คนไทยเคยเรียก ‘เมกกะ-เมดินา’ ว่า ‘กบิลพัสดุ์’ เรียก ‘โรม’ ว่า ‘เมืองอรุ่ม-หรุ่ม’

กะบะห์ นครเมกกะ กบิลพัสดุ์
กะบะห์ที่นครเมกกะ ภาพถ่ายราว ค.ศ. 1907

คนไทยเคยเรียก ‘เมกกะ-เมดินา’ ว่า ‘กบิลพัสดุ์’ เรียก ‘โรม’ ว่า ‘เมืองอรุ่ม-หรุ่ม’

นับแต่อดีตเป็นต้นมา ในดินแดนสยามนั้นมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาติดต่อค้าขายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะชาวเอเชียทางฟากตะวันตกของสยามและแถบหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งมักเหมารวมว่าเป็นพวก “แขก”

Advertisement

คนไทยโดยมากไม่สามารถแยกแยะชาติพันธุ์ของแขกกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้ามายังสยามได้ว่าแตกต่างกันอย่างไรระหว่าง พราหมณ์ ฮินดู ซิกข์ แขกเจ้าเซ็น แขกสุหนี่ แขกจาม แขกมลายู แขกอาหรับ แขกมัวร์ แขกตุรกี และแขก เปอร์เซีย นั่นจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าชาวมุสลิมเดินทางไปเมือง “กบิลพัสดุ์” ในอินเดียเพื่อแสวงบุญ

การแสวงบุญที่เมืองเมกกะเมื่อ ค.ศ. 1888-18889 (ภาพจาก Rijksmuseum)

การที่คนไทยโดยมากคิดว่าพ่อค้าชาวมุสลิมจำนวนมากเดินทางมาจากอินเดีย จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าชาวมุสลิมไทยเดินทางไปแสวงบุญที่เมือง “กบิลพัสดุ์” ในอินเดียอยู่ร่ำไป กระทั่ง รัชกาลที่ 4 ทรงมีความสงสัย จึงทรงขอคำยืนยันจากจุฬาราชมนตรี ซึ่งน่าจะทราบเรื่องนี้มากที่สุด ดังที่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถามถึงเรื่องนี้ว่า

“เรื่องแขกเรียกเมืองมะกะแลเมืองมะดีนะว่า เมืองกะบิลพัสดุ์

จดหมายหาฤามายังพระยาจุฬาราชมนตรี แลขุนนางในกรมท่าขวาหลวงศรียศ แลพระยาราชวังสัน แลเจ้ากรมปลัดกรมอาษาจาม แลอื่น ๆ แลพวกแขกมลายูในหลวงโคชาอิศหากแลอื่น ๆ ว่าด้วยคำว่าเมืองกะบิลพัศดุ์นี้ จะมีประโยชน์โภชน์ผลเปนกุศลเปนบุญอย่างไร พวกท่านจึ่งพากันเรียกเมืองมะกะฤาเมืองมะดีนะ ในแผ่นดินอาหรับนั้น ว่าเมืองกะบิลพัศดุ์ร่ำไป จนไทยทั้งเมืองเรียกตามไปแทบหมด

แขกนอกที่เขาถือสาศนามหมัด ทั้งพสกสุนีแลมห่นเช่นท่าน ก็มีมากกว่าพวกท่าน 100 เท่า 1000 เท่า ก็ไม่มีใครเขาเรียกเมืองมะกะเมืองมะดีนะเรียกชื่อว่าเมืองกะบิลพัสดุ์ เขาว่าไม่เข้าใจเลย เขาว่าไม่เคยได้ยินเลยเปนเหตุอย่างไร แขกที่เมืองไทยจึ่งเรียกเมืองมะกะฤาเมืองมะดีนะ ว่ากะบิลพัสดุ์หมด ทั้งแขกที่เปนพม่าเข้ารีต แลแขกจามแขกมลายู และไทยที่หลงเชื่อแขกนั้น บางคนได้ยิน ฯข้าฯ ว่าโต๊ะคนนั้นคนนี้ เขาไปเมืองมะกะเมืองมะดีนะ ก็มีไทยเถียง ฯข้าฯ ว่าเขาไม่ได้ว่าจะไปเมืองอื่นดอก เขาจะไปเมืองกะบิลพัสดุ์ ดอกดังนี้ ฯ

เมื่อปีหลัง พระยาตรังกานูบอกเข้ามาว่า จะลาไปเมืองมะกะ ล่ามที่กรุงแปลว่า จะกราบถวายบังคมลาไปเมืองกบิลพัศดุ์ เข้าฯ นึกว่าพระยาตรังกานูจะเรียกดังนั้นด้วย จึงเอาหนังสือพระยาตรังกานูมาให้คนอ่านภาษามลายูอ่านไปตามตัวของเขา คอยฟังคำที่จะออกชื่อเมืองนั้นอย่างไร ก็ฟังได้ยินเขาอ่าน ไม่มีชื่อว่ากบิลพัศดุ์เลย พวกเขาในกรุงเรียกดังนี้เอาที่ไหนมาเรียก ฯ

