เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ผู้พิทักษ์บัลลังก์บ้านพลูหลวง คนโปรดผู้ทำผิดก็ไม่โดนลงโทษ

ภาพเขียน อยุธยา ชาวดัตช์
ภาพเขียนกรุงศรีอยุธยาโดยชาวดัตช์

เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เป็นหนึ่งในขุนนางที่มีบทบาทสําคัญในการกรุยทางขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) กษัตริย์องค์ที่ 31 แห่งราชอาณาจักรอยุธยา บันทึกประวัติศาสตร์ในพระราชพงศาวดารที่เกี่ยวข้องกับวีรกรรมของ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ คงไม่ทําให้เรารู้สึกแปลกใจและต้องตั้งคําถามว่า ทําไมขุนนางธรรมดาคนหนึ่งจึงสามารถก้าวขึ้นสู่ตําแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการได้ภายในช่วงเวลาแค่ผลัดแผ่นดินใหม่

ส่วนการปรากฏตัวขึ้นของ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดอีกเช่นกัน หากเรื่องราวของท่านในพระราชพงศาวดารจะปิดฉากลงแค่การได้รับพระมหากรุณาสูงสุดจากพระเจ้าแผ่นดินให้จัดการศพอย่างเจ้า การได้พบเรื่องราวของท่านจากเอกสารนอกพงศาวดารและจดหมายเหตุความทรงจําของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวโยงไปถึงท่านต่างหาก ที่ทําให้เราได้รับรู้ถึงชีวิตอันโลดโผนพิสดารของท่าน จนรู้สึกสัมผัสได้ถึงความมีตัวตนของมหาอํามาตย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงผู้นี้

Advertisement

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าเสือเกิดมีเหตุขัดเคืองพระราชหฤทัยกับ เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรส ซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งเป็นกรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า จึงตรัสมอบราชสมบัติให้กับ เจ้าฟ้าพร พระราชโอรสอีกองค์หนึ่ง แต่พอสมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าฟ้าพรกลับถวายราชสมบัติคืนให้กรมพระราชวังบวรฯ ตามเดิม ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ กระทําพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าท้ายสระแล้วจึงโปรดให้สถาปนาเจ้าฟ้าพรเป็นที่กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในเวลาต่อมา)

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระมีพระราชโอรสรวม 3 พระองค์ คือ เจ้าฟ้านเรนทร์ หรือกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร เมื่อเจ้าฟ้าทั้งสามเจริญพระชันษาขึ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอได้รับราชสมบัติต่อจากพระองค์

พระราชประสงค์ดังกล่าวย่อมไม่เป็นที่พอพระทัยของกรมพระราชวังบวรฯ อันเป็นปฐมเหตุแห่งการหวาดระแวงและคุมเชิงกันขึ้นระหว่างวังหลวงกับ วังหน้า และเป็นสาเหตุให้เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ต้องปลีกพระองค์ออกผนวช ทั้งนี้ เพราะทรงเห็นว่า พระราชบิดาได้รับราชสมบัติเพราะกรมพระราชวังบวรฯ ถวาย เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วก็สมควรคืนราชสมบัตินั้นให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ ตามเดิม

แต่แล้วสมเด็จพระเจ้าท้ายสระก็ตรัสมอบราชสมบัติ พระราชทานแก่เจ้าฟ้าอภัย ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ไม่ทรงยินยอม แต่จะทรงยินยอมก็ต่อเมื่อยกราชสมบัติให้กับกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ซึ่งขณะนั้นยังทรงผนวชอยู่

ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยเมื่อพระราชบิดายกราชสมบัติให้แล้ว ก็เตรียมพร้อมเปิดศึกกับกรมพระราชวังบวรฯ ในทันที โดยกะเกณฑ์กําลังพลจากวังหลวงยกไปตั้งค่ายตั้งแต่ฝั่งตะวันตกของคลองประตูข้าวเปลือก ลงไปจนถึงคลองประตูจีนทางตอนใต้ของเกาะเมืองศรีอยุธยา ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ก็เคลื่อนกําลังจากวังหน้ามาตั้งค่ายอยู่ตามแนวคลองประตูข้าวเปลือกฟากตะวันออกทั้ง 2 ฝ่าย มีการยิงปะทะกันประปราย แต่ก็ยังเป็นไปในลักษณะคุมเชิงกันอยู่

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ตรงกันว่า

“ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย พระราชบิดาให้อนุญาตแล้วจึงรับราชสมบัติปรารถนาจะทําสงครามกันกับด้วยพระมหาอุปราช จึงสั่งข้าราชการวังหลวงลัดแจงผู้คนกะเกณฑ์กระทําการตั้งค่ายคูดูตรวจตาค่ายรายเรียงลงไปตามคลอง แต่ประตูข้าวเปลือกจนถึงประตูจีน จึงให้ขุนศรีคงยศไปตั้งค่ายริมสะพานช้างคลองประตูข้าวเปลือกฟากข้างตะวันตกให้รักษาค่ายอยู่ที่นั่น ในกาลนั้น พระมหาอุปราชได้ทราบเหตุทั้งปวงนั้น ให้ข้าราชการตั้งค่ายฟากตะวันออกให้รักษาค่ายในที่นั้น” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, 2546, น. 107.)

เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ การปรากฏตัวครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร

ทันทีที่สมเด็จพระเจ้าท้ายสระเสด็จสวรรคต วังหลวงกับวังหน้าก็เปิดฉากทําสงครามเต็มรูปแบบ แม้ว่าวังหน้าจะมีกําลังน้อยกว่า แต่ในช่วงแรกก็สามารถรุกไล่เข้าตีจนทหารจากวังหลวงแตกร่นไม่เป็นขบวน แต่การถอยร่นของวังหลวงกลับกลายเป็นการถอยไปตั้งหลัก เพราะเมื่อเป็นฝ่ายรวบรวมกําลังพลได้ก็บุกเข้าตีตอบโต้จนวังหน้าค่อยๆ แตกพ่ายไปที่ละค่ายสองค่าย

สถานการณ์ของวังหน้าเริ่มเลวร้ายลงถึงขนาดกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรให้ตระเตรียมจะเสด็จหนีออกจากพระนคร

