ถอดรหัส “กิมย้ง” ทำไมสร้างนิยายกำลังภายในที่เหนือกาลเวลา อิทธิพลการเมือง-คุณธรรม

"กิมย้ง" หรือ จาเลี้ยงย้ง นักเขียนนิยายกำลังภายใน เมื่อปี 2001 (ภาพจาก AFP)

การจากไปของ “กิมย้ง” เมื่อปี 2018 เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับวงการนิยายกำลังภายใน ถึงกิมย้งไม่ได้เขียนผลงานเรื่องใหม่มาหลายปีแล้ว แต่รอบทศวรรษที่ผ่านมายังแก้ไขปรับปรุงนิยายอยู่บ้าง เชื่อว่าผลงานของกิมย้งจะอยู่กับวงการตลอดไปในฐานะผลงานที่เหนือกาลเวลา ทั้งผลงานสร้างชื่อ และผลงานช่วงหลังอาชีพซึ่งแฝงนัยยะทางการเมืองและบอกเล่าแนวคิดของผู้เขียนไว้อย่างแหลมคม

หลังจากกิมย้ง นักเขียนนิยายกำลังภายในผู้พำนักในฮ่องกงไม่ได้เขียนนิยายต่อ วงการยังได้อ่านผลงานของหวงอี้ แต่ปีที่แล้วหวงอี้จากไป ปีนี้กิมย้งที่เป็นอีกเสาหลักของกำลังภายใน (แม้ไม่ได้เขียนงานใหม่แล้วแต่ยังปรับปรุงงานในอดีตหลายครั้ง) ก็จากไปอีก ขณะที่โกวเล้งจากไต้หวันเสียชีวิตก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว

Advertisement

แวดวงนิยายกำลังภายในรุ่นใหม่หรือนิยายออนไลน์เชิงแฟนตาซีที่เติบโตอย่างมากในจีนรอบหลายปีที่ผ่านมาอาจได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ เป็นพลวัตปกติทั่วไปที่วงการเข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักอ่านที่ชื่นชอบนิยายกำลังภายในแบบดั้งเดิมอาจยังคงนึกถึงผลงานสไตล์เดิมที่เคยอ่าน หรือตั้งตารอคอยนิยายกำลังภายในที่สามารถสร้างปรากฏการณ์สะเทือนวงการทั้งแง่วรรณกรรม และใช้ตัวละครและเนื้อเรื่องวิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบแหลมคม

กิมย้ง เคยให้สัมภาษณ์เรื่องผลงานของตัวเองว่า พวกพลัง-ทักษะต่างๆ เป็นเปลือกนอกของ “กำลังภายใน” แต่หัวใจของ นิยายกำลังภายในคือคำว่า “คุณธรรม”

ผลงานของนักเขียนยุคนั้นมีฉากหลังเหล่านี้อยู่ไม่มากก็น้อย ถ้าจะทำความเข้าใจ “หัวใจ” ของกำลังภายในมากไปกว่าการต่อสู้ก็อาจต้องดูภูมิหลังและอิทธิพลทางความคิดควบคู่กันไปด้วย

นิยายกำลังภายในที่กิมย้งเขียนทั้ง 15 เรื่องก็มีพัฒนาการทางการเล่าเรื่อง และเชิงแนวคิดเบื้องหลังที่น่าสนใจอยู่ เหมือนนิยายเติบโตไปพร้อมกับแนวคิดของคนเขียนด้วย

การทำความเข้าใจผลงานของกิมย้ง อาจเริ่มข้อมูลด้านภูมิหลังจากตระกูลของกิมย้ง (ชื่อจริงคือ จาเลี้ยงย้ง ฝรั่งเรียก “หลุยส์ จา”) เป็นตระกูลใหญ่ บรรพบุรุษเคยรับใช้ราชสำนักและเคยเขียนกวีล่วงเกินคนใหญ่โตจนเป็นเรื่อง

ภูมิหลังของนักเขียน

ครอบครัวของกิมย้งรุ่นต่อมาได้รับผลกระทบหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แม่ของจา ป่วยและเสียชีวิตขณะหนีระเบิดช่วงญี่ปุ่นบุกจีน หลังผ่านช่วงสงครามกลางเมืองในจีน หลังค.ศ. 1949 พ่อของเขาถูกสังหารเพราะถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม (ภายหลังพ้นมลทินและถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด) ทรัพย์สินของครอบครัวถูกยึด ส่วนตัวจา ย้ายมาอาศัยในฮ่องกงที่ยังอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ

