ทำไม “อัลเฟรด ไฮเนเก้น” ผู้บริหารบ.เครื่องดื่มดัง ผุดไอเดียใช้ “ขวดทรงสี่เหลี่ยม”

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพกระบวนการผลิตเครื่องดื่มจากดัตช์ ในไลน์การผลิตโรงงานที่ฝรั่งเศสเมื่อมิถุนายน 2011 ภาพจาก PATRICK HERTZOG / AFP

วัฒนธรรมอาหารคือสิ่งที่บ่งบอกวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ แง่มุมต่างๆ ได้หลากหลาย บรรดาอาหารของมนุษย์มี “เครื่องดื่ม” ชนิดต่างๆ มากมาย ชนิดที่ได้รับความนิยมตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน เบียร์คือสิ่งที่ติดอันดับด้วยอย่างแน่นอน

เส้นทางความเป็นมาของเบียร์ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคการเพาะปลูก จนมาถึงยุคการค้า Tom Standage ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาตร์โลกใน 6 แก้ว” อธิบายไว้ว่า การเพาะปลูกธัญพืชที่ให้เมล็ดเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในตะวันออกกลางเมื่อราวหมื่นปีที่แล้ว ตามมาด้วยกําเนิดของเบียร์แบบง่ายๆ

อีก 5,000 ปีต่อมา อารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ปรากฏขึ้นในเขตเมโสโปเตเมียและอียิปต์ สองวัฒนธรรมซึ่งพัฒนาคู่ขนานกันมีรากฐานอยู่บนผลิตผลเมล็ดพืชส่วนเกิน อันเป็นผลจากการทําเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นระบบผลผลิตส่วนเกิน ช่วยให้ประชากรมีอาหารกินโดยไม่ต้องทํางานในไร่นา ได้เข้าไปเป็นนักบวช นักบริหาร อาลักษณ์ และนายช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

Tom Standage อธิบายเสริมว่า เมื่อธัญพืชคือพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ ค่าจ้างและการปันส่วนก็ถูกจ่ายในรูปแบบของขนมปังและเบียร์ เครื่องดื่มอย่างเบียร์ยังบริโภคกันอยู่ในหมู่ผู้พํานักอาศัยในเมืองแห่งแรกและผู้ประพันธ์เอกสารชิ้นแรกด้วย

เมื่อมาถึงศตวรรษที่ 19-20 อุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลก ปรากฏผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มอันเก่าแก่หลายแห่งกระจายตามประเทศต่างๆ และชื่อนักธุรกิจในยุคการผลิตเบียร์เพื่อจำหน่ายในตลาดที่คุ้นหูมากที่สุดหนีไม่พ้น “เจราร์ด เอเดรียน ไฮเนเก้น” (Gerard Adriaan Heineken) ผู้เริ่มต้นใช้ชื่อของตัวเองในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มช่วงกลางศตวรรษที่ 19

เจราร์ด ไฮเนเก้น ถือกำเนิดในครอบครัวพ่อค้าในอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เมื่อปีค.ศ. 1841 ข้อมูลจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลกให้ข้อมูลไว้ว่า ในปี ค.ศ. 1864 เจราร์ด ไฮเนเก้น เข้าเทคโอเวอร์โรงงานหมักชื่อ “เฮย์สแต็ก” (Haystack หรือ De Hooiberg) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางอัมสเตอร์ดัม และเริ่มสนใจในการผลิตเบียร์ชั้นพรีเมียม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์เครื่องดื่มระดับนานาชาติที่มีความเป็นมายาวนานจนถึงวันนี้

ในเว็บไซต์ของบริษัทยังกล่าวอ้างว่า เจราร์ด ไฮเนเก้น เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการผลิตที่ใช้แล็บควบคุมคุณภาพเป็นครั้งแรกในโลก

ในปี ค.ศ. 1873 เจราร์ด ไฮเนเก้น เริ่มตั้งโรงหมักของครอบครัวใจกลางอัมสเตอร์ดัม หลังจากนั้น เขากลายเป็นผู้ส่งออกไปฝรั่งเศสรายใหญ่ที่สุด เมื่อมาถึงปี 1890 บริษัทของเจราร์ด ไฮเนเก้น ได้สิทธิป้อนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของบริษัทให้กับร้านอาหารที่หอไอเฟล และเริ่มขยายการส่งออกไปอีกหลายประเทศในเวลาต่อมา