แต่ในช่วงวิกฤตการณ์ที่จวนเจียนจะแพ้อยู่แล้วนั้น ขุนชํานาญบริรักษ์ ก็ปรากฏตัวขึ้นในประวัติศาสตร์แห่งการตะลุย เลือดขึ้นบัลลังก์ของกรมพระราชวังบวรฯ โดยรับอาสาขอนํากําลังทหารออกรบเป็นครั้งสุดท้าย โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันว่า หากตัวตายในที่รบแล้วจึงค่อยเสด็จหนี วีรกรรมของขุนชํานาญในครั้งนั้น ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาอย่างละเอียด ดังจะขอยกมาไว้ในที่นี้ว่า

“ครั้งนั้นพระธนบุรีมาอาสาเจ้าฟ้าอภัย ยกพลทหาร 500 ข้ามคลองสะพานช้างเข้าตีค่ายวังหน้าแตกได้ 2 ค่าย 3 ค่าย รบพุ่งกันเป็นสามารถ พระมหาอุปราชรู้เหตุนั้น ตกพระทัยปรารภจะหนีไป จึงปรึกษาด้วยข้าราชการว่า ทหารเราฝีมืออ่อนกว่าเขารักษาค่ายไม่ได้ เห็นจะรับเขามีอยู่ เราจะคิดประการใด

ขุนชํานาญจึงกราบทูลพระกรุณาว่า พระองค์อย่ากลัวอย่าเพ่อหนีก่อน ข้าพระพุทธเจ้าจะขออาสาถวายชีวิต จะขอตายก่อนพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าจะถวายบังคมลาออกไปรบกับข้าศึก บัดนี้ ทรงพระกรุณาโปรดให้ม้าเร็วตามออกไปคอยดูข้าพระพุทธเจ้ารบกับข้าศึก ถ้าเห็นข้าพระพุทธเจ้าตายในที่รบแล้ว ให้ม้าใช้กลับมาจงเร็ว กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระองค์ทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้านี้ตายแล้วจึงหนี ถ้าข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ตายอย่าเพ่อหนีก่อน

ว่าแล้วกวายบังคมลา มาจัดพลทหาร 300 เศษ ออกไปถึงทัพพระธนบุรี ก็ขับไล่พลทหารเข้าจู่โจมตีหักหาญต่อต้านชิงชัยทะลวงไล่ลุยประหารทะยานฟันแทงต่อแย้งต่อยุทธ โห่ถึงอุตม์เอาชัย ชุมชํานาญทหารใหญ่บุกรุกไล่ไม่ท้อถอย ระวังคอยป้องกัน รุกไล่ตีรันฟันฟาด ทหารพระธนบุรีแตกหนีดาษกันไป พระธนบุรีหาหนีไม่ขึ้นม้าผูกเครื่องใหม่ ใจหาญรับต้านทาน

ขุนชํานาญทหารใหญ่บุกรุกไล่เข้าฟาดฟันพระธนบุรีๆ แทงด้วยหอกผัดผันรบสู้กันเป็นสามารถ ขุนชํานาญถือดาบฟาดสองมือมั่นจู่โจมโถมเข้าจ้วงฟัน ถูกพระธนบุรีนั้นคอขาดบนหลังม้าตายในที่รบ ขุนชํานาญคนขยันตัดศีรษะมาถวาย ฝ่ายทหารทั้งหลายไล่ติดตามเข่นฆ่าพลโยธาวังหลวงไปจับได้บ้าง ตายก็เป็นอันมากในที่รบนั้น

สมเด็จพระมหาอุปราชทอดพระเนตรเห็นศีรษะพระธนบุรี มีพระทัยยินดียิ่งนัก ตรัสสั่งให้จัดพลทหารขึ้นเป็นอันมาก จะให้ไปตีพระราชวังหลวง ฝ่ายพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ คือเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าบรเมศร เห็นพลทหารปราชัยเป็นหลายครั้งก็สะดุ้งตกพระทัยกลัว ให้เอาพระราชทรัพย์ต่างๆ เป็นอันมาก ลงเรือพระที่นั่งลําเดียวกันหนีไปในราตรีกาลโดยทางป่าโมก…” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, 2546 น. 108.)

หลังจากประกอบวีรกรรมเผด็จศึกวังหลวงจนแตก พลัดกระจัดกระจายไปคนละทิศละทางแล้ว ภารกิจต่อไปของขุนชํานาญก็คือ การติดตามไล่ล่าเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศรซึ่งหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในป่าแถบตําบลบ้านเอกราช จนในที่สุดก็สามารถตามไปจับกุมทั้ง 2 พระองค์มาถวายกรมพระราชวังบวรฯ และเมื่อสอบสวนเอาความได้แล้ว ก็โปรดให้นําเจ้าฟ้าทั้งสองไปสําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี

ว่ากันว่า สงครามกลางเมืองครั้งนั้น ข้าราชการวังหลวงถูกคิดบัญชีย้อนหลังไปเป็นจํานวนมาก โทษสถานที่ได้รับก็หนักเบาต่างกัน มีตั้งแต่การประหารชีวิตหมู่ที่ตะแลงแกง การสั่งเก็บ ไปจนถึงการถูกเกณฑ์เป็นแรงงานต่อเรือสําเภา การขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของกรมพระราชวังบวรฯ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างดุเดือดเลือดพล่านครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ทํารัฐประหารยึดอํานาจจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา เมื่อปี พ.ศ. 2199

กรมพระราชวังบวรฯ ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) ส่วนข้าราชการวังหน้าที่ประกอบวีรกรรมในครั้งนั้นก็ล้วนแต่ได้แจ้งเกิด ได้รับโปรดเกล้าฯ อวยตําแหน่งให้สูงขึ้นเป็นลําดับ โดยเฉพาะ ขุนชํานาญ ทหารเอกพระบัณฑูรผู้อาสาทําศึกชี้ขาด ประกาศสิทธิเหนือราชบัลลังก์อยุธยาให้กับกรมพระราชวังบวรฯ ได้รับพระมหากรุณาเป็นพิเศษให้เป็นที่ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดี ถือศักดินา 10000 ไร่

เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์เป็นใคร? มาจากไหน?

พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เรื่องลําดับสกุลเก่าบางสกุล ภาค 1 มีลําดับสกุลที่ทรงรวบรวมไว้ 2 สกุล หนึ่งในนั้นมีสกุลของ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ รวมอยู่ด้วย

ลําดับสกุลของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงจัดทําขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2461 เพราะทรงสนพระทัยในประวัติของเจ้าพระยาสุรินทรราชา ที่หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจนวงศ์) แต่งแล้วถวายเพื่อทรงตรวจ เป็นเหตุให้ทรงสอบสวนเรื่องราวเชื้อสายของเจ้าพระยาสุรินทรราชา จนได้ความ แล้วเขียนเป็นแผนที่ลําดับสกุลขึ้น

สําเนาลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดํารง ราชานุภาพ ที่ทรงมีไปถึงหลวงศรีวรวัตร ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2461 ระบุว่า “ใจฉันผูกพันเรื่องเจ้า พระยาสุรินทรราชา ไม่ได้นิ่งเปล่าอยู่ ได้ตรวจหนังสือจดหมายเหตุ และสืบถามพวกเชื้อสายวงศ์สกุล จนได้ความแจ่มแจ้งในเรื่องสกุลของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์… ถึงได้เขียนลงแผนที่”

ในแผนที่ลําดับสกุลดังกล่าว สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพได้ทรงบอกเล่าที่มาว่า ได้ตรวจสอบจากแผนที่ลําดับสกุลฉบับของท้าวอนงครักษา (ละม้าย ศิริ วัฒนกุล) ฉบับของหลวงพิสุทธิภัณฑรักษ์ (แต้ม ศิริ วัฒนกุล) ฉบับของหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจนวงศ์) ฉบับของพระมิตรกรรมรักษา (นัดดา บูรณศิริ) และคําชี้แจงของคุณหญิงเนื่องเพชรรัตน์สงคราม ฉบับของขุนนนทวิจารณ์ (นนท์ ทองอิน) ซึ่งล้วนเป็นสายสกุลของ เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบจากพระบรมราชาธิบาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจํากรมหลวงนรินทรเทวี และเรื่องปฐมวงศ์ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 จนได้ความสรุปว่า เจ้าพระยาสุรินทรราชาเป็นบุตรของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์กับท่านผู้หญิงน้อย ซึ่งเป็นพี่สาวของมารดา เจ้าขรัวเงิน พระบิดากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงสกุลเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ไว้ในเรื่องลําดับสกุล เก่าบางสกุล ภาค 1 ว่า “เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ เป็นเชื้อสายพราหมณ์เทศ แลออกชื่อบรรพบุรุษถอยหลังขึ้นไปอีก 2 ชั่วคน คือว่า บิดาเป็นที่เจ้าพระยาพิศณุโลก ผลปู่เป็นพระมหาราชครูศิริวัฒนพราหมณ์ เมื่อในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์ ชื่อตัวชื่ออู่ เดิมเป็นขุนชํานาญในหนังสือพระราชพงศาวดารหาขานสร้อยชื่อไม่ เข้าใจว่า เป็นข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระภูมินทรราชา พระเจ้าท้ายสระ”

ราชสํานักของไทยแต่โบราณมีประเพณีที่ต้องใช้พราหมณ์เข้ารับราชการในตําแหน่งต่างๆ ได้แก่ พราหมณ์ ประโรหิต พราหมณ์พิธี พราหมณ์พฤฒิบาศ และพราหมณ์ โหรพาจารย์

หนังสือเรื่องเชื้อสายพระมหาราชครูศิริวัฒน แต่งและเรียบเรียงโดยขุนศิริวัฒนอาณาทร (ผล ศิริวัฒนกุล) กล่าวถึงสกุลพราหมณ์เชื้อสายพระมหาราชครูศิริวังมนนี้ว่า เข้ามาอยู่ที่กรุงสุโขทัยก่อน แล้วจึงย้ายลงมารับราชการในกรุงศรีอยุธยา จะสืบเชื้อสายมาอย่างไร และนานเท่าใด ไม่มีหลักฐาน แต่เพิ่งมาจดจํากันไว้ ตั้งแต่ชั่วของพระมหาราชครูศิริวัฒน

พระมหาราชครูศิริวัฒนนี้ เป็นพราหมณ์พิธีอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2199-2231) ภรรยาชื่อสาลี มีบุตรชาย 2 คน คนที่รับราชการเป็น ตําแหน่งพระมหาราชครูประโรหิตาจารย์ คนน้องชื่อพราหมณ์รามินทร์ พราหมณ์รามินทร์นี้ ขุนศิริวัฒนอาณาทรสืบค้นได้ว่า เป็นบรรพบุรุษของสกุล บุณยรัตพันธุ์

ส่วนพระมหาราชครูประโรหิตาจารย์มีบุตร 2 คน ชื่อนายเมฆและนายผล ชั่วคนลําดับนี้เริ่มตัดมวยผม และละเพศพราหมณ์ ออกมารับราชการ โดยนายเมฆได้รับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2246-51) เป็นที่หลวงทรงบาศอยู่ในกรมพระคชบาล

ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251-75) ได้ รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาธิราช (เมฆ) ไปครองเมืองพิษณุโลก ส่วนนายผล น้องชายได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) และได้เป็นออกญาเพชรัตน สงครามฯ ไปครองเมืองเพชรบูรณ์ ต่อมาจึงได้รับโปรด เกล้าฯ เป็นเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล)

เจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาธิราช (เมฆ) ในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ได้ย้ายเข้ามารับราชการในกรุง และถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อนสิ้นรัชกาล ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ท่านมีบุตรที่ปรากฏชื่ออยู่ 3 คน คือ นายบุญเกิด ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยานเรนทราภัย และ นายบุญมี ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาสุรินทรภักดี บุตร 2 คนแรกมีประวัติปรากฏแต่เพียงเท่านี้

ส่วนบุตรคนที่ 3 มีชื่อว่า นายอู่ มีเรื่องเล่าสืบกันมาในสายสกุลว่า นายอู่ ผู้นี้ เมื่อเป็นหนุ่มประพฤติตนไปในทางนักเลง จนกระทั่งบิดาไม่กล้านําไปถวายตัวรับราชการ อันเป็นประเพณีในสมัยนั้น นายอู่ไปได้ภรรยาเป็นบุตรสาวของพนักงาน ด่านขนอนหลวงที่วัดโปรดสัตว์ แต่ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ ทําให้นายอู่ไม่คิดจะอยู่ในพระนคร จึงพาภรรยาไปอาศัยอยู่กับออกญาเพ็ชรัตนสงครามฯ เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ (ผล) ซึ่งเป็นอา

เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จึงตั้งให้เป็นขุน มีหน้าที่ในทางเก็บภาษีอากร มีชื่อว่าขุนชํานาญ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่ไม่สูงกว่าชั้นขุนในหน้าที่ราชการบางตําแหน่ง เช่น พนักงานที่มีหน้าที่ในทางภาษีอากรนั้น เจ้าเมืองมีอํานาจแต่งตั้งได้ เรียกว่าขุนนางแม่ตั้ง หรือในชั้นหลังเรียกว่าขุนนางชั้นประทวน

ครั้งหนึ่งเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) เสด็จขึ้นไปสําราญพระอิริยาบถอยู่ที่แขวงพระพุทธบาท เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ลงมาเฝ้า และ น้าหลานชายคือขุนชํานาญเข้าถวายตัว ขุนชํานาญจึงได้เข้ามารับราชการอยู่ในสังกัดของกรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า แต่นั้นมา

ยังมีหลักฐานสําคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ หนังสือของท่านชีหน่าย ธิดาพระเมืองสวรรคโลก (หนู) สายสกุลของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ ชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกลําดับชั้นสกุลที่ตกทอดลงมาถึงขุนศิริวัฒนอาณาทร กล่าวถึงประวัติของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ไว้ค่อนข้างละเอียด เพราะเจ้าของหนังสือได้รับข้อมูลตกทอดลงมาโดยตรงจากบิดา ซึ่งเป็นชั้นเหลน

รายละเอียดของหนังสือ ได้บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นตระกูลของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ ซึ่งเป็นพราหมณ์มาจากประเทศอินเดีย (ในหนังสือใช้คําว่า มาจากราม ประเทศฮินดู) สืบเชื้อสายมาจนถึงรุ่นเจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาธิราช (เมฆ) หรือเจ้าพระยาพิษณุโลกที่เริ่มตัดมวยผม ละเพศพราหมณ์ เข้ามารับราชการในราชสํานักอยุธยาจนมีบุตรคนหนึ่งชื่อนายอู่ นายอู่เข้ารับราชการในกรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า ได้รับความดีความชอบ เติบโตในชีวิตราชการเป็นลําดับ จนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดี ถือศักดินา 10000 ไร่ เอกสารฉบับนี้จบลงแค่ชั้นหลานของเจ้า พระยาชํานาญบริรักษ์ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

ขุนนางคนโปรดของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

การประกอบวีรกรรมอาสานทัพเข้าเผด็จศึกวังหลวงจนสามารถยกกรมพระราชวังบวรฯ ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้สําเร็จ นับเป็นจุดพลิกผันที่ทําให้ชีวิตราชการของขุนชํานาญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลําดับ จนกลายเป็นขุนนางที่ทรงโปรดปรานมากที่สุดคนหนึ่งในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ถึงขนาดทําผิดไม่เอาโทษ และโปรดให้จัดการศพอย่างเจ้าเมื่อถึงแก่อสัญกรรม

บําเหน็จความชอบหลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ คือการได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดี ดังความในพระราชพงศาวดารว่า “ลุศักราชได้ 1095 ปีฉลูเบญจศก ณ เดือน 5 นั้น…อัญเชิญสมเด็จพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเสด็จขึ้นผ่านพิภพมไหสวรรยาธิปัติ ถวัลยราชสมบัติ ณ พระที่นั่งวิมานรัตยา ในพระราชวังบวรสถานฝ่ายหน้านั้นสืบต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ ขุนชํานาญชาญณรงค์เป็นเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, 2546, น. 110.)

โกษาธิบดี คือผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ว่าการกรมท่า ซึ่งครั้งนั้นกรมท่ามีหัวเมืองที่อยู่ในการควบคุมคือ เมืองตราด เมืองจันทบุรี เมืองระยอง เมืองบางละมุง (ชลบุรี) เมืองสมุทรปราการ เมืองธนบุรี เมืองนนทบุรี เมืองสาครบุรี (สมุทรสาคร) และเมืองสมุทรสงคราม

อนึ่งเมื่อต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ สมุหพระกลาโหมถูกลดอํานาจลงโทษฐานทําตัวเป็นกลางในช่วงสงครามผลัดแผ่นดิน จึงโปรดให้ยกหัวเมืองที่อยู่ในการควบคุมของสมุหพระกลาโหมไปขึ้นกับกรมท่าด้วย เป็นอันว่าหัวเมืองปักษ์ใต้ที่อยู่ใต้เมืองเพชรบุรีลงไปและเมืองในอ่าวไทย รวมทั้งเมืองมฤท เมืองตะนาวศรี ได้ขึ้นอยู่ในการควบคุมของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ทั้งสิ้น

บําเหน็จความชอบในฐานะทหารเอกคู่พระทัยที่ไม่ค่อยมีใครได้กันง่ายๆ มีบันทึกไว้ในหนังสือของท่านชีหน่ายว่า เมื่อครั้งภรรยาคนหนึ่งของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ถึงแก่กรรมลง สมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้พระราชทานเจ้าจอมผู้หนึ่งซึ่งเป็นบุตรของพระยาราชวังสันให้เป็นภรรยา ซึ่งต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นท่านผู้หญิง ได้รับพระราชทานเครื่องยศ และให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย

อันที่จริง เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ เป็นขุนนางที่ทรงโปรดปรานมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นขุนชํานาญในกรม พระราชวังบวรฯ มีจดหมายเหตุของสังฆราชชาวฝรั่งเศส ผู้หนึ่งที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2273 กล่าวว่า ข้าราชการวังหน้าคนหนึ่งชื่อชุนชํานาญ เป็นคนโปรดของกรมพระราชวังบวรฯ ครั้งหนึ่งขุนชํานาญถูกเจ้าพระยาพระคลังกล่าวโทษ ถึงขนาดโดนสอบสวนต่อหน้าที่นั่ง แต่ขุนชำนาญก็ไม่ได้รับโทษแต่ประการใด

ดูเหมือนการได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ ทําให้เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์กลายเป็นที่หวาดระแวงของกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าต่างกรม หรือกลุ่มอํานาจในราชสํานัก ซึ่งล้วนเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากเจ้าพระยาอภัยมนตรี สมุหนายกถึงแก่อสัญกรรมลง เจ้าพระยาราชภักดี (สว่าง) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ได้ดํารงตําแหน่งสมุหนายกคนใหม่ ทําให้เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์มีอํานาจมากขึ้นโดยพฤตินัย เป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรฯ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ทรงไม่วางพระทัย พยายามกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ กล่าวโทษเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ในความผิดหลายข้อกล่าวหา แต่การฟ้องร้องดูเหมือนจะไม่เป็นผล เพราะทรงไว้วางพระราชหฤทัยในตัวเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์เป็นอย่างมากนั่นเอง

ในพระราชพงศาวดารยังมีปรากฏอีกว่า ครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์มีความผิด แต่ก็มิได้ทรงลงพระราชอาญา ในทางตรงข้ามกับเจ้าพระยาราชภักดี ซึ่งทําความผิดในคราวเดียวกัน กลับถูกลงพระราชอาญา โบยหลัง 20 ที (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, 2546, น. 117-118.)

