สงครามกรีก-ตุรกี และพระราชดํารัสรัชกาลที่ 5 เรื่องถือหางข้างกรีก

รูปล้อสงครามกรีก-ตุรกี ใน Le Petit Journal ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 (ภาพจากไกรฤกษ์ นานา)

เมื่อกล่าวถึงการเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 หลักฐานของต่างประเทศนั้นมีความหลากหลายมาก ซึ่งนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ ไกรฤกษ์ นานา ติดตามสะสมเป็นข้อมูลและนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ “การ์ตูนล้อการเมือง” กว่าสิบรายการที่ไกรฤกษ์สืบค้นจนพบ และนำเสนอไว้ใน “คิงจุฬาลงกรณ์ ‘ปะทะ’ ผู้นำจักรวรรดินิยม ข้อเท็จจริงจากการ์ตูนล้อการเมือง พงศาวดารที่ ‘ถูกละเลย’ ในประวัติศาสตร์ไทย” (ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2549)

ซึ่งการ์ตูนการเมืองเหล่านั้น เชื่อมโยงกับเรื่องของประเทศไทย และเป็นหลักฐานใหม่เพิ่มเติมประกอบพระราชพงศาวดารของไทยในที่ขอนำเสนอเฉพาะ “รูปที่ 6 สงครามกรีก-ตุรกี และพระราชดำรัสรัชกาลที่ 5 เรื่องถือหางข้างกรีก (ภาพจาก Le Petit Journal ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1897)” ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

รูปที่ 6 สงครามกรีก-ตุรกี และพระราชดำรัสรัชกาลที่ 5 เรื่องถือหางข้างกรีก (ภาพจาก Le Petit Journal ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1897)

ระหว่างการเสด็จประพาสเดนมาร์กของรัชกาลที่ 5 ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1897 ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในประเทศกรีก ความขัดแย้งได้ลุกลามใหญ่โต จนกลายเป็นสงครามเล็กๆ ต่อมากินวงกว้างขึ้น จนผู้นำยุโรปจากหลายประเทศต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เหตุผลง่ายๆ คือ พระเจ้ากรุงกรีกเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงเดนมาร์ก ผู้เป็นแกนหลักของราชวงศ์ยุโรป ในสมัยนั้นพระเจ้าจอร์จที่ 1 (King George I) พระเจ้าแผ่นดินกรีกเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (King Christian IX)…

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระราชอาคันตุกะของพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 จึงทรงตัดสินพระทัยเข้าข้างกรีก ดังพระบรมราชวินิจฉัยส่งมาพระราชทานสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ความว่า “แต่เตอรกี เห็นเชิงจะไม่ดี ฉันมาอยู่ในหมู่ท่านพวกพระญาติวงศ์ข้างกรีกทั้งนั้น เลยไม่คิดจะไป [ตุรกี] เพราะไม่มีประโยชน์อันใด นอกจากสนุก แต่ที่จริงก็มีใจสงสารอยู่”

รูปล้อสงครามกรีก-ตุรกี ใน Le Petit Journal ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 (ภาพจากไกรฤกษ์ นานา)

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราชวงศ์เดนมาร์ก มิใช่เรื่องเล็กๆ เลย ในพงศาวดารยุโรป นอกจากพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 จะเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินกรีกแล้ว พระองค์ยังเป็นพระราชบิดาของเจ้าหญิงอีก 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าหญิงดัคมาร์ (Princess Dagmar) และเจ้าฟ้าหญิงอเล็กซานดรา (Princess Alexandra) ผู้ซึ่งในขณะนั้นเป็นถึงพระราชินีแห่งรัสเซีย และพระราชินีแห่งอังกฤษตามลำดับ แล้วยังมีพระราชโอรสองค์สุดท้อง คือ เจ้าชายวัลเดอมาร์ (Prince Valdemar) ผู้มีพระชายาเป็นเจ้าหญิงราชนิกุลฝรั่งเศสอีกด้วย (เจ้าหญิงมารี ออร์เล-อง)

