ผ่าปม “พระยาแกรก” กษัตริย์ในตำนาน ทำพระเจ้าแผ่นดินวิตกจนสั่งกำจัดคนท้อง-ทารกทุกแห่ง

ภาพประกอบเนื้อหา - ชาวกรุงศรีอยุธยาต่อสู้กับทหารพม่าที่เข้ามาปล้นฆ่า (ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)

ตำนานปรัมปราอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มายาวนาน ชนชาติต่างๆ มักมีตำนานปรัมปราของตัวเองซึ่งแต่ละเรื่องย่อมไม่ใช่เป็นเพียงข้อมูลเท่านั้น ตำนานปรัมปราเป็นสิ่งสะท้อนสภาพสังคม วัฒนธรรม และอีกหลายประการ สำหรับในไทยแล้ว มีตำนานปรัมปราที่น่าสนใจมากมาย เรื่องหนึ่งที่อาจไม่ค่อยถูกหยิบยกมาเอ่ยถึงมากนักคือเรื่องราวของ “พระยาแกรก”

เอกสารที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระยาแกรกปรากฏให้เห็นหลายชิ้นในไทย อาทิ “พงศาวดารเหนือ” เอกสารที่ตกทอดมาจากสมัยอยุธยา เป็นหนังสือที่รวมเรื่องตำนานปรัมปราในลักษณะเรื่องเล่าต่อกันมาและได้จดบันทึกไว้ มีบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องในหลายสมัย ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์บางรายเชื่อว่ามีผู้นำมาปะติดปะต่อกันในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1

พงศาวดารเหนือ

เนื้อหาใน “พงศาวดารเหนือ” มีเอ่ยถึง “พระยาแกรก” เอาไว้ เนื้อหาผสมผสานเจือปนเรื่องแบบอภินิหาร ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์บางท่านใช้คำอธิบายว่าเป็นเรื่องที่ออกจะพิลึกพิลั่นเสียด้วยซ้ำ

พระยาแกรกที่ปรากฏใน “พงศาวดารเหนือ” เริ่มจากเรื่องว่า พระยาโคดมครองราชสมบัติที่ “วัดเดิม” ได้ 30 ปี ก็สวรรคต พระราชโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่า พระยาโคตรตะบอง ครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา เนื้อหาต่อมาใน “พงศาวดารเหนือ” มีว่า

“อยู่มาโหราทำฎีกาถวาย ทำนายว่าผู้มีบุญจะมาเกิดในเมืองนี้ พระยาโคตรตะบองจึงสั่งให้จับหญิงมีครรภ์มาฆ่าเสียทั่วขอบเขตทุกแห่ง

ครั้นมานาน โหรากราบทูลว่าผู้มีบุญเกิดแล้ว พระยาโคตรตะบองสั่งให้ป่าวร้องเอาทารกมาคลอกเสียให้สิ้น แต่ทารกผู้นั้นไฟคลอกไม่พอง ด้วยเทวดารักษาอยู่จึงมิตาย ครั้นเพลาเช้าสมณะไปบิณฑบาต พบทารก เอามาเลี้ยงไว้

ครั้นอยู่นานมา ราษฎรมาป่าวร้องกันว่าโหรทูลว่าผู้มีบุญจะมา ก็ตื่นกันเป็นโกลาหลจะไปดูผู้มีบุญ พระยาโคตรตะบองจึงตรัสแก่เสนาบดีว่า ถ้าเดินมาจะสู้ ถ้าเหาะมาจะหนี ชาวเมืองชวนกันไปดูผู้มีบุญ

ทารกที่เพลิงคลอกนั้นอยู่วัดโพธิ์ผีไห้ อายุได้ 17 ปี ก็ถัดไปดูผู้มีบุญ

สมเด็จอำมรินทราแปลงตัวลงมาเป็นคนชรา จูงม้ามาถึงที่ทารกผู้นั้นอยู่ จึงถามทารกว่าจะไปไหน ทารกตอบว่าจะไปดูผู้มีบุญ เจ้าของม้าจึงว่าจะถัดไปเมื่อไรจะถึง ฝากม้าไว้ด้วยเถิดจะมาเล่าให้ฟัง ทารกก็รับเอาม้าไว้ เจ้าของม้าจึงว่า ถ้าอยากข้าว เอาข้าวของเราในแฟ้มกินเถิด อนุญาตให้แล้ว เจ้าของม้าก็ไป