แม้จนที่สุดของชีวิต พระมหากรุณาสูงสุดที่ไม่มีอัครมหาเสนาบดีคนใดเคยได้รับมาก่อนในประวัติศาสตร์ คือ การโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศพอย่างเจ้า ดังความในพระราชพงศาวดารได้ กล่าวได้ว่า “ครั้งถึง ณ เดือน 4 ในปีนั้น เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ผู้ว่าที่โกษาธิบดี ป่วยเป็นลมอัมพาต สี่เดือนถึงแก่กรรม ทรงพระกรุณาพระราชทานโกศให้แต่งศพใส่เครื่องชฎาอย่างเจ้าต่างกรมให้เรียกว่าพระศพ ให้ทําเมรุ ณ วัดชัยวัฒนาราม แล้วเสด็จพระราชดําเนิน ไปพระราชทานเพลิง…” (พระราชพงศาวดารฉบับพระ ราชหัตถเลขา เล่ม 2, 2546, น. 121.)

ปีที่เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ถึงแก่อสัญกรรมนั้น ขุนศิริวัฒนอาณาทร (ผล ศิริวัฒนกุล) คํานวณไว้ว่า ตรงกับปี พ.ศ. 2295 เป็นปีเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงแต่งคณะทูตไทยพาคณะสงฆ์ไปก่อตั้งสังฆมณฑลขึ้นใหม่ที่ประเทศลังกา เมื่อวันพุธ เดือนยี่ แรม 6 ค่ำ ปีวอกจัตวาศก จุลศักราช 1114 หรือ พ.ศ. 2295

สายสกุล เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์

ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า การตรวจสอบเชื้อสายแล้วทําเป็นผังลําดับชั้นสกุลเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพได้ทรงทําขึ้นก่อน เพราะทรงสนพระทัยในประวัติของเจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันท) จนสืบทราบว่า ท่านเจ้าพระยาผู้นี้เป็นบุตรของ เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ โดยได้ทรงตรวจทานผังลำดับสกุล เทียบเคียงกับของเหล่าบรรดาเชื้อสายเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ ที่แตกสาแหรกออกเป็นสกุลต่างๆ

เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงเรียบเรียงหนังสือเรื่องลําดับสกุลเก่าบางสกุล ภาค 4 ซึ่งมีสกุลของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์รวมอยู่ด้วยนั้น ก็ได้รับความช่วยเหลือในการสืบค้นเพิ่มเติมและตรวจทานต้นฉบับสกุลเก่าบางสกุลที่อยู่ในหอพระสมุด จากพระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จํารัส รัตนกุล) โดยมีพระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี) พระยาราชพินิจจัย (อุไทยวรรณ อมาตยกุล) พระคัลยาณมิตรนิกรวงศ์ และพระพินิจสารา (ทิม บุณยรัตพันธุ์) เป็นผู้ช่วยตรวจทานอีกชั้นหนึ่ง จนสอบความได้ว่าสกุลเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์เป็นต้นของสกุลร่วมกันถึง 4 สกุล ได้แก่ จันทโรจนวงศ์ บูรณศิริ ภูมิรัตน และศิริวัฒนกุล

ต่อมาหลวงพิสุทธิภัณฑรักษ์ (แต้ม ศิริวัฒนกุล) ได้รวบรวมและสืบค้นเพิ่มเติมทําเป็นแผนที่ลําดับสกุลขึ้น จนได้ความละเอียดต่อชั้นลําดับญาติลงมาจนถึงปัจจุบัน แต่เป็นแผนผังใหญ่มาก ขุนศิริวัฒนอาณาทร (ผล ศิริวัดมนกุล) จึงรวบรวมคัดเป็นรายการมาลงไว้ในหนังสือที่ระลึกในการรับพระราชทานเพลิงศพ นางสาวพร้อม ศิริวัฒนกุล ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2509

การจัดทําลําดับสกุลนี้ ขุนศิริวัฒนอาณาทรได้อธิบายว่า เป็นเรื่องที่ทําขึ้นเมื่อได้มีการประกาศพระราชบัญญัตินามสกุลแล้ว และเพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้นี่เองที่เป็นสาเหตุให้มีผู้นิยมตรวจสอบและสืบค้นทําลําดับสกุลขึ้นโดยแพร่หลาย แต่การที่ผู้ใหญ่บอกเล่าลูกหลานให้จดจําเชื้อสายของตนไว้ย่อมมีมาแต่โบราณ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะบอกแต่สายสกุลตรงลงมา ได้มีกิ่งก้านสาขาเพื่อให้ง่ายต่อการจดจําดังเช่น หนังสือที่รวบรวมโดยท่านชีหน่าย ธิดาพระเมืองสวรรคโลก (หนู) ซึ่งขุนศิริวัฒนอาณาทรไปพบต้นฉบับเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้น เนื่องในงานปลงศพคุณท้าวอนงครักษา (ละม้าย ศิริวัฒนกุล) พิมพ์ที่โรง พิมพ์วิจารณ์เจริญผล ตําบลนางเลิ้ง ร.ศ. 130 หรือ ปี พ.ศ. 2454

ผู้เขียนค่อนข้างคล้อยตามฉบับของท่านชีหน่าย เพราะเป็นบันทึกลําดับสกุลที่ตกทอดลงมาโดยตรงจนถึงชั้นเหลน คือ พระเมืองสวรรคโลก (หนู) บิดาของท่านชีหน่าย และเป็นฉบับเดียวที่ระบุว่าเจ้าพระยาชํานาญ บริรักษ์มีภรรยา 3 คน (ความจริงอาจมีมากกว่านี้) ซึ่งเป็นน้ำหนักที่น่าเชื่อถือได้ เพราะการที่ขุนนางระดับเจ้าพระยาจะมีภรรยาหลายๆ คน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสมัยนั้น

