ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | ภาวินีย์ สังขรัตน์ |
เผยแพร่ |
…ตามที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ ตี๋เหรินเจี๋ย เป็นขุนนางคนสำคัญข้างกายจักรพรรดินีหวู่เจ๋อเทียน – ทรราชและยอดนักบริหารแห่งราชวงศ์ถัง
แต่ทว่าก่อนตี๋เหรินเจี๋ยจะก้าวมาถึงตำแหน่งอัครเสนาบดีได้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย จนน่าจะนับได้ว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่เคยตกต่ำถึงขีดสุดและกลับมารุ่งโรจน์ได้ด้วยคุณธรรมความดีโดยแท้
ตำแหน่งทางราชการเริ่มแรกของตี๋เหรินเจี๋ยเรียกกันง่ายๆ ว่า “นายอำเภอ” หากแต่นายอำเภอของจีนนั้นไม่ได้ทำหน้าที่บริหารงานราชการเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงทุกเรื่องที่เป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร ไม่เว้นแม้แต่การตัดสินคดีความที่เกิดในท้องที่รับผิดชอบ
นายอำเภอตี๋ จึงเป็น ตุลาการตี๋ ไปด้วยในคนเดียวกัน การตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรมของตุลาการตี๋นี่เองที่ทำให้เกิดเรื่องเล่าขานมากมายถึงความเก่งกาจของท่านมาจนถึงปัจจุบัน
ในฐานะตุลาการ มีบันทึกไว้ว่าตี๋เหรินเจี๋ยใช้ความสามารถในการสืบสวนที่ยอดเยี่ยม จนสามารถสะสางคดีภายในปีเดียวได้ถึง 17,000 คดี ทั้งคดีน่าสงสัยที่คั่งค้างอยู่ในศาล คดีที่ตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม หรือแม้แต่คดีที่ตัดสินผิดพลาดไปแล้ว
และเมื่อได้เข้ามาเป็นอัครเสนาบดีคู่บัลลังก์จักรพรรดินี ท่านได้สร้างคุณูปการไว้มากมายเพราะคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ท่านกล้าตักเตือนจักรพรรดินีให้คำนึงถึงความต้องการของราษฎร และทูลทัดทานเมื่อเห็นว่านโยบายของพระนางอาจสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คน
นอกจากนี้ยังได้คัดเลือกคนดีมีความสามารถเข้ามาช่วยงานราชการอีกหลายคน หนึ่งในขุนนางที่มีชื่อเสียงเหล่านั้นได้แก่ จางเจี่ยนจือและเหยาฉง
ตี๋เหรินเจี๋ยได้รับยกย่องเรื่องความซื่อสัตย์ เพราะท่านไม่เคยฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่รับสินบน และกล้าวิพากษ์วิจารณ์ขุนนางผู้ใหญ่จนก่อศัตรูโดยไม่รู้ตัว ดังมีบันทึกไว้ว่าท่านเคยถูกกลั่นแกล้งจนถูกขับให้ต้องไปรับราชการในดินแดนห่างไกลที่เมืองฟู่โจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลหูเป่ย) แต่ด้วยความสามารถที่เหนือกว่าขุนนางคนใดจึงถูกเรียกตัวกลับมารับราชการที่เมืองหลวงอีกครั้ง
หลังเข้ามารับตำแหน่งอัครเสนาบดี ท่านก็ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยมจนถึงวาระสุดท้ายจนแม้จักรพรรดินีหวู่เจ๋อเทียนยังหลั่งน้ำตาอาลัย
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เรื่องราวของตี๋เหรินเจี๋ยได้รับการถ่ายทอดเป็นซีรี่ส์สืบสวนสอบสวนทางโทรทัศน์เรื่องดัง ฉายในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2004-10 สำนักพิมพ์มติชนนำนวนิยายที่ถอดจากซีรี่ส์ชุดนี้มาถ่ายทอดในภาคภาษาไทย ให้ชื่อว่า “ตี๋เหรินเจี๋ย นักสืบคู่บัลลังก์”…
