“ซูเปอร์แมน” ขวัญใจโลกทุนนิยม ผู้มีจุดกำเนิดจากการกดขี่ทางชนชั้น

ซูเปอร์แมน จับโจร ตึก DC Comics
หน้าปก Action Comics เล่มที่ 7 เดือนธันวาคม 1938 ซูเปอร์แมนกำลังต่อสู้กับวายร้ายซึ่งช่วงแรกเป็นคนธรรมดา (ภาพจาก www.dc.com)

“ซูเปอร์แมน” ขวัญใจโลกทุนนิยม ผู้มีจุดกำเนิดจากการกดขี่ทางชนชั้น

ซูเปอร์แมน (Superman) คือซูเปอร์ฮีโร่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วโลก เป็นผลงานการสร้างสรรค์จาก National Comics Publications (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น DC Comics) สำนักพิมพ์การ์ตูนยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือการ์ตูน Action Comics ฉบับที่ 1 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1938

ซูเปอร์แมน ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงด้วยยอดขายกว่า 130,000 ฉบับ และพุ่งทะยานขึ้นถึงหลัก 500,000 ฉบับในฉบับต่อๆ มา จนถูกนำไปสร้างเป็นละครทางวิทยุ, โทรทัศน์, ภาพยนตร์, การ์ตูนช่องในหนังสือพิมพ์ และวิดีโอเกมส์ต่างๆ มากมาย จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ทำเงินให้ DC Comics มหาศาล แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังกำเนิดตัวละครยอดมนุษย์จอมพลังคนนี้ มีที่มาจากความแปลกแยกทางชนชั้น

Advertisement

ซูเปอร์แมน เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ เจอร์รี ซีเกล (Jerry Siegel) และ โจ ชูสเตอร์ (Joe Schuster) สองนักวาดการ์ตูนเชื้อสายผู้อพยพชาวยิว ซึ่งในทศวรรษ 1930 ชาวยิวมักได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากคนในสังคมอเมริกัน และมักมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง ชาวยิวจำนวนมากจึงรู้สึกแปลกแยกจากสังคม

ทั้งสองจึงใส่ความเป็น “ผู้อพยพ” เข้าไปในตัวละครซูเปอร์แมน โดยแต่งให้ คาลเอล (Kal-El) ซึ่งเป็นมนุษย์ต่างดาว ถูกส่งตัวมาลี้ภัยยังโลก เพราะดาวบ้านเกิดกำลังล่มสลาย เขาได้รับการเลี้ยงดูโดยสามีภรรยาชาวนาคู่หนึ่ง ในชื่อใหม่ว่า คลาร์ก เคนท์ (Clark Kent) และเติบโตมาโดยพยายามปกปิดตัวตนที่แท้จริงรวมถึงพลังพิเศษของตัวเองไว้ ท่ามกลางบรรดามนุษย์ธรรมดาที่อยู่รายรอบตัวเขา สะท้อนภาพของชาวยิวที่มักถูกกันให้เป็นคนชายขอบ และต้องปกปิดตัวตนจากสังคม

ช่วงแรกที่ซูเปอร์แมนปรากฏตัว เหล่าวายร้ายที่เขาต้องต่อกรด้วยก็ไม่ใช่บรรดาเอเลียนตัวร้ายจากนอกโลก หรือผู้มีพลังพิเศษ แต่เป็นมนุษย์ที่เป็นโจรผู้ร้าย นักการเมืองผู้คดโกงเอาเปรียบประชาชน เศรษฐี นายทุน เจ้าของที่ดิน ฯลฯ สะท้อนแนวคิดของซีเกลและชูสเตอร์ที่มีฐานะยากจน และรังเกียจชนชั้นสูงที่เอารัดเอาเปรียบชนชั้นล่าง การที่ซูเปอร์แมนมีบทต่อสู้และเอาชนะฝ่ายอธรรมได้ในที่สุด จึงได้ใจกลุ่มผู้อ่านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง ทำให้การ์ตูนซูเปอร์แมนขายดีอย่างมาก เพราะถือเป็นฮีโร่ที่อยู่ข้างคนที่ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างแท้จริง

ต่อมาซีเกลและชูสเตอร์มีปัญหากับ National Comics Publications และออกจากบริษัทไปในช่วงปลายปี 1947 โทนเรื่องของซูเปอร์แมนจึงค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ผู้เขียนทีมใหม่ปรับเนื้อเรื่องให้เบาลง และเน้นความเป็นแฟนตาซีมากขึ้น

วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของ โลร็องต์ เอ็น. คาร์ป (Laurent N. Karp) มหาวิทยาลัยโอเรกอน ซึ่งศึกษาค่านิยมของสังคมอเมริกันผ่านตัวละครซูเปอร์แมน ให้เหตุผลการเปลี่ยนโทนเรื่องในช่วงนี้ว่า เพราะทศวรรษ 1950 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวอย่างเต็มที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาตรฐานการครองชีพโดยรวมของประชาชนดีขึ้น รวมถึงสภาวะการเมืองระหว่างประเทศที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังแผ่อำนาจไปทั่วโลก ทำให้สังคมอเมริกันเกิดความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างมาก เนื้อเรื่องซูเปอร์แมนแบบเดิมที่ต่อต้านชนชั้นนายทุนจึงไม่เป็นที่นิยมและขายไม่ได้อีกต่อไป

แม้ทุกวันนี้ซูเปอร์แมนจะลดแง่มุมความเป็นฮีโร่ของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ลงไปมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีแง่มุมความเป็นผู้อพยพและความแปลกแยกของตัวเองในสังคม ซึ่งสะท้อนชีวิตจริงของผู้คนบนโลกอีกจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธีทัต จันทราพิชิต. “การเมืองเรื่องฮีโร่: ความสัมพันธ์ของซุปเปอร์ฮีโร่กับสังคมการเมืองจากยุคทองถึงปัจจุบัน” เข้าถึง   เมื่อ 2 มีนาคม 2566 จาก https://democracyxinnovation.com/2021/07/15/politics-of-hero/

FILMAX Collection vol.1: DC Superheroes

Larry Tye. “Superman and his relationship with war and the American military” Access 2 March 2023 from https://www.fayobserver.com/story/news/2013/06/27/superman-his-relationship-with-war/22149204007/

Lauren N. Karp “What Superman Teaches Us abou t American Dream and changing values the United States” Access 2 March 2023 from file:///C:/Users/com/Downloads/Thesis_LKarp%20(2).pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2566