ทำให้อิทธิพลของเดนมาร์กแทรกซึมอยู่ในชนชั้นผู้นำของรัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศสอย่างลึกซึ้ง จึงเป็นที่มาของพระราชกุศโลบายสำคัญในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงตั้งเป็นนโยบายเจาะเครือข่ายราชวงศ์ โดยมีเดนมาร์กเป็นแกนนำ เพราะทรงตระหนักดีว่านั่นคือจุดอ่อนของยุโรป ทั้งยังเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้นำหลักในทวีปยุโรปอีกด้วย

…………

และก่อนที่จะจบเรื่องนี้ ขอเสริมข้อมูลประกอบภาพล้อสงครามกรีก-ตุรกี ซึ่งดึงเอาผู้นำประเทศต่างๆ เข้าไปพัวพันอยู่ด้วยทางอ้อม จนเป็นวิกฤติการณ์สาธารณะที่ครึกโครมมากเรื่องหนึ่งสืบเนื่องมาจากปี ค.ศ. 1896 เกิดความวุ่นวายทางการเมืองบนเกาะครีต (Crete) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของตุรกี

ชาวครีตซึ่งเป็นชาวกรีก (Greek) โบราณพวกหนึ่งร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชาติกรีก รัฐบาลกรีกจึงส่งกองทัพเรือไปให้ความช่วยเหลือชาวครีต ประเทศมหาอำนาจพยามยามขัดขวาง เพราะไม่อยากให้เรื่องบานปลาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ต่อมาองค์กรลับในกรีกได้เข้าโจมตีที่มั่นของพวกเติร์กในแคว้นมาซิโดเนียเพื่อตอบโต้ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่กดดันให้สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันประกาศสงครามกับชาวกรีกทันที ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1897

สงครามกรีก-ตุรกี (Greco-Turkish War) ดำเนินไปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยกรีกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และไม่สามารถสกัดกันกองทัพตุรกีที่บุกจนเกือบถึงกรุงเอเธนส์ได้ อย่างไรก็ดีก่อนที่กรีกจะประสบกับความหายนะมากขึ้น ประเทศมหาอำนาจได้เรียกร้องให้ตุรกียุติการสู้รบ ชื่อเสียงของกรีกได้รับความเสียหาย ในฐานะผู้เริ่มก่อสงคราม อีกทั้งรัฐบาลยังถูกลงโทษให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลแก่ตุรกี และต้องเสียดินแดนบางส่วนของเทสซาลีให้ตุรกี

ส่วนตรุกีถูกบังคับให้ถอนกองกำลังทั้งหมดจากครีต รวมทั้งต้องยินยอมให้ครีตปกครองตนเองด้วย โดยครีตยังคงเป็นดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันต่อไปแต่เพียงในนาม ประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะเดนมาร์กได้ร่วมกันใช้อิทธิพลสนับสนุนให้เจ้าชายจอร์จ (Prince George) พระราชโอรสของพระเจ้าจอร์จที่ 1 (King George I) แห่งกรีกผู้มีพระนามเดียวกัน ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ (High Commissioner) ประจำเกาะกรีต โดยมีองค์กรระหว่างประเทศที่มหาอำนาจจัดตั้งขึ้นเป็นผู้กำกับดูแลอีกทีหนึ่ง

อนึ่ง เจ้าชายจอร์จผู้นี้ มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย ผู้เป็นพระราชโอรสของพระราชินีรัสเซีย (อีกนัยหนึ่งคือ พระราชินีรัสเซียและพระเจ้าแผ่นดินกรีกเป็นพี่น้องกัน พระราชโอรสของทั้ง 2 พระองค์จึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน-ผู้เขียน) Prince George เป็นผู้หนึ่งที่เคยติดตาม ซาเรวิตซ์มาเยือนกรุงสยามในปี ค.ศ. 1891 จึงเป็นพระสหายของรัชกาลที่ 5 ไปพร้อมๆ กับพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ด้วย

เหตุผลนี้พิสูจน์ความจริง กับการที่รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยเข้าข้างกรีกว่า ถึงแม้จะไม่ใช่ความถูกต้อง และเป็นการตกกระไดพลอยโจน แต่พระองค์ก็จำต้องเข้าข้างกรีก เพื่อรักษาหลักการเดิมในการเจาะเครือข่ายราชวงศ์ยุโรป ซึ่งมีความหมายต่อการดําเนินนโยบายของพระองค์ (ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: ยุโรป เล่ม 3 อักษร E-G. กรุงเทพฯ)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2564