จิวยี่ แม่ทัพผู้สามารถในประวัติศาสตร์ ที่หลอกวนจ้ง ปู้ยี่ปู้ยำใน “สามก๊ก”

หุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพ (ภาพจากสูจิบัตรมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต)

จิวยี่ (ค.ศ. 175-210) เกิดที่ยังจิ๋ว เมืองโลกึ่ง จิวยี่เป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่งในประวัติศาสตร์จีน ด้วยมีความสามารถครบครันทั้งบุ๋นบู๊ ทั้งยังเชี่ยวชาญลึกซึ้งในเรื่องนั้นๆ อีกด้วย ขณะเดียวกันจิวยี่ยังจัดเป็นบุรุษรูปงามผู้มีชื่อเสียงผู้หนึ่งแห่งประวัติศาสตร์จีน เสียวเกี้ยวภรรยาของเขาก็เป็นสตรีรูปงามลือชื่อ ดังคำพูดที่ว่า “วีรบุรุษคู่หญิงงาม”

ที่สำคัญจิวยี่ไม่ใช่คนเก่งที่ทะนงตัวในความเก่งกาจของตน แต่เป็นคนใจกว้าง เทียเภา-แม่ทัพผู้เฒ่าสำคัญของซุนกวน กล่าวถึงจิวยี่ด้วยชื่นชนว่า “คบจิวยี่ก็เหมือนการร่ำสุรา ดื่มไปดื่มมาก็เมาไม่รู้ตัว”

แต่หลอกว้านจงเขียนวรรณกรรมสามก๊กเพื่อเชิดชูเล่าปี่ ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์จึงถูกบันทึกและบอกเล่าไปในทางที่ไม่ดี

หลอกว้านจงเขียนจิวยี่ให้เป็นตัวละครอย่างติดลบว่า เป็นคนโง่เขลา, จิตใจคับแคบ, ไร้วิสัยทัศน์ ที่ร้ายแรงจนโลกจำก็คือ การปะทะกันระหว่างจิวยี่-ขงเบ้ง ที่จบลงด้วยจิวยี่เป็นแพ้และคับแค้นใจจนกระอักเลือด พร้อมกับคำพูดตัดพ้อที่ว่า “ในเมื่อส่งจิวยี่ลงมาเกิด เหตุใดถึงต้องส่งขงเบ้งลงมาด้วย”

ก่อนเกิดศึกเซ็กเพ็ก เมื่อเหล่าขุนนางง่อก๊กของซุนกวน ทราบข่าวว่าโจโฉพร้อมทหารหลายแสนนายกำลังจะมาถึง ต่างพากันหวาดหวั่นขวัญหาย ขุนนางฝ่ายบุ๋นอันดับหนึ่งอย่างเตียวเจียวโน้มน้าวซุนกวนให้ยอมว่า

“โจโฉมีทหารกว่าแปดแสนนาย ท่าทางฉกาจฉกรรจ์ สิ่งกำบังที่ดีที่สุดของพวกเราก็คือแม่น้ำฉางเจียง แต่หลังจากโจโฉยึดเกงจิ๋ว ผนวกกำลังกับทหารเรือของเล่าเปียวแล้ว เรือรบพันกว่าลำก็จะล่องไปตามแม่น้ำฉางเจียง ร่วมมือกับทั้งทัพบกและทัพเรือเข้าโจมตี ก็จะสูญเสียชัยภูมิที่มีแม่น้ำฉางเจียงเป็นเครื่องกีดขวาง ส่วนกำลังของฝั่งเรานั้นน้อยนิด มิสู้ยอมจำนนเสียดีกว่า”

