สุดยอดภาพถ่ายประวัติศาสตร์ ที่จังหวะ-มุมกล้องลงตัว จนกลายเป็นภาพในตำนาน

ภาพถ่ายหนึ่งภาพสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย การที่จะได้ภาพถ่ายมากสักรูปไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ภาพนั้นสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก และเรื่องราวออกมาให้ดีได้ อาจต้องต้องอาศัยจังหวะที่ลงตัว หรือมุมกล้องที่ได้สัดส่วนพอดี จึงจะได้ภาพถ่ายที่สื่อสารความหมายได้ชัดเจน เป็นภาพประวัติศาสตร์ เป็นภาพตำนาน ที่ส่งต่อเรื่องราวในยุคนั้นไปสู่คนรุ่นหลัง

จุมพิตไทม์สแควร์

ภาพนี้เป็นภาพถ่ายของ Alfred Eisenstaedt ช่างภาพ Life เป็นภาพของหนุ่มสาวชาวอเมริกันสองคนคือ ทหารเรือและพยาบาลสาว จูบกันที่ไทม์สแควร์ นครนิวยอร์ก ในขณะเมื่อทราบถึงข่าวการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 (หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม) ภาพนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความตื่นเต้นและความสุขในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว

บุคลลทั้งสองในภาพคือ George Mendonsa และ Greta Zimmer Friedman โดยพยาบาลสาวเล่าถึงเหตุการณ์ในวินาทีนั้นว่า “จู่ ๆ ทหารเรือก็ตัวจับฉันมา มันไม่ใช่การจูบกันอย่างนั้น มันเป็นการแสดงความยินดีมากกว่าที่เขาไม่ต้องกลับไป (ทำสงคราม)” (ดูภาพคลิก)

นอกจากภาพถ่ายของ Alfred Eisenstaedt แล้ว ยังมีภาพถ่ายของ Victor Jorgensen ซึ่งเขาถ่ายภาพจังหวะจุมพิตที่ไทม์สแควร์นี้ไว้ได้เช่นเดียวกัน แม้องค์ประกอบภาพอาจไม่งดงามเท่ากับภาพของ Alfred Eisenstaedt ก็ตาม

ทหารเรือจูบพยาบาลสาวที่ไทม์สแควร์ แสดงความยินดีเมื่อทราบข่าวการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพถ่ายของ Victor Jorgensen

Tank man

“Tank Man” ภาพของชายยืนขวางรถถังที่กรุงปังกิ่ง ประเทศจีน ถ่ายโดย Jeff Widener เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1989 หนึ่งวันให้หลังจากการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นภาพถ่ายที่โด่งดังที่สุดภาพหนึ่ง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบอบอยุติธรรม ทั้งนี้ ช่างภาพอย่างน้อย 5 คน สามารถถ่ายภาพเหตุการณ์นี้ได้

ชายในภาพไม่ทราบแน่ชัดว่าเขามีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร เขาพยายามยืนขวางรถถัง แม้รถถังจะเลี้ยวหลบไปอีกทาง เขาก็พยายามเดินไปขวางหน้ารถถังอย่างเด็ดเดี่ยว และพยายามปีนขึ้นไปบนรถถังอีกด้วย แต่สุดท้ายเขาก็ถูกนำตัวออกไปเพื่อเปิดทางให้ขบวนรถถังเข้าควบคุมพื้นที่ (ดูภาพคลิก)

นาทีสังหาร

2 วันให้หลังจากเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดี John F. Kennedy ถูกสังหารในปี ค.ศ. 1963 Jack Ruby เจ้าของไนท์คลับในเมือง Dallas ได้ลงมือลั่นไกสังหาร Lee Harvey Oswald ผู้สังหารประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะที่ตำรวจกำลังนำตัว Lee Harvey Oswald จากกองบัญชาการตำรวจไปยังเรือนจำ

Robert H. Jackson คือผู้ถ่ายภาพวินาทีดังกล่าวนั้นได้ Lee Harvey Oswald เสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วน Jack Ruby ถูกจับกุมมีความผิดฐานฆาตกรรม เขายื่นอุทธรณ์คำพิพากษา แต่เสียชีวิตก่อนการพิจารณาคดีจะสิ้นสุด

เหตุการณ์สังหาร Lee Harvey Oswald ผู้สังหารประธานาธิบดีสหรัฐจอห์น เอฟ. เคนเนดี ภาพถ่ายโดย Robert H. Jackson

