อวสานก๊กของเล่าปี่ สุมาเจียวจัด 3 ทัพบุก

เล่าปี่, เตียวหุย, กวนอู กำลังสำคัญในากรตั้งจ๊กก๊ก ในภาพเป็นการสาบา่นเป็นพี่น้องในสวน (ภาพจาก www.wikimedia.org)

อวสานจ๊กก๊กของเล่าปี่ เมื่อสุมาเจียวจัดทัพบุก 3 ทาง เล่าเสี้ยนยอมจำนน

พระเจ้าเล่าเสี้ยน บุตรคนโตของเล่าปี่ และนางกำฮูหยิน มีชื่อเรียกเดิมว่า “อาเต๊า” เมื่ออาเต๊าเกิดได้ไม่นาน เล่าปี่ต้องทิ้งเมืองซินเอี๋ย และเมืองห้วนเสีย หนีโจโฉ นางบิฮูหยินมารดาเลี้ยงอุ้มอาเต๊าหนีศึกปนไปกับชาวเมืองแต่ก็ถูกนำจับได้ โชคดีจูล่งมาช่วยไว้ทัน

Advertisement
เล่าเสี้ยน หรือ อาเต๊า (ภาพจาก www.wikipedia.org)

ชีวิตเล่าเสี้ยนอยู่อย่างสุขสบายมาตลอด เมื่อเล่าปี่ตายก็ครองจ๊กก๊กต่อมา โดยมีขงเบ้งค่อยช่วยเหลือดูแลจัดการให้หมดทุกเรื่อง เล่าเสี้ยนเองก็เคารพเชื่อฟังต่อขงเบ้งมากเช่นกัน แต่เล่าเสี้ยนเป็นคนหูเบา, โง่เขลา เชื่อคำขันที จนทำให้เสียหายอยู่บ่อยครั้ง

หลังจากขงเบ้งเสียชีวิตไป 19 ปี อำนาจทางทหารของจ๊กก๊กก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาอยู่ในมือของเกียงอุย เกียงอุยเคารพนับถือขงเบ้งมาก อีกทั้งจงรักภักดีต่อจ๊กก๊ก ดังนั้นเพื่อสานฝันของขงเบ้งเรื่องการกู้ราชวงศ์ฮั่น เมื่อเขากุมอำนาจทางทหาร เขาจึงใช้กำลังเข้ารุกรานวุยก๊กอยู่บ่อยครั้ง

ยอดฝีมือในจ๊กก๊กมีน้อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนมีฝีมือด้านการทหาร ช่วงเวลาที่ขงเบ้งยกทัพไปบุกภาคเหนือ (พ.ศ. 771-777) ทำให้เหล่ายอดฝีมือต้องพลีชีพไปหมด แม่ทัพอุยเอี๋ยนที่พอพึ่งพาได้ก็ถูกเอียวหงีสังหารไปเสีย จึงทำให้เกิดสภาพที่ว่า “จ๊กก๊กไร้ขุนพล แม้แต่เลียวฮัวยังต้องไปคุมทัพหน้า”

ขงเบ้งชื่นชมในตัวเกียงอุยมาก แต่ถึงแม้เกียงอุยจะเก่งกล้าสามารถเพียงใด เขาก็ไม่ควรไปเผด็จศึกเพียงลำพัง วุยก๊กในขณะนี้ก็มีแม่ทัพเตงงาย ผู้เกิดมาเพื่อเป็นศัตรูคู่แค้นกับเกียงอุยประจำการอยู่ ทุกครั้งที่เกียงอุยเผชิญหน้ากับเตงงาย เกียงอุยก็จะบุกเข้าไปในเขตวุยก๊กได้ไม่มากนัก และยังต้องพ่ายแพ้แก่เตงงายทุกครั้งไป

ตลอดระยะเวลา 12 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 793 เกียงอุยทำศึกปะทะกับวุยก๊กแล้วถึง 8 ครั้ง ในจำนวนนี้ เกียงอุยเป็นฝ่ายรุกถึงเจ็ดครั้ง มีเพียงครั้งล่าสุดเท่านั้นที่เป็นฝ่ายรับ วุยก๊กมีทหารมากกว่าจ๊กก๊ก 10 เท่า แต่วุยก๊กก็ไม่ได้โจมตีจ๊กก๊ก เป็นจ๊กก๊กที่โจมตีวุยก๊กอยู่เรื่อย