แต่ทารกคอยนานอยู่แล้ว หารู้ว่าตัวเป็นผู้มีบุญไม่ จึงเปิดแฟ้มดู เห็นของกินแล้วก็หยิบกินเข้าไป ด้วยเป็นเครื่องทิพย์ก็มีกำลังขึ้น จึงเห็นน้ำมันในขวด ก็เอาทาตัวเข้า แขนขาที่ไฟคลอกงออยู่นั้นก็เหยียดออกได้หมด หายบาดแผลสิ้น จึงแลเห็นเครื่องกกุธภัณฑ์ ก็คิดในใจว่ากูนี้ผู้มีบุญหรือ เอาเครื่องกกุธภัณฑ์ใส่เข้าเผ่นขึ้นหลังม้า ม้าก็เหาะมา

พอถึงที่พระตำหนัก พระยาโคตรตะบองแลเห็นก็หวาดหวั่นไหวตกใจ จึงหยิบตะบองขว้างไป หาถูกพระองค์ไม่ ไปตกลงเมืองล้านช้าง พระยาโคตรตะบองก็หนี

พระยาแกรกครองราชสมบัติ ชะพ่อพราหมณ์ถวายพระนามชื่อพระเจ้าสินธพ อำมรินทร์ ราษฎรเป็นสุขยิ่งนัก”

เรื่องราวยังมีต่ออีกว่า

“พระยาโคตรตะบองตามตะบองไปเมืองล้านช้าง เจ้าเมืองสัจจนาหะกลัวบุญญาธิการพระยาโคตรตะบอง จึงยกพระราชบุตรีให้เป็นอัครมเหสี

เจ้าเมืองสัจจนาหะรำพึงคิดแต่ในพระทัย ว่าที่ไหนคงจะคิดขบถต่อกูเป็นมั่นคง จะจับฆ่าเสีย มารำพึงคิดแต่ในใจว่าทำไฉนจะรู้แยบคาย จึงให้ไปหาลูกสาวมา ให้ลอบถามดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะตาย

นางก็รับคำพระราชบิดาแล้ว ก็กลับมาอ้อนวอนพระราชสามีว่าพระองค์ก็ทรงมหิทธิฤทธิ์ล้ำเลิศไม่มีผู้ใดจะเสมอ ทำไมพระองค์จึงจะตาย แต่นางร่ำไรอ้อนวอนเป็นหลายครั้ง

พระยาโคตรตะบองจึงบอกว่า อันตัวเรานี้มีกำลัง หามีผู้ใดจะอาจเข้ามาทำร้ายเราได้ จะฆ่าด้วยอาวุธอันใดมิได้ตาย ถ้าเอาไม้เสียบทวารหนักจึงจะตาย

นางปลอบประโลมถามได้ความดังนั้นแล้ว จึงบอกแก่พระราชบิดาๆ ได้ฟังดังนั้นดีพระทัยนัก จึงคิดแก่เสนาบดีทำการจับหลักไว้ที่พระบังคน เอาหอกขัดเข้าไว้ทำสายใย ครั้นพระยาโคตรตะบองเข้าที่พระบังคน อุจจาระตกลงไปถูกสายใยเข้า หอกก็ลั่นขึ้นมาสวนทวารเข้าไป

พระยาโคตรตะบองมานึกแต่ในใจว่าเสียรู้ด้วยสตรี จะอยู่ทำไมในเมืองนี้ จะกลับลงไปในแดนเมืองเราเถิด พระองค์ดำริดังนั้นก็หนีไป พอเข้าแดนกรุงพระนครแล้ว ก็ข้ามไปถึงที่นั้นก็สิ้นพระชนม์ลง”

ในส่วนเนื้อหาของพระยาแกรกต่อมานั้น “พงศาวดารเหนือ” เล่าไว้ว่า

“ครั้นสิ้นบุญพระยาแกรกแล้ว ก็ถอยลงมาถึงสามชั่วพระยาแล้วยังแต่ผู้หญิงอันสืบตระกูล และเศรษฐีทั้ง2 คือโชดกเศรษฐีและกาลเศรษฐี ๆ ทั้ง 2 คนนี้คิดอ่านด้วยกัน แล้วจึงเอาท้าวอู่ทอง ลูกโชดกเศรษฐี ประสมด้วยกันกับพระราชธิดา ให้ครองเมืองนั้น ได้ 7 ปี ห่าลงเมือง