เด็กกับแร้ง

ภาพถ่ายของเด็กคนหนึ่งที่มีรูปร่างซูบผอมเนื่องจากอดอาหาร กับแร้งตัวหนึ่งที่อยู่ด้านหลัง เป็นภาพถ่ายที่สะท้อนถึงทุพภิกขภัยในประเทศซูดาน ถ่ายภาพโดย Kevin Carter เมื่อปี ค.ศ. 1993

Kevin Carter  เล่าเบื้องหลังภาพนี้ว่า ขณะที่เขาอยู่ที่หมู่บ้าน Ayod เขาได้ยินเสียงคร่ำครวญและได้พบเด็กวัยเตาะแตะที่ผอมแห้งล้มลงระหว่างทางไปยังศูนย์พักพิง ขณะที่เขาถ่ายรูปนั้น มีแร้งตัวหนึ่งเข้ามาใกล้ Kevin Carter ไม่ได้เข้าไปใกล้เด็กคนนั้นเพื่อช่วยเหลือ เพราะเข้าได้รับคำแนะนำเรื่องโรคระบาด ห้ามไม่ให้สัมผัสกับบุคคลเสี่ยง เขาใช้เวลา 20 นาที รอคอยโดยหวังว่าแร้งจะไม่ทำอันตรายใด ๆ จากนั้นเด็กคนนั้นก็เดินต่อไปที่ศูนย์พักพิง

เด็กคนนั้นรอดชีวิตในวันนั้นมาได้ แต่เสียชีวิต 14 ปีต่อมา เนื่องจากไข้มาลาเรีย (ดูภาพคลิก)

มื้อเที่ยงบนตึกระฟ้า

ภาพถ่ายกรรมกร 11 คน นั่งเรียงกันรับประทานอาหาร พักผ่อน สูบบุหรี่ อย่างสบายใจในระหว่างพักมื้อเที่ยงภาพนี้ เป็นภาพที่ถ่ายขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1932 กรรมกรเหล่านี้เป็นผู้ก่อสร้างตึก Rockefeller Center แต่ภาพถ่ายนี้ถ่ายที่ตึก RCA Victor Building (ปัจจุบันคือ General Electric Building) บนชั้นที่ 69 สูงจากพื้นกว่า 256 เมตร

ช่างถ่ายภาพนี้ยังคงเป็นปริศนา ทั้ง Charles C. Ebbets, Thomas Kelley และ William Leftwich ต่างก็อยู่ในวันนั้น แต่ไม่อาจระบุได้ว่าใครเป็นคนถ่ายภาพนี้ อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ทำให้เห็นถึงชีวิตของกรรมกรในยุคนั้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) และสะท้อนให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของนครนิวยอร์กที่เป็นเมืองแห่งตึกระฟ้า

ภาพถ่าย Lunch Atop a Skyscraper มื้อเที่ยงบนตึกระฟ้า

สงครามเวียดนาม

ภาพถ่ายที่โด่งดังมากอีกภาพหนึ่งที่คุ้นตากันดี เป็นภาพของเด็กชาวเวียดนามกำลังวิ่งหนีระเบิด ภาพถ่ายโดย Nick Ut เมื่อปี ค.ศ. 1972 ทำให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามเวียดนาม

Phan Thi Kim Phuc เด็กหญิงวัย 9 ที่ร่างกายเปลือยเปล่ากำลังร้องไห้และวิ่งไปตามถนน หลังจากการโจมตีของเวียดนามใต้ เธอได้รับบาดเจ็บ แผลไฟไหม้รุนแรงระดับ 3 ที่ครอบคลุมร่างกายของเธอถึง 30% โดย Nick Ut ได้ช่วยเหลือเธอนำตัวพาไปส่งโรงพยาบาลจนรอดชีวิต

เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ Richard Nixon สงสัยว่ารูปถ่ายนี้เป็นของปลอมหรือไม่ Nick Ut ให้ความเห็นว่า “The horror of the Vietnam War recorded by me did not have to be fixed.” (ดูภาพคลิก)

ปักธงที่อิโวจิมา

ภาพนี้มีชื่อว่า “Raising the Flag on Iwo Jima” หรือการปักธงที่เกาะอิโวจิมา ถ่ายโดย Joseph John Rosenthal เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1945 เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดภาพหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2

การปักธงครั้งในภาพนี้เป็นการปักธงครั้งที่ 2 บนยอดเขา Suribachi (เป็นจุดที่สูงที่สุดของเกาะอิโวจิมา) โดยธงแรกปักขึ้นเมื่อชั่วโมงก่อนหน้านั้นถือมีขนาดเล็กเกินกว่าจะมองเห็นได้จากตีนภูเขา การปักธงชาติสหรัฐฯ ครั้งนี้ถูกสงสัยว่าเป็นการจัดฉากเพื่อแสดงความรักชาติ แม้ว่าจะมีรายงานว่าเหตุการณ์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