ภายหลังจากอัลเฟรด ไฮเนเก้น (Alfred Heineken) หลานชายของผู้ก่อตั้งเข้ามาทำงานในบริษัทเมื่อปี 1942 ในยุคนี้เอง แบรนด์เกิดเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจากลักษณะการทำงานของอัลเฟรด ที่มีแนวคิดทางการตลาดและการออกแบบเข้ามาผสมผสาน

ในปี 1960 อัลเฟรด ไฮเนเก้น เดินทางไปในพื้นที่ของเกาะกือราเซา (Curacoa) ซึ่งตั้งอยู่ในแถบทะเลคาริบเบียน เขากลับพบว่า ตามชายหาดมักมีขวดเครื่องดื่มจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทถูกทิ้งเรี่ยราดตามทาง นั่นทำให้อัลเฟรด คิดว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทสร้างขยะเหลือใช้จำนวนมากอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากในแถบพื้นที่นั้นยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลของเหลือใช้ที่ดีเพียงพอ

ขณะเดียวกัน เขายังพบว่า พื้นที่แถบนั้นเป็นชุมชนและสังคมที่อยู่ในสภาพแร้นแค้น ขาดแคลนทรัพยากรสำหรับสร้างสิ่งปลูกสร้างประเภทต่างๆ ที่มีคุณภาพ เล่ากันว่า อัลเฟรด ไฮเนเก้น ปิ๊งไอเดียที่จะช่วยแก้ปมทั้งสองอย่างได้ด้วยการใช้ “บรรจุภัณฑ์” เครื่องดื่มที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยม

บรรจุภัณฑ์ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉากของบริษัทได้นักออกแบบระดับสถาปนิกมาช่วยออกแบบให้ “ขวด” ทรงสี่เหลี่ยมจะถูกใช้ใน 2 ลักษณะคือเป็นทั้งบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม และเมื่อบริโภคแล้ว บรรจุภัณฑ์สามารถนำมาใช้ในลักษณะแบบ “อิฐ” ได้

บรรจุภัณฑ์ในครั้งนั้นจะถูกออกแบบให้ด้านยาวมีส่วนพื้นผิวที่สามารถเกาะติดเชื่อมต่อกันได้เมื่อวางติดกันเพื่อให้ใช้งานแบบนำมาซ้อนกันและใช้ซีเมนต์หรือปูนโบกเข้าไป

ด้วยข้อจำกัดด้านขนาดของมันเมื่อคำนวณเปรียบเทียบแล้ว หากต้องการนำมาเป็นวัสดุสำหรับก่อสร้างกระท่อมที่พักขนาด 10×10 ฟุต จะต้องใช้ขวดทั้งหมด 1,000 ขวด ภายหลังการออกแบบยังมีการพัฒนาต่อยอดไปเป็นโมเดลเวอร์ชั่นอื่นอีก

อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบด้วยไอเดียเพื่อการหมุนเวียนและลดปริมาณสิ่งเหลือใช้ในระบบยุคแรกๆ ไม่่ได้ถูกนำมาวางจำหน่ายในตลาดทั่วไป นอกเหนือจากแค่นำมาใช้สร้างเป็นบ้านต้นแบบใกล้กับที่พักอาศัยของอัลเฟรด ไฮเนเก้น เมื่อปี 1965

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ที่มาที่ไปของเบียร์-สุราในไทย อันไหนมาก่อน แล้วยุคแรก ขายขวดละกี่บาท?

คลิกอ่านเพิ่มเติม : แรกเริ่ม “เหล้าฝรั่ง” บุกในไทย มีครบ เบียร์-ไวน์-บรั่นดี ฯลฯ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดชีวิต ประจวบ ภิรมย์ภักดี นักปรุงเบียร์คนแรกของไทย ผู้สืบทอดตํานาน “ตราสิงห์”


อ้างอิง:

Tom Standage (เขียน), คุณากร วาณิชย์วิณุฬห์ (แปล). ประวัติศาตร์โลกใน 6 แก้ว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2549 อ้างถึงใน “เบียร์-ไวน์-เหล้า-กาแฟ-ชา-โคลา: เครื่องดื่มเล่าประวัติศาสตร์”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 4 มีนาคม 2562. เข้าถึงเมื่อ 17 มิถุนายน 2564. <https://www.silpa-mag.com/history/article_28774>

Smith, K. Annabelle. “When Heineken Bottles Were Square”. Smithsonian Magazine. Online. Published 15 MAY 2013. Access 17 JUN 2021. <https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/when-heineken-bottles-were-square-62138490/>

The Heineken Story. Heineken. Online. Access 17 JUN 2021. <https://www.heineken.com/global/en/history>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2564