หากจิวยี่ขอเข้าพบซุนกวนเป็นการเร่งด่วน และกล่าวเตือนซุนกวนว่า

“แม้โจโฉได้ชื่อว่าเป็นมหาเสนาบดีของราชวงศ์ฮั่น แต่แท้จริงเขาเป็นเพียงทรราช ในขณะที่ท่านเป็นรุ่นที่สองและนับเป็นวีรบุรุษคนที่สามแห่งแซ่ชุน ผนวกกับพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของกังตั๋ง ทหารยอดฝีมือ เสบียงอุดมสมบูรณ์ ควรแก่การตั้งตนเป็นใหญ่ กำจัดความด่างพร้อยแก่ราชวงศ์ฮั่น

โจโฉมาคราวนี้ก็เสมือนว่าส่งตนเองมาตาย ให้ข้าช่วยท่านวิเคราะห์สถานการณ์เถิด โจโฉปล่อยภาคเหนือไว้ รวมทั้งม้าเฉียวและหันซุย แต่กลับนำทหารทั้งหมดลงใต้เข้าทำศึกกับเรา แม้มีไพร่พลจำนวนมาก แต่ล้วนเป็นทหารทางเหนือ ไม่สันทัดการรบทางน้ำ อีกทั้งไม่คุ้นเคยกับสภาพดินฟ้าอากาศ ภายนอกอาจดูเหมือนแข็งแกร่ง แต่แก่นแท้แล้วอ่อนแอยิ่งนัก นี่คือโอกาสอันดียิ่งที่จะทำลายโจโฉ ตอนนี้ข้าขอให้กำลังทหารหมื่นนายประจำการป้องกันที่แฮเค้า รับรองว่าต้องกำจัดข้าศึกให้ท่านได้อย่างแน่นอน”

ซุนกวนเห็นพ้องตามจิวยี่เปิดศึกกับโจโฉ จิวยี่ก็นำทัพทหารสามหมื่นนายเฝ้าหาโอกาสคอยโจมตี เมื่อเล่าปี่ทราบข่าวจึงทักท้วงจิวยี่ว่าทหารน้อยเกินไป แต่จิวยี่กลับยืดอก แสดงความมั่นใจบอกให้เล่าปี่ดูวิธีการของตน

ช่วงแรกจิวยี่เลือกใช้กลยุทธ์โจมตีด้วยไฟของอุยกาย ทำลายทหารหลายแสนนายของโจโฉ จนโจโฉหนีตายเข้าป่า แต่จิวยี่ถือโอกาสไล่ล่าโจมตี ไม่หยุดยั้งจนยึดครองลำกุ๋นและกังแฮได้สำเร็จ ทำให้ง่อก๊กขยายอาณาเขตกินพื้นที่ตั้งแต่ยังจิ๋วไปจนถึงเกงจิ๋ว ศึกเซ็กเพ็กในประวัติศาสตร์ จิวยี่ใช้ไพร่พลจำนวนน้อยเอาชนะกองทัพที่มีกำลังมากกว่า ใช้ความอ่อนแอพิชิตความแข็งแกร่ง

ศึกเซ็กเพ็กเป็นศึกที่แสดงฝีมือปละปัญญาของจิวยี่โดยแท้ แต่ในนิยายหลอกวานจ้งกลับเขียนให้เป็นผลงานของขงเบ้ง

หลังศึกเซ็กเพ็ก จิวยี่รีบกลับกังเหล็งเพื่อเตรียมการตีเอ๊กจิ๋วระหว่างเดินทางล้มป่วยและเสียชีวิตลงในวัย 35 ปี

เมื่อเทียบกับเอกสารและบันทึกทางประวัติศาสตร์ วันเวลาที่จิวยี่เสียชีวิตเป็นช่วง “รัชศกเจี้ยนอาน” ของพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่เกิดโรคระบาด ที่เรียกว่า “โรคซานหาง” ทางการแพทย์จีนบันทึกว่า ซานหางเป็นคำรวมเรียกกลุ่มโรค ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ รายที่อาการหนักจะเสียชีวิตในช่วง 6-7 วัน