เมื่อประมวลจากเอกสารที่สืบค้นได้ทั้งหมดแล้ว พอสรุปได้ว่า เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ มีบุตรกับภรรยาคนแรก 3 คน แต่เสียชีวิตไปก่อนจะเสียกรุงทั้ง 3 คน ต่อมาจึงมีภรรยาอีกคนหนึ่ง มีบุตรด้วยกันหลายคน คนหนึ่งชื่อว่า จันท นายจันทผู้นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสืบค้นได้ว่าคือเจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันท) นั่นเอง ส่วนมารดาของเจ้าพระยาสุรินทรราชาก็คือท่านผู้หญิงน้อย ซึ่งเป็นพี่สาวของมารดาเจ้าขรัวเงิน พระบิดาของกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

นอกจากนี้ยังได้ความสืบต่อกันมาว่า เมื่อเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหมถึงแก่อสัญกรรมในที่รบคราวศึกทวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้หาตัวเจ้าพระยาสุรินทรราชา ซึ่งขณะนั้นออกไปเป็นข้าหลวงกํากับบรรดาหัวเมืองปักษ์ใต้ชายทะเลตะวันตกให้เข้ามา เพื่อจะตั้งท่านเป็นสมุหพระกลาโหม แต่ท่านขอพระบรมราชานุญาตกลับไปรับราชการในตําแหน่งเดิม โดยอ้างว่าชราภาพมากแล้ว เป็นอันว่าเจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันท) คงใช้ชีวิตในบั้นปลายของท่านอยู่ทางปักษ์ใต้ มีลูกสืบหลานเป็นต้นสกุลจันทโรจนวงศ์มาจนทุกวันนี้

ต่อมาเมื่อมารดาของเจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันท) ซึ่งถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านเจ้าพระยายังเยาว์ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศจึงได้พระราชทานเจ้าจอมท่านหนึ่ง เป็นธิดาพระยาราชวังสันให้แก่เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ ซึ่งต่อมาเจ้าจอมท่านนี้ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นท่านผู้หญิง มีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่งชื่อ นายบุญนาก นกเล็ก ครั้งยังไม่เสียกรุง นายบุญนากได้เป็นที่พระหฤทัย

ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาวิเศษสุนทร (บุญนาก นกเล็ก) ท่านมีภรรยาชื่อคุณหญิงสั้น เป็นธิดาเจ้านครศรีธรรมราช มีบุตรธิดารวม 7 คน บุตรคนหนึ่งชื่อพระยาจินดา รังสรรค์ (แก้วแขก) เป็นต้นสกุลทางสายภูมิรัตนและศิริวัฒนกุล อีกคนหนึ่งชื่อ หลวงเสน่ห์สรชิต (พราหมณ์) มีบุตรเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) เป็นต้นสกุลบูรณศิริ

นอกจากนี้พระยาวิเศษสุนทร (บุญนาก นกเล็ก) ยังมีธิดาอีกคนหนึ่งชื่อพุ่ม ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชโอรสคือกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ หรือพระองค์เจ้าคันธรส

ตามหาบ้าน เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์

มีหลักฐานร่วมสมัยที่พอจะช่วยให้เราตามหาบ้าน เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ได้ คือ บันทึกจดหมายเหตุระยะทางราชทูตลังกาที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เพื่อขอพระราชทานคณะสงฆ์สยามให้ไปอุปสมบทแก่ชาวลังกา เนื่องจากพุทธศาสนาในลังกาได้ขาดช่วงสืบทอดมาเป็นระยะเวลานานแล้ว

คณะราชทูตลังกาได้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2294 มีความตามจดหมายเหตุตอนหนึ่ง กล่าวถึงเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ บันทึกไว้ว่า “ราชทูต ลังการอพักอยู่ที่ๆ พักริมวัดโปรดสัตว์ 7 วัน จนวัน จันทร์ (เดือน 7 แรม 4 ค่ำ) ข้าราชการไทยเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูง 5 นาย ลงมาจากพระนครมารับพระราชสาส์นขึ้นมณฑป หามลงตั้งในเรือทอง มีเรืออีก 5 ลำ รับทูตานุทูตกับเครื่องบรรณาการและบริวารตามไปตั้งแต่ ถึงตําบลบางกะจะ ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำตกแต่งตั้งซุ้มผูกผ้า ขลิบทองแลเงิน มีผู้คนมาดูเป็นอันมาก บ้างถือธงบ้าง ถือร่ม พากันมาแออัดครึกครื้น ลำแม่น้ำเต็มไปด้วยเรือรับผู้คนแลเรือค้าขายควรจะทัศนายิ่งนัก

เวลาประมาณ 6 โมงเช้าวันนั้น เรือกระบวนถึงพระนครศรีอยุธยา ทูตานุทูตลังกาพากันไปหาเจ้าพระยา (ชํานาญบริรักษ์ ผู้ว่าที่เจ้าพระยา) มหาอุปราช เชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปให้ตรวจ เจ้าพระยามหาอุปราชแสดงความยินดีปราศรัยทูตานุทูตตามสมควรแล้วบอกว่าจะนัดกําหนดวันเข้าเฝ้าให้ทราบต่อภายหลัง เมื่อเสร็จสนทนากับเจ้าพระยามหาอุปราชแล้ว ทูตานุทูตก็ลากลับมาบ้านพักอาศัยอยู่ที่บ้านวิสันตา”

ตามที่ราชทูตอ้างถึงเจ้าพระยามหาอุปราชนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพประทานอธิบายไว้ว่า ที่แปลว่าเจ้าพระยามหาอุปราชตรงนี้ ด้วยในหนังสือระยะทาง ราชทูตลังกาที่แปลเป็นภาษาอังกฤษบางแห่งเรียกด้วย ศัพท์อังกฤษว่าสับกิ่ง [SUB-KING – ผู้เขียน] บางแห่งเรียกด้วยศัพท์ว่า อุวะราชชุรุ จึงเข้าใจว่าหมายความว่า เจ้าพระยามหาอุปราชชาติวรวงษ์ฯ นั้นเอง ในหนังสือพงศาวดารปรากฏแต่ว่า เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ได้ว่า การกรมท่า เพราะฉะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่จะรับราชทูตต่างประเทศ จะเป็นผู้อื่นไม่ได้ แต่พึ่งปรากฏในจดหมายเหตุราชทูตลังกาฉบับนี้ว่า เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ได้เป็นตําแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราชตามทําเนียบศักดินาพลเรือนด้วย

