ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“กิเลน” 1 ใน 4 สัตว์ ในเทพนิยายปรัมปราของจีน เชื่อกันว่ากิเลนจะปรากฏกายขึ้นเฉพาะในยามที่ผู้ปกครองมีศีลธรรม บ้านเมืองมีความสงบสุข และมั่งคั่ง ทว่า มันกลับปรากฏกายไกลถึงอ่าวเปอร์เซีย ก่อนที่จะถูกนำมาถวายจักรรพรรดิจีน แต่หาใช่กิเลนจริงไม่ เพราะมันคือ “ยีราฟ” แห่งเคนยา
เมื่อ ค.ศ. 1412 จักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจิ้งเหอออกสมุทรยาตราเป็นครั้งที่ 4 นับเป็นกองเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนเท่าที่เคยมีมา มีเรือลำใหญ่กว่า 63 ลำ ลูกเรือกว่า 28,560 คน มุ่งหน้าสู่เมืองฮอร์มุซ (Hormuz) ปากอ่าวเปอร์เซีย
อะไรเป็นสิ่งจุดประกายให้จักรพรรดิหย่งเล่อสนพระทัยส่งกองเรือไปเยือนอ่าวเปอร์เซีย?
แน่นอนที่สุดคือ ชื่อเสียงล่ำลือถึงความมั่งคั่งของเมืองฮอร์มุซนั้นล่อตาล่อใจแก่ชาวจีนอย่างมาก โดยเฉพาะไข่มุกชั้นดีจากชายฝั่งบาห์เรน ที่ผ่านการถักร้อยโดยช่างฝีมือพื้นเมือง และดินแดนแห่งนี้ยังอุดมไปด้วยทองคำ เงิน ทองแดง เหล็ก แร่สีย้อมเครื่องเคลือบอันเลื่องชื่อคือ โคบอลต์ และที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางของการค้าขายอัญมณีและหินมีค่าอีกด้วย
ในยุคนั้นเมืองฮอร์มุซเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญของเปอร์เซียที่ปกครองโดยราชวงศ์อิลข่าน จนได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยร้านค้าบาซาร์ (ตลาด) อันน่ามหัศจรรย์ หรือในสุภาษิตของชาวเปอร์เซียที่ได้กล่าวไว้ว่า “หากเปรียบโลกนี้ประดุจแหวนวงหนึ่ง ฮอร์มุซนั้นก็คืออัญมณีบนหัวแหวนวงนั้น”
ระหว่างที่เจิ้งเหอพำนักอยู่ที่เมืองฮอร์มุซ หยางหมิน ขุนนางชาวจีนในกองเรือของเจิ้งเหอ ได้แยกเดินทางกลับไปยังนครนานกิงก่อน พร้อมนำเครื่องบรรณาการชิ้นพิเศษถวายแด่จักรพรรดิหย่งเล่อ มันเป็น สัตว์ แสนเชื่อง คอยาว เขาอ่อนเล็กๆ สองเขาบนหัว นั่นคือ “ยีราฟ” (Giraffe)
ยีราฟนี้ได้มาจากผู้ปกครองแห่งมาลินดี หรือประเทศเคนยาในปัจจุบัน หยางมินไม่เคยพบสัตว์ลักษณะแปลกประหลาดเช่นนี้มาก่อน เขาจึงเข้าใจว่ามันคือ “กิเลน” (Qilin) สัตว์ 1 ใน 4 ชนิด ในเทพนิยายปรัมปราของจีน อีก 3 ชนิดคือ มังกร หงส์ และเต่า
ตามตำนานของจีนกล่าวว่า มันมีลำตัวคล้ายกวางมัสก์ (Musk Deer) มีหางคล้ายวัว มีใบหน้าคล้ายหมาป่า มีกีบเท้าเหมือนม้า และมีเขาอ่อนคล้ายกับม้ายูนิคอร์น (Unicorn) บางตัวมีสองเขา บางตัวมีสามเขา กิเลนเป็นสัตว์ที่ไม่กินเนื้อและไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตใด ๆ แม้กระทั่งต้นหญ้า ดังนั้น มันจึงเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งความดีงาม จะปรากฎกายขึ้นเฉพาะในประเทศที่ผู้ปกครองมีธรรม
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่ามารดาของขงจื้อ ปราชญ์ชาวจีน ได้เคยพบกิเลน ซึ่งมาปรากฎกายที่เบื้องหน้าของนาง และได้คายหยกชิ้นหนึ่งออกจากปากให้ แล้วนางจึงนำผ้าทอลายดอกผูกไว้รอบเขาอ่อนของกิเลน ก่อนที่มันจะหายลับตาไป
หยางหมินรู้ว่าการปรากฏกายของสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคลนี้ จะสร้างความพึงพอพระราชหฤทัยให้กับจักรพรรดิหย่งเล่อเป็นอย่างมาก เพราะกิเลนเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งสวรรค์ เป็นเครื่องหมายของผู้ปกครองที่มีความเป็นเลิศในทุกด้าน
เมื่อยีราฟเดินทางไปถึงแผ่นดินจีน จักรพรรดิหย่งเล่อโปรดที่ได้เห็นสัตว์มงคลนี้เป็นอย่างยิ่ง และโปรดเกล้าฯ ให้นักวาดภาพแห่งสำนักฮั่นหลินนามว่า เฉินตู (Chen Du) วาดภาพสัตว์มงคลนี้เอาไว้ พร้อมยัง กล่าวบทสดุดีสรรเสริญความดีงามของจักรพรรดิหย่งเล่อและพระราชชนก
ในวันที่หยางหมินได้นำสัตว์มงคลนี้มาถวายที่ท้องพระโรงนั้น คือ ในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1414 เฉินตูได้บรรยายไว้ว่า
“…ณ ขอบฟ้าแห่งทะเลตะวันตก บนที่ลุ่มต่ำอันเปียกชื้น เป็นแหล่งกำเนิดของกิเลน ด้วยรูปร่างที่สูงระหงถึง 15 ฟุต ด้วยเรือนร่างที่ประดุจกวาง พู่หางคล้ายวัว และเขาอ่อนที่ปราศจากกระดูก บนลำตัวนั้นเล่าก็อร่ามตาไปด้วยจุดสีแดงระเรื่อปนม่วง กีบเท้าของมันเหยียบย่างลงไปบนพื้นอย่างระมัดระวัง แต่ละก้าวจังหวะเท้าที่เดินเหินดุจลีลาอันงดงาม กอปรด้วยเสียงที่ฟังคล้ายระฆังหรือเครื่องดนตรีอันดังกังวาน สัตว์อันแสนสุภาพและประเสริฐที่ได้ยินในตำนานแต่โบราณนั้น เป็นสิ่งที่พวกเราเพิ่งได้ประจักษ์แก่สายตา…”
อ่านเพิ่มเติม :
- กองเรือ “เจิ้งเหอ” ขนาดมหึมา สามารถจอดเทียบท่าที่กรุงศรีอยุธยาได้หรือไม่?
- ทายาท(สายหนึ่ง)ของ “เจิ้งเหอ” ผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติ อยู่เชียงใหม่จริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปริวัฒน์ จันทร. (2553). เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง”. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2564