คัมภีร์ “เน่ยจิง” บรรพซูเวิ่น กล่าวว่า “โรคซางหาน วันแรกเข้าสู่ระบบเส้นจี่ว์หยาง ทำให้ปวดหัวหลังแข็ง วันที่สองเข้าสู่ระบบเส้นหยางหมิงซึ่งควบคุมเนื้อในกายเชื่อมไปถึงจมูกและตา ทำให้ตัวร้อน เจ็บตา จมูกแห้ง นอนไม่ได้ วันที่สามเข้าสู่ระบบเส้นเส้าหยางซึ่งคุมดี เชื่อมโยงไปถึงทรวงอกและหูทำให้เจ็บช่วงอกและหูหนวก สามวันแรกนี้โรคเข้าถึงระบบเส้นหยางทั้งสาม (จิ้ว์หยาง หยางหมิง และเส้าหยาง) แต่ยังไม่ถึงอวัยวะภายใน ดังนั้นได้แต่เหงื่อออก

วันที่สี่แพร่เข้าสู่ระบบเส้นไท่ยิน ซึ่งคุมกระเพาะเชื่อมโยงถึงช่วงคอ ทำให้ท้องอืดคอแห้ง วันที่ห้าเข้าสู่ระบบเส้นเส้ายินซึ่งเชื่อมถึงไตและปอดโยงขึ้นโคนลิ้น ทำให้คอแห้งกระหายน้ำ วันที่หกเข้าสู่ระบบเส้นเจ๋ว์ยินซึ่งคุมอวัยวะเพศเชื่อมโยงถึงตับ ทำให้ความร้อนสูงสุด ถุงต่อมหด ระบบเส้นทั้งสามยินสามหยาง อวัยวะตันภายในทั้งห้าและอวัยวะกลวงภายในทั้งหกล้วนได้รับโรค เลือดลมไม่เดิน อวัยวะตันภายในทั้งห้า ระบบไม่ทำงาน ถึงแก่ความตายแล”

นอกจากนี้ในชีวิตจริง ซูซื่อ กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ่ง เขียนบทประพันธ์สรรเสริญจิวยี่ไว้ว่า

“แม่น้ำฉางเจียงไหลไปทางตะวันออก คลื่นกระแทกฝั่ง ลบยอดวีรบุรุษจากประวัติศาสตร์ ค่ายตั้งอยู่ทางตะวันตก คนมักกล่าวว่า จิวยี่สร้างไว้ครั้งสามก๊กในศึกเซ็กเพ็ก หินระเกะระกะทำลายเมฆ คลื่นใหญ่สาดซัดตลิ่ง ม้วนเป็นคลื่นขาวนับพัน ภูเขา แลแม่น้ำเปรียบดั่งภาพวาด ยุคหนึ่งไม่รู้ว่าเกิดวีรบุรุษกี่มากน้อย หวนคิดถึงจิวยี่ในครั้งนั้น เสียวเกี้ยวเพิ่งแต่งงาน วีรบุรุษรูปงามช่างเจรจา พัดขนนกและผ้าโพกศรีษะที่ทำจากผ้าไหม ท่ามกลางสรวลสันต์จำนรรจาท เรือข้าศึกถูกทำลายกลายเป็นเถ้าควัน”

สรุปว่าจิวยี่ไม่ได้กระอักเลือดเพราะแพ้ขงเบ้ง แต่ถ้าจิวยี่ได้อ่านนิยายสามก๊กของหลอกวานจ้งที่กล่าวถึงตน จะกระอักเลือดหรือเปล่าอันนี้ก็ไม่แน่


ข้อมูลจาก

หลี่อันสือ-เขียน, วรางค์ ตติยะนันท์, ปิยะพร แก้วเหมือน-แปล. ยอดวีรชนสามก๊ก: 33 ผู้มีใจสูง, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2558

หลี่ฉวนและคณะ-เขียน, ถาวร สิกขโกศล-แปล. 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2564