เปิดแล้ว “ม้าเหล็ก” สยาม ในหลวงเสด็จตรึงหมุดเป็นปฐมฤกษ์

สถานีรถไฟกรุงเทพ
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)

26 มีนาคม 2439 : เปิดแล้ว “ม้าเหล็ก” สยาม รัชกาลที่ 5 เสด็จตรึงหมุดเป็นปฐมฤกษ์ “รถไฟ”

“กรุงเทพมหานคร – เช้าวานนี้เวลา 10 โมงเช้า วันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถพระที่นั่ง ถึงกรมรถไฟ หน้าวัดเทพศิรินทราวาส

เสด็จประทับพลับพลาพระราชพิธีตรงที่ทรงเคยขุดดินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ไว้เมื่อ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2434 จากนั้นทรงตรึงหมุดที่รางทองรางเงิน ข้างเหนือให้ติดกับหมอนไม้มะริดคาดเงิน มีอักษรจารึก เป็นพระฤกษ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงตึงหมุดที่รางทองรางเงิน ข้างใต้ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และทูตานุทูต ช่วยกันตรึงต่อไปจนเสร็จทั้ง 2 ราง

รัชกาลที่ 5 เสด็จตรึงหมุด รถไฟ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟสายสเตชั่นกรุงเทพฯ ถึงสเตชั่นกรุงเก่า เสด็จตรึงหมุดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2439

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมรถไฟพระที่นั่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่รถไฟพระที่นั่ง ผ่านเส้นทางต่างๆ จนถึงพลับพลาหลวง สถานีพระราชวังบางปะอิน ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย และทูตานุทูต ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงสเตชั่นกรุงเทพฯ เวลา 6 โมงเย็นเศษ

สำหรับรถไฟสายสเตชั่นกรุงเทพฯ – กรุงเก่า นี้ กรมรถไฟจะได้เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2439 โดยจะมีรถไฟวิ่งไปมาวันละ 4 เที่ยว ขบวนแรกเที่ยวขึ้น ออกจากสเตชั่นกรุงเทพฯ เวลาย่ำรุ่ง 6 โมง 45 นาที กับเวลาบ่าย 3 โมง 19 นาที ส่วนเที่ยวล่อง ออกจากกรุงเก่า เวลาย่ำรุ่ง 6 โมง 41 นาที กับเวลาบ่าย 3 โมง 15 นาที

อัตราราคาค่ารถโดยสาร จากสเตชั่นกรุงเทพฯ ถึงสเตชั่นกรุงเก่า ชั้นที่ 1 ราคา 4 บาท 24 อัฐ และชั้นที่ 3 ราคา 1 บาท 7 อัฐ

อนึ่ง กิจการถไฟสยามนั้น เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2398 ในรัชกาลก่อน เมื่อควีนวิตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ถวายรถไฟจำลอง เพื่อดลพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดสถาปนากิจการรถไฟสยามขึ้นในราชอาณาจักร

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทรถไฟสยาม ซึ่งก่อตั้งโดยชาวอังกฤษ สร้างทางรถไฟข้ามคอคอดกระสำหรับการพาณิชย์ได้ ภายใต้เงื่อนไขของรัฐบาลสยาม แต่บริษัทรถไฟสยามประสบอุปสรรค์บางอย่าง สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไป

จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช 2414 ในรัชกาลปัจจุบัน หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จประพาสอินเดีย ได้เกิดข่าวลือว่ารัฐบาลสยามกำลังจะสร้างทางรถไฟขึ้นภายในประเทศ จนมีชาวยุโรปหลายชาติเสนอเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างาทางรถไฟให้แก่รัฐบาลสยาม แต่ทรงปฏิเสธเนื่องจากทุนรอนซึ่งจะทำการรถไฟยังมีไม่พอ

ครั้นถึงปีพุทธศักราช 2428 อังกฤษเจรจาขอสร้างทางรถไฟระหว่างพม่ากับจีน ผ่านทางสยามที่ตาก (ระแหง) แต่รัฐบาลสยามปฏิเสธ อย่างไรก็ดีรัฐบาลสยามมีแผนการที่จะสร้างทางรถไฟ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ – เชียงแสน อยู่แล้ว โดยยินดีจะให้อังกฤษสร้างทางรถไฟจากมะละแหม่งมาที่ชายแดนสยาม แล้วรัฐบาลสยามยินดีจะให้มีทางแยกไปเชื่อมต่อกันที่ตาก (ระแหง)

สำหรับทางรถไฟสายเหนือตามพระราชดำรินั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อนุมัติให้บริษัทอังกฤษสำรวจเส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และทางแยก สระบุรี – นครราชสีมา, อุตรดิตถ์ – ท่าเดื่อ, เชียงใหม่ – เชียงราย – เชียงแสน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2430 บริษัทอังกฤษดังกล่าวนั้นสำรวจเส้นทางแล้วเสร็จพร้อมเสนอแผนผังทางเดินรถไฟ ในปี 2433 สิ้นค่าสำรวจเป็นเงิน 630,000 บาท

ในปีพุทธศักราช 2429 รัฐบาลสยามอนุมัติสัมปทานแก่บริษัทชาวเดนมาร์ค สร้างทางรถไฟ กรุงเทพฯ – สมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พุทธศักราช 2434 และเสด็จพระราชดำเนินเปิดเดินรถได้ในวันที่ 11 เมษายน พุทธศักราช 2436 นับเป็นรถไฟสายแรกของสยาม ที่ดำเนินกิจการหารายได้โดยชาวต่างชาติ และจะสิ้นสุดสัมปทานในปีพุทธศักราช 2479 รวมเวลาสัมปทาน 50 ปี

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2434 กรมรถไฟ ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2433 อยู่ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ ได้เปิดซองประมูลสร้างทางรถไฟ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา เป็นทางกว้างขนาด 1.435 เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์เริ่มสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณสเตชั่นกรุงเทพฯ ในวันที่ 8 มีนาคม 2434

ทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ – นครราชสีมา นี้ สร้างเสร็จช่วงแรกแล้ว ระหว่างสเตชั่นกรุงเทพ – กรุงเก่า นับเป็นทางรถไฟสายแรกที่ดำเนินกิจการโดยรัฐบาลสยามเป็นเจ้าของ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีเปิดดังกล่าว.”

[การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ถือเอา วันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2439 เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟ สืบมาจนถึงปัจจุบัน]

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอกสารประกอบงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “แผนที่-โครงการรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 กับปัญหาเมกะโปรเจ็คต์ของไทยปัจจุบัน” วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2557 ณ มติชนอคาเดมี


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2560