ทหารญี่ปุ่นหนีทัพหลังสงคราม ผันตัวเป็นโจร จี้พ่อค้าญี่ปุ่น-ไต้หวัน ตำรวจไทยตามจับวุ่น

ทหารญี่ปุ่น ขณะกำลังถูกนำไปยังพื้นที่ควบคุม หลังถูกปลดอาวุธ สันนิษฐานว่า ถ่ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 และสันนิษฐานว่า ภาพนี้ถ่ายที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) (ภาพจาก เว็บไซต์ Imperial War Museums)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ กองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยถูกปลดอาวุธ แต่ใช่ว่าทหารญี่ปุ่นทุกคนจะยอมแพ้แต่โดยดี ทหารญี่ปุ่นบางส่วนหลบหนีจากกรมกอง ไม่อยากถูกส่งกลับประเทศด้วยความอับอายที่พ่ายสงคราม จึงปลอมตัวเป็นพลเรือนชาวญี่ปุ่น แต่ไม่มีเงินทองใช้ดำรงชีวิต จึงผันตัวเป็นโจรผู้ร้ายก่อความวุ่นวายในสังคมไทย ต้องจี้เอาเงินจากพ่อค้าชาวญี่ปุ่น และชาวไต้หวัน

ทั้งนี้ หลังจีนแพ้สงครามต่อญี่ปุ่น นำมาสู่การลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ค.ศ. 1895 ตรงกับ พ.ศ. 2438 ญี่ปุ่นเข้าปกครองไต้หวันเสมือนเป็นจังหวัดหนึ่ง ทำให้ชาวไต้หวันบางส่วนเป็นพลเมืองญี่ปุ่น บ้างก็ถือสัญชาติญี่ปุ่น ดังนั้น พันธมิตรของกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคอยช่วยเหลือติดต่อค้าขายมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพญี่ปุ่น นอกจากชาวญี่ปุ่นเองแล้วยังมีชาวไต้หวันรวมอยู่ด้วย

เรื่องทั้งหมดนี้ พล.ต.อ. จำรัส มัณฑุกานนท์ ผู้ออกปราบปรามจับกุมทหารญี่ปุ่นหนีทัพ เขียนเล่าไว้ใน “เป็นตำรวจมา 44 ปี” หนังสืออนุสรณ์งานศพของท่าน กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมคัดเนื้อหาบางส่วนตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549 รายละเอียดดังนี้

ทหารญี่ปุ่น ขณะกำลังถูกนำไปยังพื้นที่ควบคุม หลังถูกปลดอาวุธ สันนิษฐานว่า ถ่ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 และสันนิษฐานว่า ภาพนี้ถ่ายที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) (ภาพจาก เว็บไซต์ Imperial War Museums)

“…เรื่องโจรหลังสงครามนี้ไม่ใช่มีแต่คนไทย ทหารญี่ปุ่นก็มีเหมือนกัน คือพอญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ก็มีทหารญี่ปุ่นหนุ่ม ๆ บางคนหลบหนีออกจากกรมกองไป แต่จะอยู่อย่างใดถ้าไม่มีเงินทองพอสมควร พวกนี้มีอยู่ 5-6 คน ก็คิดไปจี้เอาจากญี่ปุ่นที่เคยค้าขายหรือส่งของให้กองทัพญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาเห็นว่าร่ำรวยพอที่จะแบ่งปันให้พวกเขาได้ใช้สอยบ้าง ทหารพวกนี้มีปืนพกติดตัวและถอดเครื่องแบบทิ้ง แต่งตัวพลเรือนแบบคนไทย เริ่มต้นก็ไปพบพ่อค้าไต้หวันซึ่งขณะนั้นยังมีสัญชาติเป็นญี่ปุ่นซึ่งค้าขายกับกองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ได้ขู่เข็ญจะเอาเงินจากพ่อค้าพวกนี้ และยังไปพบพ่อค้าญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งไม่ถูกส่งตัวไปอยู่บางบัวทอง เพราะอ้างว่าเกิดที่สิงคโปร์ ได้สัญชาติอังกฤษ ครั้นพบตัวแล้วก็บอกว่าพวกเขาจะไม่กลับญี่ปุ่นเพราะแพ้สงคราม ขายหน้าจะอยู่ในประเทศไทยไปก่อน และขอเงินใช้บ้าง แต่จากจำนวนเงินที่เรียกร้องนั้น เป็นเรือนหมื่นซึ่งไม่ใช่ขอความเห็นใจกันเสียแล้ว การเข้าไปหาก็มีการพกปืนให้พอเห็นด้วย พวกพ่อค้าญี่ปุ่นก็กลัว แต่ผัดให้มาเอาวันหลัง