อนึ่งเมืองคอศตันติโนเบล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพวกแขกเตอเก ที่แขกเรียกว่าตุรเกบ้าง ว่าแขกใหญ่บ้างนั้น ว่าเมืองหรุ่มบ้าง เมืองอรุ่มบ้าง ดังนี้ เอาที่ไหนมาเรียก แขกนอกไม่มีใครเขาเรียกดังนี้เลย เอาที่ไหนมาเรียก คนนอกนั้น โดยถามเขาถึงเมืองหรุ่มเมืองอรุ่ม เขาก็เข้าใจว่าเมืองโรม ซึ่งเป็นเมืองหลวง ที่บาทหลวงใหญ่สางโตปาปาอยู่ในแผ่นดินอิตาลีนั้นไป ฯ

เมืองนั้นคนถือสาศนามหมัดไม่มีเลย มีแต่คนถือสาศนาเยซู ให้ท่านทั้งปวงฤาทีละนาย ให้การมาจงแจ้ง เอาที่ไหนมาเรียกว่าเมืองกบิลพัศดุ์ แลเมืองหรุ่ม เมืองอรุ่ม จะเรียกผิดกับแขกนอกเขาเรียกนั้น จะมีประโยชน์โภชน์ผลอย่างไรให้การมาจงแจ้ง

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาราชวังสัน ขอพระราชทานกราบทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถามข้าพระพุทธเจ้าว่า เมืองมะกะเมืองมะดีนะ พวกเขาเรียกว่าเมืองกบิลพัสดุ์ นั้น เหตุอย่างไร เอาที่ไหนมาเรียก ให้ข้าพระพุทธเจ้าให้การมาตามรู้นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้าฯ พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้า แลเจ้ากรม ปลัดกรมในกรมอาษาจามก็เรียกเมืองมะกะเมืองมะดีนะ เหมือนแขกชาติอะหรับ ไม่ได้เรียกเมืองกบิลพัสดุ์ อนึ่งเมืองชาติแขกโตรเกที่เปนเมืองใหญ่ พวกแขกชาติสุนีเรียกว่าเมืองอิสตันบูล” [1]

เรื่องนี้ ไกรฤกษ์ นานา อธิบายว่า “เป็นที่สันนิษฐานว่า การที่รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งกระทู้ถามจุฬาราชมนตรี ในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนาดี และความปรารถนาดีต่อพสกนิกรของพระองค์ท่าน กล่าวคือถึงแม้พระองค์จะทรงรู้แน่แก่ใจด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ว่า เมกกะและมาดีนะฮ์ไม่ได้อยู่ในอินเดีย แต่เพราะทรงเป็นพุทธมามกะจึงอาจเป็นการไม่สมควรที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับศาสนาอื่น เป็นเหตุให้ทรงอุตส่าห์ตั้งกระทู้ถามผู้รู้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาจากคนทั้งหลายทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม”

ด้วยเหตุที่ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามเข้ามาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในสยาม จึงอาจทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดอยู่เสมอ เกี่ยวกับการที่ชาวอินเดียมาจากเมืองกบิลพัสดุ์ในอินเดีย ทำให้แขกอินเดียทั้งที่เป็นชาวมุสลิม ฮินดู พุทธ และซิกข์ ถูกเหมารวมว่าเป็นชาวกบิลพัสดุ์ เมื่อจะไปแสวงบุญก็จะกลับไปยังเมืองกบิลพัสดุ์

เมืองเมดินา ภาพถ่ายก่อน ค.ศ. 1926

แล้วเหตุใดต้องเป็นเมืองกบิลพัสดุ์?

เมืองกบิลพัสดุ์เป็นเมืองสำคัญในศาสนาพุทธ เป็นเมืองของพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ไกลจากเมืองนี้มีสังเวชนียสถานที่สำคัญคือ สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าที่ลุมพินีวัน

ไกรฤกษ์ นานา ตั้งข้อสันนิษฐาน 3 ประการ ถึงเหตุที่เมืองกบิลพัสดุ์ถูกโยงไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมที่เดินทางแสวงบุญกัน ดังนี้

1. มุสลิมกลุ่มใหญ่ในสยามเป็นคนที่อพยพมาจากอินเดีย

2. กบิลพัสดุ์อยู่ในอินเดีย และเกี่ยวข้องกับการแสวงบุญของชาวอินเดีย (พุทธ) ตลอดมา

3. ในสมัยรัชกาลที่ 4 การเดินทางไปเมกกะ (ในประเทศซาอุดีอาระเบีย) ต้องใช้เรือสำเภาขนาดใหญ่ แล่นผ่านไปแวะเมืองท่าในอินเดีย เพื่อเติมเชื้อเพลิง และจอดรับผู้โดยสาร คนไทยที่ไม่รู้เหตุผลการไปเมกกะของมุสลิมจึงมีความคิดโน้มเอียงไปที่การเดินทางสู่อินเดีย โดยไม่ตั้งใจ [2]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับ พ.ศ. 2457. กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2554

[2] มาเรียม โอ นานา. สาแหรกตระกูลนานา. พิมพ์แจกในหมู่ญาติในตระกูลนานา เมื่อ พ.ศ. 2551

อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. (กันยายน, 2554). ตอบกระทู้รัชกาลที่ 4 เรื่อง “เมืองเมกกะ”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 32 : ฉบับที่ 11.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2564