ฉากหลังของนวนิยายสืบสวนสอบสวนชุดนี้ คือราชวงศ์ถังยุคผลัดแผ่นดินจากพระเจ้าถังไท่จง เป็นยุคที่เต็มไปด้วยการนองเลือดน่าสยดสยอง ฝ่ายตระกูลหลี่ – ลูกหลานของพระเจ้าถังไท่จงถูกจักรพรรดินีหวู่เจ๋อเทียนไล่ล่าทำลายล้างเพื่อหวังผลทางการเมือง
ผู้ที่เหลือรอดต่างก็ซ่องสุมผู้คนอยู่เงียบๆ หวังจะโค่นล้มทรราชหญิงเมื่อใดก็ตามที่โอกาสอำนวย จนเกิดเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ที่คนในชาติหันมาฆ่ากันเองโดยไม่คำนึงถึงความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตี๋เหรินเจี๋ยใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองเช่นนี้เอง
ในนวนิยายเล่มแรกนี้ ตี๋เหรินเจี๋ยถูกเรียกตัวให้กลับมาสืบคดีลึกลับที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง – นครฉางอาน เมื่อคณะทูตทูเจี๋ย – อาณาจักรทางเหนือที่เดินทางมาเชื่อมสัมพันธไมตรีกับจีนถูกสังหารยกคณะ ยิ่งสืบตี๋เหรินเจี๋ยกลับยิ่งพบปมปริศนาลึกลับซับซ้อน เมื่อคดีฆาตกรรมทูตต่างชาติกลับเชื่อมโยงถึงการหายตัวไปของเด็กหนุ่มกว่า 100 คนในหมู่บ้านห่างไกลได้อย่างไม่น่าเชื่อ
นอกจากคดีที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนชวนติดตามแล้ว นวนิยายยังสะท้อนให้เห็นคุณธรรมของการเป็นนักปกครองที่ดี ผ่านถ้อยคำของตี๋เหรินเจี๋ยที่ช่วยสะกิดเตือนใจเหล่าขุนนางให้นึกถึงชาวบ้านมากๆ พาลนึกอยากให้ผู้มีอำนาจของไทยเอาไปบรรจุเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักการเมืองไทยบ้าง
ไม่ว่าจะเป็น “ชีวิตราษฎรถือเป็นเรื่องใหญ่อันดับแรกของราชสำนัก”, “วางอำนาจบาตรใหญ่ ข่มเหงชาวบ้าน ฆ่าคนตามอำเภอใจ มีโทษไม่อาจยกเว้นได้” และ “เมื่อราษฎรเดือดร้อน แต่คนเป็นขุนนางเพิกเฉย หรือซ้ำร้ายกดขี่ขูดรีด มีการลงโทษอย่างเหี้ยมโหดเพื่อปิดปากราษฎร ทั้งหมดนี้เป็นลางบอกเหตุความวุ่นวายของบ้านเมือง” ฯลฯ
หากแม้วรรณกรรมจะยังคงมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้างในยุคที่คนดีมีคุณธรรมอยู่ได้ยากเช่นนี้ หวังว่าเมื่อท่านผู้มีอำนาจได้อ่าน ถ้อยคำเหล่านี้อาจจะช่วยเตือนใจได้บ้าง อย่างน้อยก็ในหมู่นักบริหารบ้านเมืองรุ่นใหม่ เพราะอย่างไรนักการเมืองรุ่นเก่าก็คงเกินเยียวยาเสียแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- เนี่ยอูเซ็ง-กิมย้ง-โกวเล้ง ผู้สร้าง “ยุคทอง” นิยายกำลังภายใน เหล่าจอมยุทธ์นับพัน
- ถอดรหัส “กิมย้ง” ทำไมสร้างนิยายกำลังภายในที่เหนือกาลเวลา อิทธิพลการเมือง-คุณธรรม
- “เส้าหลิน-บู๊ตึง” ที่กิมย้งใช้อ้างในนิยายกำลังภายใน สำนักจริงเป็นอย่างไร?
หมายเหตุ : คัดส่วนเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตี๋เหรินเจี๋ย – ยอดนักสืบแห่งราชวงศ์ถัง” เขียนโดย ภาวินีย์ สังขรัตน์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2564