โคกระบือช้างม้าตาย และคนทั้งหลายก็ตายพิปริตหนักหนา อำมาตย์จึงทูลแก่ท้าวอู่ทองว่า ไพร่พลเมืองตายเป็นอันมาก พระองค์จึงให้ยกพลช้างม้าออกจากพระนคร…ไปข้างทักษิณได้ 15 วัน จึงถึงแม่น้ำอันหนึ่ง แลเห็นเกาะอันหนึ่งปริมณฑลงาม…พระยาเสด็จไปเลียบดูที่จะตั้งพระราชวังและเรือนหลวง และตั้งกำแพงและค่ายคูไปรอบเมือง…ท้าวอู่ทองก็ครองเมืองศรีอโยธยาเป็นสุข”

ในที่นี้จะไม่ได้พูดถึงกรณีท้าวอู่ทอง จึงกลับมาที่ประเด็นพระยาแกรกกันอีกครั้ง ตามความคิดเห็นของสุจิตต์ วงษ์เทศ ในบทความ “‘พระยาแกรก’ สัญลักษณ์พุทธเถรวาท ขัดแย้งพราหมณ์และมหายาน” วิเคราะห์ไว้ว่า ตํานานเรื่องพระยาแกรก มีสัญลักษณ์บุคคล 2 กลุ่ม คือ พระยาโคตรตะบอง กับพระยาแกรก

พระยาโคตรตะบอง

สุจิตต์ วงษ์เทศ มองว่า พระยาโคตรตะบอง คือสัญลักษณ์ของขอม ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายานที่มีมาก่อน ตั้งแต่ประมาณหลัง พ.ศ.1600 มีภาพสลักขบวนแห่ของพล (เมือง) ละโว้บนปราสาทนครวัดเป็นพยาน

โดยตำนานที่เล่าว่าพระยาโคตรตะบองเป็นพระราชาครองสมบัติอยู่ “เมืองแห่งหนึ่งที่วัดเดิม ริมเกาะหนองโสน” หมายถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพ (ปัจจุบันคือบริเวณฟากตะวันออกของอยุธยา) ซึ่งเป็นเมืองมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา

วัดเดิม คือวัดอโยธยาทุกวันนี้ อยู่บริเวณฟากตะวันออกของอยุธยา

เกาะหนองโสน คือ เกาะเมืองอยุธยาที่มีบึงพระรามอยู่ตรงกลาง แต่เอกสารโบราณเรียกอีกชื่อว่าหนองโสน เพราะมีต้นโสนขึ้นหนาแน่น

พระยาแกรก

ส่วน พระยาแกรก เป็นสัญลักษณ์ของผู้นับถือศาสนาพุทธเถรวาทจากลังกาที่แผ่เข้ามาใหม่ จากนั้นจึงปะทะขัดแย้งจนมีอำนาจเหนือพราหมณ์กับพุทธมหายานที่มีมาก่อน

สุจิตต์ วงษ์เทศ ยังอธิบายว่า ตำนานเล่าว่าพระยาแกรกเป็นคนพิกลพิการ เดินไม่ได้ ต้องนั่งถัดไปกับพื้นมีเสียงดังแกรกๆ เพราะเมื่อเป็นทารกถูกไฟคลอก แต่เป็นผู้มีบุญไม่ถึงตาย มีเทวดารักษาและมีสมณะเลี้ยงไว้

นอกจากนี้ ตํานานพระยาแกรกใน “พงศาวดารเหนือ” สุจิตต์ วงษ์เทศ พบว่า มีเนื้อความหลักตรงกันจนเป็นเรื่องเดียวกันกับตำนานพระยาแกรก ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ทำให้สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งข้อสังเกตว่า

“…วรรณกรรมเรื่องนี้มีอยู่ในความทรงจำของคนทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อโยธยา-ละโว้) ในไทยกับคนทางโตนเลสาบ (ทะเลสาบ) ในกัมพูชา ซึ่งดั้งเดิมเป็นเครือญาติใกล้ชิด หรือเป็นขอมกลุ่มเดียวกันมาก่อน

ในที่สุดพระราชาของรัฐในกัมพูชาก็เปลี่ยนไปรับศาสนาพุทธเถรวาทจากลังกาอย่างเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน หรือไล่เลี่ยกันกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม-คำให้การชาวกรุงเก่า