ในที่สุด สุมาเจียวผู้ที่มีอำนาจทางทหารของวุยก๊กก็ทนไม่ไหวตัดสินใจบุกบ้าง

ลกอุ๋ยซึ่งเป็นขุนนางในวุยก๊กเห็นว่าสุมาเจียวไม่พอใจเกียงอุยมาก จึงเสนอให้ส่งมือสังหารแฝงเข้าไปในจ๊กก๊กเพื่อสังหารเกียงอุยเสีย แต่ขุนนางอีกคนหนึ่งชื่อซุนโจยออกมาห้ามว่า

“ท่านเป็นถึงผู้บงการฟ้าดิน หากใครไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อท่าน ก็ควรจัดการตามหลักที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม การใช้มือสังหารลอบปลิดชีพข้าศึกคงเป็นเรื่องที่ผู้คนยอมรับไม่ได้”

สุมาเจียวเห็นว่าซุนโจยพูดมีเหตุผล จึงตัดสินใจโจมตีด้วยกองทัพ เขาประกาศว่า

“นับตั้งแต่การปราบปรามความไม่สงบที่จูกัดเอี่ยนก่อขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน ประเทศชาติพยายามเตรียมตัวเต็มที่เพื่อจัดการกับศัตรูอย่างง่อก๊กและจักก๊ก การโจมตีง่อก๊กอาจต้องใช้ความพยายามมาก เพราะง่อก๊กมีอาณาเขตกว้างใหญ่ มีชัยภูมิเป็นที่ลุ่มต่ำและชุ่มน้ำ จึงเห็นควรที่จะเข้าตีจ๊กก๊กก่อน อีก 3 ปีให้หลังจึงค่อยเดินทางเลียบแม่น้ำไปทางใต้เพื่อโจมตีง่อก๊กทั้งทางน้ำและทางบก นี่เป็นกลยุทธ์การรบแบบโบราณที่ว่า ‘ตรึงสถานการณ์ด้านหนึ่ง ปราบศึกอีกด้านหนึ่ง หลังปราบศัตรูด้านแรกได้แล้วจึงยึดอีกด้านตาม’

จ๊กก๊กมีกำลังพลทั้งหมดเพียง 90,000 นาย ทหารที่อยู่เฝ้าเซงโต๋และที่ไปปกป้องชายแดน มีไม่ต่ำกว่า 40,000 นาย ดังนั้นกำลังทหารจริงๆ ก็จะเหลือแค่ 50,000 นายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พวกเราสามารถสกัดทัพเกียงอุยให้อยู่แต่เมืองถ่าจง ไม่ให้เกียงอุยออกไปช่วยฮันต๋งที่อยู่ด้านตะวันออกได้ เมื่อถึงตอนนั้นเราจะถือโอกาสเข้ายึดฮันต๋งทันที จากความโง่เขลาเบาปัญญาของเล่าเสี้ยน ถ้าเสียฮันต๋งซึ่งเป็นชัยภูมิสำคัญไปแล้ว จ๊กก๊กจะต้องเกิดความวุ่นวายภายในอย่างแน่นอน และจ๊กก๊กก็จะล่มสลายในที่สุด

พ.ศ. 806 สุมาอี้จัดทัพตามแผนข้างต้น โดยแบ่งกำลังออกเป็น 3 ส่วน จงโฮยรับหน้าที่นำกำลังหลักเข้าบุกฮันต๋ง จากนั้นมุ่งหน้าต่อไปยังเซงโต๋ เตงงายรับหน้าที่นำทัพไปโจมตีเกียงอุย ซึ่งนำกำลังส่วนใหญ่ของจ๊กก๊กไปปักหลักอยู่ที่เมืองถ่าจง จูกัดสูนำทัพออกจากกิสานลง ใต้ไปยังปูเต๋าเพื่อสกัดเกียงอุยไม่ให้เคลื่อนทัพไปช่วยฮันต๋ง

ไม่นานนักจงโฮยก็ยึดฮันต๋งไว้ได้ เกียงอุยรู้ว่าฮันต๋งแตกแล้ว จึงทิ้งเตงงายไว้แล้วรีบเคลื่อนพลไปสกัดจงโฮยที่ฮันต๋ง แต่ระหว่างทางก็ไปเจอกับทัพของจูกัดสูเข้า เกียงอุยจึงใช้กลอุบายสละจูกัดสูไว้ข้างหลัง แต่เนื่องจากฮันต๋งแตกไปแล้ว เกียงอุยจึงนำทัพไปสกัดกั้นจงโฮยที่เกียมโก๊ะแทน ทั้งสองฝ่ายคุมเชิงกันอยู่