“Raising the Flag on Iwo Jima” การปักธงที่เกาะอิโวจิมา ภาพถ่ายโดย Joseph John Rosenthal

หุบเขาแห่งมรณะ

ในสงครามไครเมีย เมื่อปี ค.ศ. 1853-1856 เป็นสงครามความขัดแย้งระหว่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส ตุรกี ฯลฯ ฝ่ายหนึ่ง กับรัสเซีย อีกฝ่ายหนึ่ง สงครามครั้งนี้เป็นสงครามในรูปแบบใหม่ที่พลิกโฉมประวัติศาสตร์การสงคราม เพราะมีการใช้ยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ เช่น เรือกลไฟ, ปืนไรเฟิล, กระสุดชนิดใหม่ที่มีระยะสังหารไกลมากขึ้น และโดยเฉพาะเทคโนโลยีปืนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ในสงครามครั้งนี้อย่างมหาศาล อังกฤษและฝรั่งเศสใช้กระสุนปืนใหญ่กว่า 2,300,000 นัด จากปืนใหญ่ 2,500 กระบอก

สงครามครั้งนี้มีการติดตามรายงานข่าวไปให้ประชาชนในแต่ละประเทศทราบถึงสถานการณ์ความเป็นไปในสมรภูมิแนวหน้า เป็นสงครามครั้งแรก ๆ ที่มีการถ่ายภาพ และนำไปลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ซึ่งแต่ก่อนจะเป็นเพียงภาพวาดเท่านั้น ทั้งนี้เทคโนโลยีการถ่ายภาพเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการถ่ายภาพภาพแรกเมื่อปี ค.ศ. 1826

ภาพหุบเขาแห่งเงามรณะ หรือ The Valley of the Shadow of Death นี้ แสดงให้เห็นลูกกระสุนปืนใหญ่จำนวนมากที่เกลื่อนกลาดอยู่บนพื้น ผู้ที่ถ่ายภาพนี้คือ Roger Fenton ภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของสงครามไครเมีย ซึ่งทำให้ประชาชนแนวหลังได้ทราบถึงสภาพการณ์ของสงครามที่แสนโหดร้าย รบราฆ่าฟันกันอย่างไร้ความปราณี

ภาพถ่ายที่มีชื่อว่า “The valley of the shadow of death” ถ่ายโดย Roger Fenton เป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของสงครามไครเมีย

เด็กสาวโรงงานฝ้าย

ภาพถ่ายนี้เป็นภาพของเด็กสาวที่กำลังทำงานในโรงงานฝ้ายแห่งหนึ่งในเมืองแลงคาสเตอร์ มลรัฐเซาท์แคโรไลนา เมื่อปี ค.ศ. 1908 เป็นหนึ่งในหลายภาพของ Lewis Hine ที่ออกตระเวนหาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กในสหรัฐฯ

Lewis Hine ทำงานเป็นช่างภาพเชิงสืบสวนให้กับคณะกรรมการแรงงานเด็กแห่งชาติ โดยเขาปลอมตัวเป็นคนขายพระคัมภีร์บ้าง ตัวแทนประกันบ้าง หรือช่างภาพอุตสาหกรรมบ้าง ตระเวนไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลและบอกเล่าถึงชะตากรรมของเด็กเกือบ 2 ล้านคน ที่ต้องทำงานหนักในโรงงาน

เด็กสาวในรูปมีชื่อว่า Sadie Pfeifer อายุราว 8 ขวบ กำลังทำงานกับเครื่องจักรในโรงงานฝ้าย ภาพที่ปรากฏนี้ทำให้เกิดความรู้สึกอันน่าสะพรึงกลัวต่อการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งนำไปสู่การเผยแพร่และเปิดโปงเรื่องราวการใช้แรงงานเด็กในโรงงานต่อหน้าสาธารณชน จนกระทั่งนำไปสู่การออกกฎหมายควบคุมการแรงงานเด็กในทศวรรษต่อ ๆ มา

เด็กสาวในโรงงานฝ้าย ภาพถ่ายโดย Lewis Hine

อ้างอิง :

http://100photos.time.com/

https://edition.cnn.com/2013/09/01/world/gallery/iconic-images/index.html

https://www.digitalphotomentor.com/20-most-famous-photographs/


เผนแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564