เปิดประวัติ นางชีฮูหยิน วีรสตรีผู้รักษาเมืองตันเอี๋ยง แห่งสามก๊ก

จิตรกรรม สามก๊ก วิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศ ประกอบ นางชีฮูหยิน

“นางชีฮูหยิน” เป็นหนึ่งในวีรสตรีที่มีอยู่เพียงไม่กี่คนในวรรณกรรม “สามก๊ก” นางชีฮูหยินเป็นภรรยาของ “ซุนเซียง” เขาผู้นี้เป็นบุตรชายของซุนเซ็กแห่งง่อก๊ก และเป็นน้องชายของซุนกวน ภายหลังสิ้นซุนเซ็ก ซุนกวนขึ้นครองราชย์แทนได้ไม่นานก็ส่ง “ซุนเซียง” น้องชายไปเป็นเจ้าเมือง “ตันเอี๋ยง” โดยไม่คาดคิดว่าเมืองตันเอี๋ยงจะเป็นสถานที่ซึ่งซุนเซียงต้องจบชีวิต

หากเมืองตันเอี๋ยงก็รอดจากการถูกยึดได้เพราะผู้หญิงอย่าง นางชีฮูหยิน

Advertisement

ในวรรณกรรม “สามก๊ก” กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“ฝ่ายซุนเซียงน้องซุนกวนซึ่งไปกินเมืองตันเอี๋ยงนั้น มีใจหยาบช้า เสพย์สุราร้ายกาจนัก มิได้ปราณีแก่ขุนนางทั้งปวง แลทำโทษตีโบยต่างๆ อิหลำกับไต้อ้วนผู้เปนปลัดมีใจขึ้งโกรธเจ็บแค้น จึงไปคบคิดกับเบียนหองซึ่งเปนคนสนิธของซุนเซียง คิดจะฆ่าซุนเซียงเสีย

ครั้นอยู่มาถึงกำหนดเข้าปีใหม่ เปนประเพณีขุนนางทั้งปวงจะเข้ามาคำนับซุนเซียงจึงให้แต่งโต๊ะที่จะเลี้ยงขุนนาง นางชีฮูหยิน ซึ่งเปนภรรยาซุนเซียง นั้นรู้ในการเสี่ยงทายว่าร้ายแลดี จึงเสี่ยงทายดูก็แจ้งว่า เวลาเช้าพรุ่งนี้สามีเคราะห์ร้ายนัก จึงว่าแก่ซุนเซียงว่า เวลาเช้าท่านจะออกเลี้ยงโต๊ะขุนนางที่ศาลากลางเหมือนอย่างทุกครั้งนั้น ท่านอย่าออกไปเลย เคราะห์ร้ายนักอยู่

ซุนเซียงได้ฟังดังนั้นก็ไม่เชื่อ ถึงเวลาเช้าก็ออกไปเลี้ยงขุนนาง ณ ศาลากลาง ครั้นขุนนางคำนับกินโต๊ะแล้วต่างคนต่างไป ซุนเซียงก็กลับเข้ามา พอถึงประตูจะเข้าไปข้างใน เปียนหองคนสนิธซึ่งเดินมาข้างหลังเห็นซุนเซียงประมาทมิได้ระวังตัว ก็ชักดาบซึ่งซ่อนมานั้นฟันซุนเซี่ยงล้มลงตายอยู่กับประตู อิหลำกับไต้อ้วนก็กลับจับเปียนหองว่าเปนขบถทำร้ายแก่ซุนเชียงให้เอาไปฆ่าเสีย แล้วก็เก็บเอาเข้าของทรัพย์สมบัติของซุนเซียงรวมไว้

แล้วอิหลำให้หาตัวนางชีฮูหยินมาว่า บัดนี้เปียนหองคิดมิชอบ เปนขบถฆ่าสามีท่านเสีย ข้าพเจ้าก็ได้แก้แค้นแทนท่าน ให้เอาเปียนหองไปฆ่าเสียแล้ว ตัวท่านเปนผู้หญิงควรจะปฏิบัติตามเรา แม้มิยอมเปนภรรยาเราๆ ก็จะฆ่าเสีย