เอกสาร “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ที่ปรากฏเรื่อง “พระยาแกรก” เป็นส่วนหนึ่งของ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ในส่วนของการพรรณนาภูมิสัณฐานของพระนคร และการพระราชพิธีต่าง ๆ ความตอนหนึ่งที่เอ่ยถึงพิธีถือน้ำ ระบุว่า

“…แล้วถวายบังคมสามครา แล้วเอางามสามลา จึ่งจับเชิญพระแสง 12 องค์ คือพระแสงขรรค์ไชยศรีองค์ 1 เปนพระยาแสงของพระยาแกรก สืบต่อมาในกรุง…”

ใน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ช่วงเนื้อหาที่เล่าถึงศึกกลางเมือง ฝ่ายหนึ่งเป็นราชโอรสพี่น้องซึ่งต่างเป็นโอรสของสมเด็จพระภูมินทรราชา กับพระมหาอุปราชซึ่งเป็นอาของเจ้าฟ้าชายทั้งสององค์ เนื้อหาส่วนนี้เอ่ยถึง “พระขรรค์ไชยศรีของพระยาแกรก” ด้วยว่า

“องค์เจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศรนั้น…ลงเรือลำหนึ่งแจวพายหนีไป จึ่งเอาพระธำมรงค์กับพระขรรค์ไชยศรีนั้นทิ้งเสียที่ในแม่น้ำใหญ่ ตรงหน้าตลาดหัวแหลม…พระขรรค์องค์นี้ของพระยาแกรกก็มาสูญเสียด้วยพี่น้องสองกุมาร อันมงกุฎพระยาแกรกนั้นยังอยู่จนเสียกรุง”

ส่วนใน “คำให้การชาวกรุงเก่า” กล่าวถึงพระยาแกรกว่า ครองราชสมบัติต่อจากพระยาโคตรตะบอง แต่พระยาแกรกเป็นผู้ตั้งราชวงศ์ใหม่ เพราะไม่ได้สืบเชื้อสายต่อจากพระยาโคตรตะบอง

ชัย เรืองศิลป์ ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยสมัยพ.ศ. 2352-2453 ด้านสังคม” ตั้งข้อสังเกตว่า จากการเอ่ยถึงพระขรรค์ของพระยาแกรกและในเวลาต่อมาที่พระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยาเทิดทูนคารวะพระแสงขรรค์ไชยศรีของพระองค์เป็นของศักดิ์สิทธิ์ย่อมแสดงให้เห็นถึงสถานะของพระยาแกรกได้ในทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ชัย เรืองศิลป์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า พระยาแกรกเป็นบุคคลร่วมสมัยกับพ่อขุนผาเมือง โดยพ่อขุนผาเมืองก็เป็นเจ้าของพระแสงขรรค์ไชยศรีเช่นกัน ตามที่ศิลาจารึกหลักที่ 2 ระบุว่า กษัตริย์กัมพูชามอบพระขรรค์ไชยศรีแก่พ่อขุนผาเมือง และเชื่อว่าพระยาแกรกได้รับแจกพระขรรค์ไชยศรีจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ทั้งนี้ ตามความคิดเห็นของชัย เรืองศิลป์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างพระแสงขรรค์ไชยศรีหลายเล่มและนำมาแจกเจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองต่างๆ เพื่อแสดงศักดานุภาพของพระองค์

ขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ยังเล่าว่า คำบอกเล่าใน “คำให้การชาวกรุงเก่า” มีว่า พระพันวษาให้ขุนแผนผู้มีอาวุธวิเศษคือดาบฟ้าฟื้น เป็นแม่ทัพยกไปตีได้เมืองเชียงใหม่

“เมื่ออายุมาก ขุนแผนถวายดาบฟ้าฟื้น ฝ่ายพระพันวษารับไว้แล้ววางดาบฟ้าฟื้นของขุนแผนคู่กับพระขรรค์ชัยศรี (ของพระยาแกรก) ลาวปนเขมร”

เอกสารอื่น

พระยาแกรกยังมีชื่อปรากฏในจดหมายคราวเสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณบุรีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2451 ความว่า

