เผยแพร่ |
---|
เมื่อประเทศไทยรับพระพุทธศาสนามาจากลังกาแล้ว ก็ได้มีการจัดการปกครองคณะสงฆ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีการพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะแก่ยุคสมัยตลอดมา ในสมัยสุโขทัยมีกล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคําแหงว่า “มีสังฆราช มีปู่ครู” จึงสันนิษฐานได้ว่าสังฆราชคงเป็นตําแหน่งสังฆนายกหรือประธานสงฆ์ชั้นสูงสุด ส่วนปู่ครูคือตําแหน่งสังฆนายกชั้นรองลงมา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า ในสมัยนั้นคงมีสังฆราชหลายองค์ เมืองใหญ่เมืองหนึ่งน่าจะมีพระสังฆราชองค์หนึ่ง เนื่องจากในทําเนียบสมณศักดิ์สมัยหลังยังเรียกเจ้าคณะเมือง ว่าสังฆราชาเป็นเค้าเงื่อนอยู่
ส่วนในพงศาวดารเหนือกล่าวถึงการปกครองคณะสงฆ์สมัยสุโขทัยว่าแบ่งเป็นฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย พระสังฆราชาเป็นประธานสงฆ์ฝ่ายขวา อยู่วัดมหาธาตุ พระครูธรรมราชา เป็นประธานสงฆ์ฝ่ายซ้าย อยู่วัดไตรภูมิป่าแก้ว รองลงมาเป็นพระครู มีราชทินนามต่างๆ กัน ได้แก่ พระครูธรรมไตรโลก พระครูยาโชค พระครูธรรมเสนา ฝ่ายขวา พระครูญาณไตรโลก พระครูญาณสิทธิ์ ฝ่ายซ้าย จะเห็นได้ว่าเนื่องจากไทยรับพระพุทธศาสนามาจากลังกา จึงได้รับประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งราชทินนามพระราชทานเป็น สมณศักดิ์ของลังกามาด้วย
นอกจากนี้ ในสมัยสุโขทัยยังได้แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นคณะคามวาสี คือพระภิกษุสงฆ์ ที่เล่าเรียนคันถธุระ อยู่ตามอารามในบ้านเมือง และคณะอรัญวาสี คือพระภิกษุสงฆ์ที่ เล่าเรียนวิปัสสนาธุระ อยู่ตามป่าเขาอันเป็นที่สงบสงัด ดังปรากฎหลักฐานจากโบราณสถาน สมัยสุโขทัยที่มีวัดนอกเมืองในพื้นที่ที่เรียกว่า เขตอรัญญิก เป็นที่พํานักและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของพระภิกษุอรัญวาสีดังกล่าว คณะฝ่ายขวาและคณะฝ่ายซ้ายก็น่าจะหมายถึง คณะคามวาสี และอรัญวาสี
สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า คําว่า “ป่าแก้ว” ที่ต่อท้าย ชื่อวัดไตรภูมิป่าแก้วน่าจะเป็นส่วนที่เติมเข้าไปภายหลัง และทรงสรุปไว้ในตํานานคณะสงฆ์ ว่า “คําว่า ป่าแก้ว เป็นภาษาไทยแปลมาจากคํา วันรัตน ภาษามคธเป็นแน่ไม่มีที่สงสัย” เพราะปรากฏในเอกสาร พงศาวดารโยนก ว่า
เมื่อราวปีขาล จุลศักราช 784 พ.ศ. 1965 รัชกาลของสมเด็จพระนครอินทราธิราช ทรงครองกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1952-1967) ตรงกับรัชกาลพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 6 ทรงครองลังกาทวีป (พ.ศ. 1955-2010) นั้น มีพระมหาเถระที่เป็นพหูสูตผู้รู้ปริยัติจากเมืองเชียงใหม่ 7 รูป คือ พระมหาธรรมคัมภีร์ 1 พระมหาเมธังกร 1 พระมหาญาณมังคล 1 พระมหาสุลวงศ์ 1 พระมหาสารีบุตร 1 พระมหารัตนากร 1 พระมหาพุทธสาคร 1 ได้ชักชวนพระสงฆ์อื่นๆ อีก 18 รูป รวมเป็น 25 รูป พร้อมกับพระสงฆ์เขมรอีก 8 รูป มีพระมหาญาณสิทธิ เป็นต้น รวมเป็น 33 รูป กับทายกผู้มีศรัทธาได้จ้างเรือโดยสารพากันไปยังเกาะลังกา ใน พ.ศ. 1967
พระเถระเหล่านั้น “ได้ไปอุปสมบทแปลงใหม่ ณ อุทกสีมาเรือขนานในแม่น้ำกัลยาณี ที่ท่าชื่อว่า ยาปาปัฏฏะนะ ในท่ามกลางคณะสงฆ์ 20 รูป มีพระธรรมาจริยาเถรเป็นพระอุปัชฌาย์ พระวันรัตนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในวันเสาร์ เดือน 8 ทุติยาสาฒ ขึ้น 12 ค่ำ จุลศักราช 786ปีมะโรง ฉศก”
เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในลังกาหลายปี จึงโดยสารมากับสําเภากรุงศรีอยุธยาที่พระพรหมมุนีเถรและพระโสมเถรออกไปลังกากลับมา และได้นิมนต์ พระมหาเถระชาวลังกามาด้วย 2 รูป คือ พระมหาวิกรมพาหุ 1 พระอุดมปัญญา 1 มาขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาก่อน แล้วแยกย้ายกันไปตั้งนิกายลังกาขึ้นใหม่อีกนิกายหนึ่ง น่าจะเรียกกันว่าคณะ “ป่าแก้ว” ส่วนการอุปสมบท ณ อุทกุกเขปสีมาในแม่น้ำกัลยาณีนั้น ในหนังสือตํานานบางเรื่องก็กล่าวว่า พระวันรัตนเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระเถระชื่อ ราหุภัททะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระภิกษุไทยที่ไปบวชแปลงกับพระวันรัตนมหาสามิ ณ อุทกุกเขปสีมา ในแม่น้ำหน้าวัดกัลยาณี เกาะลังกา แล้วกลับมาเผยแผ่ลัทธิและระเบียบแบบแผนขึ้นในประเทศไทยนั้น คงจะมีปฏิปทาก่อให้เกิดความนิยมเลื่อมใสจากประชาชนและพระมหากษัตริย์ อีกทั้งคงจะมีกุลบุตรชาวไทยเข้าบวชเป็นศิษย์ของพระสงฆ์ฝ่ายนี้จํานวนมาก จนเกิดเป็นคณะสงฆ์หมู่ใหญ่ที่มีความสําคัญขึ้นอีกคณะหนึ่ง เรียกว่าคณะ “ป่าแก้ว” แล้ว นําเอาคําว่า “ป่าแก้ว” ไปต่อท้ายชื่อวัดที่พระคณะนั้นอยู่จําพรรษา เช่น วัดไตรภูมิป่าแก้ว แม้แต่วัดป่ามะม่วงที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงสร้างถวายพระมหาสามิสังฆราช ก็มีระบุในพงศาวดารโยนกว่า “ภายหลังเรียกว่า วัดป่าแก้ว” หมายความว่า “วัด (ของพระภิกษุสงฆ์คณะ) ป่าแก้ว” คือแปลชื่อ “วนรตน” มาเป็นคําไทยง่ายๆ ว่า “ป่าแก้ว”
สมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตน สมเด็จพระวันรัตนหรือสมเด็จพระวันรัตในประเทศไทย ก็คงเป็นนามที่ตั้งตามสมณศักดิ์ของลังกา ในเอกสารของไทยปรากฏนามพระพนรัตน หรือ พระวันรัตเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช กล่าวถึง “พระพนรัตนป่าแก้ว” ว่าเป็นผู้ให้ฤกษ์พระศรีศิลป์คิดการกบฎ
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว มีบทบาทสําคัญกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารฯ ว่า เป็นผู้ทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่แม่ทัพนายกองที่โดยเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถไม่ทันจนทําให้ทั้งสองพระองค์ต้องตกอยู่ตามลําพังท่ามกลางข้าศึก พระราชพงศาวดารฉบับ พระราชหัตถเลขา เล่ม 1 กล่าวถึงความตอนนี้ไว้ ดังนี้
“ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม 15 ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว และพระราชาคณะยี่สิบห้ารูป ก็เข้ามาถวายพระพร ถามข่าวซึ่งเสด็จงานพระราชสงคราม ได้กระทํายุทธหัตถีมีชัย แก่พระมหาอุปราชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็แถลงการซึ่งปราบ ปัจจามิตรให้ฟังทุกประการ สมเด็จพระพนรัตนจึงถวายพระพรถามว่า พระราชสมภารมีชัยแก่ข้าศึกเหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องราชทัณฑ์เล่า
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสบอกว่า นายทัพนายกองเหล่านี้อยู่ในกระบวนทัพโยม มันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางศึก จนได้ทํายุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา มีชัยชนะแล้วจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากว่าบารมี ของโยม หาไม่แผ่นดินจะเป็นของชาวหงสาวดีเสียแล้ว เพราะเหตุดังนี้โยมจึงให้ลงโทษโดยพระอัยการศึก
……………….
