
ผู้เขียน | เฉิงเสี่ยวฮั่น |
---|---|
เผยแพร่ |
ตอนปลายราชวงศ์ฮั่น บ้านเมืองแตกแยก ขุนศึกชิงอำนาจกัน โจโฉ นำทัพก่อการ กำจัดลิโป้ (หลี่ว์ปู้) ปราบเตียวซิ่ว (จางซิ่ว) พิฆาตอ้วนสุด (หยวนซู่) และอ้วนเสี้ยว (หยวนเส้า) สุดท้ายรวมจีนภาคเหนือเป็นปึกแผ่น มีคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อการรวมจีนทั้งหมดในยุคต่อมา เขามิได้มีเพียงปรีชาสามารถแกล้วกล้าด้านการทหาร หากยังเป็นนักการเมืองผู้ปกครองบ้านเมืองได้ดีเลิศ ทั้งยังเป็นกวียอดเยี่ยมที่หาได้ยาก
ถึงแม้เขาจะปราดเปรื่องทั้งเรื่องบุ๋นและบู๊ แต่ภาพลักษณ์ในหมู่ชาวบ้านแล้ว โจโฉถือว่าโชคร้ายที่สุด คงเป็นเพราะถ้อยคำของเขาเฉียว (สี่ว์เส้า) พยากรณ์เขาไว้ว่า “เป็นขุนนางผู้ปรีชาสามารถในยุคสงบ เป็นยอดคนเจ้าเล่ห์ในยุคจลาจล” คำพยากรณ์นี้มีความหมายว่า หากโจโฉเกิดในยุคบ้านเมืองสงบเขาจะเป็นขุนนางผู้มีความรู้ความสามารถดี ช่วยฮ่องเต้ปกครองบ้านเมืองให้เกิดสันติสุขได้สูงสุด แต่ถ้าเกิดในยุคบ้านเมืองแตกแยกจลาจล เขาจะเป็นยอดคนกล้าหาญชาญเล่ห์ ทำการปราบปรามผู้อื่นตั้งตัวเป็นใหญ่ได้สำเร็จ
ความจริงคำพยากรณ์นี้ยกย่องโจโฉ แต่เพราะคล้อยตาพัฒนาการของสังคมไป ผู้คนจึงเริ่มค่อยๆ “ตัดตอนแปลความหมาย” ดังนั้น โจโฉจึงกลายเป็นกังฉินติดปากคน
ความเปลี่ยนแปลงนี้คงจะเริ่มตั้งแต่ช่วงต่อระหว่างราชวงศ์ซ่งเหนือกับราชวงศ์ซ่งใต้ พวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ทางภาคเหนือซึ่งค่อยๆ เจริญเข้มแข็งขึ้นเข้าบุกยึดแผ่นดินของราชวงศ์ซ่งเหนือ ผู้คนเริ่มหนีข้ามแม่น้ำแยงซีมาอยู่ทางใต้ เมื่อมาอยู่ทางใต้แล้วก็ยิ่งหวาดกลัวศัตรูที่กล้าแข็งยิ่งขึ้นทางภาคเหนือ ในชีวิตจริงสิ้นหนทางที่จะแก้ปัญหานี้ จึงต้องใช้ศิลปะมาลดคุณค่าของภาคเหนือ โจโฉผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางภาคเหนือก็กล้าแกร่งเช่นเดียวกัน ยิ่งใหญ่อยู่ทางภาคเหนือเหมือนกัน และมุ่งยึดครองดินแดนภาคใต้เหมือนกันอีก โจโฉจึงค่อยๆ กลายเป็นศัตรูจำลองในหมู่บ้านชาวจีน อนึ่ง ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่งเหนือเป็นต้นมา ศิลปะพื้นบ้านจีนเริ่มรุ่งเรือง ตามโรงมหรสพในย่านชุมชนเป็นที่ทำมาหากินของศิลปินอาชีพ ดังนั้น ผู้คนจึงเริ่มใช้เวทีการแสดงทำลายเกียรติคุณโจโฉ นานเข้าก็กลายเป็น “แบบฉบับ” ของกังฉินชั่วร้าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสืบเนื่องจากนิยายสามก๊กซึ่งแต่งเสร็จราวช่วงต้นราชวงศ์หมิง ภาพลักษณ์โจโฉในหมู่ชาวบ้านลงตัวอย่างสมบูรณ์ แล้วนิยายเรื่องนี้ก็กลับมามีอิทธิพลต่อการสร้างภาพลักษณ์โจโฉบนโรงงิ้ว ตั้งแต่ราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา ผลพวงจากการเกิดงิ้วปักกิ่งและบทงิ้วเกี่ยวกับสามก๊กตอนต่างๆ มากมาย “โจโฉหน้าขาว” ก็กลายเป็นสีสันของโจโฉบนเวทีแสดงงิ้ว
ที่มา :
“ทำไมโจโฉถูกเรียกว่า ‘กังฉินหน้าขาว’ ?” โดย เฉิงเสี่ยวฮั่น จากหนังสือ 101 คำถามสามก๊ก. หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2560