาลี อธิบายไว้ว่า “ในปี พ.ศ. 2430-2460 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจบ่อนเบี้ยขนาดใหญ่ กล่าวคือ รัฐได้เข้ามาควบคุมกิจการบ่อนเบี้ยด้วยการลดจำนวนบ่อนเบี้ยลงเรื่อยๆ ให้เหลือแต่บ่อนใหญ่ๆ และย้ายทำเลที่ตั้งจากริมถนนให้ไปอยู่ในที่ลับตาคนตามตรอกซอยต่างๆ แต่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจของเมืองคือที่สำเพ็งและตอนใต้ของพระนครและได้พัฒนาบ่อนใหญ่ที่เหลืออยู่ให้เป็นที่ศูนย์รวมความบันเทิงก่อนที่จะยกเลิกกิจการบ่อนเบี้ยไปอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2460”

ส่วนสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ ได้รวบรวมไว้ว่ามีหลายประการ ทั้งเรื่องของการขัดหลักศาสนาพุทธและเรื่องความไม่ “ศิวิไลซ์” ของประเทศ แต่สาเหตุที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ความไม่สงบเรียบร้อยของสังคมอันเนื่องมาจากปัญหาอาชญากรรม ทั้งเรื่องฉกชิงวิ่งราวเพื่อนำทรัพย์สินไปขายกับโรงรับจำนำแล้วนำเงินมาเล่นการพนันและปัญหาซ่องโสเภณี

ขณะนั้นมีรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมและทำให้รัฐต้องเสียเวลากับปัญหาดังกล่าว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และอธิบดีกรมตำรวจต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การพนันเป็นบ่อเกิดที่ทำให้เกิดความยากจนและปัญหาการฉกชิงวิ่งราว โดยเฉพาะการปล้นชิงในเขตภาคกลางที่มาจากการอพยพของชาวลาวเข้ามาทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมและเล่นการพนันในยามว่างจนหมดตัว รวมถึงในเขตพื้นที่มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร

ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ชนชั้นนำสยามเริ่มเห็นว่าไม่ควรที่จะสนับสนุนการเปิดบ่อนและการเล่นหวยอีกต่อไปและเริ่มมีการจำกัดจำนวนของบ่อนและโรงหวยขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนบ่อนและการเล่นหวยจะถูกจำกัดขอบเขตในทางกฎหมาย รัฐสยามก็ยังคงใช้การพนันและการเสี่ยงโชคในลักษณะนี้มาเป็นกิจกรรมในการระดมทุน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการออกล็อตเตอรี่เพื่อระดมเงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกิจการเสือป่า การสร้างโรงพยาบาล การจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ให้กับรัฐ เป็นต้น หวยกับการพนันจึงไม่เคยหมดไปจากสังคมสยาม และอาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมทั้งสองประเภทเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานและมีส่วนช่วยสำคัญในการสนับสนุนรัฐไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพฯ ยามราตรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์. “ความสำคัญของการพนันและการเล่นหวยในสังคมสยาม ที่มาของ “ภาษีบาป”
“. ออนไลน์. ศิลปวัฒนธรรม. เผยแพร่เมื่อ 26 สิงหาคม 2561. เข้าถึงเมื่อ 4 สิงหาคม 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_20885>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2563