ปราสาทประตูทอง บายนบนอาคาร และงานมหกรรมอาณานิคม

ปราสาทประตูทอง
ปราสาทประตูทอง ผนังด้านขวาจำหลักเรื่องราวอาณานิคมในอินโดจีน

ชานกรุงปารีส มีอาคารหลังโตอายุกว่า 90 ปี ตั้งสงบอยู่ริมสวนสาธารณะใหญ่ ชาวเมืองรู้จักอาคารหลังนี้ในนาม “ปราสาทประตูทอง”

ปราสาทประตูทอง
ปราสาทประตูทอง ในรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียบๆ

ปราสาทประตูทอง

จุดเด่นของ ปราสาทประตูทอง ได้แก่ภาพจำหลักเต็มผนังด้านหน้าและบางส่วนของด้านข้าง เล่าเรื่องราวชีวิตและการทำมาหากินของผู้คนในอาณานิคมของฝรั่งเศสเกือบ 30 แห่ง ทั้งชาวอาหรับ แอฟริกัน และแคริบเบียนบนผนังด้านซ้าย ชาวกัมพูชา ลาว โคชินไชน่า (เวียดนามใต้) อันนัม (เวียดนามกลาง) ตังเกี๋ย (เวียดนามเหนือ) และโพลีเนเชียนบนผนังด้านขวา

Advertisement

ความเป็นอยู่ของผู้คนเหล่านี้ถูกนำเสนออย่างมีชีวิตชีวา สอดแทรกไปกับภาพจำหลักของนานาพืชพันธุ์และสรรพสัตว์พื้นถิ่นที่เต็มแน่นไปทั้งผนังกว้าง ละม้ายคล้ายคลึงกับภาพจำหลักบนผนังระเบียงปราสาทบายนที่มีมาก่อนกว่า 700 ปี

ปราสาทประตูทอง
ผนังด้านซ้ายจำหลักเรื่องแอฟริกา โดดเด่นด้วยฝูงสัตว์ในป่าดิบ ด้านล่างเป็นการทำมาหากินของผู้คนในอาณานิคม
ปราสาทประตูทอง
ผนังด้านขวาจำหลักเรื่องราวอาณานิคมในอินโดจีน

อัลเฟรด ออกุสต์ ยานนิโอ (Alfred Auguste Janniot) ผู้ออกแบบและควบคุมการจำหลักภาพผนังบนปราสาท “ประตูทอง” แห่งนี้ ไม่เคยกล่าวถึงปราสาทบายน เมืองพระนคร หรือศิลปกรรมกัมพูชา ไว้ในหลักฐานใด แต่เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่รู้จักหรือไม่เคยพบเห็นศิลปกรรมของอารยธรรมเขมร เพราะเขาเติบโตและมีชีวิตอยู่ในช่วงที่ฝรั่งเศสกำลัง “ตื่นกัมพูชา” อย่างที่สุด เห็นได้จากงานมหกรรมหรือ “เอ็กซ์โป” ประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะมหกรรมอาณานิคมที่เมืองต่าง ๆ ของฝรั่งเศสผลัดเป็นเจ้าภาพจัดกันอย่างต่อเนื่อง

ในยุคที่ยังไม่มีโทรทัศน์และเครื่องบินไม่ได้มีไว้สำหรับการท่องเที่ยว “เอ็กซ์โป” ถือเป็นหน้าต่างสู่โลกกว้างที่ผู้คนในสังคมตะวันตกเฝ้ารอคอย งานมหกรรมเหล่านี้มักนำเสนอความน่าตื่นตาของสังคมอื่นผ่านอาคารจำลอง ศิลปวัตถุ หัตถกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ หรือกระทั่งชนพื้นเมืองที่ถูกนำมาแสดงในงาน การซื้อบัตรเข้างานมหกรรมจึงคุ้มค่ากว่าการต้องนั่งเรือเดินสมุทรเป็นแรมเดือน เพื่อไปยังสังคมเหล่านี้ด้วยตนเอง

