ย้อน “พินัยกรรม-คำสั่ง” โจโฉ ทำไมสั่งเสียเรื่องชีวิตบั้นปลายของเมียน้อยตน?

โจโฉ ตัวละคร สามก๊ก
โจโฉ (ภาพโดย Yoshitoshi ศิลปินชาวญี่ปุ่นสมัยศตวรรษที่ 19)

ย้อน “พินัยกรรม-คำสั่ง” โจโฉ ทำไมสั่งเสียเรื่องชีวิตบั้นปลายของเมียน้อยตน?

รัชศกเจี้ยนอาน ปีที่ 25 (ค.ศ. 220) เดือนอ้าย โจโฉ ยอดคนใจฉกรรจ์ป่วยตาย (15 มีนาคม พ.ศ. 763) แต่เขาต่างจากท้าวพระยามหากษัตริย์อื่นตรงที่ไม่เพียงสั่งการเรื่องประเทศชาติไว้เรียบร้อย หากยังสั่งเสียเรื่องชีวิตช่วงหลัง (จากตนตาย) ของเมียน้อยทั้งหลายไว้อีกด้วย

“หนังสือคำสั่งเสีย” ของโจโฉกล่าวว่า “กลางดึกข้ารู้สึกอาการไม่ค่อยดี รุ่งเช้ากินข้าวต้มแล้วเหงื่อออกจึงดื่มน้ำตังกุย…บรรดาอนุภรรยาและศิลปินสาวเหล่านางบำเรอของข้าล้วนเหนื่อยยาก ขอให้ไปอยู่บนหอยูงทองทั้งหมด ปฏิบัติต่อพวกนางอย่างดี ในห้องโถงกลางบนหอตั้งเตียงนอนยาว 6 ฉื่อ (1 ฉื่อยาว 23 ซม.) ผูกมุ้งม่านสำหรับดวงวิญญาณไว้ ทุกเช้าค่ำเซ่นไหว้ด้วยข้าวสวยและเนื้อแห้ง วัน 1 ค่ำ 15 ค่ำ มีดนตรีฟ้อนรำถวายหน้าม่าน และพวกเจ้า (บุตร) ต้องขึ้นไปบนหอยูงทองบ่อยๆ แล้วมองไปทางสุสานของข้าทางด้านตะวันตก เครื่องหอมที่เหลืออยู่เอาแบ่งให้ฮูหยินทั้งหลาย พวกเมียน้อยที่ไม่มีงานให้ไปหัดเย็บรองเท้าเป็นอาชีพ”

นี่คือ “พินัยกรรม-คำสั่งเสีย” ที่โจโฉเขียนก่อนตาย ในพงศาวดารสามก๊กจี่ ภาควุยก๊ก บทประวัติวุ่ยอู่ตี้ (โจโฉ) บันทึกไว้แต่ตอนต้น ตอนปลายปรากฏในคำนำ “ร้อยแก้วไว้อาลัยวุ่ยอู่ตี้ (โจโฉ)” ของลู่จี (กวียุคราชวงศ์จิ้น) ซึ่งรวมอยู่ในประชุมวรรณกรรมชุด “สรรบทนิพนธ์โดยเจ้าชายจาวหมิง” เล่ม 60 มีคำกล่าวว่า “คนใกล้ตาย วาจาก็ดีงาม”

โจโฉ รบทัพจับศึกใช้เล่ห์เหลี่ยมชิงชัยมาชั่วชีวิต เป็นผู้นำในแผ่นดิน มีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อประวัติศาสตร์ แต่พินัยกรรมฉบับนี้ได้สะท้อนให้เห็นภาพที่ไม่ธรรมดาอีกด้านหนึ่งของโจโฉ

