พระครูมหาสารคามมุนี-พระเทพสารคามมุนี “ราชทินนามเฉพาะของพระสงฆ์จังหวัดมหาสารคาม”

ภาพถ่าย พระครูสารคามมุนี (หลักคำอ่อน) วัดโพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2443 - 2475

“พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักสิลานคร” คำขวัญของจังหวัดมหาสารคาม ที่พรรณนาถึงเอกลักษณ์ของเมืองพุทธมณฑลอีสาน (พระธาตุนาดูน) และเมืองแห่งการศึกษา

จังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสาน มีพัฒนาการตั้งขึ้นเป็น “เมืองมหาสารคาม” เมื่อ พ.ศ. 2408 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และประกอบอาชีพด้านกสิกรรม ดำรงชีวิตตามขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” พึ่งพาอาศัยกันตามแบบของคนอีสานทั่วไป

Advertisement

หากกล่าวถึงราชทินนามของพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ของไทย ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ มีราชทินนามที่มีเอกลักษณ์ตาม นาม ฉายา วัด บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ความสามารถ ฯลฯ ดังเช่นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ของจังหวัดมหาสารคามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีราชทินนามเฉพาะตั้งแต่ชั้นพระครูสัญญาบัตร ถึง พระราชาคณะชั้นเทพ ดังราชทินนามที่ พระครูมหาสารคามมุนี พระครูสารคามมุนี พระสารคามมุนี พระราชสารคามมุนี และพระเทพสารคามมุนี

ความหมายของคำว่า มุนิ, มุนี แปลว่า นักปราชญ์, ฤษี, พระสงฆ์, นักบวช  (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ (ออนไลน์))

ความหมายของคำว่า สารคามมุนี หมายถึง นักปราชญ์, พระสงฆ์เมืองมหาสารคาม

พระครูมหาสารธรรมธร พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะใหญ่เมืองมหาสารคาม รูปแรก ร.ศ.๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔)

อุโบสถ์วัดโพธิ์ศรี ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ภาพจาก Sapimol Panop

หลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ เล่ม ๘ แผ่นที่ ๕ วันที่ ๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) หน้า ๓๕ ระบุการตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ ในวันที่ ๒๘ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ มีพระราชาคณะ ๒ พระครูเจ้าคณะใหญ่ ๙ เจ้าคณะรอง ๑๑ รวมทั้งสิ้น ๒๒ รูป มีพระสงฆ์เมืองมหาสารคาม ได้รับการแต่งตั้งในครั้งนั้น ๑ รูป ดังความในราชกิจจานุเบกษาว่า “ลำดับที่ ๒๑ เจ้าอธิการภิลา วัดโพสิทธาราม เปนพระครูมหาสารธรรมธร เจ้าคณะใหญ่เมืองมหาสาลคาม”

พระครูมหาสารธรรมธร (หลักคำภิลา) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองมหาสารคามรูปแรก พ.ศ. ๒๔๓๔ – ๒๔๓๗ ไม่ปรากฏหลักฐานการมรณภาพ

พระครูมหาสารคามมุนี (หลักคำศรีมุม) พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะใหญ่เมืองมหาสารคาม รูปที่ ๒ ร.ศ.๑๑๓ (พ.ศ.๒๔๓๗)

หลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์  รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๓ เล่ม ๑๑ หน้า ๓๑๔ ดังความในราชกิจจานุเบกษาว่า “ให้พระศรีมุม วัดโพธิ์ศรี เปนพระครูมหาสารคามมุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองมหาสารคาม” 

พระครูมหาสารคามมุนี (หลักคำศรีมุม) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองมหาสารคาม รูปที่ ๒ พ.ศ.๒๔๓๗ – ๒๔๔๓ ไม่ปรากฏหลักฐานการมรณภาพ

สำหรับตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองมหาสารคาม มีเพียง ๒ รูป ต่อมาตำแหน่งได้เปลี่ยนเป็น เจ้าคณะเมือง และเจ้าคณะจังหวัด ดังที่จะกล่าวต่อไป

