เมื่อนักเรียนไทยในรัสเซีย พบกับ “วลาดีมีร์ เลนิน”

(ซ้าย) หม่อมเจ้า สุระวุฒิประวัติ เทวกุล นักเรียนไทยในรัสเซีย, (ขวา) วลาดิมีร์ เลนิน

หลังเกิดการปฏิวัติซ้อนในรัสเซียในปี ค.ศ. 1917/พ.ศ. 2460 ซึ่งนำโดย “วลาดีมีร์ เลนิน” ทำให้สถานการณ์ในประเทศรัสเซียในช่วงแรกเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย บ้านเมืองระส่ำระสาย ส่งผลให้รัฐบาลสยามตัดสินใจส่ง “นักเรียนไทย” ที่ไปศึกษาวิชาการทหารที่นั่นกลับประเทศ

พระยาวิศาลพจนกิจ อัครราชทูตไทยประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิก จึงแบ่งนักเรียนไทยกลับเป็น 2 ชุด ชุดแรกมี 6 คน คือ 1. ม.ร.ว. เสวตวงศ์ วัชรีวงศ์ (ต่อมาเป็น พล.ต.ต. หลวงเสนีย์รณยุทธ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร) 2. พ.อ. ม.จ. นิวัทธวงศ์ เกษมสันต์ 3. นายฟ้อน ฤทธาคนี (ภายหลังเป็นพลตรี หลวงยอดอาวุธ และเป็นอัครราชทูตประเทศเสปน) 4. พ.ต.อ. ม.จ. สุระวุฒิประวัติ เทวกุล (ภายหลังเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย ข้าราชการชั้นพิเศษ) 5. ม.จ. เฉลิมศรีสวัสดิวัฒน์ สวัสดิวัฒน์ และ 6. ม.จ. อนันตนรไชย เทวกุล

Advertisement

ชุดที่ 2 มี 3 คน คือ 1. นายเทพ ภูมิรัตน์ (ภายหลังเป็นนายพันเอก หลวงอนุมานเมธนี ประจำกรมแผนที่) 2. ม.จ. ลักษณเลิศ ชยางกูร และ 3. ม.จ. นิกรเทวัญ เทวกุล

นักเรียนไทยในรัสเซีย หม่อมเจ้า สุระวุฒิประวัติ เทวกุล ประทับยืนที่ 2 จากซ้าย

จากนั้น สถานทูตได้นำนักเรียนไทยชุดแรกไปทำวีซ่าขอออกนอกประเทศ ที่กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย บังเอิญ วลาดีมีร์ เลนิน ได้เข้ามาทำการที่กระทรวงพอดี นักเรียนไทยเหล่านั้นจึงมีโอกาสเข้าพบผู้นำรัสเซียคนใหม่โดยไม่คาดคิดมาก่อน

เรื่องนี้ พ.ต.อ. ม.จ. สุระวุฒิประวัติ เทวกุล หนึ่งในนักเรียนไทยที่ได้พบ วลาดีมีร์ เลนิน เล่าไว้ดังนี้

“นอกจากนี้ก็จัดทำพาสปอร์ตดิบโพลแมทติคให้ และจัดให้ข้าราชการสถานทูตคนหนึ่ง (ดูเหมือนจะเป็นพระลีปกรณ์โกศล เลขานุการเอกของสถานทูต) พาพวกข้าพเจ้าไปทำวีซ่ากับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรุสเซีย เมื่อไปถึงกระทรวงการต่างประเทศ (เป็นตึกเก่า ๆ ไม่ใหญ่โตนัก) แต่มีการป้องกันภัยแข็งแรง คือมีปืนกลหนักตั้งอยู่ตรง 2 ข้างประตูที่มีทางเดินเข้าไปภายใน บรรจุสายกระสุนปืนพร้อม และมีพลยิง พลกระสุนนั่งกำกับอยู่พร้อมที่จะยิ่งได้เสมอ ทำให้ผู้ที่จะเข้าไปยังสถานที่นั้นรู้สึกเกรงขามและหวาดเสียว

นอกจากนี้ยังมีทหารสะพายปืนเดินไปมาอยู่รอบตึก ทั้งนี้เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ นายเลนนินกับพวกพึ่งยึดอำนาจได้ประมาณ 4-5 เดือน เมื่อเข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่ที่จะทำวีซ่าขอออกนอกประเทศ ผู้นั้นก็แจ้งให้ทราบว่า ให้ทุกคนเข้าไปพบกับนายเลนนินเอง เพราะนายเลนนินกำลังมาบัญชางานอยู่ที่นั่น และต้องการจะเห็นหน้าตาพวกเราทุกคน แล้วเจ้าหน้าที่คนนั้นก็พาพวกเราเข้าไปพบนายเลนนิน

เห็นนายเลนนินนั่งอยู่ในห้องค่อนข้างใหญ่และโอ่โถง นั่งอยู่ที่โต๊ะตัวใหญ่บนเก้าอี้นวมมีพนักพิงตัวใหญ่ ในนิ้วก้อยหรือนิ้วนางมือข้างขวาสวมแหวนนิลเม็ดเขื่องล้อมเพชร มีผู้กล่าวกันว่าเป็นแหวนที่พระเจ้าซาร์เคยทรงอยู่ที่นิ้วพระหัตถ์ แต่งกายสากลโอ่อ่าเรียบร้อยแต่หน้าตาเคร่งขรึม เมื่อเจ้าหน้าที่สถานทูตของเราแจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ที่เรามาแล้ว นายเลนนินก็เรียกพวกเราเข้าไปพบทีละคน แล้วก็ลงนามในใบพาสปอร์ตให้ ไม่เห็นพูดจาไต่ถามอะไร เป็นแต่มองดูหน้าและรูปในพาสปอร์ต เสร็จแล้วพวกเราก็ลากันกลับ…”

จากนั้น นักเรียนไทยออกเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิก ผ่านมอสโก และไซบีเรีย มุ่งหน้าวลาดีวอสตอก เมืองท่าชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ดินแดนอีกซีกโลกหนึ่งของรัสเซีย แต่นักเรียนไทยเปลี่ยนใจลงที่สถานีฮาร์บินก่อน ด้วยประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จากนั้นผ่านเข้าไปยังเมืองมุกเด็น ในแมนจูเรีย เมืองเทียนจิน กรุงปังกิ่ง เมืองเซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ตามลำดับ แล้วจึงโดยสารด้วยเรือต่อมายังสิงคโปร์ และกลับมาถึงกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ

หม่อมเจ้า สุระวุฒิประวัติ เทวกุล นักเรียนไทยในรัสเซีย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุระวุฒิประวัติ เทวกุล, หม่อมเจ้า. นิพนธ์เรื่อง การปฏิวัติในรัสเซียเมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 1, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจเอก หม่อมเจ้าสุระวุฒิประวัติ เทวกุล ท.ม., ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2517, (โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, 2517)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2565