จุดอ่อนของ “ขงเบ้ง” เรื่อง “การอ่านคน” กุนซือผู้เก่งกาจยังยอมรับเอง

ขงเบ้ง สามก๊ก มี ภรรยา ชื่อ นางอุยซี
ขงเบ้ง กุนซือสำคัญของฝ่ายเล่าปี่

ในความคิดของคนจีน และผู้อ่าน “สามก๊ก” จำนวนไม่น้อย “ขงเบ้ง” เป็นสาวกของลัทธิเต๋า ที่มีความสามารถดั่งเทพเซียน เชี่ยวชาญในวิถีแห่งธรรมชาติ กำหนดกลยุทธการศึกตามสภาพสมรภูมิ เก่งกาจขนาดเรียกลมเรียกฝนได้ (ที่จริงคือความรู้ฤดูกาล) ดังปรากฏในคราวศึกผาแดง

แต่ยอดคนแบบขงเบ้งกลับอ่อนด้อยในการอ่านคน

Advertisement

เฉินโซววิจารณ์ขงเบ้งไว้ในพงศาวดารสามก๊กจี่ว่า “แม้ระเบียบและกฎหมายจะเข้มงวดแต่ไม่มีคนเกลียดชัง เพราะเขายุติธรรมและตักเตือนชัดเจน กล่าวได้ว่าเป็นยอดคนในทางการเมืองการปกครอง เช่นเดียวกับก่วนจ้งและเซียวเหอ แต่เขาทำศึกติดต่อกันแรมปีไม่ประสบความสำเร็จ คงเป็นเพราะไหวพริบพลิกผันตามสถานการณ์และยุทธศาสตร์ทางการทหารไม่ใช่ความสันทัดจัดเจนของเขา”

เฉินโซวกล่าวว่า “ไหวพริบและการทหาร” ไม่ใช่ข้อเด่นของขงเบ้ง เพราะขงเบ้งปรับตัวในเรื่องคนและสังคมได้ไม่ดี ขงเบ้งใช้คนไม่เหมาะสม ทำให้งานล้มเหลวหลายครั้ง ขงเบ้งให้ความสำคัญกับเกียงอุย วางตัวเป็นทายาทสืบทอดงานของตน แม้เกียงอุยจะฉลาดปราดเปรื่องมาก แต่มีปัญญาแค่ระดับนายทหารไม่ถึงขั้นแม่ทัพยอดปัญญา

เกียงอุยยกทัพตีวุยก๊กทางภาคเหนืออีกหลายครั้ง ล้วนล้มเหลวต้องถอยกลับ สิ้นเปลืองกำลังของบ้านเมืองไปมาก นอกจากนี้เกียงอุยมีข้อบกพร่องในด้านนิสัยอย่างร้ายแรง ในพงศาวดารสามก๊กจี่กล่าวว่า “เกียงอุยภายนอกกว้างขวางแต่ภายในขี้ระแวง” ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ทำงานตามความเห็นของตนเองเป็นใหญ่

เมื่อม้าเจ๊กเสียเกเต๋งแล้ว ทำให้การยกทัพตีวุยก๊กในแดนจงหยวนเป็นอันหมดหวัง ขงเบ้งจึงสั่งประหารม้าเจ๊กแล้วผู้ใต้บังคับบัญชาเอาศีรษะม้าเจ๊กมาแสดง ขงเบ้งร่ำไห้ไม่หยุด เจียวอ้วนถามว่า ในเมื่อม้าเจ๊กตายตามวินัยทหาร ไยท่านอัครมหาเสนาบดีจึงร้องไห้?

ขงเบ้งตอบว่า ตนเรามิได้ร้องไห้อาลัยม้าเจ๊ก แต่นึกถึงพระเจ้าเล่าปี่

ก่อนเล่าปี่จะสิ้นใจที่เมืองเป๊กเต้ เล่าปี่เคยถามขงเบ้งว่า เห็นม้าเจ๊กเป็นคนเช่นใด เมื่อขงเบ้งตอบว่า “ม้าเจ๊กดีอยู่”

เล่าปี่จึงกล่าวว่า “ท่านว่าดีเราไม่เห็นด้วย เราเห็นม้าเจ๊กนั้นเจรจาเกินรู้นัก จะใช้ราชการไปข้างหน้าจงพิเคราะห์จงดี”

เมื่อเป็นจริงดังคำของเล่าปี่ ขงเบ้งจึงแค้นใจ ที่ตนเองอ่านคนไม่ออกจึงเสียน้ำตายอมรับความผิดพลาด และหวนนึกถึงคำเตือนของเล่าปี่

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก : 

หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล, 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2556

สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาคัง (หน) ราชบัณฑิตสภาชำระ, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และสำนักพิมพ์สุขภาพใจ จัดพิมพ์เผยแพร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554


เผบแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2564