พระครูสัญญาบัตรที่มีราชทินนาม พระครูสารคามมุนี ดังนี้

รูปที่ ๑ พระครูสารคามมุนี (หลักคำอ่อน) ตามหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ วันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๓) เล่ม ๑๗ หน้า ๗๓๒ “ให้เจ้าอธิการอ่อน วัดโพสี เปนพระครูสารคามมุนี เจ้าคณะเมืองมหาสารคาม”

พระครูสารคามมุนี (หลักคำอ่อน) ท่านป่วยเป็นโรคเนื้อร้ายงอกในปาก มรณภาพ ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ รวมสิริอายุได้ ๗๙ ปี ๕๘ พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองมหาสารคาม พ.ศ.๒๔๔๓ – ๒๔๗๕ รวม ๓๒ ปี

ภาพถ่าย พระครูสารคามมุนี (หลักคำอ่อน) วัดโพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองมหาสารคาม พ.ศ.๒๔๔๓ – ๒๔๗๕ รวม ๓๒ ปี ภาพจากวัดรัตนมานิตย์ จังหวัดมหาสารคาม อนุเคราะห์ภาพโดย พระอาจารย์พิษณุ โสภณปญฺโญ

รูปที่ ๒ คือ พระครูสารคามมุนี (สาร พุทฺธสโร, ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) วัดมหาชัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ดังในราชกิจจานุเบกษา แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ เล่ม ๕๑ หน้า ๓๑๔๒ ความว่า “ให้พระครูอดุลศีลพรต วัดเหนือ ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม เป็นพระครูสารคามมุนี ศรีสินธุคณาภิบาล สังฆวาหะ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม”

พระราชาคณะชั้นสามัญที่มีราชทินนาม พระสารคามมุนี ดังนี้

รูปที่ ๑ พระสารคามมุนี (สาร พุทฺธสโร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) วัดมหาชัย (วัดเหนือ) พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ดังในราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ลงวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๒ เล่ม ๕๖ หน้า ๓๕๓๔ ความว่า “พระครูสารคามมุนี วัดเหนือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นพระราชาคณะมีนามว่า พระสารคามมุนี ศรีสินธุคณาภิบาล สังฆปาโมกข์”

ภาพถ่าย พระสารคามมุนี (สาร พุทฺธสโร, ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.๒๔๗๕ – ๒๕๐๔ รวม ๒๙ ปี ภาพจาก พระครูใบฎีกาชาญชัย เสฏฺฐสิริ วัดมหาชัย พระอารามหลวง

และเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ดังในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า ๖ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๐ เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๖ ความว่า “พระสารคามมุนี เป็น พระสารคามมุนี ศรีสินธุคณาภิบาล ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม”

ท่านเป็นพระราชาคณะรูปแรกที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม ชาวเมืองมหาสารคาม เรียกท่านว่า เจ้าคุณใหญ่ ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ รวมสิริอายุได้ ๗๖ ปี ๕๖ พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม  พ.ศ.๒๔๗๕ – ๒๕๐๔ รวม ๒๙ ปี

รูปที่ ๒ พระสารคามมุนี (บุญเรือง ฐานทตฺโต ป.ธ.๕) วัดสว่างวารี เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๕๗ – ปัจจุบัน

ภาพถ่าย พระสารคามมุนี (บุญเรือง ฐานทตฺโต ป.ธ.๕) วัดสว่างวารี รองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๕๗ – ปัจจุบัน ภาพจาก https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=1026

พระราชาคณะชั้นราชที่มีราชทินนาม พระราชสารคามมุนี ดังนี้

รูปที่ ๑ พระราชสารคามมุนี (สินธุ์ เขมิโย ป.ธ.๓) วัดมหาชัย ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ที่ พระราชสารคามมุนี ศรีคุณสารนิวิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี และเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวุฒาจารย์ ปูชนียฐานประยุต เชฏฐสุทธคณาธิกร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ภาพ พระเทพวุฒาจารย์ (สินธุ์ เขมิโย ป.ธ.๓) ภาพจาก พระครูใบฎีกาชาญชัย เสฏฺฐสิริ วัดมหาชัย พระอารามหลวง

ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๒๕ – ๒๕๔๒ รวม ๑๗ ปี และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๔๒ – ๒๕๔๘ รวม ๖ ปี ท่านมรณภาพ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ รวมสิริอายุได้ ๙๒ ปี ๗๒ พรรษา

รูปที่ ๒ พระราชสารคามมุนี (ปุ้ม ปณฺฑิโต ป.ธ.๖) วัดอภิสิทธิ์  เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารคามมุนี ศีลาจารนิวิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๔๒ – ๒๕๕๓ รวม ๑๑ ปี

พระราชาคณะชั้นเทพที่มีราชทินนาม พระเทพสารคามมุนี ดังนี้

รูปที่ ๑ พระเทพสารคามมุนี (ปุ้ม ปณฺฑิโต ป.ธ.๖) วัดอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพสารคามมุนี ศรีสังฆโสภณ วิมลศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๕๓ -ปัจจุบัน

ภาพถ่าย พระเทพสารคามมุนี (ปุ้ม ปณฺฑิโต ป.ธ.๖) วัดอภิสิทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๔๒ – ๒๕๕๓ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๕๓ –ปัจจุบัน ภาพจาก https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=1062

เห็นได้ว่า ราชทินนาม พระครูมหาสารคามมุนี พระครูสารคามมุนี พระสารคามมุนี พระราชสารคามมุนี และพระเทพสารคามมุนีเป็นตำแหน่ง  เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะเมือง รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัด ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด ของจังหวัดมหาสารคาม ที่ได้รับพระราชทานมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๗ จนถึงปัจจุบัน เป็นราชทินนามเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม เฉกเช่นเดียวกับ นามพระครูเอกุตตรสตาธิคุณ ของจังหวัดร้อยเอ็ด

บรรณานุกรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ (ออนไลน์) แหล่งที่มา : https://dict.longdo.com/search//search/มุนี ( ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔)

เติม วิภาคพจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำรา  สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๓๐.

ธีรชัย บุญมาธรรม. พัฒนาการของเมืองมหาสารคาม ช่วงเจ้าเมืองเป็นคนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๔๐๘ – ๒๔๕๕. มหาสารคาม: อภิชาตการพิมพ์, ๒๕๕๔.

วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดมหาสารคาม. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๒

อมรวงษ์วิจิตร (ม.ว.ปฐม คเนจร), หม่อม. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔ พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม .ม,ท. ช, รัตน ว,ป,ร. ๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๕๘

เอกสารราชกิจจานุเบกษา

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ เล่ม ๘ แผ่นที่ ๕ วันที่ ๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ หน้า ๓๕

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์  รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๓ เล่ม ๑๑ หน้า ๓๑๔

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ วันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๓) เล่ม ๑๗ หน้า ๗๓๒

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา จำนวนเจ้าคณะแลอุปัชฌาย์ ในมณฑลตวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ต้น ร.ศ.๑๑๙

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ เล่ม ๕๑ หน้า ๓๑๔๒

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ลงวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๒ เล่ม ๕๖ หน้า ๓๕๓๔

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า ๖ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๐ เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๖

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๔, ตอนที่ ๓ ง, ๖ มกราคม ๒๕๒๐, หน้า ๕

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๕, ตอนที่ ๒๐๗ ง, ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑, หน้า ๔

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๔, ตอนที่ ๒๖ ข, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๐, หน้า ๔

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๓๓, ตอนที่ ๔๓ ข, ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙, หน้า ๙

สัมภาษณ์

พระครูสุตกิจจานุยุต

พระอาจารย์พิษณุ โสภณปญฺโญ

พระครูใบฎีกาชาญชัย เสฏฺฐสิริ

คุณยายทองเลี่ยม เวียงแก้ว

คุณกฤษณะ สนิจพจน์


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564