นางชีฮูหยินจึงทำกลอุบายตอบว่า ตัวข้าพเจ้าเปนหญิงหาสามีมิได้ เปนที่คนทั้งปวงดูหมิ่น ซึ่งท่านเมตตาจะเลี้ยงข้าพเจ้าเปนภรรยานั้นก็ควรอยู่แล้ว แต่ทว่าผัวข้าพเจ้าตายใหม่ๆ ใจยังไม่ปรกติ ขอท่านได้งดก่อน ข้าพเจ้าจะแต่งโต๊ะเส้นวักสามีตามประเพณีแล้ว จึงจะปฏิบัติตามท่าน อิหลำได้ฟังดังนั้นมีความยินดีนัก ก็กลับไปยังที่อยู่

นางชีฮูหยินจึงให้คนลอบออกไปหาซุนโก๋ [และ] เปาเอ๋ง ซึ่งเปนคนเก่าของซุนเซียงเข้ามาแล้วร้องไห้บอกว่า บัดนี้อิหลำไต้อ้วนสองคนนี้ คิดอ่านให้เปียนหองฆ่าซุนเซียงถึงแก่ความตาย แล้วเก็บเอาทรัพย์สิ่งของทั้งปวงไว้เปนอาณาประโยชน์ แล้วมิหนำซ้ำจะมาข่มเหงเอาตัวเราไปเปนภรรยาอีกเล่า

บัดนี้เราจะทำเปนว่ากล่าวอ้อนวอนไว้มิให้ขัดใจ แลตัวท่านทั้งสองเปนที่รักใคร่ไว้วางใจ จงได้อนุเคราะห์แก่เรา เหมือนเอ็นดูซุนเซียงผู้ตาย ให้มีหนังสือบอกไปถึงซุนกวนผู้พี่ให้แจ้งเหตุผลทั้งนี้ด้วย แลตัวเราก็จะคิดอ่านเพทุบายฆ่าอิหลำไต้อ้วนสองคนนี้เสียให้ได้

ซุนโก๋เปาเอ๋งได้ฟังดังนั้นจึงตอบว่า ข้าพเจ้านี้เปนข้าเก่าของซุนเซียงๆ ได้เอ็นดูกรุณาคุณหาที่สุดมิได้ ครั้นรู้ว่าอิหลำไต้อ้วนทำร้ายแก่สามีท่าน ก็คิดจะแก้แค้นแทนคุณอยู่ แล้วก็ลาออกมายังที่อยู่ จึงแต่งหนังสือตามเหตุผลทั้งปวงให้คนถือไปแจ้งแก่ซุนกวน

ครั้นรุ่งขึ้นวันหนึ่ง นางชีฮูหยินให้หาซุนโก๋เปาเอ๋งเข้ามาแอบอยู่ริมเตียงนอน จึงแต่งโต๊ะเส้นวักสามีตามประเพณีเสร็จแล้ว ก็อาบน้ำ แต่งตัวคอยท่าอยู่ ครั้นเวลาค่ำนางชีฮูหยินจึงให้ไปเชิญอิหลำมากินโต๊ะ แส้งรินสุราให้เสพย์เมา แล้วก็ทำเปนประหนึ่งรักใคร่ประคองตัวเข้าไปข้างใน แล้วซุนโก๋เปาเอ๋ง ก็ถอดดาบวิ่งมาฟันอิหลำถึงแก่ความตาย

แล้วนางชีอูหยินจึงให้คนไปบอกไต้อ้วน ว่าวันนี้เปนวันดีขอเชิญท่านไปกินโต๊ะ ไต้อ้วนสำคัญว่าจริงก็รีบมา ครั้นถึงประตูข้างใน ซุนโก๋เปาเอ๋งก็จับตัวฆ่าเสีย แล้วก็คุมทหารรีบไปจับบุตรภรรยาพรรคพวกอิหลำไต้อ้วนฟันเสียสิ้น[จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]

ฝ่ายซุนกวนเมื่อทราบข่าวด้วยความโกรธ จึงยกทหารรีบมาเมืองตันเอี๋ยง แต่นางชีฮูหยินได้จัดการสังหารอิหลำและไต้อ้วน และสั่งให้ตัดศีรษะของทั้งสองคนมาเซ่นไหว้ซุนเซียงเรียบร้อย ทำให้สามารถรักษาเมืองตันเอี๋ยงไว้ได้ ซุนกวนก็มาช่วยจัดการเก็บบรรดาสมุนตกค้าง และรับนางชีฮูหยินผู้เป็นน้องสะใภ้กลับเมืองกังตั๋ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ราชบัณฑิตสภาชำระ, บริษัท ซีพีออล์ จำกัด (มหาชน) และสำนักพิมพ์สุขภาพใจ จัดพิมพ์เผยแพร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2564