ตำนาน “สมเด็จพระสังฆราช สา” ลาสิกขา แต่ร.4 ทรงตามมาบวชใหม่ แล้วได้เป็นสังฆราช

สมเด็จพระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตำนาน “สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)” ลาสิกขา แต่ร.4 ทรงตามมาบวชใหม่ แล้วได้เป็นสังฆราช

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระสังฆราชซึ่งมีพระชาติกำเนิดมาจากสามัญชน แต่ด้วยความรู้ความสามารถทำให้ทรงเป็นที่ยอมรับจากพระมหากษัตริย์ถึง 2 รัชกาล ด้วยการเป็นศิษย์หลวงใน รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยใน รัชกาลที่ 5 อย่างไรก็ตาม ในเส้นทางธรรมของท่านมีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ท่านเป็นพระสังฆราชที่ในอดีตเคยลาสิกขามาก่อน แต่รัชกาลที่ 4 ทรงตามให้กลับมาบวชใหม่ หลังจากนั้นก็เลื่อนสมณศักดิ์ต่อเนื่องจนมาสู่สมเด็จพระสังฆราช

พระชาติกำเนิดของสมเด็จพระสังฆราช (สา) อ้างอิงตามข้อมูลที่รวบรวมโดยพระเทพกวี หรือ พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปที่ 3 และหนึ่งในศิษย์ผู้ใกล้ชิดของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) รวบรวมไว้เมื่อปี พ.ศ.2458 ระบุว่า สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมชื่อ สา ประสูติ ณ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา เบญจศก จุลศักราช 1175 (ตรงกับ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2356) เวลาเพลประมาณ 5 โมงครึ่ง

บิดาของท่านชื่อ จัน บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลบางเชิงกราน แขวงเมืองราชบุรี เมื่อครั้งเป็นภิกษุมีความเชี่ยวชาญในการเทศน์มิลินท์และมาไลย จนมีฉายาที่เรียกขานกันหลังจากครั้นลาสิกขาแล้วว่า จันมิลินท์มาไลย

มารดาชื่อ ศุข ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบุตรีเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ สมุหกลาโหมปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่อพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบางไผ่ แขวงเมืองนนทบุรี ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งท่านศุขได้มีถิ่นพำนักบริเวณตำบลคลองบางไผ่ใหญ่ ก่อนที่ท่านจันจะวิวาหมงคลอยู่กับท่านศุข ณ ตำบลเดียวกันนี้ พร้อมกับมีบุตรชายหญิงรวมกัน 5 คน คือ

หญิงชื่อ บวบ
ชายชื่อ ช้าง เป็นพระสุภรัตกาสายานุรักษ์
ชายชื่อ สา คือสมเด็จพระสังฆราช
ชายชื่อ สัง อุปสมบทอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่พระสุนทรมุนี ภายหลังลาสิกขา
หญิงชื่อ อิ่ม

นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราช (สา) ยังมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ เทียนวรรณ นักคิดผู้เรียกร้องการปฏิรูปบ้านเมืองคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากท่านศุขมีพี่น้องอีก 2 คนคือ แจ่มและจันทร์ ซึ่งย้ายไปตั้งถิ่นฐานบริเวณคลองบางขุนเทียน แขวงเมืองนนทบุรี โดยเทียนวรรณเป็นหลานของยายแจ่ม ส่วนสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้นมีฐานะเป็นลุงของเทียนวรรณ และเคยอบรมสั่งสอนเทียนวรรณซึ่งบวชเป็นสามเณร ขณะจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสังฆราช (สา) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสาสนโสภณ

สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราช (สา) รับการศึกษาเบื้องต้นกับบิดาซึ่งมีความถนัดในทางศาสนามาแต่เดิม ได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดใหม่ ในคลองบางขุนเทียนบ้านหม้อบางตนาวสี แขวงเมืองนนทบุรี (ปัจจุบันคือ วัดนครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี) ภายหลังย้ายมาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม เพื่อเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักนายอ่อนอาจารย์

ต่อมา สมเด็จพระสังฆราชแต่ครั้งยังเป็นสามเณรไปถวายตัวและเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จประทับผนวชอยู่ ณ วัดสมอราย หรือ วัดราชาธิวาส เมื่อถึงคราวสอบไล่พระปริยัติธรรม ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ มีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นประธานในการสอบ ครั้งนั้นสามเณรสา สามารถแปลได้ 9 ประโยค เป็นสามเณรเปรียญเอกในรัชกาลที่ 3 เมื่ออายุได้ 18 ปี นับเป็นสามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

สามเณรสาอุปสมบทครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปี ณ วัดราชาธิวาส มีฉายาครั้งแรกว่า ปุสฺโส โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์คือใคร แต่สันนิษฐานว่าขณะนั้นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิยมพระอุปัชฌาย์รามัญ ซึ่งมีพระสุเมธาจารย์ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยรูปหนึ่ง และเวลาเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์อยู่ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า พระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระสังฆราช คือ พระสุเมธาจารย์ (เกิด) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงปี พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่ ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชอุปสมบทได้ 4 พรรษา ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชขณะอุปสมบทได้ 6 พรรษา เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร

พระรูปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (ภาพจากเพจวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม )

ลาสิกขา

หลังจากนั้น พระอมรโมลี (สา) อยู่ในสมณเพศมาระยะเวลาหนึ่งก่อนจะลาสิกขาด้วยสาเหตุที่เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จัดงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุที่มีความสามารถมาถวายพระธรรมเทศนา พร้อมกับตั้งพระทัยถวายเครื่องไทยธรรมและเงินติดกัณฑ์เทศน์เป็นจำนวนมากถึง 10 ชั่ง

ครั้งแรกทรงอาราธนาพระเทพโมลี (ผึ้ง) วัดราชบุรณะ ผู้มีความสามารถในการเทศนาและแต่งหนังสือไทยอย่างแตกฉานในสมัยนั้น แต่พระเทพโมลี (ผึ้ง) ไม่ปรารถนาปัจจัยจำนวนมากมายเช่นนั้นจึงลาสิกขาไปก่อน ทำให้ทรงต้องอาราธนาพระอมรโมลี (สา) ซึ่งมีความสามารถทัดเทียมกัน แต่ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน

เพศฆราวาส และศิษย์หลวงในรัชกาลที่ 4 

เมื่อพระอมรโมลี (สา) ลาสิกขาไปใช้ชีวิตในเพศฆราวาสนั้น เป็นช่วงที่เรื่องราวของท่านมิได้ถูกกล่าวถึงอย่างเป็นทางการ มีเพียงเรื่องเล่าในหมู่ศิษยานุศิษย์ใกล้ชิด หรือพระภิกษุสงฆ์ในวัดราชประดิษฐฯ บางรูปเท่านั้น ดังที่ ทองอินทร์ แสนรู้ ซึ่งศึกษาวิชาโหราศาสตร์กับเจ้าคุณพระเทพเมธากร หรือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปที่สี่ และได้ทราบเรื่องช่วงชีวิตฆราวาสของสมเด็จพระสังฆราช (สา) จากคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณอดีตเจ้าอาวาสว่า

“ข้าพเจ้ายกครูเรียนโหรจากท่านเจ้าคุณพระเทพเมธากร (ทิม อุฑาฒิโม) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯองค์ปัจจุบัน ศิษย์เอกผู้สืบต่อตำราของท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (อุปวิกาโส แย้ม) ท่านได้พร่ำสอนข้าพเจ้าเสมอว่า วัดราชประดิษฐ์นี้มีอาถรรพ์ สึกออกไปแล้วไม่เสือผู้หญิงก็นักเลงชั้นยอด ท่านไม่เคยให้เหตุผล แต่ท่านชอบเล่าอดีตเหมือนผู้ใหญ่ทั้งหลาย เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเป็นนักเลงของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสะเทวะ) ว่า เคยสำเร็จเป็นเปรียญ 9 ประโยค แล้วสึกออกไปเป็นนักเลงแถวหน้าโรงหวย จนในหลวงรัชกาลที่ 4 จับบวช และแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชในกาลต่อมา

และยังมีเรื่องเล่าต่อกันมาอีกว่า ในเพศฆราวาสนั้น มหาสาได้ออกไปครองเรือนมีครอบครัว ท่านมีภรรยา 2 คน กรณีที่หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อมูลนี้ สมเด็จพระสังฆราช (สา) จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดียวที่ทรงครองเรือนมีครอบครัว ซึ่งนับเป็นความพิเศษอีกประการหนึ่งในพระประวัติ 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระสังฆราช (สา) กลับมาอุปสมบทใหม่ในปี พ.ศ.2394 ซึ่งตรงกับปีแรกในรัชกาล เมื่ออายุ 39 ปี มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งต่อมาลาสิกขาได้รับราชการดำรงตำแหน่งพระยาศรีสุนทรโวหาร การอุปสมบทครั้งที่ 2 นี้ได้รับฉายาว่า ปุสฺสเทโว

