ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | นุชจรี ใจเก่ง |
เผยแพร่ |
ไต้หวัน เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 หรือราว 400 ปีก่อน โดยนักเดินเรือชาวโปรตุเกส ในนามของ Ilha Formosa และในเวลาเพียง 400 ปี ก็พัฒนาตนเองจนกลายเป็นประเทศที่ทันสมัย มีระบบเศรษฐกิจดีในระดับโลก จนได้รับการยกย่องจาก WTO ในปี ค.ศ. 2001
ปัจจุบัน (2003-กอง บก. ออนไลน์) ไต้หวันมีสถานภาพเป็นเขตปกครองตนเองไต้หวัน ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน และพยายามต่อสู้เรียกร้องเพื่อเป็นประเทศเสรี ในทางวัฒนธรรมไต้หวันต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นตัวของตัวเอง หรืออัตลักษณ์ขึ้นใหม่ ภายหลังการตกเป็นเมืองขึ้นตลอด 400 ปีที่ผ่านมา
คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งเช่นนี้ ไต้หวันสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองอย่างไร?
ไต้หวัน สมัยก่อนประวัติศาสตร์ : The Land Before Colony
ก่อนการอพยพเข้ามาของชาวฮั่นและชาติตะวันตก ไต้หวันมีมนุษย์อาศัยอยู่ก่อนแล้ว
หลักฐานมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดของไต้หวัน คือ ฟอสซิลฟันและชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะมนุษย์ ซึ่งพบที่ Tainan เมือง Tso-chen อายุราว 20,000-30,000 ปีมาแล้ว แต่มนุษย์กลุ่มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ไต้หวันกลับเป็นพวกออสโตรนีเชียน ซึ่งพบหลักฐานว่าเดินทางเข้ามายังไต้หวันในช่วงปลายยุคหินเก่าและต้นยุคหินใหม่ในราว 5,000 ปีก่อน
เชื้อสายของชาวออสโตรนีเชียนในปัจจุบันอได้เล่าขานถึงตำนานความเป็นมาของพวกตนไว้มากมาย แต่นักวิชาการเชื่อว่า พวกออสโตรนีเชียนมีต้นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของพม่า แล้วอพยพไปตามแม่น้ำแยงซีเกียงในจีน ต่อมาจึงเคลื่อนย้ายลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาะไต้หวันทางทิศตะวันออก
แต่ไม่ว่าพวกเขาจะมีต้นกำเนิดจากที่ใดก็ตาม ชาวออสโตรนีเชียนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานวัฒนธรรมพื้นเมืองไต้หวันตั้งแต่สมัยหินใหม่ และสืบเนื่องมาทางชนพื้นเมืองดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน
จากบันทึกของชาวยุโรปที่เข้ามาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กล่าวว่ามีชนพื้นเมืองมากกว่า 20 เผ่าบนเกาะไต้หวัน แต่ในปัจจุบัน หลงเหลืออยู่เพียง 10 เผ่า จำนวนประมาณ 400,000 คน หรือต่ำกว่า 2% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น และส่วนใหญ่ถูกผสมกลมกลืนจนกลายเป็นชาวฮั่นเสียแล้ว
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ของไต้หวันจบลง พร้อมกับการเข้ามาของชาวยุโรปในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16
ชาวยุโรปและการเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ใน “ไต้หวัน”
ชาวยุโรปชาติแรกที่รู้จัก “ไต้หวัน” คือนักเดินเรือชาวโปรตุเกส แต่ชาวยุโรปที่สนใจไต้หวันอย่างจริงจังกลับเป็นชาวฮอลันดา
ฮอลันดาให้ความสำคัญกับไต้หวันมาก เพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญบนเส้นทางการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น และสเปนซึ่งครอบครองฟิลิปปินส์อยู่ในขณะนั้น ฮอลันดาเข้ามาตั้งบริษัทดัตช์อินเดียตะวันออก บนเกาะไต้หวันใน ค.ศ. 1624 เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มิชชันนารีชาวฮอลันดายังเป็นผู้ริเริ่มใช้ “ภาษาเขียน” บนเกาะไต้หวัน โดยการเขียนภาษาพื้นเมืองด้วยอักษรโรมัน และใช้พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์ของไต้หวัน
สเปนก็เป็นอีกชาติที่พยายามครอบครองไต้หวัน แต่ไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะนอกจากจะถูกขัดขวางจากฮอลันดาแล้ว ยังถูกโจมตีโดยชนพื้นเมืองและล้มตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บ สเปนจึงสามารถเข้ามาครอบครองตอนเหนือของเกาะไต้หวันได้เพียง 16 ปีเท่านั้น ในขณะที่ฮอลันดายึดครองอยู่ได้นานถึง 38 ปี
ฮอลันดายังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของไต้หวัน จากการผลิตแบบยังชีพให้เป็นการผลิตเพื่อการค้า ฮอลันดาเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วยการนำเข้าวัวจากอินเดียมาเป็นแรงงานในภาคเกษตรแทนแรงงานคน และชักจูงให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาปลูกอ้อยในไต้หวัน เพื่อใช้ผลิตน้ำตาลเป็นสินค้าออก ชาวจีนซึ่งอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากจึงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้อ้อยและข้าวกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไต้หวันต่อมา
ฮอลันดาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานเศรษฐกิจของไต้หวัน และเป็นผู้ชักจูงให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพมายังไต้หวัน และเกิดการผสมกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมจีนกับชนพื้นเมืองมากขึ้น