ข้อความตอนนี้ทำให้เราทราบว่า โจโฉรู้ตัวว่าไม่สบายขึ้นฉับพลันในกลางดึก วันรุ่งขึ้นแม้กินข้าวต้มก็เหงื่อออก ร่างกายอ่อนล้ามาก จึงรู้ตัวว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน ในภาวะเช่นนี้ เขาหวังว่าหลังจากตนตายแล้ว “เครื่องหอมที่เหลืออยู่แบ่งให้ภรรยาทุกคน ส่วนเมียน้อยและนางบำเรอที่ไม่มีงานทำให้ไปหัดทำรองเท้าขาย” เป็นที่มาของสำนวนว่า “เฟินเซียงม่ายหลี่ว์-แบ่งเครื่องหอมขายรองเท้า” ซึ่งมีความหมายเชิงอุปมาว่า “เสน่หาอาทร” เหล่าภรรยาเมื่อยามใกล้ตาย (แม้กระทั่งเครื่องหอมที่ยังเหลืออยู่ก็ต้องเอาแบ่งให้ คนที่ไม่มีงานทำก็ให้หัดเย็บรองเท้าเป็นอาชีพเลี้ยงตัวหลังสามีตาย จะได้ไม่ลำบาก แสดงถึงความรักใคร่ห่วงใยอย่างสุดซึ้ง-ผู้แปล)

ในสังคมศักดินา ท้าวพระยามหากษัตริย์นอกจากมีมเหสีเอกแล้วก็มักมีสนมกำนัลหรืออนุภรรยา มากบ้างน้อยบ้าง ส่วมมากจะอายุน้อยกว่าสามี หลังจากสามีผู้เป็นกษัตริย์ล่วงลับไป สนมกำนัลสาวๆ เหล่านี้มักถูกกักอยู่ในตำหนักเย็น มิฉะนั้นก็อาจจะก่อความวุ่นวายแก่ฝ่ายใน ชะตาชีวิตบั้นปลายแสนเศร้า ด้วยตระหนักเรื่องดังกล่าว ก่อนตายโจโฉจึงวางแผนและสั่งการเรื่องชีวิตบั้นปลายของเหล่าเมียน้อยและนางบำเรอไว้เรียบร้อย หวังว่าพวกเธอจะมีอาชีพเลี้ยงตัวได้ ไม่ต้องมีชีวิตบั้นปลายรันทดซ้ำรอยผู้อื่น

ความคิดที่เปี่ยมด้วยอารมณ์มนุษย์ของโจโฉนี้ แสดงให้เห็นเอกลักษณ์บุคลิกหลายมิติของเขา โจโฉมิได้มีเพียงจิตวิญญาณวีรชนผู้ห่วงใยบ้านเมือง แต่ยังมีอารมณ์เสน่หาอาทรที่ลึกซึ้งจริงใจด้วยเช่นกัน ถ้อยคำก่อนตายที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ดังกล่าวของเขา มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อนักวรรณคดี (กวี) และนักประวัติศาสตร์ในยุคหลัง

กวีนิพนธ์บท “หอยูงทอง” ของหลัวอิ่นกวียุคราชวงศ์ถังกล่าวว่า “บนหอเก็บสาวงามไว้ทุกปี เจียงโหนทีโอบด้วยพุ่มพฤกษา วีรชนก็มีวันสิ้นชีวา แต่จักหาคนเมียมได้สักกี่คน” กวีนิพนธ์บท “เพลงริมเจียงโห” ของไต้อวี้ญ่าง ซึ่งหยวนเหมยยกมาอ้างถึงในหนังสือ “สุยหยวนซือฮว่า (อุทยานร้อยกรอง)” เล่ม 9 ก็กล่าวว่า “หนุ่มสาวอาทรเสน่หา ผู้กล้ายิงธนูอ่านหนังสือ” (โจโฉมีครบทั้งสองประการ ยิงธนูคือวิชาฝ่ายบู๊ อ่านหนังสือคือวิชาฝ่ายบุ๋น ซึ่งโจโฉแตกฉานทั้งบุ๋นและบู๊ ทั้งยังเปี่ยมเส่หาอาทรอีกด้วย-ผู้แปล)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เฉิงเสี่ยวฮั่น. “ทำไมโจโฉจึง ‘เสน่หาอาทร’ สั่งเสียเรื่องชีวิตบั้นปลายของเมียน้อยตน?”. 101 คำถามสามก๊ก. หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. น. 242-244


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560