ส่วนฉายา ปุสฺสเทว อันเป็นอีกนามหนึ่งนั้น สันนิษฐานว่ามีการเรียกกันตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เห็นได้จากสร้อยพระนามคือ “ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต” เมื่อครั้งทรงสถาปนาให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณในปี พ.ศ.2434 ฉายา ปุสฺสเทว มีความหมายว่า เทวดาผิวขาว อันอาจบ่งชี้ถึงความฉลาดปราดเปรื่องประดุจเทวดาและมีผิวพรรณสัณฐานที่ขาวผุดผ่องเป็นราศีของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้

อุปสมบทครั้งที่ 2

การอุปสมบทครั้งที่ 2 มีเรื่องเล่ากันว่าภายหลังจากพระอมรโมลี (สา) ลาสิกขาอยู่ในเพศฆราวาสเป็น มหาสา นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกริ้วมากเพราะพระอมรโมลีมิได้กราบบังคมทูลลาตามธรรมเนียมของพระราชาคณะที่ต้องปฏิบัติ

พระองค์ทรงให้กรมการติดตามจับตัวมหาสาซึ่งพำนักที่บ้านมารดาที่บางไผ่ใหญ่ แขวงเมืองนนทบุรี แต่มหาสาก็หลบหนีไปอยู่บ้านญาติฝ่ายบิดาที่บ้านกร่าง แขวงเมืองราชบุรี และถูกจับกุม ณ ที่แห่งนั้น แล้วนำมาเข้าเฝ้า

ด้วยเหตุที่มหาสาเมื่อครั้งอยู่ในสมณเพศเป็นที่โปรดปรานมาก จึงทรงเสียพระทัยต่อการกระทำโดยพลการของมหาสาคราวนี้

ดังนั้นจึงทรงลงโทษ ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทใหม่ เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ในฐานะอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้ประพฤติดี

สอบใหม่ สู่ “สังฆราช 18 ประโยค”

การอุปสมบทคราวนี้พระเกียรติคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สา) ปรากฏโดดเด่นไม่น้อยกว่าการอุปสมบทคราวก่อนโดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งรู้จักกันในนามของ “พระมหาสา 18 ประโยค”

เนื่องจากการอุปสมบทครั้งที่ 2 นั้น ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม (คือสอบใหม่) ด้วยเพราะครั้งนั้นผู้ที่เป็นเปรียญเมื่อลาสิกขาแล้วถือว่าหมดสิทธิในการเป็นเปรียญ เพราะเปรียญเป็นตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง และทรงสอบได้เป็นเปรียญเอก 9 ประโยคอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้สมเด็จพระสังฆราชได้รับการกล่าวขานต่อมาว่า “สังฆราช 18 ประโยค” ซึ่งมีพระองค์เดียวในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาในปี พ.ศ.2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ โดยได้รับพระราชทานนิตยภัตรเป็นเงิน “ 4 ตำลึง 2 บาท” ทุกเดือน สาเหตุที่แต่งตั้งตำแหน่งพระราชาคณะในครั้งนั้นเนื่องจาก พระสาสนโสภณ หรือ ขรัวสา ได้เข้าไปถวายเทศน์แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเป็นที่พอพระทัย แต่เพราะพระที่เข้าไปถวายเทศน์นั้นจะต้องเป็นพระราชาคณะซึ่งขณะนั้นไม่มีพระภิกษุรูปใดที่สามารถถวายเทศน์ได้ต้องพระทัย แม้แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ยังเคยลงจากธรรมาสน์โดยไม่เทศน์ถวายเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาพระธรรมอย่างถ่องแท้ขณะทรงผนวชมาแล้ว อีกทั้ง ขรัวสา ก็บวชมาแล้วถึง 7 พรรษา เลยกำหนด 6 ปีที่จะเป็นพระราชาคณะได้

สำหรับนาม พระสาสนโสภณ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์พระราชทานตามนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราช คือ สา ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า