พ่อค้าพวกนี้ได้มาหาข้าพเจ้า ขอร้องให้ข้าพเจ้าช่วย ข้าพเจ้าก็รับปากแต่ต้องขอเวลาสืบที่อยู่ของพวกนี้ก่อน ส่วนพ่อค้าญี่ปุ่นนั้นได้แอบมาหาข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว วิงวอนขอพาเอาภรรยา บุตร มาอยู่กับข้าพเจ้าระหว่างที่ตำรวจกำลังสืบหาตัวพวกนี้อยู่ เพราะเกรงว่าจะถูกพวกนี้ฆ่าเอา ข้าพเจ้าไม่ทราบจะทำอย่างไร ก็ต้องยกห้องให้ 1 ห้องที่บ้านข้าพเจ้า ให้เขาอาศัยอยู่ชั่วคราว ข้าพเจ้าได้วางตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบไว้ที่บ้านสองสามคน นอกจากที่ใช้ติดตามสืบสวนหาตัวทหารหนีทัพพวกนั้น

ข้าพเจ้าตัดสินใจถูกที่ให้เขามาหลบอยู่ที่บ้านข้าพเจ้า เพราะต่อมาอีกสองสามวันก็มีทหารพวกนี้สองสามคนมาด้อม ๆ มอง ๆ ที่บ้านพักข้าพเจ้า ตำรวจสันติบาลซึ่งระวังอยู่แล้วก็เข้าจับกุมตัว บ้านพักข้าพเจ้าตอนนั้นอยู่ในจุฬาซอย 11 พวกทหารก็หนีออกถนนใหญ่วิ่งเข้าทางสวนใกล้สนามกีฬา ตำรวจติดตามจับมาได้ 2 คน เป็นที่ประหลาดที่สุดที่พวกทหารหนีทัพนี้ไม่ทราบว่าเป็นบ้านของข้าพเจ้า

ทหารญี่ปุ่น ขณะกำลังถูกนำไปยังพื้นที่ควบคุม หลังถูกปลดอาวุธ สันนิษฐานว่า ถ่ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 และสันนิษฐานว่า ภาพนี้ถ่ายที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) (ภาพจาก เว็บไซต์ Imperial War Museums)

ต่อมาอีกไม่กี่วันข้าพเจ้าไปธุระแถวเยาวราช เวลาประมาณ 19.00 น. เศษ สายของข้าพเจ้ามาพบข้าพเจ้าพอดีบอกว่าคนที่เป็นหัวหน้าทหารหนีทัพนั้นขณะนี้พักอยู่ที่โรงแรมใกล้ห้างใต้ฟ้า ขณะนี้ก็อยู่ ข้าพเจ้ามาคนเดียว ทหารหนีทัพอาจหนีไปได้ง่าย จึงให้สายคอยดูอยู่แถวนั้น ส่วนข้าพเจ้าขับรถยนต์มาที่สถานีตำรวจนครบาลสามแยก ขอกำลังตำรวจมาช่วย ได้นายตำรวจมา 1 คน สายสืบ 1 คน พอข้าพเจ้ามาถึงที่สายอยู่ สายก็บอกว่า ทหารญี่ปุ่นผู้นั้นกำลังอยู่ในร้านอาหารชั้นล่างและชี้ตัวให้ข้าพเจ้าดูซึ่งอยู่กันคนละฝั่งถนน นุ่งกางเกงขายาวสวมเสื้อเชิ้ตสีฟ้า ข้าพเจ้ากับนายตำรวจนครบาลผู้นั้นก็ตรงเข้าไปประชิดตัว จับตัวได้โดยละม่อม ตรวจพบปืนเมาเซอร์ชนิดต่อด้ามพกอยู่ด้วย 1 กระบอกได้ จึงนำมาส่งสันติบาล ต่อมา เราได้สืบสวนแน่นอนแล้วว่าแก๊งนี้มีจำนวนอยู่เพียงเท่าที่จับกุมมาได้ และไม่มีผู้ใดแจ้งเพิ่มเติมเข้ามาอีก เหตุการณ์ก็เรียบร้อยดี ทางกรมตำรวจจึงให้ข้าพเจ้ามอบตัวทหารญี่ปุ่นหนีทัพนี้ ให้กับกองทัพอังกฤษดำเนินการส่งกลับประเทศต่อไป

สำหรับทหารญี่ปุ่นที่ไม่ยอมกลับบ้านนี้ หลังจากนี้สองสามปีก็มีกระเส็นกระสายทางตำรวจภูธรส่งตัวมาให้ทีละคนสองคน แต่พวกนี้ก็ไม่ได้ไปประกอบอาชญากรรมอย่างใด ก็มอบให้สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษดำเนินการส่งกลับให้…”

ทหารญี่ปุ่น ขณะกำลังถูกนำไปยังพื้นที่ควบคุม หลังถูกปลดอาวุธ เป็นภาพจากวิดีโอ ระบุวันถ่ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 ด้านหลังคือ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) สันนิษฐานว่าบันทึกวิดีโอและภาพชุดในวันเดียวกัน (ภาพจาก เว็บไซต์ Imperial War Museums)

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565