ในช่วงชีวิตของยานนิโอ (ค.ศ. 1889-1969) มีเอ็กซ์โปและมหกรรมอาณานิคมหลายครั้งที่นำเสนอ “กัมพูชา” ได้อย่างเร้าใจขึ้นเรื่อย ๆ

มหกรรมนานาชาติ กรุงปารีส ค.ศ. 1889 ซึ่งฉลองครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการนำเสนอกัมพูชาในรูปปราสาทหินยอดเดี่ยว แต่ยอดสูงชะลูดผิดสัดส่วน สะท้อนความสนใจแต่ยังไม่เข้าใจศิลปกรรมกัมพูชาอย่างถ่องแท้

มหกรรมอาณานิคม ค.ศ. 1906 ที่มาร์เซย นำเสนอศาลากัมพูชาในรูปปราสาทยอดเดี่ยวหน้าพรหม ซึ่งได้รับอิทธิพลชัดเจนจากปราสาทบายน งานดังกล่าวมีผู้เข้าชมกว่า 1.8 ล้านคน โดยภาพศาลากัมพูชาและอาคารจำลองอื่น ๆ ได้ปรากฏแพร่หลายในหน้าหนังสือพิมพ์ วารสาร โปสเตอร์ และโปสการ์ด ขณะนั้น ยานนิโอเป็นหนุ่มน้อยนักเรียนศิลปะวัย 17 ปี

มหกรรมอาณานิคมที่มาร์เซยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1922 ได้จำลองปราสาทนครวัดขนาดใหญ่อย่างสมสัดส่วนและเต็มไปด้วยรายละเอียด มานำเสนอในฐานะศาลาอินโดจีน มีผู้เข้าชมงานกว่า 3 ล้านคน ยานนิโอซึ่งขณะนั้นเป็นศิลปินหนุ่มมือรางวัลวัย 23 ปี ไม่น่าพลาดข่าวและภาพความสำเร็จของงานมหกรรมครั้งนี้

นครวัด จำลอง
นครวัดจำลอง มหกรรมอาณานิคม มาร์เซย ค.ศ. 1922

มหกรรมอาณานิคม ค.ศ. 1931 ที่ปารีสเป็นเจ้าภาพ มุ่งสร้างความตระการตาให้เหนือกว่าทุกงานมหกรรมที่เคยมีมา ในบรรดาอาคารกว่า 40 หลัง นครวัดจำลองเท่าของจริงถูกสร้างขึ้นในชัยภูมิที่งามสง่าบนศูนย์กลางของถนนสายประธาน โดยถือเป็น “เพชรยอดมงกุฎ” ของงาน ไม่ใช่ในฐานะศาลากัมพูชาที่ถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารบริวารยอดปราสาทแยกออกไปต่างหาก

ปราสาทประตูทอง ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อมหกรรมครั้งนี้เช่นกัน โดยทำหน้าที่สำคัญในฐานะพิพิธภัณฑ์อาณานิคมแห่งฝรั่งเศส ต้อนรับผู้เข้าชมงานกว่า 8 ล้านคน

นครวัด จำลอง ที่ ปารีส
นครวัดจำลองขณะก่อสร้าง มหกรรมอาณานิคม ปารีส ค.ศ. 1931 สังเกตอาคารยอดหน้าพรหมแบบบายน ซึ่งใช้เป็นโรงไฟฟ้าและที่ติดสปอตไลท์ฉายนครวัดและงานยามค่ำคืน

จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าศิลปกรรมกัมพูชาย่อมให้แนวคิดและแรงบันดาลใจแก่ยานนิโอไม่น้อย ในมหกรรมอาณานิคมที่อารยธรรมกัมพูชาได้รับการนำเสนอในฐานะ “พระเอก” เช่นนี้ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2564