“ในการพระราชพิธีอภิเษกต่างๆ ต้องใช้น้ำสี่สระนี้ พระเจ้าสินธพอมรินทร พระยาแกรก ราชาภิเษกกรุงละโว้ ประมาณ 1400 ปี ก็ว่าใช้น้ำสี่สระนี้ราชาภิเษก พระเจ้าอรุณมหาราชกรุงสุโขทัย จะทำการราชาภิเษกก็ต้องลงมาตีเมืองเหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจแล้วจึงตักน้ำไปราชาภิเษก จึงเป็นธรรมเนียมเจ้าแผ่นดินสยามทุกพระองค์สรงมุรธาภิเษกแรกเสวยราชย์ และตลอดมาด้วยน้ำสี่สระนี้ มีเลขประจำเฝ้าสระอย่างกวดขันเพราะเหตุที่มีพระเจ้าแผ่นดินเมืองใกล้เคียงมาลักตักน้ำไปกระทำอภิเษก จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ พระเจ้ากาวิโลรสเป็นพระเจ้าขึ้นใหม่ๆ ได้ให้มาลักน้ำสี่สระนี้ขึ้นไปกระทำอภิเษกเป็นข้อหนึ่งในคำที่ต้องหาว่าเป็นกบฏ”

“น้ำสี่สระ” ในเนื้อหาจดหมายข้างต้นหมายถึงสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แห่ง เมืองสุพรรณ คือ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา

พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ลงวันที่ 21 ตุลาคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ทรงเล่าว่ามีกษัตริย์หลายองค์ในตำนาน เชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสี่สระของเมืองสุพรรณไปทำพิธีราชาภิเษก ได้แก่

พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ กรุงกัมพูชา บางตำนานเรียก ท้าวพันชุม ตรงกับ ชัยวรมัน 7

พระเจ้าสินธพอำมรินทร์ กรุงละโว้-อโยธยา เดิมชื่อ แกรก หรือ พญาแกรก (พระยาแกรก)

พระร่วง กรุงสุโขทัย

พระเจ้ากาวิโลรส เมืองเชียงใหม่ ให้คนมาลักลอบตักน้ำไปทำพิธีกรรม

อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับ “พระยาแกรก” ที่มีนั้นไม่มากพอจะให้ฟันธงสรุปอย่างชัดเจนไร้ข้อกังขา คงเหลือเพียงสมมติฐานของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์หลายท่าน บางท่านว่า พระยาแกรกเป็นวีรบุรุษที่ขับไล่เขมรไปจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นหัวหน้าคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขับไล่เขมรออกจากเมืองละโว้ และตั้งเมืองขึ้นในแถบนี้

แต่ก่อนหน้านั้นเป็นเจ้าเมืองใด? เมื่อเป็นเจ้าเมืองแล้วประทับที่ละโว้หรือเมืองเดิม? เป็นคำถามที่มีข้อมูลไม่มากพอจะตอบแบบชัดเจนได้ (ชัย เรืองศิลป์, 2545)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

รัชกาลที่ 5 ทรงเล่าตำนานเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสระทั้งสี่ เมืองสุพรรณ“. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 7 เมษายน 2562. เข้าถึง 10 มิถุนายน 2564. <https://www.silpa-mag.com/history/article_30479>

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “ขุนช้างขุนแผน พื้นเพสุพรรณเมืองเพลง วรรณกรรม “ผู้ดี” กระฎุมพี”. เอกสารประกอบรายการทอดน่องท่องเที่ยว มีนาคม 2564.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “‘พระยาแกรก’ สัญลักษณ์พุทธเถรวาท ขัดแย้งพราหมณ์และมหายาน”. มติชนสุดสัปดาห์. ออนไลน์. เผยแพร่ 27 กุมภาพันธ์ 2560. เข้าถึงเมื่อ 10 มิถุนายน 2564. <https://www.matichonweekly.com/culture/article_26245>

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “เจดีย์ศรีสุริโยทัย อนุสาวรีย์ที่ถูกลืม”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2534. อ้างถึงใน “เจดีย์ศรีสุริโยทัย อนุสาวรีย์ของเจ้านายสตรีที่ถูกลืม”. ศิลปวัฒนธรรม ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 10 มิถุนายน 2564.

สุเนตร ชุตินธรานนท์. เปิดกรุคำให้การขุนหลวงหาวัด, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2560. อ้างถึงใน ตามรอย ‘คำให้การ’ ชาวกรุงเก่า-ขุนหลวงหาวัด ได้มาอย่างไร หลักฐานใดน่าเชื่อถือกว่า?“. ศิลปวัฒนธรรม ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 10 มิถุนายน 2564.

ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ สมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านสังคม. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2564