รัชกาลที่ 4 ทรงหงุดหงิด คนเข้าใจผิด มุสลิมไทยไปแสวงบุญเมืองกบิลพัสดุ์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 วชิรญาณภิกขุ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นนักปราชญ์ทางศาสนา ทรงหงุดหงิดกับความเชื่อปรัมปราของคนไทยส่วนใหญ่ขณะนั้น ที่เชื่อว่า “มุสลิมไทย” เดินทางไปแสวงบุญที่เมืองกบิลพัสดุ์ในอินเดียอยู่ร่ำไป ความสงสัยนี้ทําให้เกิดกระทู้ที่ต้องการคํายืนยันจากผู้นําศาสนาอิสลาม หรือ “จุฬาราชมนตรี” ดังพระราชกระแสรับสั่งถามถึงเรื่องนี้ดังนี้

เรื่องแขกเรียกเมืองมะกะแลเมืองมะดีนะว่าเมืองกะบิลพัสดุ์

Advertisement

จดหมายหาฤามายังพระยาจุฬาราชมนตรี แลขุนนางในกรมท่าขวาหลวงศรียศ แลพระยาราชวังสัน แลเจ้ากรมปลัดกรมอาษาจาม แลอื่นๆ แลพวกแขกมลายในหลวงโคชาอิศ หากแลอื่นๆ ว่าด้วยคําว่าเมืองกะบิลพัสดุ์นี้ จะมีประโยชน์โภชน์ผลเป็นกุศลเป็นบุญอย่างไร

พวกท่านจึงพากันเรียกเมืองมะกะฤาเมืองมะดีนะ ในแผ่นดินอาหรับนั้น ว่า เมืองกะบิลพัสดุ์ร่ำไป จนไทยทั้งเมืองเรียกตามไปแทบหมด…ก็ไม่มีใครเขาเรียกเมืองมะกะ เมืองมะดีนะ เรียกชื่อว่าเมืองกะบิลพัสดุ์ เขาว่าไม่เข้าใจเลย เขาว่าไม่เคยได้ยินเลยเป็นเหตุอย่างไร แขกที่เมืองไทยจึงเรียกเมืองมะกะฤาเมืองมะดีนะ ว่ากะบิลพัสดุ์หมด ทั้งแขกที่เปนพม่าเข้ารีต แลแขกจามแขกมลายู และไทยที่หลงเชื่อแขกนั้น บางคนได้ยิน ฯข้าฯ ว่าโต๊ะคนนั้นคนนี้ เขาไปเมืองมะกะเมืองมะดีนะ ก็มีไทยเถียง ฯข้าฯ ว่าเขาไม่ได้ว่าจะไปเมืองอื่นดอก เขาจะไปเมืองกะบิลพัสดุ์ ดอกดังนี้ ฯ

เมื่อปีหลัง พระยาตรังกานูบอกเข้ามาว่า จะลาไปเมืองมะกะ ล่ามที่กรุงแปลว่า จะกราบถวายบังคมลาไปเมืองกบิลพัสดุ์ ฯข้าฯ นึกว่าพระยาตรังกานูจะเรียกดังนั้นด้วย จึ่งเอาหนังสือพระยาตรังกานูมาให้คนอ่านภาษามลายูอ่านไปตามตัวของเขา คอยฟังคําที่จะออกชื่อเมืองนั้นอย่างไร ก็ฟังได้ยินเขาอ่าน ไม่มีชื่อว่ากบิลพัสดุ์เลย พวกเขาในกรุงเรียกดังนี้เอาที่ไหน มาเรียกฯ

อนึ่งเมืองคอศตันติโนเบล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพวกแขกเตอเก ที่แขกเรียกว่า ตุรเกบ้าง ว่าแขกใหญ่บ้างนั้น ว่าเมืองหรุ่มบ้าง เมืองอรุ่มบ้าง ดังนี้ เอาที่ไหนมาเรียก แขกนอกไม่มีใคร เขาเรียกดังนี้เลย เอาที่ไหนมาเรียกคนนอกนั้น โดยถามเขาถึงเมืองหรุ่ม เมืองอรุ่ม เขาก็เข้าใจว่าเมืองโรม ซึ่งเป็นเมืองหลวง ที่บาทหลวงใหญ่สางโตปาปาอยู่ใน แผ่นดินอิตาลีนั้นไป ฯ เมืองนั้น คนถือสาศนามหมัดไม่มีเลย มีแต่คนถือสาศนาเยซู ให้ท่าน ทั้งปวงฤาทีละนาย ให้การมาจงแจ้ง เอาที่ไหนมาเรียกว่าเมืองกะบิลพัสดุ์ แลเมืองหรุ่ม เมืองอรุ่ม จะเรียกผิดกับแขกนอกเขาเรียกนั้น จะมีประโยชน์โภชน์ผลอย่างไรให้การมาจงแจ้ง

ข้าพระพุทธเจ้าพระยาราชวังสัน ขอพระราชทานกราบทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถามข้าพระพุทธเจ้าว่า เมืองมะกะ เมืองมะดีนะ พวกเขาเรียกว่าเมืองกะบิลพัสดุ์นั้น เหตุอย่างไร เอาที่ไหนมาเรียก ให้ข้าพระพุทธเจ้าให้การมาตามรู้นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้าฯ พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้า แลเจ้ากรมปลัดกรมในกรมอาษาจามก็เรียกเมืองมะกะเมืองมะดีนะ เหมือนแขกชาติอะหรับ ไม่ได้เรียกเมืองกะบิลพัสดุ์ อนึ่งเมืองชาติแขกโตรเกที่เป็นเมืองใหญ่ พวกแขกชาติสุนี้เรียกว่าเมืองอิสตันบูล [1]

ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2554 ไกรฤกษ์ นานา อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ตอบกระทู้รัชกาลที่ 4 เรื่อง ‘เมืองเมกกะ’ ” ไว้ดังนี้ (สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

อนึ่ง เป็นที่สันนิษฐานว่า การที่รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งกระทู้ถามจุฬาราชมนตรี ในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนาดีและความปรารถนาดีต่อพสกนิกรของพระองค์ท่าน กล่าวคือถึงแม้พระองค์จะทรงรู้แน่แก่ใจด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ว่า เมกกะและมาดีนะฮ์ไม่ได้อยู่ในอินเดีย แต่เพราะทรงเป็นพุทธมามกะ จึงอาจเป็นการไม่สมควรที่จะให้คําแนะนําเกี่ยวกับศาสนาอื่น เป็นเหตุให้ทรงอุตส่าห์ตั้งกระทู้ถามผู้รู้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงคําครหาจากคนทั้งหลายทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม

มุสลิมไทย ไปเมกะ ไม่ได้ไปกบิลพัสดุ์

แต่จากการที่ชาวอินเดียมุสลิมจํานวนมากเดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในแหลมทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสยามประเทศ จึงเกิดความสับสนและเข้าใจผิดอยู่เสมอ เกี่ยวกับการที่ชาวอินเดียมาจากกบิลพัสดุ์อันเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ในอินเดีย ทําให้แขก อินเดียทั้งมุสลิม ฮินดู พุทธ และซิกข์ถูกเหมารวมว่าเป็นชาวกบิลพัสดุ์ เมื่อจะไปแสวงบุญ ก็จะกลับไปกบิลพัสดุ์อันเป็นต้นกําเนิดของตน

คนไทยโดยมากไม่สามารถแยกแยะแขกชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เข้ามายังประเทศสยามว่าแตกต่างกันอย่างไรระหว่าง พราหมณ์-ฮินดู-ซิกซ์-แขกเจ้าเซ็น-แขกสุหนี่-แขกจาม-แขกมลายู-แขกอาหรับ-แขกมัวร์-แขกตุรกี และแขกเปอร์เซีย เป็นต้น ดังนั้น เมื่ออินเดียเป็นเมืองแขก บรรดาแขกทั้งหลายก็คงจะกลับไปอินเดียเพื่อแสวงบุญ อะไร ทํานองนั้น แต่ทําไมต้องเป็น “กบิลพัสดุ์”

กบิลพัสดุ์ (Kapilavastu) เป็นชื่อเมืองหลวงของแคว้นสักกะ เป็นเมืองของพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงเจริญเติบโตและประทับอยู่จนกระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนตอนเหนือประเทศอินเดีย ยังเหลือซากเมืองอยู่เป็นหลักฐาน และไม่ห่างจากเมืองนี้มีสังเวชนียสถานที่สําคัญคือสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่าลุมพินีวันปรากฏอยู่ บริเวณลุมพินีวันมีวัดพุทธของประเทศไทยและของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอีกหลายวัด เป็นดินแดนที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกนิยมไปแสวงบุญกัน

เมืองกบิลพัสดุ์ถูกโยงไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้ไปแสวงบุญกันมาก ดังนั้น เมื่อมุสลิมอินเดียจะเดินทางไปเมกกะจึงเกิดความเชื่อว่าอาจไปกบิลพัสดุ์ก็ได้ เพราะ

  1. มุสลิมกลุ่มใหญ่ในสยามเป็นคนที่อพยพมาจากอินเดีย
  2. กบิลพัสดุ์อยู่ในอินเดีย และเกี่ยวข้องกับการแสวงบุญของชาวอินเดีย (พุทธ) ตลอดมา
  3. ในสมัยรัชกาลที่ 4 การเดินทางไปเมกกะ (ในประเทศซาอุดีอาระเบีย) ต้องใช้เรือสําเภาขนาดใหญ่แล่นผ่านไปแวะเมืองท่าในอินเดีย เพื่อเติมเชื้อเพลิงและจอดรับผู้โดยสาร คนไทยที่ไม่รู้เหตุผลการไปเมกกะของมุสลิมจึงมีความคิดโน้มเอียงไปที่ การเดินทางสู่อินเดีย โดยไม่ตั้งใจ [2]

เพราะฉะนั้นเมื่อพินิจพิเคราะห์เหตุและผลของการตั้งกระทู้นี้อย่างรอบคอบแล้วก็จะพบว่า รัชกาลที่ 4 มิได้ทรงมีเจตนาจะอบรมสั่งสอนมุสลิมโดยตรงที่รู้อยู่แก่ใจว่าพวกเขาต้องการไปเมกกะในประเทศซาอุดีอาระเบีย

แต่ในทางกลับกันมันเป็นอุบายที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดในหมู่คนต่างศาสนาที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลาม อันเป็นการปลูกฝังความรู้ทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมของชุมชนต่างชาติที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานความรู้ของพสกนิกรของพระองค์ท่านให้มากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1]ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉบับ พ.ศ. 2457, กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2554

[2] มาเรียม โอ นานา. สาแหรกตระกูลนานา. พิมพ์แจกในหมู่ญาติในตระกูลนานา เมื่อ พ.ศ. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม  2564