ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เพสลีย์ (Paisley) เป็นลวดลายผ้าที่มีลักษณะเหมือนหยดน้ำ พัฒนามาจากลวดลายผ้าเก่าแก่ในแถบแคชเมียร์และเปอร์เซีย ลวดลายดั้งเดิมนั้นมีชื่อว่า “Boteh” ในภาษาเปอร์เซียหมายถึง ไม้พุ่ม, ช่อหรือกอใบไม้
Boteh เป็นลวดลายที่พบในอารยธรรมของชาวอารยันในหลากหลายพื้นที่ และไม่จำกัดเฉพาะแต่ลวดลายบนผืนผ้าอย่างเดียวเท่านั้น จะพบลักษณะลวดลายเหมือนหยดน้ำนี้ทั้งบนเสาวิหาร ภาชนะสำริด กระจก เครื่องถ้วย เครื่องประดับ ฯลฯ ต้นกำเนิดของลวดลาย Boteh มีหลายกระแส บ้างว่าย้อนไปถึงสมัยบาบิโลนโบราณ อายุราว 1,700 ปีก่อนคริสตกาล บ้างว่ามีต้นกำเนิดในแถบเปอร์เซีย ช่วงการปกครองของจักรวรรดิซาเซเนียน (Sasanian) ราว ค.ศ. 200-650 หรือก่อนถึงยุคของศาสนาอิสลาม
ตัวอย่างชิ้นสำคัญที่ทำให้เห็นร่องรอยของลวดลาย Boteh บนผืนผ้าในยุคแรก ๆ คือ ผ้าโบราณที่พบในเมืองอัคมีม (Akhmim) ในประเทศอียิปต์ โบราณวัตถุชิ้นนี้คาดว่ามีอายุตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6-8 ซึ่งในช่วงเวลานั้นดินแดนแถบนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิซาเซเนียน สันนิษฐานว่าผ้าผืนนี้ถูกนำเข้ามาผ่านเส้นทางการค้าสายไหมจากเอเชียกลาง
แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีและการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญหลายส่วนเห็นตรงกันว่า ลวดลาย Boteh มีต้นกำเนิดในเปอร์เซียแถบประเทศอิหร่าน เนื่องจากลวดลาย Boteh มีความเชื่อมโยงกับต้น Cypress (Sarv-e Abarkuh) ซึ่งเป็นต้นไม้แห่งชีวิตและความเป็นนิรันดร์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) ในวัฒนธรรมเปอร์เซีย นอกจากนี้ ลวดลาย Boteh บางครั้งเรียกว่าเปลวไฟของโซโรอัสเตอร์อีกด้วย
ลวดลาย Boteh มักถูกนำมาใช้บนผืนผ้า ทั้งพรม ผ้าคลุมไหล่ และสิ่งทอ ฯลฯ พบตั้งแต่เทือกเขาคอเคซัสแถบประเทศอาเซอร์ไบจาน ต่อเนื่องมายังเปอร์เซียแถบประเทศอิหร่าน เอเชียกลาง และไปจนถึงแคชเมียร์แถบตอนเหนือของประเทศอินเดีย แต่ที่ดินแดนแคชเมียร์แห่งนี้ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ได้มีการพัฒนาการทอผ้าด้วยมือและลวดลาย Boteh ขึ้นอย่างแข็งขัน นำไปสู่การผลิตผ้าคลุมไหล่ที่เป็นที่เลื่องชื่อของที่นี่ อย่างไรก็ตาม ผ้าคลุมไหล่ยุคแรก ๆ ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับลวดลายเพสลีย์ (Paisley) อย่างในปัจจุบัน แต่เป็นดอกไม้โค้งที่มีใบและก้านประกอบ
ลวดลาย Boteh บนผืนผ้าโดยเฉพาะผ้าคลุมไหล่นั้นเป็นที่รับรู้และได้รับความนิยมในหมู่ชาวยุโรป ถูกส่งผ่านมาทางแคชเมียร์ โดยในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 17 หลังจากอังกฤษเข้าแผ่อิทธิพลในอินเดียและเอเชียกลาง บริษัท British East India ได้นำผ้าคลุมไหล่ลวดลาย Boteh รวมถึงผ้าคลุมไหล่อื่น ๆ ที่ผลิตในแคชเมียร์ไปขายยังทวีปยุโรป ด้วยเป็นสินค้า “Exotic” ที่มีความพิเศษสวยงามแปลกตา ผ้าคลุมไหล่จากแคชเมียร์จึงได้รับความนิยมไปทั่วยุโรป
ในไม่ช้าเมื่อความต้องการก็มีมากกว่ากำลังการผลิตจากดินแดนที่ห่างไกล ช่างทอผ้าชาวยุโรปทั้งในฝรั่งเศส อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ จึงหันมาผลิตผ้าคลุมไหล่ลวดลาย Boteh ขึ้นเอง อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการทอผ้าด้วยมือแบบยุโรปนั้นซับซ้อนน้อยกว่าเทคนิคการทอมือแบบดั้งเดิมในแคชเมียร์และเปอร์เซีย ผ้าทอในยุโรปที่เลียนแบบขึ้นนั้นจึงจำกัดเพียง 2 สี ทำให้ความสวยงามไม่อาจเทียบเท่าของดั้งเดิม ผ้าทอจากแคชเมียร์แม้มีราคาที่สูงกว่า แต่ด้วยความสวยงามและคุณภาพที่เหนือกว่าจึงยังคงได้รับความนิยมอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ช่างทอผ้าแห่งเมืองเพสลีย์ (Paisley) ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองกลาสโกว์ (Glasgow) ในประเทศสกอตแลนด์ ได้พัฒนาเทคนิคการทอผ้าให้ซับซ้อนและปราณีตมากยิ่งขึ้น จนทำให้สามารถทอผ้าได้ถึง 5 สี สิ่งนี้ทำให้ช่างทอผ้าแห่งเมืองเพสลีย์ได้เปรียบในการแข่งขันกับช่างทอที่อื่น