ในจดหมายเหตุของมองซิเออร์ลาลูแบ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ว่ามีเจ้าพระยามหาอุปราชในครั้งนั้น ที่เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ได้ว่าที่เจ้าพระยามหาอุปราชนั้น ก็ไม่เป็นการประหลาดอันใด ด้วยเป็นผู้ที่มีความชอบต่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศยิ่งกว่าผู้อื่น แลมีหลักฐานอีกประการหนึ่งในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ถึงอสัญกรรม โปรดให้เรียกว่าพระศพเหมือนเจ้า ข้อนี้สมกับความในระยะทางราชทูตลังกาข้างตอนปลาย กล่าวถึงเจ้าพระยามหาอุปราชถึงอสัญกรรม”

สรุปว่า เจ้าพระยามหาอุปราชในที่นี้ก็น่าจะหมายถึง เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์นั้นเอง เพราะปีที่ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2295 มีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุระยะทางราชทูตลังกา ระบุว่าเป็นปีเดียวกับที่คณะทูตไทยพาคณะสงฆ์ไปก่อตั้งสังฆมณฑลขึ้นใหม่ที่ลังกา

ยังมีความอีกตอนหนึ่งในจดหมายเหตุระยะทางราชทูตลังกา บันทึกไว้ว่า “ณ วันพุธที่ 7 เดือนสุริยคติ ตุลา (คม) เวลาเช้าข้าราชการไทย 2 คน เอาเรือมารับ พวกทูตานุทูตไป ณ ที่แห่งหนึ่งซึ่งไม่ห่างกับจวนเจ้าพระยา มหาอุปราช ที่นั้นมีหอ 8 เหลี่ยม หลังคา 2 ชั้น ข้างในผูกม่านสีต่างๆ แลปูพรมลายทอง เจ้าพระยามหาอุปราช นั่งอยู่บนเตียงมีเครื่องยศตั้งอยู่ทั้ง 2 ข้าง คือ ดาบฝักทอง พานทอง เป็นต้น มีม่าน 2 ไขอยู่ข้างหน้า หน้าม่านออกมามีข้าราชการหมอบอยู่หลายคน เจ้าพนักงานพาพวกทูตานุทูตเข้าไปหาเจ้าพระยามหาอุปราช เจ้าพระยามหาอุปราชทักทายปราสัย แลเลี้ยงหมากพลูแล้วจึงให้ดู พระคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งในลังกาทวีปหาฉบับไม่ได้ บอกว่าพระเจ้ากรุงสยามจะพระราชทานหนังสือคัมภีร์ทั้งปวงให้ ออกไปกับคณะสงฆ์ที่จะไปอุปสมบทในลังกาทวีป…”

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงพิจารณาจากรายงานราชทูตลังกาแล้วรับสั่งไว้ว่า บ้านเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์นั้น ตามที่พระยาโบราณราชธานินทร์ สอบสวนได้ความว่า อยู่ที่ริมประตูจีนทางใต้ของพระนคร แต่ที่ที่ราชทูตลังกาไป จะเป็นสถานที่อันใดยังทรงคิดไม่เห็น บางทีอาจจะเป็นภายในบริเวณของจวนเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ก็เป็นได้ เพราะที่นั่นอยู่ “ไม่ห่างกับจวนเจ้าพระยามหาอุปราช”

เรื่องนี้ ขุนศิริวัฒนอาณาทรได้ตรวจสอบแล้วพบว่า บริเวณประตูจีนมีบ้านและสํานักราชการหรือจวนของขุนนางข้าราชการอยู่ด้วยกันหลายคน รวมถึงจวนของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) ซึ่งปรากฏอยู่ในแผนผังกรุงศรีอยุธยาที่หมอแคมป์เฟอร์ ชาวเยอรมัน ที่เข้ามากับคณะราชทูตฮอลันดา ในต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาจัดทําไว้ โดยระบุไว้ชัดเจนว่า ทางด้านตะวันออกของคลองประตูจีนมีบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์อยู่ตรงนั้น

นอกจากนี้ แคมป์เฟอร์ยังบันทึกไว้ในจดหมายเหตุอีกว่า ช่วงที่พักผ่อนอยู่ที่โรงสินค้าของฮอลันตา วันหนึ่งที่มีขุนนางสยามนําคณะไปพบเจ้าพระยาพระคลังที่บ้าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักเพราะ “ขบวนเรือแล่นเสียบกําแพงพระนครขึ้นไปตามลําน้ำสักประเดี๋ยวหนึ่ง ก็เลี้ยวไปสู่บ้านของท่านพระยาพระคลัง อันเป็นที่ซึ่งท่านออกรับแขกเมืองอย่างสง่าสมเกียรติ เราขึ้นบกทางด้านนี้และเดินต่อไป จนถึงบ้าน…”

เมื่อพิจารณาระยะทางจากโรงสินค้าฮอลันตาทางใต้ของเกาะเมืองแล้ว คิดว่าบ้านเจ้าพระยาพระคลังไม่น่าจะอยู่ใกลไปกว่าประตูจีน เพราะหมอแกมป์เฟอร์อธิบาย ไว้ว่า “ขึ้นไปตามลําน้ําสักประเดี๋ยวหนึ่ง ก็เลี้ยวไปสู่บ้านของท่าน” อย่างไรก็ตาม บ้านที่หมอแคมป์เฟอร์ไปพบเจ้าพระยาพระคลังในครั้งนั้น เป็นคนละหลังกับที่ได้ไปพบมาเป็นการส่วนตัว เมื่อ 2-3 วันก่อน จึงดูเหมือนว่าบ้านที่ขุนนางสยามมาเชิญให้แกมป์เฟอร์ไปนั้น จะเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่เจ้าพระยาพระคลังใช้สําหรับ “ออกรับแขกเมืองอย่างสง่าสมเกียรติ”