“ไต้หวัน” ใต้ร่มเงาจักรวรรดิญี่ปุ่น
หลังจากขับไล่ฮอลันดาออกไปแล้ว ไต้หวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน และถูกยกให้ญี่ปุ่นในการเจรจาสนธิสัญญา Shimonoseki ในปี ค.ศ. 1895 เพื่อสงบศึกระหว่างทั้งสองประเทศ
เมื่อเข้าครอบครองไต้หวันในช่วงแรก ญี่ปุ่นถูกต่อต้านอย่างรุนแรง แต่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยกำลังทหาร สามารถจัดตั้งรัฐบาล และกองกำลังตำรวจเพื่อรักษากฎหมายอย่างเข้มงวด
ญี่ปุ่นพยายามใช้นโยบายที่โอนอ่อนผ่อนตามในการปกครองไต้หวัน และจารีตต่างๆ ในวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองด้วย
สาเหตุของความโอนอ่อนนี้ เกิดจากความต้องการที่จะผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นอย่างถาวร เพื่อเป็นตลาดรองรับสินค้าจากญี่ปุ่น และเป็นพื้นที่รองรับประชากรที่แออัดบนเกาะ ญี่ปุ่นจึงเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคพื้นฐานในไต้หวัน และอาศัยการมีรากฐานวัฒนธรรมเดียวกันระหว่างจีน ญี่ปุ่น และไต้หวันเป็นเครื่องมือสำคัญในการผนวกดินแดน
ญี่ปุ่นพยายามครอบงำไต้หวัน และทำลายวัฒนธรรมพื้นเมือง ด้วยการออกกฎหมายควบคุม บังคับใช้หลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่น ประกาศห้ามใช้ภาษาท้องถิ่น และห้ามประกอบพิธีกรรม หรือประเพณีพื้นเมือง ผลคือชาวไต้หวันเริ่มปฏิเสธความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่งกายแบบญี่ปุ่น และกินอาหารญี่ปุ่น
แต่ความพยายามครั้งนั้นก็ต้องสูญเปล่า เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และไต้หวันกลับมาอยู่ใต้การปกครองของจีนอีกครั้ง
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะไม่ประสบความสำเร็จในการยึดครองไต้หวัน และเปลี่ยนชาวไต้หวันให้กลายเป็นชาวญี่ปุ่น แต่การปกครองไต้หวันเป็นเวลา 50 ปี ก็ส่งผลให้ชาวไต้หวันปฏิเสธความเป็นจีน รัฐบาลก๊กมินตั๋งจึงต้องพยายามทำลายความคิดนิยมญี่ปุ่น และฟื้นฟูความเป็นจีนขึ้นในหมู่ชาวไต้หวันอีกครั้ง
แล้วอะไรคือไต้หวัน?
กว่า 400 ปีของการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจต่างๆ ไต้หวันในปัจจุบันมีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองภายใต้อำนาจของจีน พยายามเรียกร้องเอกราชและสิทธิในการเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยวิธีการต่างๆ
ประวัติศาสตร์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในการต่อสู้
ปัญหาสำคัญของไต้หวัน คือ ที่ผ่านมาการศึกษาประวัติศาสตร์จะขึ้นอยู่กับเจ้าอาณานิคมเป็นสำคัญ เมื่อตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น พวกเขาก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเมื่ออยู่ใต้การปกครองของจีน พวกเขาก็ถูกบังคับให้ศึกษาประวัติศาสตร์จีน จึงทำให้เกิดปัญหาว่าอะไรคือประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของไต้หวัน
นักโบราณคดีมีบทบาทในการศึกษาประวัติศาสตร์ไต้หวันมากขึ้น สาเหตุคือไต้หวันมียุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีการค้นพบหลักฐานโบราณคดีจำนวนมาก และเชื่อว่าเป็นสมัยที่ไต้หวันมีเอกราช ไม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของใคร ชาวออสโตรนีเชียนซึ่งเข้ามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และยังสืบเชื้อสายมาถึงคนพื้นเมืองในปัจจุบัน กลายเป็นกลุ่มชนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานวัฒนธรรมไต้หวัน ในหลายปีที่ผ่านมาเกิดการเรียกร้องสิทธิชนพื้นเมืองมากขึ้น จนเกิดเป็นกระแส “ท้องถิ่นนิยม” เรียกร้องให้ฟื้นฟูวัฒนธรรมพื้นเมือง เช่นการสักหน้าของชาวอตายาล
ในขณะเดียวกัน นักวิชาการไต้หวันก็พยายามศึกษาประวัติศาสตร์จากมุมมองของชาวไต้หวันมากขึ้น และผลักดันให้มีหลักสูตรการศึกษาที่อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของไต้หวัน ด้วยมุมมองของชาวไต้หวันอย่างแท้จริง ไม่ใช่ในฐานะส่วนปลีกย่อยของประวัติศาสตร์จีนเท่านั้น
แม้แนวคิดเช่นนี้ยังไม่ได้ถูกนำเสนออย่างกว้างขวางเท่าที่ควร แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องของไต้หวัน และการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันที่แท้จริงขึ้นได้อีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ไต้หวัน” มาจากไหน? จากเกาะแหล่งประมง-โจรสลัด สู่ดินแดนอุตสาหกรรม-ประชาธิปไตย
- ทหารญี่ปุ่นหนีทัพหลังสงคราม ผันตัวเป็นโจร จี้พ่อค้าญี่ปุ่น-ไต้หวัน ตำรวจไทยตามจับวุ่น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
1. Gao, Pat. Changes in History.,
2. Chung, Oscar. The Land Before Time.,
3. Her, Kelly. Voyages to Ilha Formosa.,
4. Hwang, Jim. Colonial Wounds. ตีพิมพ์ในวารสาร Taipei Review ฉบับเดือนมกราคม 2003
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ไต้หวัน โหยหาประวัติศาสตร์และเร่งสร้างอัตลักษณ์” เขียนโดย นุชจรี ใจเก่ง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2560