ช่วงเวลาที่เขียนนิยายกำลังภายในรวมทั้งหมด 15 เรื่องเริ่มตั้งแต่ค.ศ. 1955 (เริ่มเขียนจอมใจจอมยุทธ์ ตามด้วยเพ็กฮวยเกี่ยม) มาเขียนไตรภาคมังกรหยก เรื่อง “วีรบุรุษอินทรี” (มังกรหยกภาคแรก) เขียนระหว่างค.ศ. 1957-59

ในนิยาย “ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ” (มังกรหยก 1) ฉบับแปลไทยพิมพ์เมื่อค.ศ. 2004 มีคำตามของกิมย้ง ซึ่งคำตามลงท้ายนี้กำกับว่าเขียนเมื่อค.ศ. 1975 เล่าว่าช่วงนั้นทำงานเขียนบทหนัง กำกับการแสดงให้บ.ฉางเฉิง อ่านหนังสือบทละคร บทวิจารณ์ละครโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่

จา ยอมรับว่า เนื้อเรื่องบางตอนก็มาจากรูปแบบละครเวที ข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า

“โดยเฉพาะฉากก๊วยเจ๋งรักษาอาการบาดเจ็บในห้องลับกับอึ้งย้ง จัดฉากลำดับเรื่องตามละครเวที”

ถ้านึกตามคือมีตัวละครแต่ละกลุ่มทยอยเข้ามาปฏิสัมพันธ์เรียงกันเป็นระลอกเลย จา คิดว่า ตอนนั้นคงไม่มีคนใช้วิธีนี้เล่าเรื่อง แต่รู้ทีหลังจากที่มีคนทัก และรู้ว่ามีคนใช้มากมายแล้ว (แต่ก็ยังตื่นเต้นและบันเทิงอยู่ดี) และยอมรับว่า เนื้อเรื่องที่สนุกสนานทำให้คนชอบ แต่เอาจริงแล้วตัวละครยังขาดมิติทางความคิดที่ซับซ้อน

ถ้าดูแล้วอาจจะเห็นว่าแต่ละคนมีแนวคิดหลักเป็นเส้นเดียว ตัวหลักอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดระหว่างความซื่อสัตย์-ภักดีต่อผู้มีพระคุณ กับความต้องการทำตามมุมมองของตัวเอง

นิค ฟริช นศ.ด้านเอเชียศึกษามองว่า ช่วงปลายยุค 50-60s ที่เขียนไตรภาคมังกรหยกก็สะท้อนความหดหู่ในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ายึดครองจีนผ่านความพยายามรุกรานจากกลุ่มชนทางเหนือด้วยเหมือนกัน (Nick Frisch, 2018)

ตัวละครบางตัวในเรื่องเผชิญหน้าความขัดแย้งในตัว “จะเข้าร่วมกับชนที่รุกรานจากทางเหนือ” หรือ “จะเดินทางลงใต้ไปในฐานะผู้ลี้ภัยที่ยังจงรักภักดีต่อแผ่นดินเกิด”

หรือหยิบหลักคิดแบบเต๋า เอาไปผูกวิจารณ์แนวคิดเจงกิสข่าน ที่มีปณิธานครองอาณาจักรยิ่งใหญ่ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นหลักธรรมชาติว่าด้วยสังขาร

แกนหลักของนิยายกิมย้ง : เนื้อเรื่อง-ตัวละคร

ความขัดแย้งของตัวละครต้องอาศัยแนวคิดเรื่อง “คุณธรรม-จริยธรรม” เป็นเครื่องมือชี้นำตัดสินใจ มีคติในสังคมที่มุ่งหวังให้เป็นขงจื๊อที่ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มีพูดถึงสำนักคิดแบบเต๋าอย่างช้วนจิน เทินทูนฮีโร่ทางการเมืองที่รักชาติอย่าง “งักฮุย” ประณาม “ฉินไขว้” ขุนนาง “กังฉิน”

แก่นหลักของภูมิหลังทางความคิดใน “มังกรหยก” ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในบริบทรักชาติและยึดคุณธรรม เปลี่ยนแต่นิสัยใจคอของตัวละครหลักที่นำเรื่อง และเป็นตัวแทนในการสื่อสารแนวคิดบางอย่าง

เอี้ยก่วย ที่ปล่อยเนื้อปล่อยตัว เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง อัตนิยม แหวกม่านจารีตประเพณีเดิมที่ชาวจีนยึดเป็นเสาในชีวิต เป็นตัวแทนแบบ “ขบถ” เลยก็ว่าได้

ตัวละครที่น่าจะใกล้เคียงกับปุถุชนที่สุดน่าจะเป็น “เตียบ่อกี้”