เตงงายไล่ตามเกียงอุยมาตลอดทางตั้งแต่เมืองถ่าจง แต่เมื่อถึงอิมเป่ง เขาก็หยุดติดตาม และมุ่งหน้าลงใต้ เมื่อถึงเมืองเจียงโหยว ม้าเซียวยอมจำนนต่อเขา จากนั้นเขาก็รบชนะจูกัดเจี๋ยม สุดท้ายยกทัพไปประชิดกำแพงเมืองเซงโต๋

แผนที่ตั้งจ๊กก๊ก (ภาพจากสงครามสามก๊ก 26 ยุทธวิธีสู๋ชัยชนะ)

พระเจ้าเล่าเสี้ยนแห่งจ๊กก๊กคาดไม่ถึงว่าเตงงายจะยกทัพข้ามเส้นทางที่ยากลำบากของจ๊กก๊กมาได้ ขณะนั้นกองทัพส่วนใหญ่ของจ๊กกักซึ่งอยู่กับเกียงอุยยังอยู่ไกลถึงเกียมโก๊ะ ไม่มีทางยกทัพกลับมาช่วยได้ เวลานี้พระเจ้าเล่าเสี้ยนจึงเพิ่งจะเป็นเดือดเป็นร้อน เรียกขุนนางทั้งหลายมาประชุมหารือ

แต่เหล่าขุนนางต่างแสดงความเห็นไม่ตรงกัน เช่น มีผู้เสนอว่า จ๊กก๊กกับง่อก๊กเป็นพันธมิตรกัน หากจะยอมจำนนต่อวุยก๊ก สู้ยอมจำนนต่อง่อก๊กดีกว่า และมีผู้เสนออีกว่า ทางที่ดีควรถอยร่นไปเมืองลำต๋ง (ทิศใต้ของเอ๊กจิ๋ว) อาศัยความอันตรายของภูมิประเทศที่นั่นปกป้องตนเองให้รอดก่อน เหล่าขุนนางต่างพูดกันคนละคำสองคำ ไม่ได้ข้อสรุปใดเลย เวลานี้เอง ขุนนางท่านหนึ่งนามว่า “เจียวจิ๋ว” ก็ก้าวออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ให้ทุกคนฟัง

“ตั้งแต่อดีตกาล ไม่เคยมีจักรพรรดิองค์ไหนไปขออาศัยกับชาติอื่น หากท่านไปอยู่กับง่อก๊กก็เท่ากับว่ายอมจำนนต่อเขาและยอมเป็นขุนนางของเขา เพราะหนึ่งประเทศย่อมไม่อาจมีสองเจ้า ในทางการเมือง ประเทศใหญ่ย่อมกลืนประเทศเล็กเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อวุยก๊กแข็งแกร่งกว่าง่อก๊ก จึงกลืนง่อก๊กได้ แต่ง่อก๊กกลืนวุยก๊กไม่ได้ นี่เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะสวามิภักดิ์ต่อใครทั้งนั้น ดังนั้น การสวามิภักดิ์ต่อประเทศที่แข็งแกร่ง ย่อมดีกว่าสวามิภักดิ์ต่อประเทศเล็ก จะได้อัปยศครั้งเดียวแทนที่จะยอมอับยศหลายครั้ง”

“มองอีกมุมหนึ่ง หากจะถอนทัพไปลำต๋งก็ต้องวางแผนล่วงหน้าถึงจะสำเร็จ เวลานี้ข้าศึกมาถึงหน้าบ้านแล้ว ความหายนะกำลังจะมาเยือน ใครจะรับประกันได้ว่าภายใต้แรงกดดันเช่นนี้จะไม่มีใครยอมจำนนต่อข้าศึก เกรงว่าก่อนออกเดินทางยังจะมีความเปลี่ยนแปลงอีก เช่นนี้จะไปถึงลำต๋งได้อย่างไร”

สวามิภักดิ์ง่อก๊กก็ไม่ได้ ลำต๋งก็ไม่มีปัญญาไป กองทัพเตงงายใกล้เข้ามาทุกที แม้จะยอมจำนน แต่หากเตงงายไม่ยอมรับการจำนนจะทำอย่างไร

