เผยแพร่ |
---|
วลาดีมีร์ เลนิน สถาปนาอำนาจขึ้นปกครองรัสเซียอย่างเบ็ดเสร็จเมื่อปลายปี ค.ศ. 1917 หลังจากการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิคในการสืบทอดเจตนารมแห่งการปฏิวัติตามทฤษฎีมาร์กซ์ และเปลี่ยนรัสเซียสู่ระบอบสังคมนิยม
ในช่วงที่เพิ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจนี้เอง เลนินจึงจำเป็นต้องควบคุมอำนาจให้มั่นคง วิธีการหนึ่งคือ การจัดตั้ง “เชกา” (Cheka) หรือตำรวจลับ เพื่อกำจัดภัยคุกคามใดก็ตามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเขาเอง ต่อพรรคบอลเชวิค และต่อการปฏิวัติรัสเซีย
เชกามีหน้าที่ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามและสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชน ตลอดจนเพื่อสร้างความเป็นระเบียบแบบแผนและความมั่นคงทางสังคม โดยมีวิธีการคือ สร้างความหวาดกลัวและใช้ความรุนแรง เพื่อข่มขวัญประชาชนให้ยอมรับอำนาจของพรรคบอลเชวิค
การดำเนินงานของเชกาคือ ตรวจค้น จับกุม และลงโทษบุคคลที่เป็นภัยและต่อต้านการปฏิวัติ การตรวจสอบข่าวและรับผิดชอบข่าวกรองต่างประเทศ การคุ้มครองและป้องกันการทำลายระบบการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ การต่อต้านงานจารกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศ การควบคุมดูแลค่ายกักกันแรงงาน และคุก ตลอดจนการจัดตั้งกองกำลังพิเศษและหน่วยป้องกันตามหัวเมืองและพรมแดน
ในช่วงแรก ศูนย์บัญชาการของเชกาตั้งอยู่ที่กรุงเปโตรกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) เมืองหลวงในขณะนั้น ภายหลังเมื่อรัฐบาลโชเวียตย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงมอสโกใน ค.ศ. 1918 จึงย้ายศูนย์บัญชาการเชกาตามไปด้วย ต่อมาได้จัดตั้งหน่วยงานสาขาของเชกาตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ระยะเวลา 6 เดือนแรกของการก่อตั้ง เชกามีบทบาทและอำนาจไม่มากนัก เนื่องจากมีบุคลากรจำกัดและขาดแคลนงบประมาณ หน้าที่ของเชกาจึงจำกัดอยู่เพียงแค่การตรวจค้นและจับกุมบุคคลที่ต้องสงสัยมาสอบสวนเท่านั้น
เมื่อเลนินประกาศกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1918 เรื่อง The Socialist Fatherland is in Danger ที่สนับสนุนแนวทางการใช้วิธีการเด็ดขาดรุนแรงเพื่อให้ได้ชัยชนะ เฟลิกซ์ เอดมุนโดวิช ดเซียร์จินสกี (Felix Edmundovich Dzerzhinsky) คอมมิวนิสต์ชาวโปแลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคบอลเชวิค และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันการออกกฎหมายว่าด้วยวิธีการใช้ความรุนแรงหลายฉบับเพื่อกวาดล้างปราบปรามศัตรูของรัฐบาลรัสเซีย
ประกอบกับในปี ค.ศ. 1918 เมื่อรัสเซียเข้าสู่สงครามกลางเมือง การควบคุมประชาชนเป็นไปอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ทำให้บทบาทของเชกาเพิ่มสูงมาก โดยดเซียร์จินสกีซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าเชการะหว่างปี ค.ศ. 1918-1926 ได้กำหนดให้ใช้มาตรการรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อให้เชกาสามารถจับกุมและกวาดล้างประชาชนที่ถือเป็นศัตรูของการปฏิวัติและรัฐบาลได้อย่างเด็ดขาด
หน่วยปฏิบัติงานของเชกาคือ กองกำลังพิเศษที่ติดอาวุธ ซึ่งมีอำนาจเต็มที่ในการตรวจค้น จับกุม ยึดทรัพย์ และสามารถประหารชีวิตประชาชนที่ได้ชื่อว่าเป็นศัตรูได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวนพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ เชกายังมีอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่เห็นสมควร
ประมาณการณ์ว่าระหว่างเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1917 ถึงเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1918 เชกาประหารชีวิตประชาชนที่ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรและศัตรูของรัฐบาลไปเพียง 22 คน แต่ในครึ่งหลังของปี ค.ศ. 1918 จำนวนผู้ถูกประหารชีวิตก็มีมากกว่า 6,000 คน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์การพยายามลอบสังหารเลนินในปลายเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1918
นโยบายการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติงานที่เข้มงวดของเชการะหว่างปี ค.ศ. 1918-1921 ส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์กว่า 60,000 คนถูกกล่าวโทษ ทรมาน และถูกสังหารอย่างทารุณ และอีกกว่า 150,000 คนเสียชีวิตเพราะความอดอยาก เนื่องจากถูกทอดทิ้งให้อดตายในคุกและค่ายกักกันแรงงาน
บทบาทและอิทธิพลของเชกาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวของคอมมิวนิสต์ หรือ Red Terror ในเวลาต่อมา ดเซียร์จินสกีหัวหน้าของเชกา ถึงกับได้รับสมญาว่าเป็นเพชฌฆาตแห่งการปฏิวัติ และเชกาก็ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจการบริหารของเลนิน และของพรรคบอลเชวิค
อ้างอิง :
สัญชัย สุวังบุตร. เลนินกับการสร้างรัฐสังคมนิยมโซเวียต. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, 2553.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2564