พระราชสมภารอย่าทรงพระราชปริวิตกน้อยพระทัยเลย อันเหตุที่เป็นนี้เพื่อเทพยเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์จักสําแดงพระเกียรติยศ ดุจอาตมภาพถวายพระพรเป็นแท้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตนถวายวิสัชนา กว้างขวาง ออกพระนามสมเด็จพระอัครโมลีโลกครั้งนั้น ระลึกถึงพระคุณนามอันยิ่ง ก็ทรงพระปิติโสมนัสพื้นเต็มพระกมลหฤทัย ปราโมทย์ ยกพระกรประนมเหนือพระอุตมางคศิโรตม์นมัสการ แย้มพระโอษฐ์ว่า สาธุ สาธุ พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา
สมเด็จพระพนรัตนเห็นว่าพระมหากษัตริย์คลายพระโกรธแล้ว จึงถวายพระพรว่า อาตมภาพพระราชาคณะทั้งปวงเห็นว่า ข้าราชการซึ่งเป็นโทษเหล่านี้ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้ทําราชการมาแต่ ครั้งสมเด็จพระบรมราชอัยกา และสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และทําราชการมาให้ละอองธุลีพระบาทของพระราชสมภารเจ้าแต่เดิมมา ดุจพุทธบริษัทสมเด็จพระบรมครูก็เหมือนกัน ขอพระราชทานบิณฑบาตโทษคนเหล่านี้ไว้ครั้งหนึ่งเถิด จะได้ทําราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าพระผู้เป็นเจ้า ขอแล้วโยมก็จะให้ แต่ทว่าจะให้ไปตีเอาเมืองตะนาวศรี เมืองทวาย แก้ตัวก่อน…”
วัดป่าแก้วที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารฯ นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า คือวัดเจ้าพญาไท ที่เรียกในปัจจุบันว่า วัดใหญ่ไชยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตนนั้น ในสมัยธนบุรีคงดําเนิน ตามทําเนียบคณะสงฆ์ในสมัยอยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ปรากฎหลักฐาน ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนา สมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพนฯ แต่นั้นมาพระมหาเถระผู้ทรงสมณศักดิ์นี้จึงมีนามว่า สมเด็จพระพนรัตน และในหลายๆ กรณีเมื่อตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกว่างลง พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระมหาเถระผู้ทรง สมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตนขึ้นดํารงตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสืบต่อ เสมือนเป็นประเพณีว่าพระมหาเถระผู้ดํารงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตน มีตําแหน่งรองจากสมเด็จพระสังฆราช หรือ สมเด็จพระสังฆราชฝ่ายซ้าย หรือเทียบเท่า
ดังจะเห็นได้จากประวัติสมเด็จพระพนรัตน ซึ่งกล่าวมาข้างต้น และปรากฏในจารึกภาษา มคธบนแผ่นศิลาประดับพระปรางค์บรรจุอัฐิของสมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่ 1 ว่า “วนรตนเถรสฺส วามสฺส สงฺฆราชิโน-แห่งสมเด็จพระพนรัตน ผู้เป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้าย” แต่ได้ทรงเลิกประเพณีนี้ไปเสียระยะหนึ่งตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมื่อทรงสถาปนาพระมหาเถระที่เป็นพระราชวงศ์ขึ้นเป็นประมุขสงฆ์ทําหน้าที่สกลมหาสังฆปริณายก
ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ 8 จึง ทรงสถาปนาสมเด็จพระวันรัต (แพ ติสสเทโว) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชตามประเพณีเดิมอีก พระมหาเถระผู้ทรงสมณศักดิ์ ในสมัยรัตนโกสินทร์มีพระมหาเถระที่ดำรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระวันรัตมาแล้ว 24 องค์ องค์ล่าสุดคือ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุคฺโต) (17 กันยายน 2479-15 กุมภาพันธ์ 2565) มีสมเด็จพระวันรัต 7 องค์ที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัตนี้ สมเด็จฯ กรมพระยา ดํารงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ใน ตํานานคณะสงฆ์ ระบุว่าสมเด็จ พระสังฆราช (สา ปุสสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เคยอธิบายถวายพระองค์ไว้ว่า “นามวันรัต แปลว่า ผู้ยินดีอยู่ในป่า” แต่จากหลักฐานที่กล่าวถึงในสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นต้นมา สะกดคําแตกต่างกันคือ สมเด็จพระพนรัตน สมเด็จ พระวันรัตน และสมเด็จพระวันรัต
หมายเหตุ บทความนี้คัดย่อจาก “ความเป็นของสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต”ใน, สมเด็จพระวันรัตสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ระลึกในการบำเพ็ญกุศลฉลอายุ 75 ปี สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุคฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร วันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2554, คณะกรรมการโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์ถวาย
เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2565