ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“แคว้นฉิน” ช่วงต้นยุคจ้านกว๋อ (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) สถานการณ์บ้านเมืองมีความวุ่นวาย กองทัพอ่อนแอ ถูกแคว้นฉู่และแคว้นเว่ยบุกรุกก่อกวนอยู่ตลอดเวลา เพื่อแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้ ฉินเซี่ยวกง ผู้ปกครองแคว้นฉินคิดปฏิรูปกฎหมายของแคว้น และผู้ที่มาช่วยให้ทำการสำเร็จก็คือ “ซางยาง”
ซางยาง เป็นชาวแคว้นเว่ย ชื่อแซ่เดิม คือ กงซุนยาง เป็นนักปรัชญาสำนักฝ่าเจีย (สำนักกฎหมาย) ต่อมามีความดีความชอบจากการแก้กฎหมายให้แคว้นฉิน จึงได้เมืองซางไปบริหารปกครอง (ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอําเภอซางในมณฑลส่านซี) จึงเรียกเขาว่าซางยาง ซางยางเสนอฉินเซี่ยวกงให้หลักนิติธรรม ปฏิรูปกฎหมาย ปรับปรุงให้มีการปฏิบัติต่อปวงชนอย่างเสมอหน้ากัน
ฉินเซี่ยวกงฟังคำแนะนำของซางยาง ตัดสินใจปฏิรูประบบเก่าดำเนินการตามกฎหมายใหม่ที่ซางยางเสนอ แต่บรรดาชนชั้นสูงและเหล่าขุนนางต่างคัดค้าน เตือนไม่ให้เชี่ยวกงเชื่อตามซางยาง
ซางยางปฏิรูปกฎหมาย 2 ครั้งติดต่อกัน ประเด็นหลักการปฏิรูปของกฎหมายของซางยาง คือ ใครทำดีต้องให้รางวัล ใครผิดต้องลงโทษ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด, ล้มเลิกระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐ ยอมรับระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนตัว อนุญาตให้มีการซื้อขายที่ดิน, เพิ่มอำนาจการควบคุมท้องถิ่นให้กับภาครัฐ ฯลฯ การปฏิรูปกฎหมายของซางยางทำให้ การเมือง เศรษฐกิจ และการทหารมีการพัฒนา แคว้นฉินกลายเป็นแคว้นที่มีความเข้มแข็งที่สุด
แต่กว่าจะถึงจุดนั้น มีเสียงคัดค้านดังไปทั่วราชสำนักฉิน
ฉินเซี่ยวกงเรียกประชุมเหล่าขุนนางเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมาย ฝ่ายขุนนางที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ต่างอ้างอิงเหตุผลและหลักการมากมาย แต่ซางยางหักล้างได้หมด ฉินเซี่ยวกงจึงแต่งตั้งซางยางเป็นขุนนางฝ่ายซ้าย มอบอำนาจให้เขาดำเนินการเปลี่ยนกฎหมายใหม่ และให้กำหนดแผนปฏิรูปกฎหมายโดยเร็ว ทั้งประกาศว่าหากผู้ใดยังคัดค้านการปฏิรูปกฎหมายอีกจะต้องถูกลงโทษ
หากซางยางตระหนักดีว่า การใช้กฎหมายใหม่จะราบรื่น ต้องได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนเสียก่อน แต่การจะอธิบายเหตุผลของการปฏิรูปกฎหมายให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าใจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในกฎหมาย ซางยางเลือกใช้วิธีที่แปลกและแตกต่างออกไป
ซางยางสั่งให้นำเสาไม้สูง 3 จ้าง (ประมาณ 30 ฟุต) ไปตั้งที่ประตูเมืองทางทิศใต้ และปิดประกาศไว้ข้างเสาว่า ผู้ใดสามารถย้ายเสาต้นนี้ไปยังประตูเมืองทิศเหนือได้ จะได้รับทองคำ 10 แท่ง
ผู้คนยืนมุงดูอยู่รอบๆ เสาต้นนั้นเต็มไปหมด ส่วนใหญ่ก็คิดเหมือนกันว่า เสาไม้สูงใหญ่ขนาดนี้ ระยะทางไกลขนาดนี้ ใครจะแบกไหว รางวัลที่ตั้งรางวัลไว้สูงเช่นนี้ คงไม่เป็นจริง จึงไม่มีผู้ใดลองแบกเสาต้นนี้
เมื่อรอไประยะหนึ่งไม่ใครทดลองยกเสา ซางยางจึงเพิ่มรางวัลเป็นทอง 50 แท่ง
ประชาชนส่วนมากยังคงเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ต่างวิจารณ์และคาดเดาไปต่างๆ นานาว่า ขุนนางฝ่ายซ้ายอย่างซางยางคิดอะไรอยู่ ขณะนั้นเองมีชายคนหนึ่ง เขาคิดว่าแค่แบกเสาไปยังประตูฝั่งเหนือเสียแรงไม่เท่าไหร่หรอก ถึงไม่ได้รางวัลก็ไม่เสียหายอะไร น่าจะลองดูสักครั้ง แล้วเขาก็แบกเสาไม้เดินไปจนถึงประตูเมืองฝั่งเหนือ และได้ทอง 50 แท่ง ตามประกาศที่ปิดไว้
เหตุการณ์นี้แพร่สะพัดไปทั่วเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนจำนวนมากต่างเกิดความเชื่อถือในตัวซางยาง และเชื่อมั่นว่ากฎหมายที่เขาเป็นปฏิรูป ในที่สุดก็ประกาศใช้กฎหมายใหม่ได้
หลังประกาศใช้กฎหมายใหม่ได้ 10 ปี แคว้นฉิน กลายเป็นแคว้นที่มีความเข้มแข็งที่สุด อันนำไปสู่การรวม 6 แคว้นให้เป็นหนึ่ง แม้ภายหลังเมื่อฉินเซี่ยวกงสิ้นชีพ รัชทายาทพระนามว่า “ฉินฮุ่ยเหวินหวัง” ขึ้นครองราชย์ เขามีความแค้นซางยางตลอดมา เพราะก่อนหน้าเคยถูกซางยางตัดสินโทษ จึงได้ฉวยโอกาสใส่ร้ายซางยางก่อกบฏและลงโทษประหาร หากยังยอมรับรากฐานทางกฎหมายที่ซางยางวางไว้
อ่านเพิ่มเติม :
- “ตี๋เหรินเจี๋ย” ตุลาการ-ขุนนางวิจารณ์ผู้ใหญ่ ก่อศัตรูจนโดนย้าย สุดท้ายถูกเรียกตัวกลับ
- หวัง หมั่ง ขุนนางผู้ทะเยอทะยาน สร้างภาพจนได้เป็นฮ่องเต้
- ฟางเซี่ยวหรู ขุนนางผู้ถูกลงโทษประหารชีวิต “10 ชั่วโคตร”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หลี่เฉวี่ยน (เขียน), เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย (แปล). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2556.
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2564