ผ้าทอ (เลียนแบบ) จากเมืองเพสลีย์ ขายในราคา 12 ปอนด์ ในขณะที่ผ้าคลุมไหล่แคชเมียร์ดั้งเดิมขายได้ระหว่าง 70-100 ปอนด์ ทำให้ผ้าคลุมไหล่จากเมืองเพสลีย์ได้รับความนิยมทั่วทั้งเกาะอังกฤษ ชื่อของเมืองเพสลีย์จึงกลายเป็นที่รู้จัก และได้กลืนความหมายของลวดลาย Boteh ว่าเป็นลวดลายเพสลีย์ (Paisley) ไปโดยปริยาย
เมื่อความต้องการผ้าคลุมไหล่จากเมืองเพสลีย์ถึงขีดสุด ช่างทอผ้าแห่งเมืองนี้ก็กลายเป็นแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงมาก ค่าแรงที่สูงดึงดูดแรงงานจำนวนมาก เมื่อถึงจุดหนึ่งจำนวนช่างทอที่มีทักษะในเมืองเพสลีย์ก็มีมากถึง 6,000 คน อุตสาหกรรมทอผ้าเฟื่องฟูมาก แต่น่าเสียดายที่ความรุ่งเรืองนี้คงอยู่ได้ไม่นาน
อุตสาหกรรมทอผ้าได้รับการพัฒนาปรับปรุง นำไปสู่การพิมพ์ลวดลายลงบนผ้า ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตลงอย่างมาก รวมถึงการผลิตด้วยเครื่องจักร ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อช่างทอผ้าด้วยมือ เหล่านี้ทำให้ผ้าทอ (เลียนแบบ) ออกวางจำหน่ายเกลื่อนท้องตลาด และเนื่องจากมีราคาถูกมาก ใคร ๆ ก็สามารถหาซื้อได้ ทำให้ผ้าคลุมไหล่ลวดลายเพสลีย์เสื่อมความนิยมลง
จนในช่วงทศวรรษที่ 1860 ช่างทอผ้าส่วนใหญ่รวมทั้งในเมืองเพสลีย์เริ่มยากจนลง หลายคนอพยพไปแคนาดาและออสเตรเลีย แม้ราว ค.ศ. 1860 ช่างทอผ้าจากเมืองเพสลีย์สามารถผลิตผ้าคลุมไหล่ได้มากถึง 15 สี แต่จำนวนนั้นเป็นเพียง 1 ใน 4 ของสีบนผ้าคลุมไหล่แคชเมียร์บางผืน
ลวดลายเพสลีย์ถูกชุบชีวิตขึ้นมาในช่วงทษวรรษ 1960 โดยการปลุกกระแสจาก The Beatles ที่สมาชิกในวงชื่นชอบลวดลายนี้อย่างมาก รวมถึง John Lennon ที่ตกแต่งรถ Rolls-Royce ด้วยลวดลายเพสลีย์ ส่งผลให้ลวดลายนี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะในวงการแฟชัน แบรนด์ดังหลายแบรนด์นำลวดลายนี้ไปดัดแปลงใช้อย่างกว้างขว้าง
ปัจจุบัน ลวดลายเพสลีย์ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ แม้จะมีบางช่วงที่เสื่อมความนิยมลงไปบ้าง แต่ “Paisley” หรือ “Boteh” ได้กลายเป็นศิลปะที่ไม่มีวันตกยุคอีกต่อไปแล้ว เวลานับร้อยนับพันปีคือข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนที่สุด
อ่านเพิ่มเติม :
- “กุหลาบ” คำยืมจากภาษาเปอร์เซีย ที่ดั้งเดิมไม่ได้แปลว่า “กุหลาบ” (?)
- “ผ้าขาวม้า” คำยืมใช้จาก “เปอร์เซีย” คนไทยใช้
- ชาวจีนในกองเรือเจิ้งเหอ เข้าใจผิดว่า “ยีราฟ” คือ “กิเลน” สัตว์ในตำนานของจีน
อ้างอิง :
Lindsay Baker. (2017). Paisley: The story of a classic bohemian print. Access 30 August 2021, from https://www.bbc.com/culture/article/20151021-paisley-behind-rocks-favourite-fashion
The History of the Paisley Symbol and Paisley Pattern. (2021). Access 30 August 2021, from https://www.paisleypower.com/history-of-paisley
K. E. Eduljee. Boteh. Access 30 August 2021, from http://www.heritageinstitute.com/zoroastrianism/trade/paisley.htm
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2564