“พระสรสาตรพลขันธ์ (สมบุญ) เคยเล่าให้หม่อมฉันฟังว่า เมื่อทูลกระหม่อมจะทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ เมื่อยังเรียกกันว่า อาจารย์สา ให้เป็นพระราชาคณะ ทรงประดิษฐ์ราชทินนามเอานามเดิมของท่านขึ้นต้น แล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลก นาม 1 พระสาสนโสภณ นาม 1 โปรดให้พระสรสาตรไปถามว่าท่านจะชอบนามไหน ท่านว่า นามสาสนดิลก นั้นสูงนัก ขอรับพระราชทานเพียงนามสาสนโสภณ ก็ได้นามนั้น คนทั้งหลายเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา ได้ความเข้าที”

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นับเป็นพระสาสนโสภณรูปแรก และทรงโปรดนามนี้มากแม้จะทรงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม เจ้าคณะรองฝ่ายใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2415 ก็คงใช้นามว่า “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม” เท่ากับทรงพระกรุณาโปรดให้ยกตำแหน่งที่พระสาสนโสภณขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองในครั้งนี้

“พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”

จนถึงปี พ.ศ.2422 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระสาสนโสภณ (สา) ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และไม่ได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในราชทินนามพระสาสนโสภณเป็นเวลาถึง 21 ปี

กระทั่งปี พ.ศ.2443 จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อ่อน อหึสโก) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตยมหาสีมารามรูปที่สอง เป็นที่พระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย นับแต่นั้นมาสมณศักดิ์ตำแหน่งที่พระสาสนโสภณ ได้เป็นตำแหน่งของเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สืบมาจนปัจจุบัน

ความไว้พระทัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพระสาสนโสภณ (สา) ยังเห็นได้จากภายหลังการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เมื่อปี พ.ศ.2407 เพื่อให้เป็นวัดสำหรับพระภิกษุในธรรมยุติกนิกายใช้ศึกษาเล่าเรียน และให้ผู้ที่ศรัทธาในพระธรรมยุติกานิกายใช้ทำบุญ อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟมีโรงทานสำหรับทำบุญของชาวบ้านมาก่อน รวมทั้งให้สอดคล้องกับธรรมเนียมการสร้างวัดประจำเมืองสมัยโบราณที่ต้องมีวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน

เมื่อการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเสร็จสิ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระสาสนโสภณ (สา) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2408 โดยในวันนั้นโปรดเกล้าฯให้มีขบวนแห่ประกอบด้วยธงทิว พิณพาทย์ และรถอีกหลายคันรับพระสาสนโสภณจากวัดบวรนิเวศวิหารมายังพระอารามแห่งใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานเปลี่ยนตาลปัตรเป็นตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรมแด่พระสาสนโสภณ (สา) อีกด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งฐานานุกรมได้ 16 รูป นับเป็นเรื่องพิเศษ เนื่องจากการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก่อนหน้านี้ต่างได้รับพระราชทานสิทธิให้ตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป เป็นประเพณีตลอดมา

จนแม้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชที่สืบลำดับต่อมาก็มีสิทธิตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป อีกทั้งสมเด็จพระสังฆราช (สา) ยังนับเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์แรกที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แม้ว่าก่อนหน้านี้พระพิมลธรรม (อู่) จะได้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์แรกจากการพระราชทานของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4 แต่ก็มิได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช อันแสดงถึงพระราชศรัทธาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ปฏิบัติศาสนกิจและปกครองคณะสงฆ์อย่างเต็มกำลังความสามารถจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2442 ขณะพระชนมายุ 87 ปี ทรงดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระสังฆราช 6 ปีเศษ และครองวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 34 ปี หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยจนตลอดรัชกาล ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจึงว่างอยู่ถึง 11 ปี (พ.ศ.2442-2453)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงใหม่จากบทความ “พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว ‘สังฆราช 18 ประโยค’ สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในรัตนโกสินทร์” และ “พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว ‘สังฆราช 18 ประโยค’ สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในรัตนโกสินทร์”

เนื้อหาจากบทความต้นทางทั้ง 2 ชิ้นเรียบเรียงขึ้นจากบทความ “200 ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยของพระมหากษัตริย์ 2 รัชกาล” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 10 (ส.ค. 2556), หน้า 108-128

อนึ่ง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ได้จัดพิมพ์หนังสือพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ผู้สนใจสามารถสอบถามจากเพจวัดราชประดิษฐฯ https://www.facebook.com/Watrajapradit/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2564