ถ้าบ้านเจ้าพระยาพระคลังมี 2 หลังจริง บ้านหลังที่ออกรับแขกเมืองก็น่าจะเป็นบ้านของผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง สอดคล้องกับรายงานการสืบค้นของพระยาโบราณราชธานินทร์ว่า บ้านของเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ตําแหน่งเจ้าพระยาพระคลังอยู่ที่ริมประตูจีน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศก็เคยมาพักที่บ้านหลังนี้ ยังมีบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่า “รุ่งขึ้นพระเจ้ากรุงสยามจะเสด็จมาประทับที่บ้าน เจ้าพระยาพระคลัง” (ประชุมพงศาวดาร เล่ม 22, 2511, น.197, 234)

แถวประตูขึ้นนี้ มีบันทึกคําให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมระบุว่า เป็นย่านเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา มีผู้คนอยู่หนาแน่น และเป็นที่อยู่อาศัยของคนจีน ซึ่งมีอาชีพทําการค้าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหลักฐานของชาวต่างประเทศที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ต่างก็บันทึกไว้ตรงกันว่า ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วัดไชยวัฒนาราม จนถึงบางกะจะหนาแน่นไปด้วยเรือนแพและบ้านเรือนของชาวอยุธยา รวมถึงบ้านของเหล่าบรรดาขุนนางทั้งหลายด้วย

จากหลักฐานต่างๆ ที่มีบันทึกไว้ ทําให้พิเคราะห์ได้ว่า หากจะตามหาบ้าน เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ ก็น่าจะต้องค้นหาตําแหน่งของบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ให้พบก่อน

ผู้เขียนใช้แผนที่พระนครศรีอยุธยาของอาจารย์ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งระบุที่ตั้งของบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ไว้ชัดเจนว่า อยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมือง ฝั่งตะวันออกของคลองประตูจีน ถ้าดูตามแผนที่ดังกล่าวจะเห็นว่า คือบริเวณหลังป้อมอกไก่ ส่วนบันทึกของหมอแคมป์เฟอร์ ก็ระบุไว้ตรงกันว่ามีถนนอยู่สายหนึ่งแล่นไปทางตะวันตก ตามคุ้งกําแพงมีบ้านเรือนของชาวต่างชาติรวมถึงบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ รายงานการสํารวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2536 ยังช่วยยืนยันว่า พบที่ตั้งของบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ มีแต่เศษซากอิฐกองเกลื่อนกลาด มีชุมชนรุกล้ำสร้างบ้านทับที่จนไม่ปรากฏสภาพโบราณสถานให้เห็นอีกแล้ว

ปัจจุบัน เราคงไม่สามารถไปเดินคนหาซากอิฐปูนตามสถานที่ดังกล่าวได้สะดวกนัก เพราะมีชุมชน บ้านเรือน และตึกแถวปลูกเรียงรายแน่นขนัดไปหมด ยิ่งไปกว่านั้น แนวคลองประตูจีนที่กะเอาไว้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ให้เจอก็อันตรธาน กลายสภาพเป็นถนนไปเสียนานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ วัดขุนพรหม วัดนี้ถ้าพิจารณาจากแผนที่ก็จะพบว่าตั้งอยู่นอกเกาะเมืองตรงข้ามกับปากคลองประตูขึ้นพอดิบพอดี ปัจจุบันแม้ว่าคลองจะถูกถมเป็นถนนไปหมดแล้ว แต่ตรงบริเวณด้านซ้ายของท่าเรือข้ามฟาก ก็ยังพอมีร่องรอยของปากคลองประตูจีนปรากฏให้เห็น สอดคล้องกับคําอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยาของพระยาโบราณ ราชธานินทร์ที่ระบุไว้ว่า ฝั่งตะวันตกของประตูจีนมีท่าเรือ จ้างข้ามออกจากท่าพระยาราชวังสัน ข้ามออกจากกรุงไปขึ้นวัดขุนพรหม คําอธิบายนี้คงยืนยันได้อีกชั้นหนึ่งว่า ย่านประตูจีนน่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่าบรรดาขุนนางอย่างที่หลักฐานต่างๆ ข้างต้นได้กล่าวไว้

จากจุดที่ยืนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดขุนพรหม มองกลับไปฝั่งตรงข้าม ด้านขวามือจะเห็นตึกแถว และร้านอาหารเรียงรายไปตลอดริมน้ำ ถ้าจินตนาการตามตําแหน่งในแผนที่ว่าบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์อยู่บริเวณนั้น บ้านเจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ตามที่สันนิษฐานกับมาตั้งแต่แรก ก็คงอยู่ในละแวกเดียวกันนั้นไม่ไกล

พระราชพงศาวดารเป็นบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์ ราชวงศ์ และการสงคราม โดยมีไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นตัวประกอบทําหน้าที่แต่งเติมสีสันให้กับเรื่องราวดังกล่าว ขุนชํานาญ หรือ เจ้าพระยาชํานาญบริรักษ์ ก็เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินคนหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นในพระราชพงศาวดาร แต่งเติมสีสันให้กับเรื่องราวของกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง โดยการประกอบวีรกรรมหาญกล้า จนได้รับความดีความชอบเป็นถึงเจ้าพระยา และอยู่รับราชการ สนองพระเดชพระคุณถวายสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ จนกระทั่งปิดฉากชีวิตลง ก่อนสิ้นรัชกาลเพียงไม่กี่ปี

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวในพระราชพงศาวดารอันเป็นที่รับรู้กันทั่วไป แต่การได้อ่านประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารเสียบ้าง ก็น่าจะทําให้ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์รู้สึกแช่มชื่นหัวใจ และกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

คําให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง, คณะกรรมการชําระประวัติศาสตร์ สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” กรุงเทพฯ : มติชน, 2549

ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์, กรมศิลปากรจัดพิมพ์, 2545. ประชุมพงศาวสาร เล่ม 22 (ภาคที่ 36 ต่อ, ภาคที่ 37), กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2511

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, กรมศิลปากรจัดพิมพ์, 2546.

มานพ ถาวรวัฒน์กุล, “ขุนนางอยุธยา” กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.

ศิริวัฒนอาณาทร (ผล ศิริวัฒนกุล), ขุน. “เชื้อสายพระมหาราชศรูศิริวัฒน” พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสาว พร้อม ศิริวัฒนกุล ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส, 3 ธันวาคม 2509

สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, แผนที่พระนครศรีอยุธยา, ใน “อาษา 3″ 09.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2562