ขุนนางยุคก่อนปฏิวัติ คุย “รถไฟสยาม” เจ๋งกว่า “รถไฟอังกฤษ” ในดินแดนอาณานิคม

รถไฟ สถานีรถไฟ ประชาชน ชาวบ้าน ขึ้นรถไฟ รถไฟสยาม
บรรยากาศชานชาลาสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าเป็นสถานีรถไฟกรุงเก่า ฟิล์มกระจก ชุด หอพระสมุดวชิรญาณ รหัสเอกสาร หวญ 36/17 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ขุนนางยุคก่อนปฏิวัติ คุย “รถไฟสยาม” เจ๋งกว่า “รถไฟอังกฤษ” ในดินแดนอาณานิคม

รถไฟ บ้านเรามีมานานนับร้อยปี ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เริ่มเดินรถครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 และมีการขยายเส้นทางการเดินรถไปตลอด จนสิ้นรัชกาลมีทางรถไฟที่เปิดใช้แล้วทั้งสิ้น 932 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกกว่า 690 กิโลเมตร

เมื่อถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเห็นถึงอุปสรรคของการแยกกรมรถไฟออกเป็นกรมรถไฟสายเหนือ และกรมรถไฟสายใต้ จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการการรถไฟทั้งสองส่วนเข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมรถไฟหลวง” โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงเป็นพระองค์แรก

Advertisement
รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่บนซาลูนหลวงในวันเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราช สร้างขึ้นโดยความช่วยเหลือของวิศวกรชาวอังกฤษ อังกฤษเป็นพี่เลี้ยงในการวางเส้นทางรถไฟครั้งแรกในสยาม และเป็นผู้เสนอให้สยามตัดทางรถไฟนานาชาติสายแรกของเอเชีย เริ่มจากกรุงเทพฯ ไปเมืองจีน ก่อนสยามจะมีรถไฟเป็นของตนเอง (ภาพจาก BLACK AND WHITE, 2 May 1896 หนังสือเก่าของสะสมคุณไกรฤกษ์ นานา)

เมื่อสิ้นรัชกาล “รถไฟ” สมัยนั้น มีทางรถไฟระยะทางรวมกัน 2,581 กิโลเมตร ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 418 กิโลเมตร

ความก้าวหน้าของกิจการรถไฟของไทย (สยาม) ทำให้คนไทยในยุคนั้นอดภูมิใจมิได้ เห็นได้จาก หนังสือนำทาง” ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นคู่มือเดินทางเล่มแรกของไทย เรียบเรียงโดยหลวงนฤราชภักดี ตีพิมพ์เมื่อปี 2469 หลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเดียว โดยตอนหนึ่ง หลวงนฤราชภักดีเล่าถึงกิจการรถไฟไทยเทียบกับรถไฟอังกฤษในดินแดนอาณานิคมสมัยนั้นว่า

“แท้ที่จริงรถไฟของประเทศสยามนั้นเมื่อจะเทียบเคียงกันกับรถไฟของอังกฤษในทางแหลมมลายูหรืออินเดีย พม่าแล้ว ก็ยังเปนรองรถไฟของประเทศสยามเรา ได้มีชาวต่างประเทศที่ได้เคยโดยสารรถไฟไปมาทั้งสองฝ่ายได้กล่าวไว้เปนพยานด้วยแล้ว เมื่อจะพูดสรุปรวมความโดยย่อๆ ก็คือรถไฟของประเทศสยามนั้น มีรถด่วนเดินอาทิตย์ละ 2 ครั้ง คือเดินในวันอาทิตย์และวันพุฒเสมอ รถด่วนนั้นได้รับความสดวกสบายตลอดพร้อมบริบูรณ์ มีห้องนอน ห้องนั่ง ห้องน้ำ ห้องซ่วม และรถเสบียง สอาดสอ้างครบถ้วนทุกอย่าง”

ภาพไปรษณียบัตรเก่าหาชมยาก : รูปขบวนรถไฟสายแรกในสยาม
วิ่งผ่านป่าเขาอันรกชัฏเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ดุร้าย (คุณไกรฤกษ์ นานา ค้นพบภาพที่อังกฤษ)

หลังจากนั้น กิจการรถไฟบ้านเราก็ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ แต่อาจจะต้องเจอกับปัญหาต่างๆ จนทำให้การพัฒนาหยุดชะงักลงหรือล่าช้าไปบ้าง ถึงวันนี้ไทยมีเส้นทางรถไฟเป็นระยะทางรวมกันราว 4,500 กิโลเมตร (สถิติถึงกันยายน 2559) หากจะเทียบความทั่วถึงของเครือข่ายเส้นทางเดินรถแล้ว ไทยไม่สามารถสู้อินเดียได้เลย ด้วยอินเดียมีระยะทางต่อพื้นที่ที่สูงกว่ามาก

แล้วตอนนี้อินเดียก็หันมาใช้ระบบไฟฟ้าแทนเกือบครึ่งหนึ่ง โดยขบวนรถที่ทำความเร็วสูงสุดของอินเดียตอนนี้อยู่ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่รถไฟสายหลักของไทย (ไม่นับรถไฟฟ้าซึ่งมีระยะทางเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร) ยังใช้ระบบดีเซลซึ่งทำความเร็วสูงสุดได้เพียงราวๆ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น (ซึ่งสมัยหนึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามาก และไทยก็เป็นประเทศแรกในเอเชียที่นำเข้ามาใช้เมื่อปี พ.ศ. 2471)

แต่ถ้าจะเทียบเรื่อง “ห้องนอน ห้องนั่ง ห้องน้ำ ห้องซ่วม และรถเสบียง สอาดสอ้าง” แล้ว รถไฟไทยของเราน่าจะยังพอสู้กับรถไฟอินเดียได้ โดยเมื่อ พ.ศ. 2560 ทางรัฐบาลไทยได้ประกาศปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 รวม 148 คัน มีการทำสีขบวนรถโดยสารทั้งภายในและภายนอกใหม่ ปรับปรุงระบบน้ำใช้ ห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์ให้มีความสะอาด ปราศจากกลิ่นรบกวนระหว่างเดินทาง

การปรับปรุงประตู หน้าต่าง บานกระจกใหม่ การปรับปรุงสภาพพื้นที่ในตัวรถโดยสารให้มีความสะอาดแข็งแรง เบาะนั่ง พนักพิงให้นั่งสะดวกสบาย การบำรุงซ่อมแซมพัดลมในรถโดยสารทุกคันให้สามารถใช้งานได้ปกติ รวมทั้งจะมีการจัดทำความสะอาดบิ๊กคลีนนิ่งในขบวนรถโดยสารทุกคัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2560