กิมย้งอธิบายใน “คำตาม” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ในไทยว่า เตียบ่อกี้ นิสัยใจคอสับสน (แต่ยังมีภูมิหลังเรื่องรักชาติแบบเดิม และอาศัยคุณธรรมเป็นเครื่องชี้นำในยุคที่แผ่นดินถูกมองโกลปกครองแล้ว) พฤติกรรมก็มาจากผลกระทบจากคนอื่นพาไป ที่สะท้อนได้ดีคือเรื่องความรัก

เตียบ่อกี้ไม่รู้ตัวว่ารักใคร (ไปตามสถานการณ์เรื่อยๆ) ต่างกับสองตัวก่อนที่รักเดียวใจเดียว เป็นผู้นำ ขณะที่เตียบ่อกี้เป็นเหมือนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ไม่เป็นตัวของตัวเองที่สุด จะเป็นผู้นำทางการเมืองก็เป็นเพราะสถานการณ์ ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่ตั้งเป้าหมายแบบสุดโต่ง และไม่ได้มุ่งมั่นอย่างแรงกล้าจนมักใหญ่ใฝ่สูง

นักอ่านหลายท่านอาจคิดเหมือนผู้เขียนคือ ตัวละครนี้ “สมจริง” มิติซับซ้อนในตัวคนที่อิงกับปัจจัยแวดล้อมภายนอก คนที่ได้รับผลจากความสัมพันธ์ของคนอื่นๆ ยังโลดแล่นอยู่จริงในทุกยุค วลีที่นักเขียนนิยายนิยามเตียบ่อกี้ได้น่าสนใจมากคือ “เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ แต่เป็นกัลยาณมิตรของเราได้”

ขณะที่ “ไคลแม็กซ์” ฉากโศกนาฏกรรมในเรื่อง (คิดว่าน่าจะหลายฉาก) จา ก็ยอมรับว่า ยังเป็นเรื่องเหนือจริง จากที่ชีวิตคนในความจริงแล้วแทบเป็นไปได้ยาก แต่ที่เขียนก็เนื่องจากตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าชีวิตจริงยากจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะเหล่านั้น

กลั่นผลงานเข้มข้นยุคการเมืองจีนระอุ

หลังจากชุดไตรภาคสำเร็จจนตั้งหนังสือพิมพ์ได้ จา ยังทำงานสื่อเขียนวิจารณ์การเมืองวิจารณ์ลัทธิเหมาอย่างรุนแรง เคยต้องออกจากฮ่องกงไปพักในสิงคโปร์พักหนึ่งในช่วงค.ศ. 1967

ช่วงนั้นเป็นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน งานเขียนของจา หลายชิ้นก็สะท้อนการเมืองชัดเจน

ถึงคำนำในนิยาย “มังกรหยก 2” ฉบับพิมพ์ปี 2004 อ้างอิงข้อเขียนของกิมย้ง ที่กำกับว่าเป็นคำนำที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 2002 กิมย้ง ร่ายว่า เขาเขียนนิยายกำลังภายในเพื่อสลักเสลานิสัย บรรยายความโศก-หรรษาของคน จะประณามก็ต้องก่นความมืดในใจคน

ส่วนมุมมองการเมือง แนวคิดทางสังคมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา นิสัยใจคอน้อยครั้งจะเปลี่ยน (ผู้อ่านบางรายอาจรู้สึกว่าทั้งแนวคิดมุมมองและนิสัยก็เปลี่ยนตามเวลาทั้งคู่)

แต่ในคำให้สัมภาษณ์กับนิค ฟริช กิมย้งยอมรับว่า ช่วงที่เขียน “อุ้ยเสี่ยวป้อ” (ตีพิมพ์เผยแพร่ระหว่าง 1969-1972) ก็มีตัวละครที่เป็นตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ และเล่าว่า งานหลายชิ้นที่เขียนในยุคหลังแฝงความหมายเชิงสัญลักษณ์สื่อถึงการปฏิวัติวัฒนธรรม

และที่ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์ค ไทมส์ พิมพ์เมื่อปี 1996 จา ก็เล่าย้อนเรื่องการทำงานในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่นิยายและบทบรรณาธิการในช่วงนั้นก็สะท้อนมาจากทัศนคติการเมืองที่ “คัดค้านการ ‘เทิดทูนบูชา’ จากปัจเจกบุคคล” (Sheryl Wudunn, 1986)

นิยายกำลังภายใน(การเมือง)ที่เหนือกาลเวลา

เมื่อพูดถึงผลงานช่วงปลายของอาชีพนักเขียนนิยายกำลังภายในที่เป็นการเมืองมากที่สุด แต่ไม่รู้สึกถึงการเมืองมากที่สุด (หมายถึงเนียน) คงต้องเป็น “กระบี่เย้ยยุทธจักร” พิมพ์ระหว่างค.ศ. 1967-69