ภายใต้ความหวาดกลัวรอบด้าน เจียวจิ๋วจึงรับปากเล่าเสี้ยนว่า

“หากเรายอมสวามิภักดิ์ แต่วุยก๊กยังไม่ยอมแบ่งอาณาเขตให้ ข้าจะเดินทางเข้าเมืองหลวงของวุยก๊ก ใช้หลักการที่มีมาแต่โบราณโต้แย้งกับพวกเขาด้วยตนเอง”

พระเจ้าเล่าเสี้ยนรับฟัง แต่ก็ยังตัดสินใจไม่ถูก และยังคิดจะล่าถอยไปที่เมืองลำต๋ง เจียวจิ๋วจึงได้แต่พูดตรงๆ ว่า

“เมืองลำต๋งอยู่ไกลโพ้น อีกทั้งประชาชนยังไร้วัฒนธรรม ปกติราชสำนักก็ไม่ค่อยเรียกเก็บภาษีจากพวกเขามากนัก พวกเขาได้สิทธิพิเศษถึงเพียงนี้ แต่ก็ยังก่อกวนเราเป็นระยะ เนื่องจากอยู่ภายใต้การกดดันทางทหารในสมัยอัครเสนาบดีขงเบ้ง เมืองลำต๋งจึงได้ฝืนยอมจำนน แต่สถานการณ์ในวันนี้ไม่เหมือนเดิม แม้เราจะไปถึงเมืองลำต๋งได้ แต่นอกจากต้องต้านข้าศึกภายนอกแล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายภายในอีกมากมาย ทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ล้วนแล้วต้องพึ่งพาชนกลุ่มน้อยที่นั่น ท่านคิดว่าพวกเขาจะไม่ลุกขึ้นต่อต้านหรือ”

ในที่สุดพระเจ้าเล่าเสี้ยนก็ตัดสินใจยอมแพ้ ทำให้จ๊กก๊กกลายเป็นประวัติศาสตร์ นับจากเล่าปี่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิใน พ.ศ. 764 กระทั่งถูกปิดฉากลงเป็นก๊กแรกในบรรดาสามก๊ก รวมระยะเวลาเพียง 42 ปี

เล่าปี่นับเป็นวีรบุรุษแห่งยุคสมัยคนหนึ่ง แต่กลับมีบุตรที่ไม่เอาไหน จนแผ่นดินที่ตนทำศึกได้มาอย่างยากลำบากต้องมลายลงในมือเล่าเสี้ยน แม้เล่าเสี้ยนจะขี้ขลาดนักหนา แต่เขาก็มีบุตรที่เปี่ยมปณิธานและเด็ดเดี่ยวนามว่า “เล่าขำ”

เล่าขำคัดค้านการยอมแพ้อย่างแรงกล้า จึงตะคอกใส่บิดาด้วยความโมโหว่า

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ควรสู้เพื่อประเทศชาติของเราให้ถึงที่สุด เยี่ยงนี้จึงจะมีหน้าไปพบบรรพบุรุษบนสรวงสวรรค์ เหตุใดต้องยอมแพ้เล่า”

อย่างไรก็ตาม หากพระเจ้าเล่าเสี้ยนเข้าใจจุดนี้ได้ เขาก็คงไม่ใช่อาเต๊า [พระนามเดิมของพระเจ้าเล่าเสี้ยน] เสียแล้ว

วันที่พระเจ้าเล่าเสี้ยนจะยกธงขาวอย่างเป็นทางการ เล่าขำแอบไปที่ศาลเล่าปี่และกราบไหว้ทั้งน้ำตาด้วยความทุกข์ระทม จากนั้นจึงสังหารภรรยาและลูกทุกคนแล้วปลิดชีพตนเอง นับเป็นการกู้ศักดิ์ศรีของจ๊กก๊กที่ใกล้จะล่มคืนมาได้ แม้เพียงน้อยนิดก็ตาม

 


ข้อมูลจาก :

หลี่อันสือ เขียน, เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล แปล, สงครามสามก๊ก 26 ยุทธวิธีสู่ชัยชนะ, สำนักพิมพ์มติชน 2558

นามานุกรมวรรณคดีไทย ชุดที่ 3 ชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ และชื่อปกิณกะ เล่มที่ 3 อักษร ล-ฮ, มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) จัดพิมพ์ เนื่องในวโรกาสทางพระเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา เมษายน พ.ศ. 2548)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2563