ตัวละครและพล็อตเรื่องเหมือนเป็นเหตุการณ์การเมืองในฉากหลังโบราณ (ไม่ได้อิงยุคสมัยทางประวัติศาสตร์มากนัก แม้จะเอ่ยถึงมองโกลบ้างเล็กน้อย)

ฐานของเรื่องอยู่ใต้บริบทแบบบรรทัดฐาน “ธรรมจริยา” แบ่งคนออกเป็นสองฝ่าย ดี-เลว (ธรรม-อธรรม)

มีฝ่ายครองอำนาจ-กบฏ ฝ่ายดี-เลว และผู้ใฝ่สันโดษ

มีตัวละครอย่างวิญญูชนจอมปลอม มี “อธรรม” ที่มีคุณธรรม มีผู้ครองอำนาจมักใหญ่ใฝ่สูง มีผู้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงช่วงชิง มีเรื่องราวความรักของปุถุชน และความนึกคิดของผู้ใฝ่สันโดษ (ในแง่ผู้สันโดษ ขงจื้อไม่เห็นด้วยกับบุคลลที่อยู่ในหนังสือ “ลุ่นงื่อ” (ตรรกบท) แต่ก็ยกย่องเหล่าผู้สันโดษที่มีจุดเด่นเฉพาะตัว)

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ เนื้อเรื่องและตัวละครจากฝ่ายต่างๆ ที่พยายามสื่อสารว่า คนที่ถูกจัดหรือจัดตัวเองใน “ก๊กธรรมะ” ไม่จำเป็นต้องเป็น “คนดี” เสมอไป เหมือนกับที่ “ก๊กอธรรม” ก็อาจไม่ได้มีคนในก๊กที่ “เลว” เสมอไป

คำอธิบายภูมิหลังของนิยายจากผู้เขียนที่มีพลังน่าจะเป็นส่วนที่เขียนว่า

“คนมีชีวิตในโลก ไม่อาจมีอิสระสมบูรณ์พร้อม คิดหวังปลดเปลื้องทุกสิ่งได้คิดปรุโปร่ง มิใช่วิสัยผู้คนธรรมดา ผู้คนที่กระตือรือร้นต่อการเมืองและมัวเมาอำนาจ ถูกความทะเยอทะยานผลักดันให้กระทำเรื่องราวผิดมโนธรรมประจำใจแท้ที่จริงเป็นบุคคลที่น่าเวทนา”

และจา ย้ำว่าผลงานนี้ไม่ได้วิจารณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมโดยตรง

แต่ถ้ามี “สัญญาณ” มาให้ ผู้อ่านน่าจะเชื่อว่า สามารถมองนิยายชิ้นนี้ในแง่ตีแผ่ปรากฏการณ์การเมืองในจีน (และอีกหลายประเทศ) รอบกว่า 3 พันปีได้แบบเหนือกาลเวลา และยังใช้ได้ต่อไป ธาตุแท้ของใจคนยังมีอยู่ในวังวนนี้เสมอ

ความพยายามอธิบายนิสัยใจคอคนในระเบียบวิธีแบบ “นิยายกำลังภายใน” คล้ายกับแนวของ “โกวเล้ง” ในยุครุ่งเรืองที่มีแนวทางของตัวเองชัดเจน เรื่อง “ฤทธิ์มีดสั้น” (มีดบินไม่พลาดเป้า) ก็ชัดเจน ได้อิทธิพลเล่าเรื่องและตัวละครจากนิยายสืบสวนสอบสวนโลกตะวันตก การใส่รายละเอียดทักษะความสามารถในคาแรกเตอร์แบบนิยายคาวบอยสิงห์ปืนไว แต่องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเหมือนฟันเฟืองที่ทำให้เรื่องราวน่าสนใจ น่าดึงดูด ที่แท้จริงคือ การเล่าตีแผ่นิสัยใจคอคน

“การแก่งแย่งชิงอำนาจโดยไม่คำนึงถึงทุกสิ่ง” ยังเป็นเหตุการณ์ที่ไร้กาลเวลาเสมอ

นิยายกำลังภายในที่มีพลังก็ยังมีพลังและไร้กาลเวลาเช่นกัน


อ้างอิง: 

Frisch, Nick. The Gripping Stories, and Political Allegories, of China’s Best-Selling Author. New Yorker. Apr 13 2018. <https://www.newyorker.com/books/page-turner/the-gripping-stories-and-political-allegories-of-chinas-best-selling-author>

Wudunn, Sheryl. Chinese Demand More By a Literary Legend. New York Times. 1986. <https://www.nytimes.com/1989/01/03/books/chinese-demand-more-by-a-literary-legend.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2561